กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศ "กม.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่" จะนำมาบังคับใช้ได้จริงหรือ ?

คุณคิดว่าไง ?

เม่าอ่าน
กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558  มีผลคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมเป็นต้นไป โดยมุ่งคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงาน ซอฟต์แวร์ บทความ หนังสือ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพข่าว ภาพยนตร์ โดยป้องกันผู้ที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากงานนั้น ระบุโทษชัดเจนสำหรับพฤติกรรมความผิดการละเมิดทางอินเตอร์เน็ต

           นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 (การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานทุกประเภท เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพข่าว ภาพยนตร์ และป้องกันผู้ที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากงานนั้น ซึ่งใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เดิมไม่ได้ระบุโทษชัดเจนสำหรับพฤติกรรมความผิดการละเมิดทางอินเตอร์เน็ต แต่ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้กำหนดโทษไว้อย่างชัดเจน

          ในกรณีที่ผู้ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ค นำภาพหรือวีดีโอ ที่ได้จากการค้นหาใน google หรือบริการเว็บไซต์ค้นหาอื่นๆ แล้วนำมาตัดชื่อเครดิตออก เพื่อแอบอ้างว่าเป็นผลงานของตนเอง นำภาพหรือคลิปวีดีโอไปใช้ในทางการค้า กฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมมากขึ้น ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถฟ้องร้องผู้แอบอ้างได้ หากผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คที่เป็นบุคคลธรรมดานำภาพไปโพสต์ต่อโดยยังให้เครดิตเจ้าของภาพอยู่ถือว่าไม่มีความผิด แต่หากเป็นนิติบุคคลอาจจะมีความผิดข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ จึงควรขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนจะนำภาพไปใช้

          อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดให้ผู้กระทำผิดโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท กรณีใช้เพื่อการค้ามีโทษปรับ 1 แสน ถึง 8 แสนบาท หรือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโทษกรณีละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยีปรับ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท เพื่อการค้าปรับ 5 หมื่น ถึง 4 แสนบาท หรือจำคุก 3 เดือนถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีรายการเล่าข่าวหรือการทำวิจัย กฎหมายมีข้อยกเว้นอนุญาตให้เผยแพร่ซ้ำได้ แต่จะต้องนำไปใช้เพียงบางส่วนและต้องระบุให้เครดิตกับเจ้าของสิทธิ์ด้วย

          ทั้งนี้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะช่วยคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงาน ที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต โดยกฎหมายยังเปิดช่องให้เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงเป็นผู้ฟ้องร้อง และบังคับให้ผู้ที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ยุติการละเมิด ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้คนอยากผลิตนวัตกรรม และผลงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ผลจากกฎหมายฉบับนี้เชื่อว่าจะทำให้นโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) เติบโตได้อย่างยั่งยืนและที่สำคัญหากคนไทยตระหนักการใช้สิทธิและดูแลสิทธิของตนเอง โดยไม่ละเมิดสิทธิใดๆ ก็เชื่อว่าจะเป็นผลดีทั้งเจ้าของสิทธิและดีต่อประเทศอย่างมาก และกรมฯ จะนำกฎหมายฉบับแก้ไขใหม่ที่มีผลบังคับใช้วันนี้เผยแพร่ตามช่องทางทั้งเว็บไซต์ของกรม หรือประชาชนสามารถสอบถามสายด่วน 1386 ได้ และกรมยังจะ รวมกับทางกระทรวงศีกษาธิการที่จะเผยแพร่ทำความเข้าใจในขัอกฎหมายนี้ต่อเยาวชนทั่วประเทศอีกด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่