แนะนำ สายพันธุ์กุ้งเครย์ฟิช : Cherax destructor

กระทู้สนทนา






ชื่อสามัญนาม Yabby ของกุ้ง Cherax destructor นั้น ถูกใช้เรียกกับกุ้งสาย Cherax จากประเทศออสเตเลียตัวอื่นๆ ด้วย ( ไม่นับ smooth marron ( หรือ Cherax cainii ) และ hairy marron ( หรือ Cherax tenuimanus ) และ กุ้งเครย์ฟิช ในชนิดพันธุ์ของ Engaeus spp. ทั้งหลาย คำว่า Yabby นั้น มาจากภาษาพื้นเมือง อะบอริจินของชาวออสเตรเลียครับ มาจากคำว่า yabij ซึ่งชาวพื้นเมืองอะบอริจินใช้เรียกกุ้งเครย์ฟิชตามธรรมชาติในออสเตรเลียกลาง ( Central Australia ) และกุ้ง Cherax destructor นี้ก็ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น crawchie,crawdad, craybob หรือ แม้กระทั่ง lobbie ก็มีการเรียกกันในหลายๆพื้นที่ จึงนับได้ว่ากุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ เป็นกุ้งเครย์ฟิชที่มีการกระจายพันธุ์ค่อนข้างมากที่สุดชนิดหนึ่งในออสเตรเลีย ( และปัจจุบัน ก็มีการเลี้ยงในหลายๆพื้นที่ทั่วโลกไปแล้ว ) แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับกุ้งน้ำจืดพื้นเมือง และ สัตว์น้ำต่างๆที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ แพร่กระจายออกไปอย่างชัดเจน ก็ตาม นอกจากนี้กุ้งชนิดนี้ ยังมีญาติวงศ์พงศ์เผ่า ที่มีรูปร่างและลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกันมาก อยู่ อีก 3 ชนิดด้วยกัน ก็คือ Cherax albidus,Cherax esculus, และ Cherax davisi และก็มีการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ว่า Cherax albidus นั้นเป็นชนิดย่อยของ Cherax destructor โดยการตรวจสอบด้วยระบบการตรวจสอบพันธุกรรม ( อัล (1994) และออสติน (1996) ) โดยมี Cherax esculus ที่ปัจจุบัน อ้างอิงไปเป็น Cherax destructor rotundus ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์ทางด้านพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน ( Austin , 1996 ) แต่ก็ไม่ได้ใกล้ชิดทางพันธุกรรมเท่า Cherax albidus ดังนั้นขณะนี้ในปัจจุบัน บางตำรา จึงได้ระบุเอาไว้ว่าญาติสนิทในตระกูลกุ้งของ Cherax destructor ก็จะเหลือแค่ Cherax albidus ตัวเดียวแล้วครับ

อย่างไรก็ตาม คำว่า Yabbies นี่ ก็จะเป็นชื่อที่ใช้เรียกกุ้งเครย์ฟิชอีกหลายๆชนิด ที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งเหมือนกัน ก็คือ จะเป็นกุ้งเครย์ฟิช ที่มีเปลือกราบเรียบ นั่นเอง และ บางที กุ้ง Yabbies ก็จะถูกเรียกกันว่า “ Western blue claw yabbies “ ด้วย เพราะว่า แต่ละชนิดนั้น ทั้งหมดล้วนแต่มีก้ามสีฟ้า เป็นส่วนประกอบทั้งนั้น แม้ว่า ลำตัวอาจจะมีสีแตกต่างกันไปมากมาย ตามที่ได้กล่าวมาเอาไว้ข้างต้นแล้วก็ตาม
กุ้ง Cherax destructor นี้ มีขนาดความยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร , มีน้ำหนักได้มากที่สุดถึง 320 กรัม ตัวเมียจะมีขนาดของไข่เฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2 มิลลิเมตร และ น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย ประมาณ 0.02 กรัม ต่อการลอกคราบหนึ่งครั้ง อวัยวะภายในที่ส่วนหัว และ อวัยวะภายในทั้งหมด ถูกปกคลุมด้วยเปลือกแข็งเป็นเกราะคุ้มครองภัย และส่วนเนื้อเยื่อที่ช่องท้อง จะได้รับการปกคลุมและห่อหุ้มด้วยเปลือกที่เป็นส่วนๆ มีก้ามขนาดใหญ่ ที่ตรงส่วนปลายของก้ามจะมีหนามแหลม ๆ ( ตรงส่วนนี้แหล่ะขอรับ ที่เรียกเลือดของเจ้าของได้ดีนักแล เวลาโดนหนีบ ) มีขาเดินทั้งหมดสีคู่ และ ขาว่ายน้ำเล็กๆ ที่ส่วนท้องอีกสี่คู่เช่นเดียวกัน ( ตรงขาว่ายน้ำเล็กๆ นี่ เราจะเรียกกันว่า Swimmerets ) ซึ่งในส่วนนี้ จะเป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกับตัวเมีย เพราะว่าจะเป็นอวัยวะส่วนที่ใช้ในการเก็บรักษาไข่ ที่เพิ่งออกมานั่นเองครับ ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถเคลื่อนย้ายกุ้งออกจากน้ำได้ โดยที่ไข่ไม่ได้หลุดออกมาครับ มีดวงตากลมสวยงามอยู่ ที่ปลายก้านตา และ มีส่วนที่ใช้ในการสัมผัส และ ดมกลิ่นเพื่อติดตามค้นหาอาหารที่อยู่ห่างไกล ประกอบด้วยพวกหนวด และ อวัยวะที่ใช้ดมกลิ่นเป็นต้น อยู่บริเวณใกล้เคียงกับส่วนกรีของกุ้ง รูปร่างหลักๆ ของกุ้งก็จะประกอบไปด้วย สองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็นหาง ( abdomen ) และ ส่วนที่เป็นหัว ( cephalothorax ) สำหรับส่วนหางนี่เป็นส่วนที่มีคุณค่าทางการเกษตร และ การบริโภคมาก เพราะส่วนเนื้อหลักๆ ก็อยู่ที่ตรงนี้ล่ะครับ ผมไม่แน่ใจว่าฝรั่งเขากินมันกุ้งที่หัวบ้างหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นกุ้งก้ามกรามบ้านเรานี่ มันกุ้งอร่อยเป็นที่สุดจริงๆเลยขอรับ อิอิอิ ดวงตาของกุ้ง Cherax destructor นี้ ก็จะมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ในธรรมชาติ ไม่ได้ใช้งานมากเท่ากับในส่วนที่เป็นหนวด ( ในธรรมชาติ กุ้งจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีความขุ่นข้น เสียเป็นส่วนใหญ่ จึงพึ่งพาในส่วนของหนวด และ ระบบการดมกลิ่นมากกว่า ) ซึ่งในส่วนที่เป็นหนวดและระบบการดมกลิ่น จะเป็นระบบหลักในการหาอาหารของกุ้งครับ นอกจากนี้ยังทำให้กุ้งรับรู้ได้ถึงคุณภาพของน้ำ และอุณหภูมิ รวมทั้งค่าความเค็มต่างๆ ของน้ำได้ด้วยครับ ( สารพัดประโยชน์จริง ๆ หนอ)

สำหรับในส่วนพื้นที่หางนั้น จะแบ่งเป็นส่วนหลักๆ หกส่วน ที่ปกคลุมด้วยเปลือกแข็งตามที่ได้เคยกล่าวมา และส่วนของปล้องหางต่างๆ จะมีความยืดหยุ่นที่ดี ทำให้กุ้งสามารถเคลื่อนที่ไปตามที่ต่างๆ ได้โดยสะดวก และสามารถพุ่งไปในน้ำ ตามทิศทางต่างๆที่กุ้งต้องการได้เป็นอย่างดีครับ
กุ้งชนิดนี้ จัดได้ว่าเป็นกุ้งเครย์ฟิช สาย Cherax ที่มีขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่ง และจัดได้ว่าเป็นกุ้งเครย์ฟิชที่มีอายุค่อนข้างยืนยาว คือได้ประมาณร่วมๆ 5 – 7 ปีเลยทีเดียว ถ้าได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง และ มีขนาดที่ใหญ่ยิ่ง ได้ถึงราวๆ 20 เซนติเมตรเลยทีเดียว เรียกว่า ณ ตอนนี้ ยังถือครองสถิติ กุ้งเครย์ฟิช ที่มีขนาดตอนโตเต็มที่ใหญ่ที่สุดในบ้านเราชนิดหนึ่งได้อยู่ครับ ^ _ ^ อย่างไรก็ตามกุ้ง Cherax destructor ที่อยู่ในธรรมชาตินั้น จะมีอายุโดยเฉลี่ยที่สั้นกว่าในที่เลี้ยงครับ เนื่องจาก พวกมันจัดว่าเป็นชั้นล่างๆ ของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติในแหล่งกำเนิดของเขาครับ เพราะต้องเผชิญหน้ากับสารพัดสัตว์นักล่า ในธรรมชาติ

และด้วยความที่กุ้งชนิดนี้มีขนาดใหญ่นี่เอง รวมทั้งยังเจริญเติบโตได้ง่าย เลี้ยงไม่ยาก ทำให้เกิดธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไปหลายๆพื้นที่ในประเทศออสเตรเลีย เพื่อเป็นสินค้าเพื่อการอุปโภค และ บริโภค แต่เมื่อมีผลผลิตได้เพียงพอแล้ว ก็มีการริเริ่มนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เช่นเดียวกับ การทำฟาร์ม กุ้งเรนโบว์ ( กุ้งก้ามแดง - Cherax quadicarinatus ) และกุ้งอิเล็คทริคบลู ( Cherax tenuimanus ) ครับ ที่เป็นกุ้งที่ได้รับความนิยมในการนำมาเลี้ยงเป็นกุ้งในฟาร์มที่ประเทศออสเตรเลียเช่นกันครับ

กุ้งสามารถกินอาหารต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ ใบไม้ , ธัญพืช , ซากพืช ซากสัตว์เน่าเปื่อยต่างๆ ในที่เลี้ยง ผู้เลี้ยงก็สามารถให้เนื้อของสัตว์น้ำต่างๆ เช่น กุ้ง หรือ ปลา ได้ เป็นบางมื้อ โดยควรที่จะเน้นอาหารจำพวกพืชและผัก รวมถึงใบไม้ต่างๆ เป็นอาหารให้เขาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่ว่า เขาจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน เพื่อที่จะได้เติบโตได้อย่างแข็งแรงครับ อย่างไรก็ตามอย่าให้อาหารเขามากเกินไป เพราะจะทำให้กุ้งกินอาหารไม่หมด และทำให้น้ำเน่าเสีย และ ป่วยเป็นโรคได้ครับ

สำหรับเพื่อนร่วมตู้นั้น กุ้งชนิดนี้สามารถเลี้ยงรวมกับ ปลาที่ว่ายน้ำเร็วๆ ที่อยู่บนผิวน้ำ และ อาจจะเป็นพวกกุ้งแคระได้ครับ เนื่องจากกุ้งที่โตแล้ว จะมีก้ามที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้ถึงแม้ว่าจะอยากจับปลากิน ก็อาจจะไม่ค่อยสะดวก และ จับพวกกุ้งแคระได้ยากมากแล้วครับ
ในส่วนของการผสมพันธุ์นั้น ถ้าเป็นในธรรมชาตินั้น ฤดูการผสมพันธุ์ของกุ้ง C. Destructor จะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เมื่อสภาพแวดล้อมมีความอบอุ่นมากขึ้น ผ่านพ้นฤดูกาลแห่งความแห้งแล้งมาได้เรียบร้อยแล้ว มีอาหารอุดมสมบูรณ์ กุ้งตัวผู้ และ ตัวเมีย ก็จะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ โดยที่ในแต่ละปีนั้น สามารถจะมีรอบการผสมพันธุ์ได้อย่างน้อย สองครั้งขึ้นไป สำหรับช่วงเวลาการผสมพันธุ์นี้ ตัวเมียที่มีขนาดโตเต็มที่ สามารถที่จะให้ผลผลิตได้ถึงประมาณ 1,000 ฟองเป็นต้นไป และเคยมีบันทึกสถิติว่า สามารถให้ไข่ได้มากถึง 1,200 ฟอง เลยทีเดียวครับ ซึ่งถ้าผู้เลี้ยงขุนลูกจำหน่ายแค่ตัวละหลักสิบ ก็สามารถได้ทรัพย์สินทางโลกไม่น้อยเลยทีเดียวล่ะครับ ( และสำหรับตัวเมียที่มีขนาดเล็กกว่า ก็จะให้ผลผลิตที่ลดหลั่นกันลงไป )

ประโยชน์ในการเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ ปัจจุบัน กุ้ง Cherax destructor ( และรวมทั้ง Cherax albidus ) นี้ จัดได้ว่าเป็น กุ้งเครย์ฟิชน้ำจืด ที่มีความสำคัญต่อวงการเศรษฐกิจต่างๆ ในอุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โดยที่เกษตรกร หรือ ผู้เลี้ยงที่มีการการผลิตผลผลิตออกสู่ท้องตลาด สามารถนำกุ้ง Cherax destructor ( และ Cherax albidus ) ไปจำหน่ายได้ในหลายช่องทาง เช่นในเชิงการบริโภคเป็นอาหาร ทั้งสำหรับคน และ สัตว์ด้วยกัน ( เช่นการเป็นอาหารให้กับสัตว์น้ำที่ต้องการๆกินสัตว์เปลือกแข็งเป็นอาหาร เช่นตาม Aquarium ต่างๆ ) การนำมาใช้เป็นเหยื่อตกปลา สำหรับคนที่ชื่นชอบการตกปลา อันนี้รู้สึกทางต่างประเทศเขาจะนิยมกันครับ แต่บ้านเราเหมือนจะถนัดการเกี่ยวกุ้งฝอยมาใช้มากกว่า การใช้กุ้งล็อบสเตอร์เป็นเหยื่อล่อปลา และอีกแนวทางหนึ่ง ก็คือการเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามยอดนิยม ซึ่งจะว่าไปข้อนี้ หลายๆท่านน่าจะสนใจอยู่นะครับ เพราะว่าความที่มีเสน่ห์ที่น่าสนใจของตัวเองหลายอย่าง ทำให้กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ กลายเป็นกุ้งเครย์ฟิชที่จัดได้ว่า “ ขึ้นหม้อ “ อีกชนิดหนึ่งของบ้านเราครับ


เรื่อง : กษิดิศ วรรณุรักษ์


*****************************************

ติดตาม Fan page ของ Thailand Shrimp & Crayfish Club ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้เด้อครับเด้อ

https://www.facebook.com/pages/Thailand-Shrimp-Crayfish-Club/229670613731393
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่