ว่าด้วยการจำแนกทาน...

“พระโคดมผู้เจริญ! ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า พระสมณโคดมได้กล่าวแล้วว่า `ใคร ๆพึงทำทาน
กะเราเท่านั้น ไม่ควรทำทานกับคนพวกอื่น, ใคร ๆ พึงทำทานกะสาวกทั้งหลายของเราเท่านั้น
ไม่ควรทำทานกับสาวกของคนพวกอื่น, ทานที่ทำกะเราเท่านั้นมีผลมาก ทำกับคนอื่นไม่มีผลมาก,
ทานที่ทำกับสาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ทำกับสาวกของคนพวกอื่นไม่มีผลมาก”ดังนี้. ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ! ใคร ๆที่กล่าวเช่นนี้ ชื่อว่ากล่าวตรงตามที่พระโคดมกล่าวหรือไม่ได้กล่าวตู่พระโคดม
ด้วยคำไม่จริงดอกหรือ เขากล่าวถูกตามยุติธรรมอยู่หรือ เพื่อน ๆ ของเขาที่กล่าวตามเขาย่อมพ้นจากการ
ถูกติเตียนหรือ? พวกข้าพเจ้าไม่อยากจะกล่าวตู่พระโคดมเลย.”...คำถามของปริพพาชกวัจฉโคตร.

    วัจฉะ! ผู้ใดกล่าวว่า พระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้
ทานแก่เราคนเดียว ฯลฯ ทานที่ให้แก่สาวกของคนอื่นๆ หามีผลมากไม่ ดังนี้
เรากล่าวเช่นนี้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตรงตามที่เรากล่าว
เขากล่าวตู่เราด้วยเรื่องไม่เป็นจริง.

    วัจฉะ! ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นโจรดักปล้น ผู้นั้นย่อมทำ
อันตรายสิ่ง ๓ สิ่ง คือ ทำอันตรายแก่บุญของทายก, ทำอันตรายแก่ลาภ
ของปฏิคาหก, และตนของบุคคลนั้นก็ขุดรากตัวเองกำจัดตัวเองเสียตั้งแต่แรกแล้ว.
วัจฉะเอย! ผู้ที่ห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทาน ชื่อว่าเป็นโจรดักปล้น ผู้ทำอันตรายสิ่ง ๓ สิ่ง
ดังนี้แล.

    วัจฉะ! เราเองย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า “ผู้ใดเทน้ำล้างหม้อ หรือน้ำ
ล้างชามก็ตาม ลงในหลุมน้ำครำหรือทางน้ำโสโครก ซึ่งมีสัตว์มีชีวิตเกิดอยู่ในนั้น
ด้วยคิดว่า สัตว์ในนั้นจะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตเถิด. ดังนี้แล้ว เราก็ยังกล่าวว่านั่นเป็น
ทางมาแห่งบุญเพราะการทำแม้เช่นนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการให้ทานแก่สัตว์มนุษย์ด้วยกันเล่า”
ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง เรากล่าวว่าทานที่ให้แก่ผู้มีศีล มีผลมาก. ทาน
ที่ให้แก่ผู้ทุศีล หาเป็นอย่างนั้นไม่. และผู้มีศีลนั้น เป็นผู้ละเสียซึ่งองค์ ๕ ได้แล้วและ
ประกอบอยู่ด้วยองค์ ๕. ละองค์ห้าคือ ละกามฉันทะ ละพยาบาท ละถิ่นมิทธะ ละ
อุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา. ประกอบด้วยองค์ห้าคือ ประกอบด้วยกองศีล
ชั้นอเสขะ (คือชั้นพระอรหันต์) ประกอบด้วยกองสมาธิชั้นอเสขะ ประกอบด้วย
กองปัญญาชั้นอเสขะ ประกอบด้วยกองวิมุตติชั้นอเสขะ ประกอบด้วยกองวิมุตติ-
ญาณทัสสนะชั้นอเสขะ. เรากล่าวว่าทานที่ให้ในบุคคลผู้ละองค์ห้าและประกอบด้วย
องค์ห้าด้วยอาการอย่างนี้ มีผลมากดังนี้.

โคอุสุภะที่เขาฝึกแล้ว นำธุระไป สมบูรณ์ด้วยกำลัง ประ-
                          กอบด้วยเชาว์อันดี จะเกิดในสีสรรชนิดใดๆ คือ สีดำ
                          สีขาว สีแดง สีเขียว สีด่าง สีตามธรรมชาติของตน
                          สีเหมือนโคธรรมดา หรือสีเหมือนนกพิราบก็ดี ชนทั้งหลาย
                          ย่อมเทียมมันเข้าในแอก ไม่ต้องใฝ่คำนึงถึงสีสรรของมัน ฉันใด

                          ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว
                          มีวัตรเรียบร้อย ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล พูดแต่
                          คำสัตย์ มีใจประกอบด้วยหิริ ละชาติ และมรณะได้ มี
                          พรหมจรรย์บริบูรณ์ ปลงภาระลงแล้ว พ้นกิเลส ทำกิจเสร็จ
                          แล้ว หมดอาสวะ รู้จบธรรมทุกอย่าง ดับสนิทแล้วเพราะ
                          ไม่ถือมั่น ย่อมจะเกิดได้ในสัญชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน
                          บรรดาสัญชาติเหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คน
                          จัณฑาลและคนเทขยะมูลฝอย ในเขตที่ปราศจากธุลีนั้นแล
                          ทักษิณาย่อมมีผลมาก
                          
                          ส่วนคนพาล ไม่รู้แจ้ง ทรามปัญญา หวังว่า
                          มิได้สดับตรับฟัง ย่อมพากันให้ทานในภายนอก ไม่เข้าไปหา
                          สัตบุรุษ ก็ศรัทธาของผู้ที่เข้าไปหาสัตบุรุษ ผู้มีปัญญา
                          ยกย่องกันว่าเป็นปราชญ์ หยั่งรากลงตั้งมั่นในพระสุคต และ
                          เขาเหล่านั้นย่อมพากันไปปรโลก หรือมิฉะนั้นก็เกิดในสกุล
                          ในโลกนี้ แต่บัณฑิตย่อมบรรลุนิพพานได้โดยลำดับ ฯ
บาลี ติก. อํ. ๒๐/๔๙๗/๒๐๕
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่