บทวิเคราะห์ล่าสุดของต่างประเทศเกี่ยวกับระเบิดที่ราชประสงค์

ระเบิดราชประสงค์: กลุ่มต่างประเทศจากตุรกีลงมือเพื่อแก้แค้นเรื่องส่งตัวอุยกูร์?

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเสนอแนวคิดใหม่อธิบายเหตุระเบิดราชประสงค์ ตัดประเด็นทั้งการเมือง เรื่องภาคใต้ ไม่เกี่ยวกับไอเอสหรืออัลไคดา ตีโจทย์คนลงมือต้องเป็นกลุ่มต่างประเทศ เอ่ยชื่อกลุ่มเกรย์ โวลฟส์ในตุรกี ชี้เป็นการจับมือเฉพาะกิจต้องการแก้แค้นเรื่องอุยกูร์

แอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ประจำประเทศไทยของกลุ่มไอเอชเอส - เจนส์ ซึ่งเป็นกลุ่มวิเคราะห์ข้อมูลด้านข่าวความมั่นคงและการทหาร เปิดประเด็นความเป็นไปได้ของกลุ่มลงมือกรณีระเบิดราชประสงค์ว่า ต้องเป็นกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษในการใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะลักษณะของระเบิดที่ใช้และลักษณะของการลงมือชี้ว่าต้องอาศัยการวางแผนอย่างดี รอบคอบและมีคนสนับสนุน โดยดูจากทั้งที่ราชประสงค์และที่สาทร

เดวิสซึ่งอยู่ในประเทศไทยร่วมสามสิบปี ติดตามงานด้านความมั่นคงตลอดจนปัญหาสามจังหวัดภาคใต้มานานนำเสนอความเห็นของเขาในวงเสวนาเรื่อง “ระเบิดในกรุงเทพฯ: ที่จริงแล้วเรารู้อะไรบ้าง” The Bangkok Bombing: What do we really know? ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศค่ำวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมาโดยชี้ว่า ในความเห็นส่วนตัวของเขา ระเบิดหนนี้ไม่ใช่การลงมือโดยคนคนเดียวอย่างแน่นอน เพราะ ลักษณะของการลงมือที่บ่งบอกว่าต้องวางแผนมาอย่างดีดังกล่าว มีการจัดวางกำลังชัดเจน ประการถัดมาสิ่งที่ชัดเจนคือมุ่งหมายทำร้ายชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเรื่องนี้มีนัยสำคัญยิ่งกว่าข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นการโจมตีเป้าหมายที่มีความสำคัญทางศาสนา เขาระบุว่ามีสามกลุ่มที่ควรพิจารณา กลุ่มแรกคือกลุ่มการเมืองในประเทศที่เกิดจากความแตกแยกกัน กลุ่มที่สองคือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในสามจังหวัดภาคใต้ และกลุ่มที่สามคือกลุ่มจากต่างประเทศ

นักวิเคราะห์ของไอเอชเอส - เจนส์บอกอีกว่า เขาตัดกลุ่มแรกที่กระทำด้วยมูลเหตุจูงใจในเรื่องการเมืองออกไปเพราะจากประสบการณ์ที่เห็นเมืองไทยมานานทำให้เห็นได้ชัดว่า ระดับของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับระเบิดราชประสงค์ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เคยเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ “ระเบิดเมื่อวันจันทร์ที่แล้วเป็นความรุนแรงระนาบใหม่ มันเป็นเกมแบบใหม่ไม่ใช่แบบที่เราเคยเห็นจากประสบการณ์ที่ผมอยู่เมืองไทยมาสามสิบปี เห็นการนองเลือดมาหลายหนแต่ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ลักษณะการลงมือแบบไทย”

ส่วนในเรื่องว่าระเบิดนี้อาจจะเป็นการลงมือของกลุ่มผู้เห็นต่างในภาคใต้ ซึ่งที่จะมีศักยภาพทำได้ก็มีเพียงกลุ่มเดียวคือกลุ่มบีอาร์เอ็น เดวิสบอกว่า ลักษณะระเบิดที่ใช้ไม่เหมือนในภาคใต้ซึ่งใช้วัตถุระเบิดที่แตกต่างกว่ากันมาก ระเบิดที่ราชประสงค์เป็น “industrial type” คือมีลักษณะใช้เทคโนโลยีสูง ในทางเทคนิคไม่ใช่แบบที่ใช้ในภาคใต้ นอกจากนั้นการลงมือส่วนใหญ่ในภาคใต้เพื่อต้องการดึงดูดความสนใจหรือทำเพื่อบ่งบอกอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จะมีคนบาดเจ็บเสียชีวิตแต่ไม่ได้หวังทำลายชีวิตมากเท่านี้ นอกจากนี้เดวิสบอกว่าเขาได้ยินมาว่าบีอาร์เอ็นได้พยายามสื่อสารเงียบๆไปยังฝ่ายต่างๆว่าตนไม่เกี่ยวข้อง “บีอาร์เอ็นเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรในอันที่จะยอมให้มีกลุ่มย่อยแยกตัวออกมาแล้วไปสังหารคนสร้างความเสียหายมากขนาดนี้

เดวิสชี้ว่า สิ่งที่เป็นไปได้คือระเบิดหนนี้เป็นการทำงานของกลุ่มนอกประเทศ ต้องเป็นกลุ่มที่มีลักษณะจัดตั้ง มีศักยภาพที่จะทำได้ และมีมูลเหตุจูงใจที่จะทำ เขาชี้ว่า กลุ่มที่อยู่ในข่ายคือกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส ซึ่งไม่จำเป็นต้องปฏิบัติการจากพื้นที่ในครอบครองในตะวันออกกลางเท่านั้น แต่เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนในต่างแดนตอบสนองด้วย มีกลุ่มผู้สนับสนุนที่ไปร่วมรบไอเอสทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีกลุ่มที่ขึ้นต่อไอเอสเรียกว่า Katibah Nusantara และประเด็นที่เป็นมูลเหตุจูงใจก็คือไม่พอใจวิธีที่รัฐบาลไทยปฏิบัติต่อมุสลิมในประเทศ

กลุ่มต่างประเทศกลุ่มถัดมาที่เดวิสเห็นว่ามีศักยภาพทำได้คือกลุ่มอัลไคดาซึ่งก็มีกลุ่มย่อยที่มีความเชื่อมโยงเป็นพันธมิตรที่เรียกว่า Turkistan Islamic Party ซึ่งก็คือกลุ่มคนเชื้อชาติเดียวกันกับอุยกูร์ แต่แอนโทนี เดวิสชี้ว่า ทั้งสองกลุ่มนี้ก็ยังไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดที่ราชประสงค์ เพราะแม้จะมีศักยภาพและมีมูลเหตุจูงใจ แต่ทั้งไอเอสและอัลไคดา ดำเนินการก่อเหตุเพราะต้องการดึงดูดความสนใจ ในขณะที่ระเบิดราชประสงค์ผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์โดยที่ไม่มีใครตัวอ้างเป็นผู้ลงมือ อีกอย่าง ลักษณะการลงมือของกลุ่มเหล่านี้มักมีจุดเด่นคือเป็นลักษณะพลีชีพ

นักวิเคราะห์ไอเอชเอส - เจนส์สรุปว่า กลุ่มที่เขาเห็นว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากในบรรดากลุ่มต่างๆที่กล่าวมา เป็นกลุ่มจิฮาดในต่างประเทศที่เขาใช้คำว่า “พันธุ์ผสม” และไม่จำเป็นต้องมีชื่อหรือเป็นที่รู้จัก แต่มีลักษณะของการเป็นองค์กรจัดตั้งและเกี่ยวพันกับกลุ่มในตุรกี เดวิสชี้ให้จับตากลุ่ม Grey Wolves ซึ่งเป็นกลุ่มใช้ความรุนแรงขวาสุดโต่ง เกี่ยวพันกับการก่อเหตุมาแล้วในอดีตในความขัดแย้งหลายกรณีตั้งแต่นากอร์โน คาราบัค เชชเนีย ไซปรัส เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันรวมๆ สนับสนุนอุยกูร์อย่างมากและมีบทบาทอยู่แถวหน้าในการประท้วงและเข้าโจมตีสถานทูตไทยในตุรกีหลังเหตุการณ์ไทยส่งอุยกูร์ให้จีน เขาเชื่อว่ากลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาชญากรรมของคนเชื้อสายตุรกีทั่วไปไม่ว่ากลุ่มที่ทำเรื่องลักลอบค้ายาเสพติดหรือค้ามนุษย์ และกลุ่มที่เป็นกลุ่มอาญากรรม จับมือกับกลุ่มที่มีแนวความคิดหรืออุดมการณ์ลงมือในงานนี้โดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้เขาระบุว่า “ผมไม่ได้บอกว่าอุยกูร์เป็นคนลงมือ อุยกูร์ต่อสู้ในประเทศไม่มีอะไรเลย ศักยภาพไม่ถึงขั้น”

ด้านพล.ต.ท..ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและโฆษก สตช.กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่ยากเป็นพิเศษ ลักษณะระเบิดใช้วัสดุที่หายากในไทย ทำลายตัวเองเกือบหมด มีแรงทำลายล้างสูง ไม่ใช่ระเบิดที่จะทำได้โดยง่าย ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีกรณีเช่นนี้ เมื่อถามว่าระเบิดนี้น่าจะประกอบในไทยหรือไม่ พล.ต.ท.ประวุฒิชี้ว่าน่าจะประกอบในไทยแต่ไม่ใช่ในกรุงเทพฯ ส่วนเรื่องที่ว่าเจ้าหน้าที่กำลังตามหาชายคนหนึ่งพร้อมระบุชื่อด้วยนั้น พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวปฏิเสธ พร้อมกันนั้นชี้กับผู้สื่อข่าวว่า ต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ทำงาน ที่ผ่านมาทุกคนทำงานกันเต็มที่จนหลายคนไม่ได้นอน “มันเพิ่งผ่านมาเจ็ดวันนะครับ ไม่ใช่เจ็ดปี”

https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1689867211234312
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่