อวนลาก เรือเถื่อน’เบื้องลึกยุโรป‘ใบเหลือง’ไทย --- สู่การเดินหน้าแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย

‘อวนลากเรือเถื่อน’ เบื้องลึกยุโรป‘ใบเหลือง’ไทย : ทีมข่าวรายงานพิเศษ
            "ประมงพื้นบ้านแฮปปี้มากนะ ที่ไอยูยูสั่งให้ใบเหลืองไทย ที่ผ่านมาท้องทะเลเสียหายไปเท่าไร เรือใหญ่ของพวกนายทุนใช้อวนลากปลาจะหมดทะเลอยู่แล้ว"

            "บรรจง นะแส" นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย วิเคราะห์ให้ฟังต่อว่า ปัญหาการใช้อุปกรณ์ทำประมงผิดกฎหมายของไทยมี 3 จุดด้วยกัน คือ 1.การใช้อวนลาก 2.การใช้อวนรุน และ 3.การใช้เรือปั่นไฟ ทั้งอวนลาก-อวนรุน เป็นเครื่องมือทำปลาที่โหดร้าย เพราะกวาดเอาปลาและสัตว์น้ำทุกชนิดในท้องทะเลขึ้นมาจำนวนหลายร้อยกิโลกรัมภายในครั้งเดียว มีการใช้ตาข่ายถี่กวาดลูกปลากลับมาแบบไม่ยั้งคิด

            "ต่างประเทศไม่ให้ใช้อวนแบบนี้แล้ว แต่เมืองไทยยังอนุญาต ส่วนเรือปั่นไฟก็ผิด เพราะล่อให้สัตว์น้ำมารวมตัวกันก่อนรวบจับขึ้นมา ยุโรปส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจ เห็นเลยว่าตามท่าจอดเรือมีเครื่องมือแบบนี้เยอะแยะ รัฐบาลจะแก้ยังไงเพราะเรือพวกนี้เป็นของนายทุนใหญ่ทั้งนั้น พวกเขาพยายามวิ่งเต้นไปทั่ว เพื่อให้ใช้อวนแบบนี้จับปลาไปเรื่อยๆ"

            บรรจง อธิบายว่า ปัจจุบันเรือประมงขนาดใหญ่ไม่ได้เน้นจับ กุ้ง หอย ปู ปลาทะเลตัวใหญ่ๆ มาขายเป็นอาหารทะเลเหมือนสมัยก่อน แต่พวกเขาเน้นจับปลาตัวเล็กๆ มาทำเป็นปลาป่นแปรรูปส่งขายให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ยิ่งไปกว่านั้นคือการแอบมาใช้อวนลากในเขตใกล้ชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งหาปลาของเรือประมงพื้นบ้าน

            “ธุรกิจประมงเอาเรือขนาดใหญ่มาจดทะเบียนแค่ 5,000 กว่าลำ ที่เหลืออีกเป็นหลายหมื่นลำเป็นเรือประมงเถื่อน อวนขนาดใหญ่ทำให้ปลาและสัตว์น้ำทะเลหลายชนิดสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว ไอยูยูมาตรวจเป็นเรื่องดี เดี๋ยวจากใบเหลืองคงเป็นใบแดง อีก 6 เดือนจะแก้ไขอะไรได้ ถ้าอยากทำให้ถูกต้องตามกติกายุโรป ต้องยกเลิกอวนจับปลาผิดกฎหมาย ดูตัวอย่างจากอินโดนีเซียที่เคยโดนใบเหลือง รัฐบาลประกาศห้ามใช้อวนลากทันที แต่ประเทศไทยเจ้าของเรือยอมหรือเปล่า บริษัทห้องเย็นจะทำยังไง โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มกุ้ง ทุกอย่างเกี่ยวพันไปหมด เจ้าสัวตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้น พวกเรากำลังครอดูว่ารัฐบาลจะแก้ไขยังไง” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าว

            “ไอยูยู” คือ “กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม” (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU) ของคณะกรรมาธิการยุโรปที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553  พวกเขาส่งเจ้าหน้าที่พิเศษไปออกสำรวจการทำประมงทั่วโลกว่าถูกต้องตามกฎไอยูยูหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็ห้ามส่งสินค้าอาหารทะเลเข้าไปวางขายในตลาดยุโรป

            ตามขั้นตอนจะเริ่มจากส่งผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบ ถ้าพบปัญหาจะแนะให้รีบแก้ไข แต่ถ้าประเทศไหนไม่สนใจจะโดน “ใบเหลือง” หรือใบเตือนอย่างเป็นทางการ จากนั้นให้เวลา 6 เดือนเร่งแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ถ้ามาตรวจใหม่แล้วผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะให้ “ใบเขียว” แต่ถ้าเพิกเฉยไม่สนใจก็โดน “ใบแดง” ซึ่งหมายถึงการคว่ำบาตรสินค้าประมงอย่างเป็นทางการ

            21 เมษายน 2558 รัฐบาลไทยได้รับการแจ้งจากคณะกรรมาธิการยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ว่า ได้ขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (non-cooperating country) ในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู)

            พร้อมคำอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นแค่ใบเหลือง ยังไม่มีผลในการคว่ำบาตรสินค้าประมงจากประเทศไทยเข้าสู่สหภาพยุโรป เป็นการนำไปสู่การปรึกษาหารืออย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาการจับปลาผิดกฎหมายของเรือไทย

            ทำไมคนยุโรปต้องมาห่วงปัญหาเรือประมงไทยจับปลาอย่างไร ?

            ก็เพราะว่ามีผลสำรวจที่สอดคล้องกันจากนักอนุรักษ์ทั่วโลกว่า หากยังปล่อยให้ทุกประเทศจับปลาโดยใช้เครื่องมือมหาโหดต่อไปเรื่อยๆ อีก 40 ปีข้างหน้าหรือในปี 2050 ปลาและสัตว์ทะเลจะสูญพันธุ์ไปหมด โดยเฉพาะ ฉลาม ปลาดาบ ปลาค็อด ขณะนี้หายจากท้องทะเลไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ในแต่ละปีมี “วาฬ” และ “โลมา” ถูกล่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัว ประเมินว่ามูลค่าเงินจากการทำประมงผิดกฎหมายสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี

            ดังนั้นกติกาของ “ไอยูยู” ที่บังคับชัดเจนว่าต้องหยุดยั้ง “การทำประมงผิดกฎหมาย” “ต้องรายงานสัตว์ทะเลที่จับมาได้” และ “ต้องมีการควบคุม” เพื่อส่งเสริมการใช้ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อให้ลูกหลานหรือมนุษย์โลกในอนาคตเหลือ กุ้ง หอย ปู ปลาไว้บริโภคบ้าง ไม่ใช่สวาปามจับกินจนหมดเกลี้ยงทะเลในยุคของพวกเรา

            หากรัฐบาลไทยยังคอยแก้ตัวว่า “ใบเหลือง” ที่ได้มานั้น เป็นเพียงการกลั่นแกล้ง หรือแค่ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมายไม่กี่ลำ หรือเกี่ยวกับขั้นตอนการจดทะเบียน ฯลฯ

            โดยไม่ตระหนักถึงการแก้ปัญหา “อวนลาก - อวนรุน” เครื่องมือจับปลามหาโหดอย่างจริงจัง

            ยิ่งไปกว่านั้น หากยังไม่ตระหนักว่านี่คือสัญญาณเตือนภัยร้ายแรง “ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร” ของมนุษยชาติ

            อีก 6 เดือนข้างหน้าไทยได้ “ใบแดง” อาจเป็นข่าวดีมากกว่าข่าวร้าย...

มาตรการ “ไอยูยู”

            1.รัฐหรือเจ้าของธงเรือ (Flag State Guideline) ต้องจดทะเบียนหรือถอนทะเบียนเรือ รวมถึงเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเรือประมง

            2.รัฐท่าเรือ (Port State Measures) ต้องมีระบบตรวจสอบหลักฐานการทำประมงหรือสินค้าประมงว่าถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าพบว่าทำผิดต้องไม่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ เช่น ห้ามเติมน้ำมัน ห้ามให้เสบียงอาหาร ห้ามให้ที่พักจอดเรือ ฯลฯ

            3.รัฐชายฝั่ง (Coastal State Measures) ต้องปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศเพื่อป้องกันประมงผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ป.ปลา หายไปไหน?
            กรมประมงวิจัยพบอัตราจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของ “อวนลาก” ลดลงอย่างรวดเร็ว
            -ปี 2504 จับได้  298  กก./ชม.
            -ปี 2525 จับได้  49    กก./ชม.
            -ปี 2534 จับได้  23    กก./ชม
            -ปี 2549 เหลือเพียง 14 กก./ชม.

http://www.komchadluek.net/detail/20150425/205294.html  

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่