10 อันดับวิกฤติตลาดทุน - สิ่งที่คุณควรรู้ก่อนเข้ามาเล่นหุ้น

“ตลาดหุ้นก็เหมือนทะเล ยามปกติก็สวยงาม สดใส และให้ประโยชน์กับเรามากมาย แต่ถ้าทะเลพิโรธเมื่อไร มันก็พร้อมจะกวาดและกลืนกินทุกสิ่งลงไปสู่ก้นทะเลในพริบตาเช่นกัน”

ประโยคข้างบนเป็นประโยคที่ผมชอบใช้เปรียบเปรยตลาด (โดยเฉพาะตลาดหุ้น) ให้กับมือใหม่ฟัง เพราะมือใหม่ส่วนมากมักจะมาสนใจตลาดหุ้นในช่วงที่ตลาดขึ้นแรงๆ เป็นขาขึ้นอย่างเต็มตัว และเห็นคนอื่นทำกำไรได้มากมาย (โดยเฉพาะจากบรรดาหุ้นซิ่ง หุ้นปั่นทั้งหลาย) จนเกิดกิเลส และคิดว่าตลาดหุ้นคือสถานที่ที่เงินร่วงหล่นลงมาจากท้องฟ้า

ปรากฏการณ์ที่ผมเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกในตลาดหุ้นไทยคือ การที่มือใหม่เข้ามาในตลาด ทำกำไรได้เล็กน้อย แล้วเกิดความมั่นใจมากจนลงเงินก้อนใหญ่ในจังหวะเดียวกันกับที่คลื่นยักษ์กำลังถาโถมเข้ามาและกวาดทุกสิ่งกลับคืนไปพอดี ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายซ้ำไปมาแทบจะปีเว้นปีเลยทีเดียว

คำแนะนำที่ผมมักจะให้กับมือใหม่ที่เข้ามาปรึกษาเรื่องแผนการซื้อขายหุ้น คือ ให้ลองคิดว่าถ้าเราต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ปี 40 หรือวิกฤติปี 2008 อีกรอบหนึ่ง เราจะมีแผนรับมืออย่างไรให้เราสามารถอยู่รอดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เพราะหากเราไปไล่ดูหน้า wiki เรื่องวิกฤติตลาดทุนและตลาดหมี จะพบว่าเราเคยผ่านเหตุการณ์ตลาดถล่มมาแล้วถึง 20 ครั้งในระยะเวลาแค่ 30 ปี เฉลี่ย 1 ครั้งต่อปีครึ่ง เรียกได้ว่าใครก็ตามที่ย่างเท้าเข้ามาในระบบนี้ต้องทำใจไว้ก่อนเลยว่าจะต้องประสบพบเจอเหตุการณ์แย่งกันขายหุ้นทิ้งในไม่ช้าอย่างแน่นอน

แต่อนิจจา ทั้งๆ ที่เป็นอย่างนั้น กลับมีน้อยคนเหลือเกินที่จะกลับไปครุ่นคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทุกคนต่างก้าวเท้าเข้ามาในตลาดราวกับว่าแสงแดดจะสาดส่องตลอดไป และหลงลืมไปเสียสนิทว่าไม่ช้าก็เร็วเมฆฝนและพายุย่อมมาเยือน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หลายๆ คนยังไปลงหุ้นซิ่งก่อนที่ตลาดจะปรับตัวลง 20% กันเสียอีก



ตอนนี้ตลาดเองก็ปรับตัวลดลงมาเยอะพอสมควรแล้ว และสถานการณ์รอบโลกก็ทำท่าว่าจะไม่ค่อยดีเท่าไรนัก ผมขอใช้โอกาสนี้พาทุกท่านไปย้อนรอย 10 อันดับวิกฤติการเงินโลก (ผมเลือกเองนะครับ ไม่ได้เรียงตามอันดับอะไรเป็นพิเศษ) และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้ทุกท่านนำไปใช้รับมือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตครับ

หมายเหตุ คำว่า “อยู่รอด” ของผมไม่ได้หมายความว่า “ไม่ขาดทุน” นะครับ ไม่ว่าท่านจะเลือกเล่นขาลง, หมอบไพ่แล้วลุกจากโต๊ะ หรือหลับเป็นหมีจำศีลจนกว่าเช้าใหม่จะมา ตราบใดที่วิกฤติในตลาดไม่ส่งผลให้เกิดวิกฤติในชีวิตจริง แค่นี้ก็ถือเป็นอันใช้ได้ครับ ไม่ใช่เข้ามาหวังว่าจะเอาเงินกำไรไปกิน ไปเที่ยว แล้วพอตลาดถล่มทีถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ อะไรที่เคยทำก็ทำไม่ได้ หรือต้องขายบ้านขายรถครับ

เรามาเริ่ม 10 อันดับประทับใจเลยดีกว่าครับ

10. Black Monday

ความรุนแรง: 22% ใน 1 วัน (อเมริกา) หรือราวๆ 20% ใน 1 เดือน (รอบโลก)
ระยะเวลาในการฟื้นตัว: 2 ปี





ถ้าเทียบความรุนแรงกับวิกฤตการณ์อื่นๆ แล้ว ครั้งนี้ถือว่าไม่หนักหนาสาหัสมาก แต่ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้เป็นเพราะมันถล่มลงมาภายในวันเดียวเท่านั้น และยังพากันเป็นทั่วโลกอีกต่างหากครับ ส่วนสาเหตุไม่มีใครทราบแน่ชัด หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ circuit breaker ก็ถูกนำมาใช้ครับ

[9] Panic of 1907

ความรุนแรง: 50% ใน 4 ปี (Dow Jones)
ระยะเวลาในการฟื้นตัว: 4 ปี



หนึ่งในวิกฤตการณ์สุดคลาสสิคที่ดราม่าอย่างมากจนชวนอยากให้สร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อชายหนุ่มสองคนพยายามที่จะกว้านซื้อหุ้นของบริษัทค้าทองแดงขนาดใหญ่ด้วยเงินจากกลุ่มธนาคารที่ตัวเองนั่งบริหาร แต่แล้วแผนการกลับไม่สำเร็จ สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงจนโบรกเกอร์และธนาคารล้มละลายหรือขาดสภาพคล่อง ประชาชนพากันตื่นตระหนกและแห่ถอนเงินจากธนาคารต่างๆ ตลาดหุ้นไม่สามารถกู้ยืมเงินมาเพื่อชำระหุ้นได้ ทุกฝ่ายพากันซวนเซ ถึงขนาดที่ว่า “ระบบการเงินทั้งหมดเกือบพังทลาย”

งานนี้วีรบุรุษขี่ม้าขาวคือ J.P. Morgan ที่เข้ามาพูดคุยกับทุกฝ่ายและหาเงินก้อนโตมาอุดธนาคารและกองทุนต่างๆ ไม่ให้ล้ม (แบบฉิวเฉียด ชนิดวันต่อวันด้วย) ตามมาด้วย John D. Rockefeller บุรุษผู้ร่ำรวยที่สุดในอเมริกา (และยังรวยที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ถ้าปรับทรัพย์สินตามเงินเฟ้อ) ฝากเงินมูลค่าถึง 10 ล้านเหรียญในธนาคารเพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่อง พร้อมสัญญาว่าจะใช้ทรัพย์สินครึ่งนึงที่มีเพื่อปกป้องความน่าเชื่อถือของอเมริกา

ดราม่ายังคงตามมาอย่างไม่หยุดหย่อน J.P. Morgan ก็ยังคงตามล้างตามเช็ดต่อไป งานนี้ร้อนไปถึงประธานาธิบดี Roosevelt เพราะดราม่าสุดท้าย Morgan บอกว่าจำเป็นต้องให้ U.S. Steel Corp. เข้าซื้อกิจการอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งจะไปละเมิด Anti-trust Act ทันที ท่านประธานาธิบดีถูกกดดันให้อนุญาตการเข้าซื้อนี้ภายใน 1 ชั่วโมงก่อนตลาดเปิดทำการ (ไม่เช่นนั้น ทุกอย่างจะถล่มลงมาทันที) สุดท้ายก็ได้รับการอนุญาตครับ ทุกอย่างจึงผ่านมาได้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่