หนีสงคราม (๓) ๒๕ ก.ย.๕๙

เรื่องอดีต

หยีสงคราม (๓)


เรื่อง หนีสงคราม ของ อัมพา พึ่งเกตุ ตอนสุดท้าย

ช่วงสงครามนั้น ทั้งที่มีเรื่องคอขาดบาดตายเช่นนั้นก็จริงอยู่ แต่เมื่อทุกคนมาอยู่รวมกัน มีสภาพหนีตายเหมือน ๆ กัน ม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมของตนจะเป็นอย่างไรต่อไป พวกที่มาอยู่รวมกันนั้น มีทั้งญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เพื่อนของเพื่อน เกี่ยวดองทางฝ่ายพ่อบ้าง แม่บ้างมาอยู่ในละแวกบ้านเดียวกัน ใครที่มีความถนัดก็อาศัยความเคยชินที่ตนถนัดทำงานของตัวไป บางคนเป็นครูก็รับช่วยสอนพวกลูกหลานของพวกเดียวกัน ผู้เขียนก็ไปเรียนกับเขาด้วย ใครที่รักสนุกก็หาเรื่องสนุกทำกันแก้เหงากันไป

ในช่วงที่เงียบเสียงเครื่องบิน (สมัยนั้นเราเรียกเรือบิน) วันแรก ๆ ที่เงียบเสียงก็ดูเชิงก่อน แต่พอล่วงไปสักวันสองวัน ก็มีเสียงกลองรำวงดังขึ้นแทน ผู้เขียนจำได้หลายเพลง เพราะเคยไปรำวงกับเขาด้วย การเล่นรำวงตอนนั้นจำได้ว่า การเตรียมสถานที่มีเพียงโต๊ะ ๑ ตัว พร้อมแจกันดอกไม้ ดอกอะไรก็ได้ตามมีตามเกิด ใส่แจกันวางไว้กลางโต๊ะ จากนั้นก็จะมีต้นเสียงร้องเพลง พวกต้นเสียงนี้ก็คือพวกที่ยังไม่ได้ออกมารำ ถ้าไม่มีกลองใช้ ก็ไม่ยาก กระป๋อง กะละมัง ปี๊บ ฯลฯ ก็ใช้ได้ทั้งนั้น บางทีก็ใช้ปากนั่นแหละทำเสียงเป็นจังหวะ ป๊ะโท่น โท่น ป๊ะ โท่น โท่น ฯลฯ แล้วก็ร้องเพลงไปด้วย

ผู้ที่เป็นผู้ชายจะออกไปโค้งผู้หญิงให้ออกมารำ เมื่อไปรอบโต๊ะที่ว่านั้นจะกี่รอบก็ตาม สุดแต่ว่าเมื่อมีเสียงนกหวีดดังขึ้น ทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะต้องโค้งให้แก่กัน แล้วเมื่อเพลงขึ้นใหม่ก็จะเริ่มต้นกันใหม่ ตัวผู้เขียนเองนั้นยังเด็กอยู่ ก็จะถูกใช้ให้ไปโค้งผู้ใหญ่ที่อาวุโสกว่าและมาร่วมสนุกด้วยให้ออกไปรำ จบแล้วก็มักได้รางวัลเป็นสตางค์ แต่บางทีวงรำวงก็กระจุยได้ ถ้ามีเสียงสัญญาณภัยดังขึ้น ถ้าเป็นกลางวันจะมีพวกกล้าตายบางพวกยังไม่ยอมหนี จะต้องดูเชิงก่อนว่าจะมีทีท่าร้ายแรงอย่างไร เห็นว่าจวนตัวจึงจะหนี แต่สำหรับเด็ก ๆ อย่างผู้เขียนก็จะถูกผู้ใหญ่ต้นให้ลงหลุมหลบภัย หรือพาหลบไปตามริมท้องร่องอย่างที่ได้กล่าวแล้ว

ใกล้สงครามเลิกได้ทราบว่ามีเสรีไทยเกิดขึ้น (เราไม่รู้จริง ๆ ว่าคุณพ่อเป็นเสรีไทย) พวกที่รู้จักกับเสรีไทยระดับสูง จะทราบว่าวันไหนเวลาใดจะมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ก็จะมีการกระซิบพอเป็นนัย ทำเป็นคำทำนายทายทักว่า วันนี้ฟ้าโปร่งไม่เป็นไร บางวันก็อาจจะเป็นวันนี้ลางไม่ดี คิ้วเขม่นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะได้ปรับตัวได้ทันท่วงที บ้านของผู้เขียนปลอดภัยมาตลอด แต่ดูเหมือนจะเข้าตำราที่ว่า “ตกม้าตายตอนจบ” เพราะก่อนที่สงครามจะเลิก ญี่ปุ่นแพ้สงครามไม่กี่วัน มีข่าวว่าจะมีการปูพรมทิ้งระเบิด (ศัพท์สมัยนั้น) เราก็เตรียมตัวหลบภัยอย่างเคยคือ หอบข้าวของเข้าไปหลบในสวน ซึ่งเป็นของญาติผู้ใหญ่ฝ่ายแม่ มีบ้านบ้านพักเรียบร้อย

วันนั้นจำได้ว่า เสียงระเบิดดังแสบแก้วหู ท้องฟ้าแดงฉานทั้งที่เป็นกลางวัน ดินกระจุย แต่ละคนที่หมอบตามริมท้องร่องนั้น โผล่หน้าออกมาจำกันไม่ได้ เพราะโคลนเต็มหน้าไปหมด บางคนถูกก้อนดินทับ ลุกไม่ขึ้น ร้องไม่ออก บางคนได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด พวกผู้ใหญ่พูดกันว่าวันนี้ลงใกล้มาก และมีสัญญาณปลอดภัยดังขึ้น ครอบครัวผู้เขียนกลับบ้านพบว่า ดินอยู่เต็มหมดบนบ้าน ที่หลับที่นอนหมอนมุ้งมองไม่เห็นพื้น ถ้วยชามหม้อข้าวหม้อแกง กระเด็นแตกหักได้รับความเสียหาย แต่ตัวบ้านไม่เป็นไร เมื่อผู้ใหญ่ออกไปสำรวจ ปรากฏว่าสวนของแม่ย่าโดนเข้าไปสองหลุม ญาติพี่น้องผู้เขียนในละแวกนั้นก็รับไปสวนละหลุมบ้าง สองหลุมบ้างไม่น้อยหน้ากัน หลังจากเกิดเหตุแล้วทราบจากผู้เกี่ยวข้องว่า เขาทิ้งระเบิดสถานีรถไฟบางกอกน้อย เราอยู่ใกล้สถานีจุงพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย

บ้านของท่านที่นับถือของคุณพ่อนั้น อยู่ที่ปากคลองบางกอกน้อย ก็รับไปเต็มที่ หลังจากนั้นไม่นานสงครามก็ยุติ แต่ความบอบช้ำจากภัยสงครามไม่จางลงไปง่าย ๆ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือความหมดเนื้อหมดตัวของคนบางครอบครัว บางคนสูญเสียพ่อแม่ แม้แต่ศพบางศพที่ตั้งอยู่ที่บ้านก็ไม่เหลือ การสูญเสียวงศาคณาญาติผู้เป็นที่รักไปเช่นนั้น ทำให้วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไปจากเดิมมาก บางคนเสียผู้เสียคนไปเลยก็มี บางคนกลายเป็นคนสติเฟื่องไป สุดแต่กรรมของใคร สำหรับตัวผู้เขียนนั้นแม้ยังเด็กอยู่มากในช่วงสงคราม แต่ก็ไม่ลืมภาพที่ได้เล่ามาแล้ว

เมื่อได้มาอ่านเรื่อง “มอม” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ดี เรื่อง “คู่กรรม” ของ ทมยันตี ก็ดี ผู้เขียนจึงมีความเข้าใจสภาพที่ท่านผู้แต่ง ได้บรรยายไว้ราวกับว่าตนเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ทุกครั้งที่มีโอกาสคุยกับลูกศิษย์ ในช่วงที่ว่างในการเรียนการสอน และเรื่องที่คุยพาดพิงไปถึงสงคราม ก็จะคุยเล่าให้เขาฟังอยู่เสมอ ว่า สงครามนั้นทำให้เกิดความสูญเสียอะไรบ้าง เพื่อเขาจะได้ภูมิใจในบรรพบุรุษของไทยเรา ที่ท่านได้ใช้ความรู้ ความสามารถของท่าน รักษาประเทศชาติไทยให้คงอยู่จนทุกวันนี้โดยเฉพาะเรื่องสงครามโลกครั้งที่สองนี้ ต้องถือเป็นโบว์แดงของผู้นำประเทศไทยในยุคนั้น

เพราะไม่มีประเทศใดในโลก ที่เวลารบอยู่ข้างฝ่ายแพ้ แต่พอสงครามเลิกไปมีชื่อรวมอยู่กับฝ่ายชนะ นี่เป็นเพราะคารมอันเป็นอัจฉริยะของท่านผู้นำสมัยนั้น จึงควรที่ลูกหลานไทยทั้งหลายในยุคหลัง จะต้องระลึกถึงพระคุณท่านเหล่านั้นให้มาก และพยายามที่จะรักษาความเป็นไทยไว้ ให้คงอยู่ตลอดปลอดภัยต่อไป

เรื่องหนีสงคราม ของ อาจารย์อัมพา พึ่งเกตุ ก็จบลงแต่เพียงนี้ โดยผู้บันทึกไม่ต้องต่อเติมเสริมความแต่อย่างใด

###############
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่