นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญากับนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด และพวก

กระทู้คำถาม
ในวันนี้ (29 กันยายน 2558) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะโจทก์ พร้อมนายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความได้เดินทางไปที่ศาลอาญา ยื่นฟ้อง นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด กับ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการฝ่ายสอบสวนและพนักงานอัยการอื่นอีกรวมจำนวน 4 คน ในความผิดอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 200 และมาตรา 83 โดยเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันรวม 3 กรณีดังต่อไปนี้

กรณีที่หนึ่ง นายตระกูล กับพวกได้ร่วมกันพิจารณาสำนวนของ ป.ป.ช. ที่กล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ว่าได้กระทำความผิดในโครงการรับจำนำข้าวเมื่อครั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพบว่าการไต่สวนของ ป.ป.ช. นั้นมีข้อไม่สมบูรณ์ที่ไม่เพียงพอจะดำเนินคดีได้ถึง 4 ประเด็น

ดังนั้นเพื่อให้การแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพียงพอต่อการพิจารณาว่าจะมีการสั่งฟ้องคดีกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ตามที่ ป.ป.ช. กล่าวหาหรือไม่ นายตระกูล ในฐานะอัยการสูงสุด จึงได้ส่งเรื่องข้อไม่สมบูรณ์ ดังกล่าวไปให้ ป.ป.ช. ดำเนินการพร้อมกับนายตระกูล ได้แต่งตั้งคณะทำงานที่เป็นพนักงานอัยการ เข้าร่วมพิจารณาดำเนินการกับทาง ป.ป.ช. โดยมีนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์พงศ์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงานร่วมกับทาง ป.ป.ช. ซึ่งคณะทำงานร่วมกันของ ป.ป.ช. กับพนักงานอัยการ จะต้องดำเนินการและพิจารณาเรื่องด้วยความรอบคอบรัดกุมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะการไต่สวนเพิ่มเติมให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามที่อัยการสูงสุดได้แจ้งสั่งในข้อไม่สมบูรณ์ดังกล่าว อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายของพนักงานอัยการที่บังคับไว้ แต่ นายตระกูล กับคณะทำงานบางคนได้รวบรัด เร่งรีบ ไม่ดำเนินการในข้อไม่สมบูรณ์ดังกล่าวให้ครบถ้วน เสียก่อน กลับสมคบกันให้คณะทำงานเพียงบางคนเร่งรีบเสนอความเห็นควรสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอน และไม่ให้ความเป็นธรรม แล้วนายตระกูล ก็รวบรัด มีคำสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ แล้วแถลงข่าว เพียง 1 ชั่วโมงก่อนการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะมีมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 23 มกราคม 2558 ซึ่ง นายวุฒิพงศ์ ประธานคณะทำงานได้แถลงข่าวว่าตนในฐานะรองอัยการสูงสุดและประธานคณะทำงานไม่รู้เรื่องกับข้อสรุปการสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ดังกล่าว แต่เตรียมจะเรียกประชุมคณะทำงานเพื่อหาข้อยุติในวันที่ 26 มกราคม 2558 แต่ก็ยังไม่ทันได้จัดประชุมเพราะนายตระกูล รวบรัดตัดหน้าสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ เสียก่อนแล้ว ดังที่เป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆนานา ว่าการสั่งฟ้องของนายตระกูล อัยการสูงสุด กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม มีวาระซ่อนเร้นและไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง

กรณีที่สอง

หลังจากนายตระกูล กับพวก ได้มีคำสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องดังกล่าวมาแล้ว นายตระกูล กับพวกได้ร่วมกันร่างคำฟ้องแล้วยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยบรรยายฟ้องในฐานความผิดเพิ่มอีกฐานหนึ่งเกินกว่าฐานความผิดที่ได้เคยแจ้งข้อกล่าวหากับนางสาวยิ่งลักษณ์ ไว้ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.

และนอกจากนั้น ยังบรรยายฟ้องขาดในส่วนที่เป็นคุณ กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ในส่วนของข้อไม่สมบูรณ์จากการไต่สวนดังกล่าวข้างต้น ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า จะต้องบรรยายฟ้องทั้งส่วนที่เป็นคุณและเป็นโทษกับจำเลยด้วย ทั้งนี้ เพื่อศาลจะได้มีดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษา แต่นายตระกูล กับพวกได้ร่วมกันกระทำการและละเว้นไม่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

กรณีที่สาม

หลังจากมีการยื่นฟ้องคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว นายตระกูล กับพวกที่เป็นพนักงานอัยการได้ร่วมกันกระทำการในสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายของพนักงานอัยการเป็นอย่างยิ่งด้วยการสมคบและร่วมกันนำเอาเอกสารพยานหลักฐานนอกสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. จำนวนถึง 148 แฟ้ม รวม 67,800 แผ่น เข้ามาในสำนวนคดีของพนักงานอัยการ กล่าวคือสำนวนพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นสำนวนที่มีอยู่ในสำนวนการไต่สวนคดีอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสำนวนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไว้ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว กรณีเช่นนี้จะต้องแจ้งสั่งให้ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนเพิ่มเติมเสียก่อน ทำนองเดียวกับการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน แต่ นายตระกูล กับพวกได้สมคบและร่วมกันไปจัดหาแล้วนำมาเข้าในสำนวนคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยที่ไม่มีการให้ ป.ป.ช. ไต่สวนก่อนตามกฎหมาย จากนั้นก็นำเสนอต่อศาลทันที อันมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายของพนักงานอัยการในฐานะเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องไม่กระทำความผิดเสียเองเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดเช่นนางสาวยิ่งลักษณ์

อนึ่ง ข้อไม่สมบูรณ์ทั้ง 4 ประเด็น อันเป็นเหตุให้ไม่เพียงพอต่อการจะสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ดังกล่าวมาข้างต้นได้แก่

(1) ประเด็นโครงการรับจำนำข้าวซึ่งรัฐบาลได้แถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ

กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลได้แถลงให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ย่อมผูกพันตามรัฐธรรมนูญที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะต้องดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่นั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ จะสามารถยับยั้งหรือยกเลิกโครงการที่เป็นนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาได้หรือไม่ จึงให้ ป.ป.ช. ไต่สวนในประเด็นนี้เพิ่มเติม

(2) ประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

กล่าวคือ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งแต่ยังไม่มีการไต่สวนให้ปรากฏพยานหลักฐานในประเด็นดังกล่าวว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร จึงให้ ป.ป.ช. ไต่สวนในประเด็นนี้เพิ่มเติม

(3) ประเด็นเรื่องการทุจริต

กล่าวคือ ตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ประเด็นเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว พยานหลักฐานและการไต่สวนปรากฏเพียงการกล่าวหาของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก ซึ่งเป็นผู้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ จึงให้ ป.ป.ช. ไต่สวนให้ได้ความว่ามีขั้นตอนใดที่พบการทุจริต และทุจริตอย่างไร มีพยานหลักฐานที่ส่อให้เห็นถึงการทุจริตหรือไม่ เพราะตามที่ ป.ป.ช. ไต่สวนมานั้นมีประเด็นขัดกันและยังไม่สิ้นกระแสความ

(4) ประเด็นอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่รูปคดี

นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่าการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ได้ดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวนาซึ่งเป็นเกษตรกรอาชีพหลักของประเทศไทยอาชีพหนึ่งโดยเป็นความจำเป็นและเป็นเรื่องบังคับตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาอันเป็นความผูกพันตามรัฐธรรมนูญ

และตลอดเวลาที่ดำเนินการโครงการดังกล่าว นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้กำกับดูแลสอดส่อง ให้โครงการเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์แก่ชาวนาอย่างแท้จริง ดังเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา การกล่าวหาและฟ้องร้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ด้วยเหตุเพียงเพราะได้ใช้งบประมาณสิ้นเปลืองไป เป็นความไม่เป็นธรรมต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นอย่างยิ่ง เพราะนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรหรือคนจนคนยากไร้ของประเทศก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณสิ้นเปลืองหมดไปเป็นธรรมดาของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยซึ่งก็ได้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อๆกันมา

ดังนั้นการกระทำของนายตระกูล อัยการสูงสุด กับพนักงานอัยการอีกบางคนที่รวบรัดมีคำสั่งฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยไม่ดำเนินการไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์ให้ครบถ้วนแต่กลับสั่งฟ้องโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนก็ดีการบรรยายฟ้องคดีโดยละเว้นไม่ระบุข้อไม่สมบูรณ์จากการไต่สวนอันเป็นคุณต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ถูกฟ้องก็ดีและการนำเอาเอกสารหลักฐานจำนวนถึง 67,800 แผ่น ซึ่งเป็นเอกสารนอกสำนวนเข้ามาในสำนวนที่ดำเนินคดีกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ดังกล่าวมาก็ดี เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายของพนักงานอัยการในฐานะเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้รับความเสียหาย นางสาวยิ่งลักษณ์ จึงจำเป็นต้องรักษาสิทธิและใช้สิทธิตามกฎหมายที่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีอาญากับบุคคลดังกล่าวทั้ง 3 กรณี

นอกจากนั้น ขณะนี้ยังปรากฏอีกด้วยว่า มีการพยายามของกลุ่มคนบางกลุ่มที่จะมุ่งมั่นดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกความรับผิดเป็นค่าเสียหายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ อีกด้วย มีการให้ข่าวเป็นระยะๆ ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ จะต้องรับผิดเป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ จะได้ติดตามการกระทำของกลุ่มคนดังกล่าวต่อไป และหากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามกฎหมาย นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็จะได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับทุกคนโดยไม่ละเว้น แต่สิ่งที่นางสาวยิ่งลักษณ์ รู้สึกกังวลและไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ

การดำเนินคดีต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงนายกรัฐมนตรี จากบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองด้วยความไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีเจตนากลั่นแกล้งนั้นย่อมส่อสะท้อน แสดงว่าพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นคนจนเป็นคนยากไร้และไม่มีตำแหน่งหน้าที่ใดๆ นั้น จะได้รับการคุ้มครองปกป้องและความเป็นธรรมได้อย่างไร

Credit: Norrawit Larlaeng
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่