ประสบการณ์เก้าฝน “...ไร้เดียงสา พรรษาแรก...”

งานบรรพชาเป็นสามเณรของผมไม่มีอะไรมาก   มหรสพการแสดงไม่ต้องพูดถึง  เพราะแค่ค่าซื้อบริขารเครื่องใช้สำหรับลูกเณร  แม่ท่านก็ลำบากเก็บผักบุ้งและหาปลาในท้องนามาขายเก็บหอมรอมริบอยู่นาน    หรือแม้แต่บาตรก็อาศัยบาตรเก่าๆ ของวัดมาขัดสนิมแล้วลงสีให้ดูใหม่   ที่ผมดีใจและตื่นเต้นที่สุดเห็นจะเป็นรองเท้าแตะใหม่คู่แรกในชีวิต   ตั้งแต่จำความได้  เท้าผมติดพื้นดินโดยไม่มีอะไรกั้นกลางมาตลอด  ตะปู เศษแก้วและหนาม เท้าผมล้วนผ่านมาหมด   รองเท้าคู่แรกคู่นั้นผมยังจำมันได้ดีแม้จะผ่านมาเกือบสี่สิบปีแล้วก็ตาม   เป็นคู่เล็กๆ สำหรับเด็กบ้านนอกตัวเล็กๆ อายุสิบสองขวบคนหนึ่ง  เป็นสีที่ผมโปรดคือสีฟ้าซะด้วย   จำได้ว่าใส่มันอยู่เกือบสามพรรษาจนเท้าโตกว่าขนาดรองเท้า   โยมแม่ถึงซื้อคู่ใหม่ถวายในพรรษาที่สี่


เพราะต้องรอแม่เก็บหอมรอมริบหาเงินซื้อบริขารเครื่องใช้ให้ครบก่อน   ระยะเวลาการ “อยู่นาค” ห่มขาวในวัดของผมจึงยาวนานกว่าปรกติ  คือผมอยู่ในวัดเป็นนาคถือศีลแปดอยู่สามเดือนกว่าๆ   ท่องบทขอบรรพชาจนขึ้นใจ(จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังท่องได้)  วัดประจำหมู่บ้านก็เป็นวัดบ้านนอกเป็นวัดเล็ก  เอาแค่ "คณะ" แต่ละคณะของวัดในกรุงเทพฯ นั้น  ใหญ่กว่าวัดหลายสิบเท่า   ไม่มีพระอุโบสถอาศัยก้อนหินในบริเวณนั้นกำหนดเป็นหลักเขตพัทธสีมา   มีศาลาการเปรียญไม้เก่าๆ และกุฏิเล็กๆ สองหลัง


นอกจากเงินค่าใช้จ่ายซื้อบริขารและถวายพระแล้ว   เงินอีกจำนวนหนึ่งที่แม่ต้องลำบากหยิบยืมญาติมาใช้จ่ายเป็นค่ารถเดินทางไปบวชที่วัดของพระอุปปัชฌาย์จำนวนสองร้อยห้าสิบบาท   ที่ต้องหยิบยืมเพราะฤดูกาลเข้าพรรษางวดใกล้เข้ามา  เกรงว่าจะหาเงินไม่ทันให้ผมบวชก่อนเข้าพรรษา  และนั่นเป็นการได้นั่งรถในระยะทางที่ไกลที่สุดครั้งแรกในชีวิต (หมู่บ้านผมอยูไกลจากทางรถ   นานๆ รถจะเข้าหมู่บ้านที  พวกเด็กๆ อย่างพวกผมพากันวิ่งแห่ไปดูและห้อยโหนเกาะท้ายรถอย่างดีใจ)  การได้นั่งรถอย่างแบบจริงๆ จังๆ จึงเป็นประสบการณ์น่าตื้นเต้นมากสำหรับเด็กบ้านนอกผม


วันนั้นแม่และพี่สาวทั้งสี่คนของผมร้องไห้ตาบวมเกือบทั้งวัน   ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพี่ชายผมทั้งห้าคนและน้องชายอีกคนไม่มีใครได้บวชเลย  แม่เคยขอร้องให้ทุกคนบวชให้ท่าน  ทุกคนปฏิเสธหมด   ยิ่งต่อมาพี่ชายคนโตสุดและรองลงต้องติดคุกด้วยข้อห้าชิงทรัพย์  แม่ยิ่งเสียใจหนัก....หลังจากที่ผมผลัดผ้าจากผ้าขาวแล้วมาห่มผ้าเหลืองแทนแล้ว   แม่จ้องผมแทบไม่กระพริบตา   ท่านก้มกราบผมพร้อมน้ำตา....สะอื้นพลางกล่าวพลางว่า   ชาตินี้คิดว่าจะไม่ได้เห็นชายผ้าเหลืองลูกชายเสียแล้ว    เห็นน้ำตาแม่....ก็สะอึกจุกขึ้นมาที่ลำคอ   ภาพนั้นเป็นภาพที่ติดตามาถึงทุกวันนี้และเป็นภาพที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิต   


พรรษาแรกที่บวชแทบจะเรียกได้ว่าเป็นห้วงเวลาแห่งการเรียนรู้วิถีแห่งสมณะ    เริ่มต้นง่ายๆ เช่นว่าการเลิกใช้คำพูด “กรู” และ “เมิง” ทั้งหมดไม่ว่ากับผู้ใหญ่หรือเด็กๆ   ทางภาคอีสานทั่วๆไป จะเรียกตัวเองว่า “ข่อย” เรียกคนอื่นว่า “เจ้า" เรียกคนตามเพศเช่นผู้ชายเรียกว่า “พ่อออก”  ผู้หญิงเรียก “แม่ออก”  (ผมบวชเป็นสามเณรอยู่เกือบสิบพรรษา  สิกขาลาเพศออกมายังไม่ถนัดใช้คำว่ากรูเมิงเลย  ได้ยินทีก็สะดุ้งอยู่บ่อยๆ   พูดรวมๆ ก็คือการที่ต้องพยายาม ระมัดระวัง กาย  วาจา และใจนั่นเอง)


ในพรรษานั้น  ที่วัดมีสามเณรเพียงสองรูปคือส่วนพระอีกสี่รูป   ผมกับสามเณรอีกรูปต้องกลางมุ้งนอนบนศาลากันเพราะกุฏิสองหลังเป็นหลังเล็กๆ เอง    กิจวัตรหลักๆ ของสามเณรก็คือตื่นตีสี่  จัดเตรียมอาสนะบนศาลาให้พระท่านมานั่งทำวัตรเช้าตั้งแต่ตีสี่ครึ่งถึงตีห้ากว่าๆ จากนั้นก็จะนั่งสมาธิถึงหกโมงเช้า   ทำวัตรเช้าเสร็จก็ต้มน้ำร้อนหรือบางวันก็น้ำมะตูมถวายพระหลังจากกวาดวิหารลานเจดีย์เสร็จ  จากนั้นก็ตระเตรียมบาตรแล้วออกบิณฑบาตรในหมู่บ้าน


ในพรรษาแรก  ผมทำเรื่องขายหน้าอยู่สองเรื่อง  เรื่องแรกคือว้นแรกที่ออกบิณฑบาตรเลยคือทำบาตรหล่นตกพื้น  คงจะด้วยสรีระที่เล็กบวกกับบาตรเริ่มหนักขึ้นๆ ....เนื้อบาตรเป็นเหล็กเจอความร้อนของข้าวที่พึ่งนึ่งเสร็จใหม่ๆ  ก้นบาตรที่อุ้มก็ร้อนตาม   ยิ่งตอนเปิดฝาบาตรก็ต้องยกก้นบาตรมือเดียว...ทนร้อนไม่ไหวปล่อยบาตรหล่นตกพื้นต่อหน้าโยมเลย   วันถัดมา...หลวงพ่อเจ้าอาวาสหา “ปลอกบาตร” เก่ามาให้หุ้มบาตร  ค่อยยังชั่วขึ้นมา    ส่วนเรื่องที่สองคือวันถัดมาทำฝาบาตรหล่นพื้น  คราวนี้ไม่ใช่ความร้อนอะไร  แต่เป็นเพราะผ้าจีวรที่ครองอยู่กำลังจะหลุดจากบ่า  ปลายผ้าจีวรที่ฟั่นเป็น “ลูกบวบ” แล้วหนีบเอาไว้นั่นเริ่มหลวมกำลังจะหลุดจากบ่าขณะเปิดฝาบาตร  ตอนนั้นต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างปล่อยให้ผ้าจีวรหลุด(เสี่ยงต่อการหลุดไปกองกับพื้นมาก  เพราะครองจีวรไม่ถนัด)กับปล่อยฝาบาตรลงพื้นแล้วไปกระชับผ้าจีวร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่