ค่าอัลคาไลน์กับค่าpH.ในการเลี้ยงกุ้งต่างกันยังไงหรอคะ

คือตอนนี้กำลังทำรายงงานเกี่ยวกับการทำบ่อกุ้งอยู่น่ะค่ะ วันก่อนก็ได้เดินทางไปสัมภาษณ์เจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้งมาหลายที่

ตอนแรกที่เราศึกษาข้อมูลไป เราก็ได้รู้ว่าการวัดค่าน้ำนั้นสำคัญมาก ค่าpH.ก็เป็นหนึ่งในนั้น
แต่พอไปสัมภาษณ์จริง มีค่าๆหนึ่งที่สงสัยมากคือค่าอัลคาไลน์ค่ะ

คือจากความรู้ที่เคยเรียนเคมีมาแบบโง่ๆอ่ะค่ะ
ค่าpH.ก็คือค่ากรดด่าง มีrangeตั้งแต่ 1-14
ที่นี้ ค่าอัลคาไลน์น่ะค่ะ คือค่าความเป็นด่าง
แต่ว่า...มันไม่ได้อยู่ในค่าpH.แล้วหรอคะ?
(คือในความคิดเรา เหมือนมันเป็นซับเซตของpH.อีกที แต่พอดูข้อมูลในกูเกิ้ลไปเรื่อยๆ เหมือนมันแยกกันค่ะ งงเลยค่ะ@_@)

แล้วทำไมต้องวัดทั้งสองค่าเลยหรอคะ? วัดแค่ค่าpH.ค่าเดียวได้หรือเปล่าคะ?
ปล.ไม่แน่ใจว่าแท็กห้องถูกหรือเปล่า คือพยายามเลือกอันที่น่าจะใช่แล้วแต่ไม่แน่ใจ ถ้าผิดก็ขออภัยนะคะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5
ก่อนอื่นขอโยงไปที่เรื่อง "ระบบบัฟเฟอร์" ในน้ำหรือสารละลายก่อนจะพูดถึง "alkalinity" นะครับ
น้ำหรือสารละลายที่มีคุณสมบัติเป็นบัฟเฟอร์ เมื่อเติมสารละลายกรดหรือด่างลงไปจะมีการเปลี่ยนแปลงของ pH น้อยมากหรือแทบจะไม่เปลี่ยนไปเลย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและความเข้มข้นของกรดหรือด่างที่เติมลงไปด้วยครับ ซึ่งน้ำทะเลตามธรรมชาติก็มีคุณสมบัติเป็นบัฟเฟอร์ครับ

การที่เติมกรดหรือด่างลงไปแล้ว pH ไม่เปลี่ยนแปลง (หรือเปลี่ยนน้อยมาก) แสดงว่าต้องมีอะไรสักอย่างที่คอยควบคุมอยู่ใช่ไหมครับ

ไปที่ "alkalinity" หรือค่าความเป็นด่าง
ค่า alkalinity คือค่าที่ใช้วัดความสามารถของน้ำตัวอย่างหรือสารละลายในการทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์ หรือถ้าไปอ่านในเอกสารวิชาการมักจะอธิบายว่าความสามารถของน้ำหรือสารละลายในการสะเทินกรดให้เป็นกลาง ซึ่งสารประกอบที่ทำหน้าที่นี้ได้แก่  bicarbonate (HCO3 -), carbonate (CO3 2-) และ hydroxide (OH-)

การวิเคราะห์ค่า alkalinity ทำได้โดยนำน้ำตัวอย่างที่ทราบปริมาตรแน่นอน (ตวงมานั่นแหละครับ) ไปไทเทรตกับกรดแก่ที่ทราบความเข้มข้นแน่นอนเช่น กรดกำมะถัน (sulfuric acid, H2SO4) จนถึงจุดยุติที่ pH 4.5 (จุดที่สารประกอบที่กล่าวมาข้างต้นเปลี่ยนรูปเป็นกรดคาร์บอนิก) โดยสังเกตจากสีของอินดิเคเตอร์

ค่า alkalinity ในบ่อเลี้ยงมีโอกาสลดลงเมื่อ ฝนตก กุ้งลอกคราบ สำหรับสารที่ใช้เติมเพื่อเพิ่ม alkaline ในน้ำนิยมใช้วัสดุปูนในกลุ่มคาร์บอเนตเช่น โซเดียมไบคาร์บอเนต แมกนีเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมคาร์บอเนตครับ
ค่า alkalinity ที่เหมาะสมในการเลี้ยงกุ้งทะเลในบ่อเลี้ยงควร > 100 mg/L as CaCO3  (สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง, 2556) โดยทั่วไปก็ประมาณ 100-150 mg/L as CaCO3 ครับ ถ้าค่า alkalinity ในการเลี้ยงต่ำจะทำให้ pH ของน้ำในรอบวันมีการเปลี่ยนแปลงมาก (ตอนหัวรุ่ง pH จะต่ำกลางวันจะสูงและตอนค่ำจะต่ำอีก) ส่งผลให้กุ้งเครียด ทำให้การกินอาหารและการเจริญเติบโตลดลง ซึ่งในการเลี้ยงกุ้งควรรักษาระดับ pH ให้อยู่ในช่วง 7.8-8.2 ครับ

พอจะเห็นความสัมพันธ์ของ pH และ alkalinity ไหมครับ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อการทำรายงานของ จขกท. นะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่