เรื่อง "วายวาย" ในวรรณคดีไทย

พอดีไปอ่านเจอบทความ “อิเหนาเป็นเอง” ของรศ.ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ มาค่ะ คิดว่าหลายๆ คนในเล้าคงชอบบทความนี้เลยสรุปมาให้อ่านกันเล่นๆ ค่ะ
   หลายคนบอกว่าทำไมนายเอก Yaoi fiction ถึงได้แต่งให้กระเดียดไปทางผู้หญิงจัง จริงๆ วรรณคดีไทย โดยเฉพาะบทละครใน สมัยก่อนกวีก็นิยมพรรณนารูปลักษณ์พระเอกให้อรชร อ้อนแอ้น เหมือนกันนะคะ แต่นั่นเขามีที่ไปที่มา เพราะวรรณคดีประเภทละครในแต่งขึ้นมาสำหรับการแสดง นักแสดงก็เป็นผู้หญิงทั้งนั้น (ละคนในใช้นักแสดงหญิงล้วนนะคะ ละครนอกก็ใช้นักแสดงชายล้วนค่ะ) จึงต้องกำหนดรูปลักษณ์ตัวละครให้อรชร อ้อนแอ้น จะได้หานักแสดงสาวๆ ชาววังมาสวมบทบาทได้ง่าย เมื่อเอาผู้หญิงมาเป็นพระเอกการบรรยายรูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทางบางอย่างจึงค่อนไปทางผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

   เกริ่นมาพอละเข้าเรื่องดีกว่าค่ะ เรามาดูพระเอกนักรักอย่างอิเหนาบ้าง อิเหนาเนี่ยเป็นพระเอกที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นนักรักเลยนะคะ เวลาเจอเจ้าหญิงเมืองไหนก็ให้มีใจปฎิพัทธ์รักใคร่ไปเสียหมด แล้วก็บัญเอิญเจ้าหญิงสาวสวยที่ไปหลงรักก็เกิดมีน้องชายหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพราไม่แพ้พี่สาว เวลาที่ยังไม่มีโอกาสได้เชยชมพี่สาว แล้วใครล่ะที่จะเป็นตัวแทน ถ้าไม่ใช่น้องชายผู้มีดวงหน้าหวานหยดย้อยนั้น !!! o22
   เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ายกเมฆ มาค่ะ มาดูหลักฐานกัน
   เมื่อตอนที่นางมาหยารัศมี นางสะการะวาตี และสังคามาระตา (น้องชายหน้าสวย) ถูกนำมาถวายแก่อิเหนานั้น อิเหนายังเกรงอกเกรงใจนางจินตะหราอยู่ จึงไม่กล้ายุ่งเกี่ยวกับสองนาง แต่ก็หาทางออกด้วยการชวนสังคามาระตาน้องชายของทั้งสองนางมานอนด้วยแทน

         “พิศดูรูปทรงส่งศรี               เหมือนมาหยารัศมีไม่เพี้ยนผิด
      พระเชยปรางพลางอุ้มขึ้นจุมพิต     ฤทัยคิดสำคัญว่ากัลยา
      เอวองค์อรชรอ้อนแอ้น              เหมือนแม้นพี่นางเป็นหนักหนา
      พิศทรงขนงเนตรอนุชา              ละม้ายเหมือนนัยนานางเทวี
      สัพยอกแย้มสรวลชวนพาที          จนเข้าที่บรรทมหลับไป”
   
   ไม่ใช่มีแต่ยอดชายหน้าหวายสังคามาระตาคนเดียวนะคะ สียะตราอนุชาหน้าสวยของบุษบาก็พลอยโดนไปด้วย เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนที่อิเหนายังงอนบุษบาอยู่ ทำอะไรไม่ได้เลยชวนสียะตราไปนอนด้วยพลางๆ ก่อน

              “เมื่อนั้น                             ระเด่นมนตรีเกษมสานต์
      กอดประทับรับขวัญพระกุมาร               แสนสำราญภิรมย์ชมเชย
      พาไปให้บรรทมบนแท่นทอง                เอนแอบแนบประคองเคียงเขนย
      เสสรวลชวนพลอดกอดก่ายเกย             พระชื่นเชยชมต่างนางบุษบา”

   ยังค่ะ ยังไม่จบแค่นี้ ฉากต่อไปเด็ดกว่าอีกค่ะ NC นิดๆ ค่ะ แต่ก็ไม่ถึงกับ “ฝนตก ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง” นะคะ (ตามขนบเวลากวีพรรณนาฉากอัศจรรย์หรือฉาก NC กวีจะเปรียบกับธรรมชาติ ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าคะนองค่ะ)

         “ครั้นพระกุมารหลับสนิท                     พระโอบอุ้มจุมพิตขนิษฐา
      โลมเล้าลูบไล้ไปมา                           สำคัญว่าบุษบานารี
      พิศพักตร์พักตร์ผ่องดังเดือนฉาย                     พิศทรงทรงคล้ายนางโฉมศรี
      พิศปรางเหมือนปรางพระบุตรี                                รัศมีสีเนื้อละกลกัน
      ทั้งโอษฐ์องค์ขนงเนตรนาสา                        ละม้ายเหมือนบุษบาทุกสิ่งสรรพ์
      พระกอดจูบลูบไล้เกี้ยวพัน                        จนบรรทมหลับสนิทไป”

   อิเหนาก็คงทำอย่างนี้อยู่เสมอเมื่อสียะตราถูกเรียกตัวกลับเข้าวัง อิเหนาก็ทนไม่ได้ต้องมาหาทางออกเอากับสังคามาระตาอีก

         “เมื่อนั้น                   พระโฉมยงทรงสวัสดิ์รัศมี
      สถิตเหนือแท่นรัตน์รูจี                ครั้นสิ้นแสงสุริยศรีสนธยา
      ให้คิดถึงสียะตราหนึ่งรัด                เคยชมโฉมโสมนัสเสน่หา
      เชยต่างพี่นางบุษบา                           วันนี้อนุชาจากไป
      พระจึงชวนสังคามาระตา                เข้าที่ไสยาพิศมัย
      บรรทมบทแท่นแก้วแววไว                สองกษัตริย์ชาญชัยก็นิทรา”
         “เวลาเงียบสงัดกำดัดดึก             พระรู้สึกขึ้นแล้วก็คว้าหา
      ประสบองค์สังคามาระตา                พระราชาอุ้มสะพักใส่ตักไว้
      กรเกี่ยวเกลียวกลมชมเชย                ตามเคยทุกวันไม่สงสัย
      พลางพลอดกอดจูบลูบไล้                มิได้ลืมเนตรขึ้นแลดู

   แต่เผอิญครั้งนี้สวรรค์ของอิเหนามีอันต้องล่มลงค่ะ เพราะอะไรหรอคะ ก็เพราะว่า

         “พอได้ยินสรวลขิกก็คิดได้             จึงลืมเนตรพิศอยู่เป็นคู่
      เห็นสังคามาระตาโฉมตรู                พระอดสูทิ้งลงเสียฉับพลัน
      ให้ขวยเขินสะเทินวิญญา                เอนองค์นิทราผินผัน
      คิดละอายฤทัยพระทรงธรรม์                ทำบรรทมหลับนิ่งไป”
   
   โถ!!! สุดท้ายก็แค่คลายเหงา  :เฮ้อ: ตกลงอิเหนาจะเป็นอะไรก็ขึ้นอยู่กับความคิดแต่ละคนนะคะ
        
          เห็นไหมคะวรรณคดีไทยใครว่าล้าสมัย สนุกจะตายไป มาอ่านวรรณคดีไทยกันนะคะ


สรุปความจาก นิตยา กาญจนะวรรณ. “อิเหนาเป็นเอง” ในพูดจาภาษาไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2528.

ปล. จัดหน้าและวรรคตอนได้ดีที่สุดเท่านี้ ใครจัดรูปหน้าเก่งๆ บอกเคล็ดลับกันบ้างนะคะ

ขอบคุณเรื่องราว [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่