เทคนิคการเลือกซื้อล้อเสือหมอบแบบง่ายๆ

เชื่อว่าเหล่านักปั่นหลายๆท่านก็คงจะมองหาล้อดุมนุ่มลื่น มีคุณภาพ น้ำหนักเบา ไปเจอเทคนิคดีๆเลยนำมาบอกต่อกัน ไปดูกันเลย



1. ความสำคัญของล้อ
เวลาเราซื้อจักรยานใหม่แบบสำเร็จที่มีชิ้นส่วนมาครบพร้อมขี่ มีน้อยคันที่จะให้ “ล้อติดรถ” คุณภาพดีมา ยกเว้นคุณจะซื้อรถที่ราคาสูงจริงๆ โดยมากล้อติดรถเป็นล้ออลูมินัมราคาไม่สูง ประสิทธิภาพอาจจะยังไม่ถึงใจนักปั่น เหตุผลที่เขาให้ล้อรุ่นเริ่มต้นติดรถมาก็เพราะบริษัทจักรยานแทบทุกรายใช้ล้อเป็นจุดในการ “ลดต้นทุน” มูลค่าจักรยานนั่นเองครับ ล้อเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่ราคาสูงที่สุดในรถ ผู้ผลิตเลือกที่จะให้สเป็คส่วนอื่นเช่นเกรดของวัสดุเฟรม หรือกรุ๊ปเซ็ตรุ่นสูงๆ มากับรถแทนที่จะให้ล้อที่มีราคาแพง และอีกเหตุผลก็คือคนที่ปั่นจักรยานมาพักหนึ่งมักจะมีล้อคู่ใจสำหรับออกงานแข่งขันหรืออีเวนท์ต่างๆ อยู่แล้ว
ล้อติดรถส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคาประมาณ 3,000–9,000 บาท โดยมากเป็นล้ออลูมินัมที่มีน้ำหนักมาก คุณภาพดุมและซี่ล้อไม่ได้อยู่ในเกรดหรูหรา ล้อติดรถบางรุ่นไม่มีขายในท้องตลาดทั่วไปเพราะเป็นสินค้า OEM ที่แบรนด์จักรยานสั่งผลิตเอง ล้อเสือหมอบคุณภาพดีส่วนใหญ่ราคาจะเริ่มที่ 9 พันปลายๆ ไปจนถึงหลักแสนบาท
ล้อจักรยานเป็นจุดที่เพิ่มประสิทธิภาพและฟีลลิ่งในการปั่นได้มากครับ ล้อที่ดีกับล้อระดับเริ่มต้นหรือปานกลางมีความต่างกันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสติฟ การตอบสนองแรงกด น้ำหนัก ความสามารถในการตัดลู่ลม (aerodynamic) ประสิทธิภาพการเบรค และคุณภาพวัสดุในส่วนต่างๆ ตั้งแต่ขอบล้อไป ซี่ล้อ ดุม ไปจนถึงลูกปืน

2. สิ่งที่ต้องคิดก่อนซื้อล้อ
ความจริงในโลกจักรยานก็คือ ไม่มีล้อคู่ไหนที่ดีที่สุดในโลก นั่นก็เพราะไม่มีล้อคู่ใดคู่หนึ่งที่ตอบโจทย์การใช้งานได้ในทุกสถานการณ์ครับ ถ้าคุณชอบปั่นขึ้นดอย แต่กลับซื้อล้อขอบสูง 80mm หนักเกือบสองกิโลกรัมต่อคู่ก็คงไม่ใช่ล้อที่เหมาะกับงานนัก ล้อที่ดีที่สุดคือล้อที่ใช้ได้เหมาะสมกับประเภทการปั่นของคุณ เช่นนั้นแล้วอยากให้ถามตัวเองก่อนว่า
- เส้นทางที่คุณปั่นประจำเป็นอย่างไร? (เนินเขา, ทางราบ, ภูเขาสูงชัน)
- งบประมาณมีเท่าไร
- ชอบแบรนด์ไหนเป็นพิเศษ?
- จะใช้ล้ออลูมินัมหรือล้อคาร์บอน?
- คุณชอบปั่นสไตล์ไหน? (เช่นเร่งกระชากบ่อยๆ หรือแช่ความเร็วยาวๆ)
- คุณคิดว่าจะมีล้อกี่คู่
เมื่อเราตอบคำถามข้างบนได้คร่าวๆ แล้วก็น่าจะพอกำหนดประเภทของล้อที่เราจะซื้อได้ครับ แต่การซื้อล้อก็เหมือนการซื้อรถยนต์ ถามสิบคนก็ได้สิบคำตอบ เราต้องดูว่าตัวเองให้ความสำคัญกับปัจจัยไหนมากเป็นพิเศษ

ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือ ล้อจักรยานเป็นสินค้าที่ราคาสูง ล้อดีๆ หลายรุ่นแพงกว่าเฟรมจักรยานเสียอีก ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีล้อจักรยานได้หลายๆ คู่เลือกใช้ตามสถานการณ์ ถ้าคุณมีล้อได้แค่คู่เดียว (all-round wheels) แน่นอนว่ามันคงตอบโจทย์ในการปั่นครบทุกรูปแบบไม่ได้ครับ จะไม่สุดสักทาง แต่ต้องเลือกเอาว่าจะดีทางใดทางหนึ่ง ที่พอครอบคลุมการใช้งานของเรา เช่นคุณอาจจะมีล้อคาร์บอนขอบสูง ยางงัด ไว้ใช้แข่งขันโดยเฉพาะ ความสูงราว 50mm แข่งได้ทุกสภาพภูมิประเทศ​ อาจจะต้องระวังหน่อยเวลาต้องขึ้นหรือลงเขาชันๆ

3. ประสิทธิภาพ
- ความคล่องตัว
ล้อที่คล่องตัวในที่นี้หมายถึงล้อที่ใช้ได้ดีในหลายๆ สภาพเส้นทางและสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นทางราบ เนิน เขา ลมแรง ล้อที่เฉพาะทางมากๆ เช่นล้อดิสก์ หรือล้อขอบสูงอย่างน้อย 80mm แน่นอนว่าไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ขึ้นเขา นอกจากจะหนักเปล่าๆ แล้วประโยชน์ด้านแอโรไดนามิกของมันก็ไม่ค่อยมีผลเวลาที่เราปั่นขึ้นเขาช้าๆ ด้วย
- สติฟเนส
หรือความสามารถในการตอบสนองแรงกดของล้อเป็นปัจจัยที่บอกว่าแรงที่เราใช้ในการปั่นนั้น ถ่ายลงไปสู่พื้นถนนได้เต็มที่หรือเปล่า ล้อที่ไม่สติฟก็เหมือนเฟรมที่ไม่สติฟ คือจะมีอาการ “ให้ตัว” หรืออาการส่าย ให้เราเห็น นั่นคือแรงที่เรากดลงลูกบันไดไม่ได้ถ่ายสู่พื้นถนน 100% แต่เสียไปในความไม่สติฟของล้อ
- ความสบาย
ล้อที่ดีนั้นต้องมีความสติฟสูง คือไม่สูญเสียพลังในการปั่นไปเปล่าๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความสบาย คือช่วยดูดซับแรงกระแทกที่ไม่พึงประสงค์ได้ด้วย 2 ปัจจัยนี้ค่อนข้างจะอยู่ตรงข้ามกัน และเป็นตัวแบ่งแยกล้อที่ดีกับไม่ดีครับ ล้อที่ดีจะหาจุดสมดุลระหว่างสองปัจจัยนี้ได้ ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง
อย่าลืมว่าแรงดันลมยางที่เลือกใช้ก็มีผลต่อความสบายเช่นกัน ล้อที่ปั่นได้สบายแต่เราสูบลมแข็งปั๋งก็ไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพของมันได้เต็มที่
- เบรค
เป็นอีกปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะในล้อคาร์บอน สมัยก่อนนู้น ล้อคาร์บอนเบรคได้แย่กว่าล้ออลูมินัม แต่เทคโนโลยีเรซิ่นและการออกแบบขอบล้อในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพัฒนาไปมาก ล้อคาร์บอนสมัยใหม่สามารถเบรคได้ดีหรือดีกว่าล้ออลูมินัมในสภาพอากาศปกติ โดยที่ไม่อมความร้อนจนขอบล้อบวมเหมือนสมัยก่อน ผ้าเบรครุ่นใหม่ และเทคโนโลยีเรซิ่นที่ใช้ทำขอบเบรคก็ช่วยเพิ่มความสามารถในการเบรคของล้อคาร์บอนด้วย
- แอโรไดนามิก
หรือความลู่ลม ล้อแอโรทั้งหมดจะเป็นล้อที่มีความสูงของขอบล้อมาก (มากกว่า 35mm เป็นต้นไป) ประโยชน์ของล้อที่ลู่ลมก็คือมันช่วยให้เราใช้พลัง (power output) ในการปั่นน้อยลงเมื่อเทียบกับล้อขอบต่ำที่ความเร็วเท่าๆ กัน ปรากฏการณ์นี้เราเรียกภาษาไทยว่าล้อมัน “ไหล” คือช่วยรักษาความเร็วได้ เพราะล้อมีความลู่ลม ลดแรงต้านลม (drag) ได้มากกว่านั่นเอง

4. การออกแบบ
การออกแบบในทีนี้หมายถึงว่า ผู้ผลิตตั้งใจให้ล้อมีประสิทธิภาพแบบไหน? ซึ่งเราต้องพิจารณาส่วนประกอบสำคัญในล้อทุกจุดครับ
- น้ำหนัก
ล้อที่ดีจะมีน้ำหนักเบา ซึ่งช่วยทำให้เราเร่งกระชากออกตัวได้ไว สิ่งที่มีผลต่อน้ำหนักล้อคือ ประเภทวัสดุ (คาร์บอนเบากว่าอลูมินัม) ประเภทยางที่ใช้ (ล้อยางทูบูลาร์เบากว่าล้อยางงัด) จำนวนซี่ล้อ และความสูงของขอบล้อ (ขอบต่ำเบากว่าขอบสูง)
- ความกว้างของขอบล้อด้านนอก (External Width)
ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ล้อจักรยานมีขนาดขอบล้อกว้างขึ้นกว่าเดิมมากครับ สมัยก่อนเราใช้ล้อความกว้างไม่เกิน 19–20mm สมัยนี้ล้อกว้าง 23–27mm แทบจะเป็นมาตรฐานวงการไปแล้ว
- ความกว้างขอบล้อด้านใน (Internal Width)
ขอบล้อด้านในก็มีแนวโน้มกว้างขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ประโยชน์ของล้อที่ขอบกว้างขึ้นทั้งด้านในและนอกคือสามารถรับปริมาตรลมยางได้เยอะขึ้นในขณะที่ใช้แรงดันลมน้อยลง แต่ก็ยังรองรับน้ำหนักคนปั่นได้เท่าเดิม แรงดันลมที่ลดลงทำให้เราปั่นได้สบายมากขึ้นไม่กระเทือนเหมือนที่แรงดันลมสูงๆ และช่วยให้ล้อมีอายุการใช้งานนานขึ้นด้วย
- รูปทรงขอบล้อ (Rim Profile)
ล้อสมัยใหม่นิยมใช้รูปทรงตัว “U” มากกว่าตัว “V” เทรนด์นี้เริ่มต้นโดย Hed และ Zipp ที่ออกแบบล้อในทรง Todorial หรือที่เราเรียกว่าล้อขอบอ้วน ประโยชน์คือล้อขอบอ้วนนั้นตัดกระแสลมข้างได้ดีกว่าล้อขอบตัว V ทำให้บังคับรถได้ง่ายในเวลาที่ลมกระทบจากด้านข้างแรง รถไม่เป๋มาก
- ดุม (hub)
คุณภาพของดุมจะเป็นตัวบอกว่าล้อเราลื่นไหลและทนทานขนาดไหน และมีผลต่อน้ำหนักด้วย  ล้อที่ราคาสูงมักใช้ดุมคุณภาพดี และใช้ลูกปืนเกรดที่ดีกว่าล้อราคาถูก ทำให้ล้อหมุนได้ลื่น สมูท และมีอายุการใช้งานทนทาน แน่นอนว่าดุมที่เบาและใช้ลูกปืนเซรามิกย่อมมีราคาแพง แต่ดุมที่เบามากๆ ก็อาจจะไม่เหมาะกับคนตัวหนักๆ เพราะเสี่ยงอาการดุมเปราะและแตกได้ง่าย โดยเฉพาะพวกดุมแต่งเน้นน้ำหนักเบา เช่นเดียวกัน ถ้าเราเป็นคนตัวเบาแล้วใช้ดุมแข็งๆ ทนๆ หนักๆ ก็อาจจะมากเกินความจำเป็น (overbuilt)
- ซี่ล้อ (spoke)
ซี่ล้อเป็นโครงสร้างหลักของล้อจักรยาน เป็นตัวเชื่อมดุมกับขอบล้อเข้าด้วยกัน และช่วยกระจายแรงไปทั่วทั้งขอบล้อ ทั้งแรง tension และแรง compression ล้อส่วนมากขึ้นซี่ในรูปแบบคล้ายๆ กัน แต่ก็มีบางยี่ห้อเช่น Campagnolo ที่ขึ้นซี่ล้อไม่เหมือนใคร Lacing Pattern หรือรูปแบบการขึ้นซี่มีผลต่อความสติฟและความแข็งแรงของล้อครับ แน่นอนล้อที่ขึ้นซี่ไม่เหมือนคนอื่น เวลาซี่มีปัญหาก็ต้องหาคนขึ้นซี่ที่เชี่ยวชาญกับรูปแบบการขึ้นนั้นๆ ด้วย5. คุณภาพ
ในส่วนนี้เราจะดูเรื่องความทนทาน การรับประกันและการบริการหลังการขายของตัวแทนจำหน่าย
- ความทนทาน
ในล้อคู่หนึ่งชิ้นส่วนที่บอบบางที่สุดคือขอบล้อ โดยเฉพาะล้อคาร์บอน นอกจากจะเป็นส่วนที่แพงที่สุดแล้วยังเกิดปัญหาได้ง่ายที่สุดด้วยเมื่อเทียบกับดุมและซี่ล้อ แต่ในความเป็นจริงล้อคาร์บอนมีความแข็งแรงมากครับ หากเราใช้มันถูกประเภท เช่นไม่เอาไปปั่นผาดโผนลงทางวิบากบ่อยๆ หรือกระแทกรุนแรงจนเกินไป
- การรับประกัน
สิ่งที่ต้องดูคือตัวแทนจำหน่ายล้อของเรามีประวัติการรับประกันเป็นยังไง เอาใจใส่แค่ไหน (เช็คเว็บบอร์ดหรือถามเพื่อน) บางแบรนด์มีโปรแกรมรับประกันพิเศษที่เราสามารถเทิร์นล้อเก่าที่มีปัญหาเป็นคู่ใหม่ในราคาที่ถูกลงถึงจะหมดประกันจากตอนซื้อแล้ว แบรนด์ดังๆ ส่วนใหญ่มีวิธีรับประกันที่ดี แต่แบรนด์โลคัลในประเทศ หรือแบรนด์เล็กก็ต้องดูเป็นกรณีไปครับ มีทั้งที่ดูแลหลังการขายดีและไม่ดี





ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก http://www.duckingtiger.com/2015/06/17/how-to-buy-a-road-bicycle-wheels/  ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่