[CR] Jungle Trail : EP.1 พิชิตยอดหัวสิงห์...ดอยม่อนจอง



21:00 / 07.02.2015 ณ บิ๊กซีสะพานควาย

ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นเรื่องบังเอิญ หรือ เป็นสัปดาห์สุดท้ายที่พวกเราทุกคนที่อยู่ที่นี่ จะได้ขึ้นไปสัมผัสบรรยากาศบนยอดดอยที่น้อยคนนักจะรู้จัก และไม่กี่คนที่เคยได้ชื่นชมความสวยงามของ “ดอยม่อนจอง” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย หน่วยมูเซอ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้แวะเวียนเข้ามาเก็บ กลิ่นอายของธรรมชาติและความทรงจำดีๆกลับบ้าน ตั้งแต่ ต้นเดือน พฤศจิกายน จนถึง กลางเดือน กุมภาพันธ์ ของทุกปี

ดอยม่อนจอง สามารถเดินทางมาได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นกับทัวร์เดินป่า ซึ่งก็มีให้เลือกมากมายหลายบริษัทหรือจะเลือกเดินทางด้วยตัวเองอย่างผมก็สามารถทำได้ แต่ทางที่ดีขอมีเพื่อนร่วมคิดร่วมเดินทางด้วยจะดีกว่า การเดินทางในครั้งนี้ของผม  ไปกับเพื่อนๆ อีก 6 คนด้วยกัน พวกเราเหมา รถตู้ ออกจากกรุงเทพในคืนวันสุข  มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ เข้าจังหวัดตาก ใช้เส้นทางเดียวกับที่จะไปลำปาง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเส้น 106 ไปทางอำเภอลี้ ผ่านอุทยานแห่งชาติออบหลวง ก่อนจะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเส้น 1099  เราก็จะถึง อ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เช้าวันเสาร์พอดิบพอดี

                                          


“อุ้ย !!! ลืมซื้อไข่”

พวกเราคนนึงพูดขึ้น ไม่นานหลังออกจากร้าน ป้าบัวผัน ที่ซึ่งพวกเรากินมื้อเช้า และซื้อข้าวของเตรียมตัวสำหรับการเดินทางในครั้งนี้  ร้านป้าบัวผันอยู่ไม่ไกลจากจุดหมายแรกของเราสักเท่าไหร่ การเดินทางในทริปนี้ของเราเริ่มต้นขึ้นที่นี่.. ก่อนที่จะเลี้ยวซ้าย ไปตามถนนเส้น 1099 เพื่อมุ่งหน้าสู่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย หน่วยมูเซอ จุดหมายแรกของเรา





ณ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอมก๋อย หน่วยมูเซอ เราต่อรองราคาลูกหาบพร้อมทั้งเก็บข้าวของที่ไม่จำเป็นและเสื้อผ้าที่จะเอาไว้เปลี่ยนตอนขากลับไว้ในรถตู้ และเอาของที่จำเป็นโยนขึ้นหลังกระบะ คณะของพวกเราประกอบไปด้วย หญิง 4 ชาย 3 ลูกหาบ 3 (ตอนแรกว่าจะเอาลูกหาบแค่ 2 คน แต่เหมือนจะเป็นนโยบายมูเซอ ว่าต้องไปกันเป็นทีมของเค้า...)  แต่ก็ไม่รู้ว่าพรหมลิขิต ขีดเขี่ยอีท่าไหน

“ฮุโต้ววว จำกัด มหาชนครับ” วัยรุ่นชาวมูเซอ ท่าทางคล่องแคล่ว แต่ก็ดูมีความอ่อนน้อมคนนึงพูดขึ้น พร้อมเพื่อนของเค้าอีก 2 คน



“จำกัด มหาชน... เออเข้าท่านะ เป็นบริษัทเลยหรอ” เราถูกใจมากกับการตลาดของทีมนี้ เลยต้องขอลองร่วมทางไปด้วยกันซะหน่อย... น้ำพร้อม ข้าวพร้อม การเดินทางจากจุดนี้ไป จะเป็นการนั่งรถกระบะ ระยะทาง 16 กิโลเมตร รถกระบะสภาพหุ้มไปด้วยสนิม แต่พลังแรงประมาณ Dodge Charger รถของ ดอม โดมินิค ทอเร็ตโต้ ในเรื่อง Fast เลยครับ มันบรรทุกคนขับ 1 คน พร้อมกับพวกเราและลูกหาบรวมเป็น 10 คน วิ่งลุยขึ้นเขาเข้าไป ทางช่วงนี้ เราต้องวิ่งไปตามสันเขา บางที่ขึ้นชั้นเกือบ 90องศา (ไม่รู้รถขึ้นไหวได้ไง) บางที่ก็ลงดิ่งอย่างกับรถไฟเหาะ ที่สำคัญเป็นเส้นทางเดินรถทางเดียว ทำให้เวลามีรถสวนลงมา ไม่ต้องพูดถึงครับ หลบกันทีล้อข้างนึงเกือบหลุดไปนอกเขา



“วอ 1 เรียก วอ  2 เปลี่ยน”

ณ ทางขึ้นดอยม่อนจอง พวกเราทั้ง 7 คน สะพายกระเป๋าขึ้นไหล่ทั้ง 2 ข้าง โดยไม่ทันได้ถามว่ามันพร้อมจะรับกระเป๋าใบนี้ไปดูแลตลอดการเดินทางรึยัง ทางขึ้นดอยม่อนจองต่อจากนี้จะเป็นการเดินเท้าล้วนๆ ชันบ้าง ราบบ้าง รวมแล้วประมาณ 4 กิโลเมตร โดย 60% จะเป็นทางชัน ลองคิดกันเล่นๆนะครับ ? 4 กิโล กับทางชันมันต้องคูณเป็นระยะทางเท่าไหร่ ถ้าเปลี่ยนให้เป็นทางราด พวกเราไม่มีเวลามาคิดให้เหนื่อยสมองละ เพราะขาเรากำลังจะเหนื่อยแบบสุดๆ เพราะงั้นขอเก็บสมองไว้เป็นส่วนนึงที่ได้พักผ่อนและขอเอาวิวที่จะได้เห็นตลอดทางไปบำรุงกำลังใจ ส่งไปยังขาทั้งสองข้าง ให้ไปให้ถึง “หัวสิงห์” จุดหมายปลายทางในทริปนี้ของเรา



พวกเราไม่รอช้าทำการไหว้เจ้าที่เจ้าทางเรียบร้อย ก็ออกเดินทางทันทีแต่ถ้าจะให้เดินชมวิวเฉยๆมันก้อยังไงๆ อยู่ เราจึงมีของเล่นระหว่างทาง คือ walky talky กลุ่มฟิตเดินนำ กลุ่มไม่ฟิตเดินตาม ห่างกันพอประมาณ ประมาณว่าตะโกนในป่าก็ไม่ได้ยินกัน แต่ใช่ว่ากลุ่มนำจะนำตลอดไป กลุ่มตามจะตามตลอดไป ตำแหน่งสลับสับเปลี่ยนกันตลอดทาง

และทุกการเดินทางมักมีคำถามในหัวเสมอ แต่การเดินป่าแบบนี้มีไม่กี่คำถามหรอกที่นักเดินป่าจะถามกัน คำถามที่ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งตลอดกาลของวงการนี้คงจะหนีไม่พ้น “อีกไกลไหม” ซึ่งได้คะแนนทิ้งห่างอันดับ 2และ3 อย่าง “พักก่อนไหม” “ไปก่อนเลย” อยู่ไม่มากนัก ส่วนคำตอบ ถ้าคนมีประสบการณ์น้อยหน่อยอาจถูกหลอกได้ อย่างเช่นถ้าเราถามคนที่เดินสวนลงมาว่า “อีกไกลไหม” ถ้าคำตอบที่ได้รับคือ “ไม่ไกล อีกนิดเดียว” ให้ถามเพื่อนได้เลยว่า “พักก่อนไหม” บอกได้เลยครับว่าไกล แต่ที่ต้องพูดแบบนี้เพื่อเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันครับ น้ำใจก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญนะครับ มันพิสูจน์อะไรได้หลายๆอย่าง เหมือนกับที่มีคนกล่าวไว้ว่า “จะพิสูจน์รักแท้ ให้ลองเดินขึ้นภูกระดึงด้วยกัน”





ลักษณะทางขึ้นม่อนจอง ส่วนใหญ่จะเป็นทางเดินขึ้นไม่ชันมาก แต่ก็มีบางจุดที่ชันเกือบๆจะ 90 องศา ส่วนแรกจะเป็น   ป่าสน ลักษณะการเดิน เราจะเดินตามสันเขาไปเรื่อยๆ ทางซ้ายจะเป็นป่าทึบ ส่วนทางขวาจะเป็นหน้าผาที่มองเห็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมากมาย





“สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น” เพื่อนผมคนนึงพูดขึ้น ระหว่างที่เราทั้งหมดกำลังนั่งพัก แกะถุงพลาสติกซึ่งข้างในบรรจุด้วยอาหารพื้นฐานการเลี้ยงชีพของคนไทย นั้นคือข้าวกระเพราไก่ไข่ต้ม พวกเรากินข้าวเที่ยงกัน แต่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะบอก สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ ระยะทางต่อจากนี้ ไม่ใช่อุปสรรคกับเราอีกต่อไปในเมื่อท้องอิ่ม กำลังใจพร้อม ร่างกายปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้แล้ว เราก็ออกเดินทางกันต่อ ก้าวสู่ก้าว ผ่านป่าสน เข้าสู่ทางชัน เรียกว่าชันขนาดที่บางคนขอเปลี่ยนจากเดินเป็นคลานแทน

ผมเคยสงสัยตัวเองนะ ว่าทำไมถึงชอบที่จะทิ้งความสะดวกสบายในเมือง เก็บกระเป๋า แล้วหันหน้าเข้าป่า พร้อมหันหลังให้กับเมืองหรือสังคมที่เราอยู่  ลองนึกดูสิ เคยมีวันไหนไหมที่คุณไม่ต้องชาร์ตแบตโทรศัพท์ ไม่ต้องอยู่ในสังคมก้มหน้า คุณยังจำเวลาที่เพื่อนๆ นั่งล้อมวงกินเหล้ากัน โดยที่ไม่มีใครหลุดไปอยู่ในโลกส่วนตัวได้รึเปล่า หรือจะเป็น ช่วงเวลาที่ทำให้เราคิดถึงคนที่อยู่ไกล และสนิทใจมากขึ้นกับคนที่อยู่ใกล้ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกเราไปทุกวัน แต่ผมกลับอยากย้อนเวลากลับไปสู่ความเรียบง่ายอย่างที่เคยเป็นมา โลกที่ยังเป็นธรรมชาติ และ เวลาที่เราไม่รังเกียจมือที่เปื้อนดิน แต่กลับมีความสุขกับสิ่งที่เราจะได้เห็นหลังจากที่ใช้เวลาคลานขึ้นมาซักพัก และ เวลาที่คุณได้พูดว่า “ถึงแล้ว”





ทุกคำถามที่ผมสงสัย คำตอบคงอยู่ในดวงตาทั้งสองข้างของผม ยอดหัวสิงห์ เราเห็นมันแล้ว ถึงแม้จะอยู่ไกลลิบๆ สุดสายตาก็ตาม และนั่นคงเป็นคำตอบของคำถามทั้งหมด ว่าทำไม สำหรับผมธรรมชาติถึงงดงามเสมอ



เราใช้เวลาอีกไม่นานนัก ก็เดินมาถึงสถานที่ ที่เรียกว่า “สนามกอล์ฟช้าง” ลักษณะจะเป็นที่กว้างโล่งบนสันเขา หญ้าเตี้ยๆ ดูคล้ายๆสนามกอล์ฟ  ซึ่งจะเป็นทางแยก ที่จะไปหัวสิงห์ กับ ที่ตั้งแคมป์ของเราในคืนนี้



...ทุกความสำเร็จ มักมีรางวัลให้เสมอ

คนที่ตั้งใจทำอะไรสักอย่างที่เค้ารัก คนๆนั้นมักจะได้สิ่งที่เค้าคาดหวังตอบแทน และหนึ่งในรางวัลชั้นเยี่ยมที่ใครๆหลายคนหมายปอง ก็คือการได้มีโอกาสที่จะเลือกทางเดินของตัวเอง ถึงแม้ทางเดินนั้นมันจะไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือสำคัญอะไรมาก แต่มันก็ยังดีกว่าไม่ได้เลือกอะไรเลย เราเลือกที่จะไปเก็บสัมภาระกันที่เต็นท์ก่อน แล้วค่อยเดินไปพิชิตยอดหัวสิงห์กัน



ขณะนี้ก็เป็นเวลา 4 โมงเย็นแล้ว ความหนาวเย็นของปลายฤดูหนาวยังคงอยู่ ยิ่งบนยอดดอยแบบนี้ ความหนาวเย็นยิ่งขยันทำงานมากกว่าข้างล่างเป็นไหนๆ พวกเราเก็บกระเป๋าเข้าเต็นท์ พร้อมกับหยิบเสื้อกันหนาวคู่ใจออกมาใส่ เพราะเรารู้แน่ว่า ขากลับจาก หัวสิงห์ เราคงไม่มีแสงจากพระอาทิตย์มาช่วยต่อกรกับลมหนาวบนยอดเขาแห่งนี้แน่นอน

พวกเราออกเดินทางกันต่อ...



ทางเดินต่อจากนี้ พวกเราคงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการเดินทาง โดยเฉพาะทางขวามือของเรานั้น จะเป็นหน้าผา ส่วนทางซ้ายมือจะเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ พวกเรากำลังเข้าใกล้ หัวสิงห์ ขึ้นเรื่อยๆ







“ชีวิต ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” คงเป็นคำพูดของใครหลายๆคนที่ฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิต จนประสบความสำเร็จในที่สุด และมันคงไม่ต่างอะไรกับการเดินทางในครั้งนี้ของผม จะต่างก็เพียงแค่... ผมพบกุหลาบก่อนที่จะถึงเส้นชัย แต่มันไม่ได้โรยตามทางมานะ แต่มันยืนต้อนรับเราเป็นต้นเลย



ถึงแม้จะเป็นช่วงปลายฤดูหนาว แต่เราก็ยังโชคดีที่ ต้นกุหลาบพันปี ยังคงมีดอกกุหลาบสีแดงเหลืออยู่ และเป็นสัญลักษณ์ว่า คุณได้มาถึงจุดที่สูงที่สุดของดอยม่อนจองเรียบร้อยแล้ว



ณ ยอดหัวสิงห์...
นอกจากความสวยงามที่ธรรมชาติมอบให้เราแบบไม่คิดจะกั๊กแล้ว เรายังได้ความภาคภูมิใจที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในคนที่สามารถพิชิตยอดดอยม่อนจองได้ คงไม่มีคำพูดไหนจะถ่ายทอดความสวยงามของที่นี่ได้นอกจากเราจะได้มาเห็นด้วยตาของตัวเอง

อากาศบนยอดหัวสิงห์ตอนนี้เริ่มเย็นขึ้นเรื่อยๆ เราใช้เวลาอีกสักพัก ในการชื่นชมความงามที่ไม่สามารถหาได้ในเมืองหลวงที่มีแต่ตึกกับรถ ณ เวลานี้คงไม่มีอะไรสวยไปกว่า ต้นไม้สีเขียว หญ้าสีทอง และฟ้าของท้องฟ้า เราหันกลับไปดูเส้นทางที่เราเดินผ่านมา ยิ่งทำให้เรารู้ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนกับการเดินทางในครั้งนี้ และยังคงมีอีกหลายๆที่ ที่รอให้เราได้ไปค้นหาคำตอบและธรรมชาติยังคงรอให้เราได้สัมผัสเสมอ



ติดตามได้ที่... http://www.tripily.net/#!/guest/story/Jungle-Tra-20150726-0253
ชื่อสินค้า:   เที่ยวไทย
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่