NASA ยืนยันพบดาวเคราะห์หินนอกระบบสุริยะ ใกล้ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ

กระทู้สนทนา
สวัสดีค่ะ

ช่วงนี้ข่าวคราววงการดาราศาสตร์กำลังครึกครื้นทีเดียวค่ะ หลังจากที่ 2 สัปดาห์ก่อนเราฮือฮากันเรื่อง New Horizons เฉียดดาวพลูโต
1 สัปดาห์ก่อน NASA ก็แถลงข่าวการค้นพบ Kepler-452b ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกที่สุด..  ล่าสุด NASA ก็ปล่อยข่าวคราว
เกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะออกมาอีกแล้ว คราวนี้เป็นการค้นพบ "ดาวเคราะห์หินนอกระบบสุริยะที่ใกล้ที่สุดเท่าที่เคยพบมา"
ข่าวนี้แม้จะฟังดูไม่ค่อยน่าฮือฮาตาวาวเท่ากับพลูโตและ Kepler-452b แต่ก็ขอหยิบมาเล่าให้ฟังพอกรุบกริบแล้วกันนะคะ
เพราะสำหรับวงการดาราศาสตร์เนี่ย การค้นพบดาวเคราะห์หินนอกระบบสุริยะที่อยู่ใกล้แค่หลักสิบปีแสง
มันเอื้อประโยชน์ในการศึกษาดาราศาสตร์ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและระบบดาวอย่างมากเลยทีเดียว..



"ดาวเคราะห์หินนอกระบบสุริยะที่ใกล้ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ" ดวงนี้ คือ HD 219134b ค่ะ
ถูกค้นพบครั้งแรกจากหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป (ESO) ผ่านกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติกาลิเลโอ
ก่อนที่ทาง NASA จะสังเกตการณ์ซ้ำผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Spitzer และยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์หินดังกล่าว

HD 219134b อยู่ห่างออกไปแค่ 21 ปีแสง (หากใช้ยานอวกาศยุคปัจจุบัน ก็จะเดินทางไปถึงดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ในอีก 387,000 ปี)
มันเป็นดาวเคราะห์หินขนาดใหญ่กว่าโลก 1.6 เท่า และมวลมากกว่าโลก 4.5 เท่า ดังนั้นเราจะเรียกมันว่า Super-Earth ก็ได้ค่ะ
ส่วนดาวฤกษ์ของมันนั้น เป็นดาวฤกษ์ระดับ K ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าดวงอาทิตย์ คือประมาณ 4,400 องศาเซลเซียส

HD 219134b โคจรรอบดาวฤกษ์ 1 รอบ ใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น ซึ่งด้วยคาบการโคจรอันแสนสั้นนี้
ก็แทบไม่ต้องเดาเลยว่ามันอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ของมันมาก ๆ ไม่ได้อยู่ในย่าน Habitable Zone (เขตเอื้อต่อการเกิดสิ่งมีชีวิต) เลย
จึงกล่าวได้ว่า HD 219134b เป็นเพียงดาวเคราะห์หินร้อน ๆ ดวงนึงเท่านั้น แต่แม้ว่ามันจะเป็นแค่ดาวเคราะห์หินร้อน ๆ
นักวิทยาศาสตร์ก็ให้ความสนใจมากทีเดียวค่ะ คาดว่าเดี๋ยวอีก 3 ปีข้างหน้า (2018) เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb
ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่ากล้องโทรทรรศน์ Hubble ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อปฏิบัติภารกิจสังเกตการณ์วัตถุอวกาศอันไกลโพ้น
เราก็คงจะได้รู้อะไรเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนี้มากขึ้นอีก ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ได้แต่คาด ๆ เดา ๆ กันไปก่อน
โดยเชื่อว่าพื้นผิวดาวเคราะห์ดวงนี้น่าจะมีลักษณะหลอมละลายบางส่วน และน่าจะมีภูเขาไฟบนพื้นผิวดาวค่ะ



พูดถึงเรื่อง HD 219134b พอกรุบกริบไปแล้ว ทีนี้มาดูระบบดาวของมันกันบ้าง..
HD 219134b ไม่ได้เป็นดาวเคราะห์ผู้โดดเดี่ยวเพียงดวงเดียวในระบบดาวของมันนะคะ มีพี่น้องร่วมระบบเหมือนกัน
ระบบดาวของมันประกอบด้วยดาวเคราะห์ 4 ดวงด้วยกันค่ะ โดยพี่น้องอีก 3 ดวงของมัน ได้แก่
- HD 219134c ดาวเคราะห์มวลมากกว่าโลก 2.7 เท่า โคจรรอบดาวฤกษ์ใช้เวลา 6.8 วัน
- HD 219134d ดาวเคราะห์คล้ายดาวเนปจูน มวลมากกว่าโลก 9 เท่า โคจรรอบดาวฤกษ์ใช้เวลา 47 วัน
- HD 219134e ดาวเคราะห์ยักษ์มวลมากกว่าโลก 62 เท่า โคจรรอบดาวฤกษ์ใช้เวลา 1,190 วัน

..

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว HD 219134b อาจจะไม่ใช่ดาวเคราะห์หินนอกระบบสุริยะที่ใกล้เราที่สุดก็ได้ค่ะ
เพียงแต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เจอดาวเคราะห์หินที่ใกล้เรากว่านี้เท่านั้นเอง ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้.. อย่างที่หลาย ๆ คนรู้กันว่า
นักวิทยาศาสตร์เคยค้นพบ GJ674b ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างออกไป 14.8 ปีแสงมาแล้ว
แต่จนถึงตอนนี้พวกเค้าก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ค่ะว่ามันเป็น "ดาวเคราะห์หิน" หรือ "ดาวเคราะห์ก๊าซ" กันแน่
ส่วน Alpha Centauri Bb ที่คาดว่าเป็นดาวเคราะห์ในระบบดาวเพื่อนบ้านที่ห่างออกไปแค่ 4.4 ปีแสง ก็ยังไม่มีการยืนยันชัดว่ามีอยู่จริง
ดังนั้น HD 219134b จึงได้รับตำแหน่ง "ดาวเคราะห์หินนอกระบบสุริยะที่ใกล้ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา" ไปก่อนด้วยประการฉะนี้

สุดท้ายนี้สำหรับใครที่อยากจะรู้ว่าดาวเคราะห์หิน HD 219134b มันอยู่ตรงไหนบนท้องฟ้า
ให้แหงนหน้ามองฟ้าในคืนเดือนมืดค่ะ เราจะมองเห็นแสงจาง ๆ จากดาวฤกษ์ของมันอยู่เยื้อง ๆ กับกลุ่มดาวค้างคาว
ตำแหน่งไหนดูตามคลิปวิดีโอข้างล่างนี้เลย..
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

จบแล้ว ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ค่ะ
อมยิ้ม04
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่