′คลัง′ รื้อแผนแก้ภัยแล้ง เล็งแจกเงินไร่ละพันให้ ′ชาวนา-สวนยาง′

กระทู้คำถาม
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร จากปัญหาภัยแล้งให้พิจารณา โดยแนวทางจะยังยึดการ
จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ หรือให้การช่วยเหลือ
15,000 บาทต่อครัวเรือน เหมือนปี 2557

จากนี้ต้องกลับไปดูรายละเอียด ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาความเหมาะสมของการจ่ายเงินช่วยเหลือ
อีกครั้ง และจะขอหารือแนวทางกับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง พิจารณาเป็นการเร่งด่วน ก่อนเสนอ
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนนี้

"สศค.ได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือ ประกอบด้วย กรณีที่ 1 ช่วยเหลือเฉพาะครัวเรือนที่ประสบภัย
สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีจำนวน 1.31 ล้านครัวเรือน คิดเป็นเม็ดเงินช่วยเหลือ 1.96 หมื่นล้านบาท
หากรวมเกษตรกรผู้ปลูกยางอีก 3.67 หมื่นครัวเรือน จะใช้งบประมาณช่วยเหลือเพิ่มอีก 551 ล้านบาท
รวมเป็น 1.34 ล้านครัวเรือน วงเงิน 2.02 หมื่นล้านบาท"
        
หรือกรณีที่ 2 ช่วยเหลือครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด โดยแบ่งเป็นผู้ปลูกข้าว 3.61 ล้านครัวเรือน วงเงิน 5.42
หมื่นล้านบาท ผู้ปลูกยาง 8.03 แสนครัวเรือน วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 4.42 ล้านครัวเรือน หรือ
6.63 หมื่นล้านบาท

การช่วยเหลือน่าจะเป็นแนวทางแรก คือช่วยเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจริงๆ แต่ต้องไปดูเงื่อนไขเวลา
หากเห็นว่าภัยแล้งจะคลี่คลาย หรือปริมาณน้ำฝนมีเพิ่มเติมในช่วงเร็วๆ นี้ วงเงินช่วยเหลือก็สามารถปรับลดได้
ก็จะทำให้งบประมาณจ่ายเงินลดลงได้ ส่วนเม็ดเงินจะใช้จากส่วนไหนนั้น ก็ต้องไปหารือกันอีกครั้ง

นายรังสรรค์กล่าวอีกว่า เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจริง กรณีที่ 1 จะดูจำนวนครัวเรือนผู้ปลูกข้าวตามมาตรการเพิ่ม
รายได้ตามมติ ครม. 1 ต.ค.2557 และมีข้อมูลสะสมถึงวันที่ 10 ก.ค. 2558 ที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตภัยพิบัติแล้ง
ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนผู้ปลูกยางจะ
นับเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกยางตามโครงการชดเชยรายได้ในมติ ครม. 21 ต.ค.2557

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าสถานการณ์ภัยแล้งยังไม่รุนแรงมากนัก
เนื่องจากมีเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ยังไม่ได้เพาะปลูกกว่า 55 ล้านไร่ คาดว่าจะเริ่มลงมือเพาะปลูกในช่วง
เดือน ส.ค. นี้ ขณะที่เกษตรกรอีก 8 ล้านไร่ ทำการเพาะปลูกไปแล้ว โดยในส่วนนี้เป็นเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน
3.5 ล้านไร่ แต่ก็ไม่มีความเสี่ยงมากนัก เพราะขุดบ่อเก็บน้ำ และวางแผนระบบชลประทานไว้เป็นอย่างดีและเพียงพอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่