จากเจ้าพ่อโลว์คอสต์แอร์ไลน์กลายเป็นเจ้าพ่อคอนเท้นต์และอีเว้นต์

ผมไม่ใช่เจ้าพ่อสื่อ เปิดเบื้องหลังวิชั่น ที่แรก ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 14 ก.ย. 2558 06:05




ไม่รู้ปลายทางจะเป็นอย่างไร! แต่ในฐานะคนทำสื่อ ผลิตคอนเทนต์มากว่าสิบปี บอกก่อนมาเจอกันว่า คงเป็นเรื่องสนุกและมีสีสันแน่ๆ ถ้าหากคนลงมาเล่นในเกมนี้คือเจ้าพ่อครีเอทีฟ ซุปเปอร์คอนเน็กชั่นอย่าง โจ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ซีอีโอแอร์เอเชียสุดซ่า

หลังจากเจอกันคราวที่แล้ว ครั้งนี้แทบไม่แตกต่างเพราะเขายังดูเป็นคนเดิม ง่ายๆ สบายๆ เป็นนักธุรกิจที่คมคาย ช่างคิด ช่างสร้างสรรค์ และเป็นนักเล่าเรื่องตัวยง

"ผมคุยกัน 3-4 คำก็จบ ใช่ก็คือใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่"

"อีก 2 ปี เราพร้อมเข้าตลาดหุ้น"

"ผมเชื่อว่า Content is King ไม่ใช่ Money is king"
ซีอีโอหัวใจซ่า

ก่อนงานเปิดแถลงข่าวจะเริ่มต้นไม่กี่นาที ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสพูดคุยกับ 'ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์' ซีอีโอหนุ่มหัวใจซ่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่ตอนนี้เปลี่ยนบทบาทเป็นเจ้าของนิตยสาร 6 หัว (นิตยสารอิมเมจทำธุรกิจมา 29 ปี, นิตยสารอินแมกกาซีนทำธุรกิจมา 10 ปี, นิตยสารมาดาม ฟิกาโร่ ทำธุรกิจมา 10 ปี, นิตยสารแม็กซิม, นิตยสารเฮอร์เวิลด์ และนิตยสารแอตติจูด)

ที่เพิ่งซื้อมาจากไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เราถามตั้งแต่เบื้องหลัง ถามวิชั่นว่าเขาคิดอย่างไรถึงซื้อสื่อแมกกาซีน ในยุคที่ใครๆ ก็รู้ว่ากำลังจะตาย เขามองเห็นอะไรในนั้นบ้าง หรือเบื้องหลังมันมีอะไรมากกว่านั้นแบบที่หลายคนสงสัยว่าเป้าหมายต่อไปคืออะไรกับผู้ชายที่เชื่อว่าโลกนี้

'คอนเทนต์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด' ที่นี่ที่เดียว.   

Q : งานหลวง งานราษฎร์ ในชีวิตยังยุ่งไม่พอใช่ไหม หันมา 'เทคโอเวอร์' แมกกาซีนใหญ่ 6 หัวอีก?

(ยิ้ม) ผมว่าเป็นเรื่องใหม่นะ เป็นเรื่องที่ท้าทายอาจจะสำเร็จหรืออาจจะไม่สำเร็จก็ได้ เราไม่ได้เข้ามาปลุกวิญญาณ หรือปลุกหนังสือให้กลับมา ซึ่งมันกลับมาไม่ได้หรอก แต่ว่า แมกกาซีนมันตายเราเห็นอยู่แล้ว เราเห็นอยู่แล้วว่าสื่อทางด้านออนไลน์และดิจิตอลมันเกิดขึ้นเยอะ แต่คอนเทนต์ที่อยู่ในหนังสือยังไงมันก็ไม่ตาย มันมีชีวิต และยิ่งเวลาเราเข้าไปสู่ยุคดิจิตอล เรื่องคอนเทนต์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ฉะนั้นทีมงานที่ทำคอนเทนต์ในหนังสือแต่ละเล่ม ผมว่ามันมีมูลค่า เราก็ต้องดึงคอนเทนต์จากหนังสือแต่ละเล่มนั้นออกมาให้สู่สายตาประชาชนจะด้วยทางไหนก็แล้วแต่จะผ่านซีทรู ในเรื่องของการจัดเอ็กซีบีชั่น จัดนิทรรศการ จัดอีเวนต์ หรือแม้กระทั่งไปออนไลน์ ผ่านเข้าไปทางยูทูบ ผ่านเข้าไปทางดิจิตอลแพลตฟอร์มของเราเอง เป็นเรื่องที่เราทำต่อไปในอนาคต

Q : ถามตรงๆ สิ่งที่เล่า คุณคิดมานานก่อนจะซื้อ หรือเพิ่งคิดตอนซื้อ?

คิดก่อนจะซื้อ เราเห็นหนังสือบางเล่มอย่าง 'นิตยสารอิมเมจ' มีอายุยาวนาน 20 กว่าปี เราไม่อยากให้มันตายไป คอนเทนต์ในนั้นมันดี ผมเชื่อว่าทุกวันนี้เวลาเราจะไปมองอดีต หลายคนๆ ก็ยังไปหาไปค้นหนังสือเก่าๆ มาดู มันก็เหมือนกับเป็นบันทึกเรื่องราว ณ ช่วงเวลานั้นๆ ผมว่ามันมีค่า สำหรับในอนาคต

Q : ช่วยเล่าเบื้องหลังในการดีลธุรกิจครั้งนี้ เป็นอย่างไร

จริงๆ คุยโทรศัพท์กับคุณไพบูลย์ (ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเราก็สนิทกันอยู่แล้ว เราคุยกันไม่เรื่องเยอะ ใช่ก็คือใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ ที่จริง 3-4 คำก็เรียบร้อย ต่อราคากันนิดหน่อย คุณไพบูลย์ก็ใจกว้าง ราคาเหมาะสมแกก็บอกเอาไปเลย (45 ล้านบาท)

เอาจริงๆ ก่อนหน้าเราคุยกันตลอดแหละ คุณไพบูลย์ถามเราก่อนเสมอว่าสนใจไหม เพราะมีอะไรเขาก็ถามเราในฐานะคนสนิทกันก่อนที่จะไปถามคนอื่น มีหลายตัวแต่เราไม่ถนัด หรือใหญ่เกินไปเราไม่มีเวลาทำ แต่อันนี้ผมดูว่ามันท้าทาย มันเป็นการข้ามผ่านยุค มันเป็นการข้ามผ่านหนังสือที่อยู่บนกระดาษที่มันกำลังจะตายลงไปสู่ยุคดิจิตอล 'แต่คอนเทนต์ยังไงมันก็ไม่ตาย ผมมองเห็นมูลค่าของคอนเทนต์ในหนังสือแต่ละเล่มมากกว่า'

Q : ตอนเอามา 6 เล่มในบัญชีมีหนี้สินไหม?

ไม่มี เราเคลียร์กันหมดว่าเป็นศูนย์ตั้งแต่ตกลงกันแล้ว

Q : นิตยสารอิมเมจดูจะมีอายุนานมากและเป็นตำนานมากที่สุด ก่อนหน้าก็มีดราม่าจะปิดตัวลง แต่พอมีข่าวคุณเข้ามาเทคโอเวอร์แฟนหนังสือ และคนทำงานทุกคนก็ดีใจมาก

ผมว่าหลังจากแถลงข่าวก็น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีทีมงานทุกคนที่ทำคอนเทนต์อยู่ในนั้นก็แข็งแกร่งอยู่แล้ว ตอนนี้กำลังใจก็น่าจะฮึกเหิมขึ้น เราจะพาทุกคนเข้าไปสู่โลกที่เรียกกันว่า 010101 หรือ 'โลกดิจิตอล' ก็น่าจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใกล้ชิดมากขึ้น

Q : เข้าใจถูกไหม ซื้อสิ่งพิมพ์เพื่อเอาคอนเทนต์มาทำดิจิตอล แล้วก็จะกระโดดเข้าสู่ทีวี?

ทีวีคิดว่าคงไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด แต่ซีทรูเราเป็นตัวหลัก ซีทรูจะเก่งเรื่องอีเวนต์ ออแกไนเซอร์ เรื่องเอ็กซิบิชั่น ฉะนั้น วันนี้เขามีลูกค้าในมือ บางทีคอนเทนต์ของหนังสือเขาก็สามารถดึงมาใช้ได้เพื่อที่จะมาแมตช์กับลูกค้า และเข้าถึงเป้าหมายได้มากขึ้น ทำ on ground Activity ได้ หนังสือเราอาจจะแค่เปิดอ่าน แต่ไม่มีมูฟเมนต์อะไร แต่เราอาจจะจัดนิทรรศการ มันก็อาจจะเป็นโลกที่ทันสมัยมากขึ้น

Q :  คุณขึ้นชื่อเรื่องครีเอทีฟ การเข้ามาครั้งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบหรืออะไรในหนังสือเหล่านี้อะไรบ้างไหม?

คงไม่เปลี่ยน แต่จะเป็นการเกลาให้เข้ากับยุคสมัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ บก.แต่ละท่าน อิสระเหมือนเดิม เราแค่ไกด์ไลน์ไป สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้มันไปสู่โลกออนไลน์ได้ เพราะว่าทุกวันนี้คนอยู่กับมือถือ อยู่กับไอแพดตลอด ทำอย่างไรให้เขาอยากอ่านคอนเทนต์ที่เรามีอยู่ ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าคอนเทนต์นี้สำคัญ คอนเทนต์นี้สนุก หรือมันช่วยในการทำงาน มันช่วยในกิจวัตรประจำวันได้ ทำอย่างไรให้เขาร่วมในกิจกรรมที่เราสร้างขึ้น และที่สำคัญทำอย่างไรเราจะดึงเม็ดเงินในกระเป๋าเขาได้

Q : อันนี้คือหน้าที่ของซีทรู ส่วนคอนเทนต์คุณก็ไปสร้างสรรค์อย่างอิสระแบบที่เคยเป็นมาให้ดีที่สุด?

ใช่ เรามีหน้าที่ดึงเลือกใช้ อย่างลูกค้ามีโจทย์มาให้เราก็จะเลือกว่าคอนเทนต์ของเล่มไหน ดึงมาปั๊บจะทำเป็นอะไรก็แล้วแต่ เป็นกิจกรรมออกไปกับลูกค้า
ผู้บริหารบริษัทซีทรู

Q : แอร์เอเชียแยกกับซีทรูชัดเจน

แยกกันเลยไม่เกี่ยวกันเลย ในซีทรูผมถือหุ้นอยู่ 80% พูดง่ายๆ ผมก็เทคโอเวอร์ซีทรูแล้วก็เอาซีทรูไปซื้อมา

Q : นิตยสาร 6 ฉบับอะไรเป็นตัวเรามากที่สุด

ผมว่ามันก็คล้ายๆ กันไปจะบอกว่าเป็น 'นิตยสารแม็กซิม' เลยก็ไม่ใช่ (หัวเราะ) จะบอกว่าเป็น 'นิตยสารแอตติจูด' ยิ่งไม่ใช่ใหญ่เลย ผมว่ามันก็มีส่วน แต่อย่าไปดูหัวหนังสือ อยากให้ดูคอนเทนต์แต่ละเล่ม แต่ละเล่มมีข้อดีอยู่ เราพยายามดึง DNA ของแต่ละเล่มมา พูดง่ายๆ แล้วแต่โจทย์ลูกค้า อย่างลูกค้ามาบอกว่า สินค้าแบบนี้ อยากไปต่อยอดกับกลุ่มลูกค้าอายุขนาดนี้โปรไฟล์ขนาดนี้เราก็จะดึงคอนเทนต์โน่นนี่นั่นที่ตรงกับเขามา แล้วก็จับออกมาอาจจะเป็น ทัวร์ทั่วประเทศ หรือว่าจะจัดงานใหญ่ทีเดียว หรือจัดเป็นเอ็กซิบิชั่นใหญ่ หรือจะจัดเป็นออนไลน์อย่างเดียวก็แล้วแต่

Q : ตอนนี้มีภาพทั้งหมดในหัวแล้ว

มีโครงๆ แต่จะเห็นชัดเจนทั้งหมด ต้นปีหน้าช่วงนี้เป็นช่วงการเตรียมงานการเซ็ตระบบทั้งหมดอยู้

Q : มองไว้ไหมว่าเมื่อไหร่คุ้มทุน 2-3 ปี แบบที่เคยให้สัมภาษณ์เร็วขนาดนั้น

ใช่ครับ ผมมองไว้แบบนั้น 2-3 ปีน่าจะคุ้มทุน

Q : ในสายตาเซียนธุรกิจวิเคราะห์วงจรของหนังสืออย่างไรวิเคราะห์ให้ฟังหน่อยว่าจะตายไปแบบที่หลายคนฟันธงไหม?

ผมว่าตัวหนังสือทุกวันนี้แทบจะทุกเล่มเกือบจะขาดทุนทั้งหมด ไม่เกิน 2 ปี น่าจะขาดทุนทุกเล่ม แต่คอนเทนต์ที่อยู่ในนั้น มันจะได้รับการเสพตลอดเวลา เพียงแต่ว่าคุณจะมีวิธีป้อนให้ลูกค้าด้วยวิธีไหนเท่านั้นเอง ยุคนี้ก็ต้องผ่านมือถือ ผ่านดิจิตอล แม้กระทั่งผ่านทีวีในบางอัน ทุกวันนี้เราถือมือถือเดินห้าง เราจัดเอ็กซิบิชั่นดีๆ ยกตัวอย่างเช่น ที่จัดแอร์พอร์ตลิงก์ล่าสุดที่เป็นตู้คอนเทนเนอร์วางก็มีคนไป มันอยู่ที่ว่าเรามีครีเอทีฟที่จะจัดอะไรหรือเปล่า

ฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ในโลกของความจริงในโลกของออนไลน์ ถ้ามันมีเม็กเน็ต พอจะดึงคนได้ ผมว่าคนก็ไป แล้วเราก็จะเอาคอนเทนต์ตรงนั้นเป็นตัวดึง
แถลงข่าวอลังการ
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์

Q : คนทำงานกว่า 100 ชีวิต ของหนังสือ 6 เล่มไม่เอาเขาไปไหนเลยใช่ไหม ย้ำอีกที

ไม่เอาไปไหนเลย อยู่ด้วยกันจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

Q : เม็ดเงินโฆษณา เม็ดเงินที่ทำให้หนังสือคุณได้ออก Exercise เพิ่มให้ เป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับคนทำคอนเทนต์?

คุณพูดถูก ไม่ใช่คนทำหนังสือ มันคือนิมิตหมายที่ดีเพื่อทำคนคอนเทนต์ เพราะในโลกดิจิตอลคุณมีมือถือ แต่ไม่มีคอนเทนต์ ทุกวันนี้คนเราใช้เวลา 4-6 ชั่วโมงไปกับมือถือ ถามว่าเขาดูอะไร ถ้ามีคอนเทนต์ที่เขาชอบและสามารถดูยังไงผมว่าเขาก็ดูได้ เราไม่ได้ทำหนังสือเราทำคอนเทนต์

Q : เชื่อว่า Content is King ไม่ใช่ Money is king

ถูกต้อง เหมือนกับคนที่ทำทีวีดิจิตอลมี 24 ช่อง ขาดที่สุดเลยคือขาดคอนเทนต์ ของเขาคอนเทนต์เป็นรายการ แต่ของเราเหมือนกันอยู่ในโลกออนไลน์ของเราอ่านได้ อาจจะเป็นอีบุ๊ก อีกหน่อยเปิดแม็กซิมออกมา แทนที่จะเปิดมาเป็นรูปก็จะเป็นเบื้องหลังคนทำงานแฟชั่น ให้มีมูฟเมนต์มันก็น่าสนใจเหมือนกัน

Q : แต่ก่อนหน้าแกรมมี่ก็เคยอัดและทำมาแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างแม็กซิมก็เคยมีช่องทีวี ปัญหามันอยู่ตรงไหน

โนคอมเมนต์ครับ (หัวเราะ) ผมว่ามันอาจจะเร็วไปนิดหนึ่ง ผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสม

Q : เขาอาจจะมีเร็วก่อนกาล

ใช่

Q : คิดอย่างไรกับคำนี้ เจ้าพ่อสื่อคนใหม่?

ไม่ครับ, คงรับไม่ได้ ผมไม่ชอบคำนี้ เพราะมีหนังสือ 6 เล่ม จะเป็นเจ้าพ่อได้อย่างไร เอาชัดๆ ผมไม่ได้เป็นคนบริหารสื่อผมเป็นคนที่นำคอนเทนต์ไปสู่มือคอนซูเมอร์ เท่านั้นเองจะมารูปไหนก็แล้วแต่ เพียงแต่ว่าวันนี้มามีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของหนังสือ 6 เล่ม ผมไม่ใช่คนทำสื่อแต่ผมมองค่าคอนเทนต์ แล้วนำมาแปรรูป เป็นการจัดเอ็กซิบิชั่น หรือทำ engagement ให้กับแบรนด์ที่มาจ้างเราแล้วเพื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย คิดว่าอ่านใจคนยุคสมัยนี้ออก ฉะนั้นคำว่าเจ้าพ่อสื่อ คงไม่ใช่ เราเป็นคนบริหารคอนเทนต์ ท้ายทีสุดก็ไม่พ้นคนจัดอีเวนต์

Q : อีก 2 ปี เราจะเห็นสื่อในมือคุณในรูปแบบไหน

จดทะเบียนหลักทรัพย์ เป็นความตั้งใจ คนจะได้มีผลประโยชน์ตรงนี้ดด้วย จะได้มีโบนัส

Q : สุดท้ายอยากจะพูดอะไรกับแฟนๆ ของหนังสือที่คุณชุบชีวิตหน่อย

อยากจะบอกว่า คอนเทนต์ยังเข้มข้นเหมือนเดินในแต่ละคอลัมน์ แต่ละหนังสือของแต่ละเล่ม ผมเชื่อว่า มันจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย เข้าถึงง่ายขึ้นไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปที่แผงแล้วไปซื้อหนังสือ คอนเทนต์ตรงนั้นเมื่อซื้อไปแล้วก็สามารถเก็บไว้ที่ใดที่หนึ่งแล้วก็สามารถดึงมันมาใช้ได้ตลอดเวลาพูดง่ายๆ เอาหนังสือไปสู่โลกดิจิตอล แล้วก็ให้เข้าหาตัวคุณได้ทุกทีทุกเวลา

Q : สัมภาษณ์ครั้งก่อนเคยถามว่าหากเปลี่ยนแอร์เอเชียเป็นผู้หญิงจะมีบุคลิกอย่างไร ครั้งนี้ถ้าหากเปรียบแมกกาซีนทั้ง 6 เล่มของคุณ เป็นผู้หญิงเธอ-เขาจะเป็นผู้หญิงประเภทไหน?

เอาเป็นคอนเทนต์ที่เรามีอยู่ตรงนี้แล้วกันนะครับ เราเป็นผู้หญิงที่ กระฉับกระเฉง ว่องไว พร้อมที่จะลุยเรื่องแอคทิวิตี้ ตลอดเวลา แน่นอนว่าเธอจะสวยมีเสน่ห์ และมีกลิ่นหอมอยู่ตลอดเวลา

Q : ทำไมถึงเปลี่ยนการสะกดชื่อเป็น 'ธรรศพลฐ์'

เปลี่ยนตัวสะกด พระที่นับถือท่านเปลี่ยนให้ ธรรศพลฐ์ แปลเหมือนเดิมว่า พลังทั้งสิบ

อ่านเพิ่ม : เจ้าพ่อสื่อคนใหม่ 15 ข้อรู้จัก 'ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์' ผู้ซื้อธุรกิจสิ่งพิมพ์แกรมมี่ยกลอต
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่