บวชวัดป่า พรรษาแรก ตอน ชั่วโมงบิณฑ(บาตร)

ชั่วโมงบิณฑ(บาตร) : บิณฑบาต ครั้งแรก!

     เป็นภาพที่ชินตาสำหรับชาวพุทธในทุกเช้า แต่สำหรับเช้านี้มันไม่ชินเลยสำหรับการเดินบิณฑบาตรครั้งแรก! สำหรับพระใหม่อย่างเรา คำถามว่าจะออกบิณฑบาตรได้เมื่อไหร่เป็นคำถามยอดนิยม คำตอบที่ได้จากครูบาอาจารย์คือเป็นช่วงรอยต่อระหว่างกลางคืนกับรุ่งเช้า มีวิธีสังเกตคือสามารถมองเห็นลอยมือของตนเองได้ในที่แจ้ง หรือมองเห็นความแตกต่างของสีเขียวของใบไม้ หรือมองเห็นแสงสีส้มทองบนฟ้า ในใจคิดว่าแล้วสรุปมันกี่โมงกันเล่า? ทำไมไม่ดูนาฬิกา? สงสัยไว้ในใจ



     นอกจากจะลำบากตั้งแต่การดูเวลาออกบิณฑบาตรแล้ว ขั้นตอนเตรียมตัวออกบิณฑบาตรก็ดูมีขั้นตอนพอสมควร เริ่มตั้งแต่การกรอกบาตรนั่นคือการใส่น้ำสะอาดจำนวนเล็กน้อย เสร็จแล้วค่อยๆกรอกกลิ้งน้ำไปทั่วบาตรอย่างช้าๆ มีสติ เมื่อเห็นว่าไม่มีเศษฝุ่นติดหลงเหลืออยู่แล้วจึงเทน้ำออกลงกระโถน จากนั้นจึงลุกขึ้นออกไปเปลี่ยนจีวรจากแบบเฉวียงบ่าเป็นแบบห่มคลุม ช่วงเวลานี้มันดูช่างยุ่งยากเพราะการห่มคลุมนี้จะห่มเฉพาะเมื่อออกเดินทางไปนอกวัด หรือบิณฑบาตรเท่านั้น และนี่คือการเดินทางออกนอกวัดเป็นครั้งแรก จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเป็นธรรมดา เมื่อห่มเสร็จจึงให้เพื่อนพระตรวจเช็คความเรียบร้อย จากนั้นจึงกลับเข้าไปเอาบาตรคล้องไว้ที่บ่าเตรียมตัวออกบิณฑบาตรครั้งแรก

     เท้าที่เปลือยเปล่าเหยียบย่ำพื้นถนนอันขรุขระ ที่เต็มไปด้วยหินกรวดเล็กใหญ่ สายตาทอดยาวไปข้างหน้า หนทางมันช่างยาวไกลเหลือเกิน เราเดินไปช้าๆอย่างระมัดระวังเพราะกลัวหินตำเท้า แต่แล้วก็ดูจะช้าเกินไป จนแถวทิ้งห่างเป็นกิโล จะเร่งก็กลัวหินบาด ซ้ำยังพะวงกลัวจีวรจะหลุดอีก โดยปกติแล้วที่วัดมาบจันทร์จะจัดสายบิณฑบาตรเป็นสาย ใกล้บ้าง ไกลบ้างสลับกันไป บ้างไปในตลาดซึ่งต้องน้องรถตู้ไป บ้างไปในหมู่บ้าน บ้างก็ไปบ้านโยมเพียงคนเดียว และแน่นอนพระใหม่อย่างเราถูกจัดให้เดินในสายบิณฑบาตรที่ใกล้ที่สุด พบปะผู้คนน้อยที่สุด และแล้วก็มาถึงหน้าบ้านโยม

     เนื่องจากเราบวชช่วงเข้าพรรษา จึงทำให้มีพระใหม่จำนวนมาก จึงทำให้มีภิกษุหลายสิบรูปมายืนรอรับศรัทธาหน้าบ้านโยมกันมากสักหน่อย แต่โยมดูมีสีหน้ายินดีจัดสรรปันส่วนข้าวสวยบ้าง ไข่ต้มบ้าง ขนมบ้างใส่บาตรพระได้ครบทุกรูป เราเองนั้นเปิดรับบาตรตะกุกตะกัก เปิดฝาบาตรผิดๆถูกๆกลัวบาตรจะตกลงพื้นใส่หน้าโยมเสียจริง สุดท้ายปิดฝาบาตรรอโยมไหว้ทำความเคารพ จากนั้นเดินทางกลับวัดโดยไม่ให้พรใดๆตามธรรมเนียมปฏิบัติวัดหนองป่าพง เพราะสิ่งที่โยมทำนั้นมันเป็นพรในตัวอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ในบทสวดให้พร เพราะทำบุญ ทำทานที่แท้จริงคือการรู้จักเสียสละ หรือละซึ่งความเห็นแก่ตัว ละซึ่งความตระหนี่

     พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก น้อยครั้งในช่วงชีวิตฆราวาสที่จะได้สัมผัสบรรยากาศยามเช้า ไอเย็นจากน้ำค้างบนยอดหญัา เคล้าไออุ่นผ่านเงาไม้ กลิ่นหอมจางๆของดอกไม้ ที่พัดพามากับสายลม กับก้อนเมฆที่พลิ้วไหวบนท้องฟ้าสีส้ม ภาพระหว่างทางการบิณฑบาตรครั้งแรกนี้มันช่างน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของธรรมชาติ หรือว่าความงดงามจากใจที่เปี่ยมล้นด้วยศรัทธา และนี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เราต้องจดจำ



เส้นทางบิณฑ (บาตร) ... ตอนที่ 1
ในทุกๆปักษ์หรือทุกๆ15 วัน จะมีการสลับปรับเปลี่ยนสายบิณฑบาตร แน่นอนว่า เหล่าพระใหม่ได้สะสมชั่วโมงบิณฑ์มามากพอสมควรแล้ว พร้อมที่จะเดินทางไปยังเส้นทางใหม่ๆกันแล้ว เช้าวันนี้เหล่าพระภิกษุโดยเฉพาะภิกษุใหม่ต่างพากันมุงดูตารางจัดสายบิณฑบาตรกันอย่างตื่นเต้น จะว่าไปแล้วการเปลี่ยนสายบิณฑบาตรในแต่ละครั้งเปรียบเสมือนการเดินทางในที่แห่งใหม่ บรรยากาศใหม่ๆ ซึ่งตลอด 1 พรรษาที่ผ่านมา เรามีโอกาสเดินบิณฑบาตรได้เกือบครบทุกสาย ซึ่งแต่ละเส้นทางนั้นให้ความรู้สึก และประสบการณ์แตกต่างกันไป

เส้นทางวิบาก - มาบจันทร์ใน-ใกล้
หินและก้อนกรวดที่ว่าแหลมคมของถนนลาดยางดูจะเป็นของธรรมดาไปเลยสำหรับสายบิณฑบาตรนี้ เริ่มต้นจากวัดมาบจันทร์ เดินไปเรื่อยๆจนถึงแยกหน้าวัด จากนั้นเลี้ยวขวา เดินต่อไปซักพักจะพบซอยเล็กๆเป็นถนนลูกรัง และนี่คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางวิบากด่านแรก แวะบ้านโยมหลังที่1 จากนั้นลัดเลาะไปตามดงหญ้า ตะลุยไปกลางสวน นอกจากจะพบกับความแหลมคมของใบหญ้า หรือหนามของต้นไมยราบแล้ว แต่อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือสัตว์ตัวเล็กๆ ทั้งมด แมงมุม แมงป่อง ไส้เดือน รวมไปถึงสุนัข โดยเฉพาะตัวที่อยู่บ้านกลางสวนด้วยแล้ว ทั้งเห่า ทั้งขู่ วิ่งไล่สารพัด เราเป็นพระก็ได้แต่สำรวม ทำได้มาสุดก็แค่หาไม้มาขู่ แล้วเดินต่อไปให้พ้นอาณาเขตของมัน และนี่คือครึ่งทางแรกของเรา หลุดจากสวนผลไม้เปลี่ยนมาเป็นทางลูกรัง แต่ทางนี้จะหลักไปทางทรายมากกว่า เวลาเดินจึงรู้สึกนุ่มนิ่มสบายเท้า คล้ายกับเดินบนชายหาด แต่ในทรายอันละเอียดนั้นก็แฝงไปด้วยอันตรายจาก มดคันไฟ ตัวจิ๋ว โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกที่ถนนทรายอันแสนนุ่มสบาย จะแปรเปลี่ยนเป็นถนนโคลนแสนลำบาก จะมีแต่เนินหิน เนินทรายบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นรังมดคันไฟ โอ้ไม่นะ อย่าได้พลาดเชียว สุดจากถนนทรายที่ชายป่าสวนยาง ขึ้นมาบนถนนลาดยางที่เท้าคุ้นชิน เดินไปจนสุดทางตัดกับถนนใหญ่เป็นสามแยก พบบ้านโยมเป็นห้องแถว จากนั้นเป็นขากลับแวะบ้านโยมอีกหลัง ที่มีหมาพิการตัวหนึ่ง โยมคนนี้จะทำอาหารเองทุกเช้า โดยจะทำ   ณ ขณะนั้น เพื่อให้อาหารที่จะถวายนั้นสดใหม่เสมอ เรากลับเส้นทางเดิม แวะบ้านโยมเป็นระยะอีกประมาณ 2-3 หลัง กลับมายังจุดเริ่มต้น คือวัดมาบจันทร์ รอเวลาพิจารณาอาหารต่อไป

เส้นทางไกล - เขาตะแครง
จัดว่าเป็นเส้นทางที่ทั้งวิบากและไกลที่สุด เพราะสามารถลัดไปได้โดยใช้เส้นทางมาบจันทร์ใน-ใกล้ ตามที่เคยเขียนไว้ และถือว่าเป็นทางเดินเท้าที่ไกลที่สุดคือเมื่อพบสามแยกแล้ว เลี้ยวซ้ายเดินต่อไปอีกสักระยะ แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยเล็กๆเดินต่อไปเรื่อยๆ ผ่านป่ายาง บึงน้ำ พร้อมกับเส้นทางที่เริ่มชันขึ้นเรื่อยๆ จนพบบ้านโยมหลังแรก แล้ววกกลับ โดยรวมมีบ้านที่ใส่บาตรประมาณ 4-5 หลัง

เส้นทางวัดใจ – บ้านเพ
          การบิณฑบาตรสายนี้จะว่าสบายก็ไม่ใช่ ลำบากก็ไม่เชิง ที่ว่าสบายเพราะว่ามีโอกาสได้นั่งรถตู้ไปเปิดหูเปิดตาดูโลกภายนอก เช่น ตลาดบ้านเพ ที่ว่าลำบากก็คือจำเป็นต้องมีทักษะในการบิณฑบาตรสูง หรือจะเรียกว่ามีชั่วโมงบิณฑ์สูงแล้ว เพราะเป็นเขตชุมชนมีญาติโยมมารอใส่บาตรเยอะ จำเป็นต้องเดินโปรดโยมอย่างรวดเร็วเพื่อทำเวลาให้ทันก่อนที่รถตู้จะวนมารับ ด้วยเหตุนี้เองพระที่จะมาบิณฑบาตรสายนี้ได้จะต้องมีทักษะในรับบาตรพอสมควรเพื่อให้ทันใจ และไม่ทำอะไรขายหน้า เช่น ฝาบาตรหล่น บาตรหลุดมือ ต่อหน้าญาติโยม อีกทั้งยังมีสิ่งเร้ามากมายไม่ว่าจะเป็นกลิ่นอาหารยั่วยวน ภาพหวือหวาในหนังสือพิมพ์ รายการข่าวในโทรทัศน์ หรือแม้กระทั้งโยมที่แต่งตัวสบายๆในชุดนอน สิ่งเหล่านี้ยั่วยุกิเลสได้ง่าย ถ้าจิตไม่แข็งจริงอาจทำให้เกิดความคิดเตลิดเปิดโปง ทั้งพาลทำให้อดคิดถึงบ้านเอาได้ง่ายๆ แต่แล้ววันหนึ่งเราก็มีโอกาสบิณฑบาตรสายนี้เป็นครั้งแรก!

          เริ่มต้นที่วัดมาบจันทร์ บิณฑบาตรสายนี้จะไปช้ากว่าสายอื่นสักหน่อยเพราะต้องรอคนขับรถ และพระให้พร้อมและครบก่อน โดยในแต่ละวันจะต้องมีพระอย่างน้อย 6-7 รูป ซึ่งหากไม่พอก็มีบ่อยครั้งที่โยมคนขับรถ(ทิดอี)จำเป็นต้องนิมนต์พระรายทางจากสายอื่นมาร่วมบิณฑบาตรในตลาดบ้านเพ จนจอดแวะรับบาตรบ้านโยมหลังแรกหน้าปากทางเข้าบ้านเพ จากนั้นรถตู้จะจอดให้ลงตรงที่เยื้องกับร้านขายหนังสือพิมพ์ในตลาด  พระท่านจะลงมาทั้งหมดพร้อมทั้งแบ่งสายบิณฑบาตรย่อยอีกเป็น 3 สาย โดยในแต่ละสายจะมีพระ 2-3 รูป แบ่งได้คือ ซ้ายใกล้ – เริ่มจากจุดจอดรถ เดินไปทางซ้าย เดินตรงไปเรื่อยๆ แล้วเลี้ยวขวาที่แยกใหญ่ ตรงนั้นจะเป็นร้านขายของฝากนักท่องเที่ยว สิ้นสุดประมาณร้านของฝากที่อยู่ตรงข้าม 7-11 รอรถตู้มารับก่อนเป็นอันดับแรก // สายกลาง – จากจุดจอดรถเดินไปทางขวา แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยร้านขายหนังสือพิมพ์ เดิมตรงไปในซอยนี้จนสุด แล้วเลี้ยวขวา เดินไปอีกสักระยะหนึ่ง จึงสุดสายบริเวณร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ // สายขวาไกล – จากจุดจอดรถเดินไปทางขวาเรื่อยๆ ผ่านตลาดสดและร้านขายปลาหมึกที่มีน้ำคาวปลาเจิ่งนองเต็มพื้น หยุดรอโยมใส่บาตรข้างตลาดสดสักครู่ เสร็จแล้วเดินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงสามแยกใหญ่แล้วเลี้ยวซ้าย แวะรับบาตรหน้าถ่ายรูป จากนั้นตรงไปถึงหัวโค้งแล้ววกกลับ รับบาตรโยม เดินต่อจนถึงสามแยกเดิมแล้วเลี้ยวซ้าย สิ้นสุดที่ร้านทอง รอรถตู้มารับตรงร้านขายประดับยนต์

                  เนื่องจากเป็นเขตชุมชนพลุกพล่าน ญาติโยมที่มาใส่บาตรก็มีทั้งสองฝากถนน อุปสรรค์อีกอย่างหนึ่งคือการเดินข้ามถนนมา ในเขตที่มีรถราวิ่งกันขวักไขว่ นอกจากจะต้องสำรวมท่าทีในการรับบาตรแล้ว ยังต้องมีสติในทุกย่างก้าว เพราะไม่รู้ว่าจะมีรถมาเฉี่ยวตอนไหน ส่วนของที่โยมใส่นั้นส่วนใหญ่ก็เป็นของที่โยมขายในตลาด บ้างก็จัดมาเป็นชุดมีข้าวถุง แกงถุง ขนมห่อ และน้ำแก้วพลาสติกจัดรวมกันมาในถุงพลาสติก พระที่บิณฑบาตรสายนี้ส่วนใหญ่จะเปิดฝาบาตรให้โยมใส่เฉพาะข้าว และหงายฝาบาตรขึ้นเพื่อรับของทั้งถุง แล้วเปลี่ยนมาใช้มือหิ้ว  บ้างก็แบ่งกันให้พระรูปข้างหลังช่วยถือ ภาพที่เห็นคือมือหนึ่งถือบาตร อีกมือหนึ่งหิ้วถุงพะรุงพะรัง และถ้าวันไหนฝนตกต้องกางร่มด้วยแล้วจะยิ่งเพิ่มความทะลักทะเลไปอีก จนมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราไม่สามารถเปิดบาตรได้ทันญาติโยมเพราะยังเก้ๆกังๆกับการถือร่ม ไม่รู้ว่าจะเอามือไหนมาเปิดฝาบาตร จึงจำเป็นต้องช่วยถือถุงแทน แต่ยังดีที่ทุกวันยังมีโยมที่ใจดีปวาณาตัวช่วยถ่ายบาตรเป็นระยะๆ โดยรถตู้ของวัดจะมาตามเก็บอีกทีหนึ่ง

                  จากนั้นเมื่อพระได้ขึ้นรถตู้ครบแล้ว จึงเดินทางกลับ ระหว่างทางจะแวะรับบาตรที่ร้านอาหารปากทางเข้าบ้านเพ และจอดปากทางเข้าวัดมาบจันทร์หน้าบ้านโยมซ่วน โยมคนแรกที่ถวายที่ดินให้กับวัดมาบจันทร์ เสร็จแล้วกลับวัดโดยไม่แวะรับบาตรหน้าวัด ส่วนใหญ่กลับมาถึงวัดเป็นสายสุดท้าย แต่เป็นสายที่มีของเยอะที่สุด และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระอาจารย์อนันต์ขอให้แบ่งกองของที่ได้เป็น 2 กอง กองหนึ่งเป็นของที่ได้จากการบิณฑบาตรยกเว้นสายบ้านเพ อีกกองหนึ่งเป็นกองของบ้านเพและของโยมที่มาถวายที่วัด เพื่อให้พระ เณร ได้ระลึกถึงวันแรกๆของการก่อตั้งวัดว่าปริมาณอาหารนั้นมีมากน้อยเพียงใด เพราะในระยะแรกวัดนั้นยังไม่มีรถรับพระ เณร ไปบิณฑบาตรในตลาด เมื่อในปัจจุบันวัดเราก็พัฒนาไปมาก มีรถพาไปตลาด ถนนหนทางดีมีญาติ โยมมาถวายของเยอะกว่าเมื่อก่อน อันนี้เราต้องเก็บเอาไปพิจารณาให้รู้จักการพอประมาณในการบริโภค หรือฉันตามมีตามได้ หรือถ้าอยากลองลดกิเลสลองซักวันนึงไม่พิจารณาอาหารพิเศษที่ญาติโยมมาถวาย หรือถ้าอันไหนเราไม่ชอบก็ตักมันเยอะๆ อันไหนเราไม่ชอบให้ตักมันน้อยๆ ท่านพยายามทำให้เห็นว่า แม้แต่การฉันก็เป็นการภาวนา ทำให้เกิดปัญญาได้

ติดตามตอนที่1 บวชวัดป่า พรรษาแรก ตอน กว่าจะได้เป็นพระ http://ppantip.com/topic/33859230
.....โปรดติดตามตอนต่อไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่