ซูสีไทเฮา นางพญาหลังม่าน

ซูสีไทเฮา หรือ ไทเฮาวังตะวันตก เป็นเด็กสาวสามัญชน มีพระนามเดิมว่า หลานเอ๋อ
เป็นลูกสาวของ หุ้ยเจิง รับราชการเป็นนายทหารประจำกองธงสีฟ้ารักษาชายแดน ณ
มณฑลชานซี กองธงสีฟ้าเป็นกองธงหนึ่งในจำนวนแปดกองธง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ด้าน
การทหาร และต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลอันฮุย แต่ถูกปลดจากราชการ
ใน ค.ศ.1853 หลังจากที่ซูสีไทเฮาได้ถวายตัวแก่ราชสำนักสองปี เนื่องจากหุ้ยเจิงเพิกเฉย
หน้าที่ในการปราบกบฎไทเป ณ มณฑลอันฮุย และหนังสือบางเล่มกล่าวว่าในการนี้ หุ้ยเจิง
ต้องโทษประหารชีวิตและถูกตัดศีรษะด้วย

ค.ศ.1851 ซูสีไทเฮาพร้อมด้วยเด็กสาวชาวแมนจูอีกหกสิบรายได้รับการคัดเลือกเข้าเป็น
พระสนมของสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง ซูสีไทเฮาเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่คนจากจำนวน
หกสิบรายนั้นที่ได้รับพระราชทานยศศักดิ์เป็นพระสนมจริงๆ โดยได้รับตำแหน่ง "ซิ่วหฺนวี่"
ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า "ท้าวศรีสวัสดิลักษณ์และตำแหน่ง "พระมเหสีชั้น 5" ตามลำดับ

ต่อมาได้ ประสูติกาลพระโอรสพระนามว่า "ไจ้ฉุน" พระโอรสนี้เป็นพระรัชทายาทเพียงหนึ่ง
เดียวของสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง และต่อมาเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ
รัชกาลถัดมา ครั้งนั้น โปรดให้เลื่อนตำแหน่งซูสีไทเฮาขึ้นเป็น "พระมเหสีชั้น 4" และเมื่อเจ้าฟ้า
ไจ้ฉุนมีพระชนม์หนึ่งพรรษา ก็โปรดพระราชทานชื่อใหม่ให้แก่ซูสีไทเฮาให้ใช้เป็นชื่อตัวว่า "อี้"
กับทั้งให้เลื่อนตำแหน่งซูสีไทเฮาขึ้นเป็น "พระมเหสีชั้น 2" ซึ่งรองจากพระมเหสีชั้น 1 คือ
สมเด็จพระอัครมเหสีเจิน ผู้ซึ่งต่อมาคือซูอันไทเฮา

ภายหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิงสวรรคตแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน
พระนามาภิไธยสมเด็จพระจักรพรรดิ ได้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยของพระชายาทั้งสอง โดย
สมเด็จพระอัครมเหสีเจินในพระชนมายุยี่สิบห้าพรรษาเป็น "สมเด็จพระจักรพรรดินีฉืออัน พระพันปีหลวง"
รู้จักกันในไทยว่า"ซูอันไทเฮา" และ ซูสีไทเฮา ในตำแหน่งพระมเหสีชั้น 2 พระชันษายี่สิบเจ็ดชันษาเป็น
"สมเด็จพระจักรพรรดินีฉือสี่ พระพันปีหลวง"คือ"ซูสีไทเฮา"ตามที่รู้จักกันในไทยทั้งนี้คำว่า"ฉืออัน"
หมายความว่า "ผู้พร้อมไปด้วยมาตุคุณและความสงบ" ส่วน"ฉือสี่"ว่า "ผู้พร้อมไปด้วยมาตุคุณและโชค"
นอกจากนี้ ในประเทศจีนยังนิยมเรียกพระพันปีหลวงทั้งสอง โดยซูอันไทเฮาว่า"สมเด็จพระพันปีหลวงฟากตะวันออก"
เนื่องจากมักประทับพระราชวังจงฉุยฟากตะวันออกและซูสีไทเฮาว่า "สมเด็จพระพันปีหลวงฟากตะวันตก"
เนื่องจากมักประทับพระราชวังฉือซิ่วฟากตะวันตก

ขณะที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กำลังเตรียมการเคลื่อนย้ายพระศพกลับกรุงปักกิ่งนั้น ซูสีไทเฮา
ก็ได้เตรียมการยึดอำนาจในระยะนี้ ความตึงเครียดระหว่างคณะผู้สำเร็จราชแทนพระองค์กับพระพันปีหลวง
ทั้งสองพระองค์ทวีขึ้นเรื่อยๆ คณะผู้สำเร็จราชการฯ ไม่ชอบใจในการก้าวก่ายทางการเมืองของซูสีไทเฮา
ในระหว่างที่ฝ่ายซูสีไทเฮากำลังเตรียมการรัฐประหารกันนี้ ได้มีฎีกามาจากมณฑลชานตงทูลเกล้าฯ ถวาย
ซูสีไทเฮา ขอพระราชทานให้ทรงว่าราชการหลังม่าน ฎีกาฉบับเดียวกันยังขอให้เจ้าชายกงทรงเข้าร่วมบริหาร
ราชการแผ่นดินเฉกเช่นผู้อภิบาลสมเด็จพระจักรพรรดิด้วย

เป็นประเพณีที่สมเด็จพระพันปีหลวงทั้งสองพระองค์จะต้องเสด็จนิวัตกรุงปักกิ่ง พร้อมข้าราชบริพารก่อนขบวนพระศพ
เพื่อไปทรงอำนวยการเตรียมพระราชพิธีต่างๆ ในกรุง และในการเสด็จนิวัตนี้ ไจ่หยวนและตวนหวา ผู้สำเร็จราชการฯ
ได้โดยเสด็จด้วย ส่วนซู่ซุ่น และผู้สำเร็จราชการฯ ที่เหลือจะได้กำกับขบวนอัญเชิญพระศพกลับไปทีหลัง

เมื่อขบวนอัญเชิญพระศพถึงกรุง ผู้สำเร็จราชการฯ ทั้งแปดคนก็ถูกจับกุมโดยพลัน ซูสีไทเฮาโดยการสมรู้ร่วมคิดกับ
เจ้าชายกง ออกประกาศว่าด้วยความผิดของบุคคลดังกล่าวแปดข้อหา เป็นต้นว่า คบคิดกับชาวต่างชาติให้เข้าปล้นเมือง
จนเป็นเหตุให้สมเด็จพระจักรพรรดิในพระโกศต้องเสด็จลี้ภัย เปลี่ยนแปลงพระราชประสงค์จนส่งผลให้สวรรคต และ
ลักลอบใช้อำนาจในพระนามาภิไธยของสมเด็จพระพันปีหลวงทั้งสองโดยไม่ชอบ จากนั้นได้มีพระราชเสาวนีย์โปรด
ให้พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ทั้งคณะ และพระราชทานโทษประหารชีวิตแก่ซู่ซุ่น ส่วนผู้สำเร็จราชการฯ คนที่
เหลือ พระราชทานแพรขาวให้กระทำอัตวินิบาตกรรม ทั้งนี้ ซูสีไทเฮาไม่ทรงเห็นด้วยที่จะให้ประหารชีวิตสมาชิกใน
ครอบครัวของผู้สำเร็จราชการฯ ตามประเพณี "ฆ่าล้างโคตร" ของราชสำนักชิงที่มักกระทำแก่ผู้เป็นกบฏ

ซูสีไทเฮาได้ประกาศสถาปนาพระองค์เอง และซูอันไทเฮาขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยออกว่าราชการอยู่
หลังม่าน ซึ่งเป็นการขัดจารีตประเพณีของราชวงศ์ชิงที่ห้ามไม่ให้ราชนารีข้องเกี่ยวกับการเมือง ซูสีไทเฮาจึงทรงเป็น
ราชนารีพระองค์แรกและพระองค์เดียวในราชวงศ์ชิงที่ออก "ว่าราชการอยู่หลังม่าน" การรัฐประหารของซูสีไทเฮาครั้งนี้
เป็นที่รู้จักกันในนาม "รัฐประหารซินโหย่ว" คำว่า "ซินโหย่ว" เป็นชื่อปีที่รัฐประหารนั้นเกิดขึ้น

ในการออกว่าราชการหลังม่านครั้งแรกของพระพันปีหลวงทั้งสองพระองค์ซึ่งประทับคู่กัน ณ พระราชบัลลังก์หลังม่าน
โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ประทับพระราชอาสน์อยู่หน้าม่านนั้น ซูสีไทเฮาในพระนามา
ภิไธยสมเด็จพระจักรพรรดิได้ตราพระราชกฤษฎีกาสำคัญสองฉบับ ฉบับแรกให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองทรงมี
พระราชอำนาจในการตัดสินพระทัยเกี่ยวกับราชการบ้านเมืองได้โดยเบ็ดเสร็จ ผู้ใดจะแทรกแซงมิได้ และฉบับที่สองให้เ
ปลี่ยนชื่อรัชกาลปัจจุบันจาก "ฉีเสียง" เป็น "ถงจื่อ" เนื่องจากซูสีไทเฮาทรงพอพระราชหฤทัยในความหมายของชื่อ "ถงจื่อ"
ที่แปลว่า การปกครองแผ่นดินด้วยกันระหว่างซูสีไทเฮาและซูอันไทเฮา

ต่อมา  ในปีค.ศ. 1875 สมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อได้สวรรคต ด้วยสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อมิได้ทรงตั้งรัชทายาทไว้ ซูสีไทเฮา
จึงทรงเห็นชอบให้เจ้าชายไจ้เทียน  พระโอรสของเจ้าชายฉุน  กับพระกนิษฐภคินีของซูสีไทเฮา พระชนม์สี่พรรษา เสวยราชย์
เป็นรัชกาลถัดมา โดยให้เริ่มปีที่ 1 แห่งรัชศก "กวางสู" อันมีความหมายว่า "รัชกาลอันรุ่งเรือง" ใน ค.ศ.1875

ในปี  ค.ศ.1881 ระหว่างทรงออกขุนนางตอนเช้า ซูอันไทเฮาทรงรู้สึกไม่สบายพระองค์จึงนิวัตพระราชฐาน และสวรรคตในบ่ายวันนั้น
การสวรรคตโดยปัจจุบันทันด่วนของซูอันไทเฮาสร้างความตื่นตะลึงแก่ประชาชนทั่วไป เพราะพระสุขภาพพลานามัยของไทเฮาอยู่
ในขั้นดียิ่งยวดเสมอมา ครั้งนั้น เกิดข่าวลือแพร่สะพรัดทั่วไปในจีนว่าเป็นซูสีไทเฮาที่ทรงวางพระโอสถพิษแก่ซูอันไทเฮา ว่ากันว่า
สาเหตุอาจเป็นเพราะกรณีประหารขันทีอันเต๋อไห่ หรือเพราะซูอันไทเฮาทรงถือพระราชโองการจากสมเด็จพระจักรพรรดิในพระโกศ
ให้มีพระราชอำนาจสั่งประหารซูสีไทเฮาได้

ในปี ค.ศ.1887 หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิกวางสูมีพระชนม์ได้สิบหกพรรษา เป็นการทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย สามารถ
บริหารราชการแผ่นดินได้โดยลำพัง ซูสีไทเฮาจึงมีประกาศพระราชเสาวนีย์ให้จัดพระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติ  บรรดาข้าราช
ได้พากันคัดค้าน และเสนอให้เลื่อนเวลาเสวยพระราชอำนาจตามลำพังของสมเด็จพระจักรพรรดิออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่ายัง
ทรงพระเยาว์นัก อย่างไรก็ดี ซูสีไทเฮาก็จำต้องทรงคลายพระหัตถ์ออกจากพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อสมเด็จ
พระจักรพรรดิมีพระชนม์ได้สิบแปดพรรษา และทรงเสกสมรสใน ค.ศ.1889  

ก่อนหน้าพระราชพิธีเสกสมรส บังเกิดอาเพศเป็นมหาเพลิงลุกไหม้หมู่พระทวารแห่งนครต้องห้าม โดยเป็นผลมาจากพิบัติภัยทาง
ธรรมชาติในช่วงนั้น แต่ตามความเชื่อของจีนว่ากันว่า เป็นลางบอกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันทรงถูกสวรรค์เพิกถอน "อาณัติ"
เสียแล้ว

ถึงแม้สมเด็จพระจักรพรรดิจะมีพระชนม์สิบเก้าพรรษาแล้ว และถึงแม้ซูสีไทเฮาจะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังฤดูร้อน
โดยทรงอ้างเหตุผลว่าเพื่อให้สมเด็จพระจักรพรรดิได้ทรงคลายพระราชหฤทัยว่า จะไม่ทรงก้าวกายการบริหารราชการอีก แต่โดยพฤตินัย
แล้วซูสีไทเฮายังทรงมีอิทธิพลเหนือสมเด็จพระจักรพรรดิ ผู้ซึ่งต้องเสด็จไปพระราชวังฤดูร้อนทุกๆ วันที่สองหรือสามของสัปดาห์ เพื่อ
ทูลถวายรายงานเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองต่างๆ ต่อซูสีไทเฮา และ หากซูสีไทเฮามีรับสั่งประการใดก็ต้องเป็นไปตามนั้น

วันที่ 14 พฤศจิกายน  ทรงมีพระบรมราชโองการ ความว่า “ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีกลาย ร่างกายของเราอ่อนแอลงมาก ได้สั่งให้พวก
ผู้สำเร็จราชการตามมณฑลต่างๆ ทั่วแผ่นดินจีน หาหมอผู้มีความสามารถเข้ามารักษา แต่ไม่ได้ผลอันใด อาการของโรคเราทรุดลงเรื่อยมา
ขณะนี้เรามีความรู้สึกว่าลมหายใจของเราหยุดลงเป็นครั้งคราว มีอาการเจ็บปวดที่หน้า ที่ท้องสันหลังและขาทั้งสองข้าง บางขณะเรา
เดินเหินไม่ได้ บางคราวเรามีอาการไข้และนอนไม่หลับ สุดที่เราจะทนต่อไปได้ เราจึงขอประกาศมายังพวกขุนนางอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าผู้ใด
สามามารถหาหมอมารักษาอาการของเราให้หายปกติขึ้นมาได้ ก็จะให้รางวัลอย่างงาม เพียงแต่ผู้ใดแนะนำมา เราก็จะขอบใจ ขอนำความ
นี้ออกประกาศให้รู้ ทั่วกันในแผ่นดิน...” และทรงสวรรคตในเวลาต่อมา ซูสีไทเฮาจึงทรงสถาปนาผู่อี๋ เจ้าฟ้าพระองค์น้อย เป็นสมเด็จ
พระจักรพรรดิพระองค์ต่อไป ก่อนพระองค์เองจะสวรรคตในวันรุ่งขึ้น ณ พระที่นั่งจงไห่อี๋หลวนเตี้ยน ตามไป มีข่าวลือสะพรัดว่าซูสีไทเฮา
ทรงทราบในพระสังขารของพระองค์เองว่าจะทรงดำรงพระชนม์ต่อไปได้อีกไม่นาน ก็ทรงพระปริวิตกว่า สมเด็จพระจักรพรรดิจะรื้อฟื้น
การปฏิรูปแผ่นดินอีกหลังซูสีไทเฮาสวรรคตแล้ว บ้างก็ว่าทรงเกรงว่าสมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงเล่นงานบรรดาคนสนิทของซูสีไทเฮา
จึงมีรับสั่งให้ขันทีคนสนิทไปลอบวางยาสมเด็จพระจักรพรรดิ ครั้นทรงทราบว่าสมเด็จพระจักรพรรดิสวรรคตแล้ว ซูสีไทเฮาก็ทรงจากไป
โดยสบายพระราชหฤทัย

.......................................................................................................................................................

ไชน่านิวส์รายงานเมื่อวันอาทิตย์(2 พ.ย. 2008) ถึงผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จีนพบว่ามีสารหนูในปริมาณมากอยู่ในกระดูก
กระเพาะอาหาร ลำคอ เส้นผม และฉลองพระองค์ของจักรพรรดิกวางสู ซึ่งจากการศึกษาใหม่ ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่าการสิ้นพระชนม์
ขององค์จักรพรรดิเกิดจากระบบทางเดินอาหารล้มเหลวสืบเนื่องจากมีสารพิษเข้าสู่ร่างกาย พร้อมยืนยันว่าสาเหตุการสิ้นพระชนม์มา
จากการลอบวางยาพบปริมาณสารหนู 201 มิลิกรัม มากกว่ามาตราฐานที่คนรับได้ถึง 2,000 เท่า โดยระดับที่ทำอันตรายให้ตายได้
เพียง 60-200 มิลลิกรัมก็ตายได้

การพบสารพิษในเส้นผมและกระดูกในจำนวนมาก บ่งชี้ว่าพระองค์ได้รับสารพิษเป็นจำนวนมากลและติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งยังระบุ
ไม่ได้ว่าพระองค์รับสารพิษโดยทางใด มีเพียงข้อสันนิฐานคือ รับมาจากการวางยาพิษ กับ รับมาโดยการเสวยยาจีน ซึ่งแทรกสารหนู
และสารปรอทเป็นจำนวนมาก นักวิจัยระบุว่า หากได้รับสารหนูเป็นระยะเวลานาน จะพบสารหนูที่ปลายและกลางเส้นผมเป็นจำนวนมาก
แต่กรณีของพระองค์ กลับพบว่าปลายรากผม มีปริมาณพิษอยู่จำนวนมาก ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า พระองค์ถูกลอบวางยาพิษ

และในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2008 ที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี ได้นำเสนอชุดสารคดีประวัติศาสตร์และการศึกษาสาเหตุการสิ้น
พระชนม์ของจักรพรรดิกวางสู เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการจากไปขององค์จักรพรรดิ ซึ่งทรงพยายามปฎิรูประบบกฎหมายจีน
(การปฏิรูป 100 วัน) แต่หยวนซื่อข่ายได้ทรยศพระองค์ นำแผนการกำจัดพระนางซูสีไทเฮาไปทูลพระนางฯ จึงถูกกลุ่มอำนาจเก่าของ
พระนางซูสีไทเฮารัฐประหาร และจองจำพระองค์ในพระตำหนักฤดูร้อนเมื่อปี ค.ศ. 1898 จักรพรรดิกวางสูสิ้นพระชนม์เมื่อ14 พฤศจิกายน
ค.ศ. 1908 พระชนมายุ 38 พรรษา โดยในประวัติศาสตร์ระบุว่าทรงสิ้นพระชมน์เพราะอาการประชวร ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เป็นที่โต้แย้งมานาน
ร่วมศตวรรษในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ของจีน.

นักวิทยาศาสตร์นำชิ้นส่วนฉลองพระองค์ไปวิเคราะห์หาสารบนเนื้อผ้า


หางเปีย เส้นพระเกศา ขององค์จักรพรรดิ


เส้นพระเกศานำมาวิเคราะห์หาสารต่างๆ


Credit :หนุ่มรัตนะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่