เรียนเชิญนู๋นิด (เพชรน้ำนิล) และผู้ที่สนใจเรื่องระบบน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภค-บริโภค มาที่กระทู้นี้ครับ (by มาริโอ้)

กระทู้คำถาม
จากกระทู้ * * * * ส วั ส ดี . . ค ว า ม แ ห้ ง แ ล้ ง : ( เ พ ช ร น้ำ นิ ล ) * * * * *
http://ppantip.com/topic/33840496

มัวแต่ติดงานอยู่เลยมาตอบช้า และเห็นบอกว่ากระทู้ตกไปแล้ว เลยยกยอดมาที่กระทู้นี้ครับ

พอดีเมื่อวานตั้งกระทู้นี้ขึ้นมานะ (กระทู้ที่ว่าด้วยการเจาะบาดาลแก้ภัยแล้งของรัฐบาล) มีคนสนใจเยอะอยู่ แชร์ไปเฟสก็เยอะพอสมควร มีคำถามหลายๆคำถามที่เพื่อนสมาชิกได้ถามมาก็ตอบไว้ให้ในนี้แล้ว
http://ppantip.com/topic/33834944 จากกระทู้นี้ได้คิดคำนวนค่าใช้จ่ายคร่าวๆไว้แล้วสำหรับระบบน้ำทั้งระบบ คิดให้มันแพงกว่าความเป็นจริงเผื่อไว้แล้วด้วย เพราะอาจจะมีค่าเหล้า-เบียร์ กับแกล้ม และอะไรนอกเหนือจากนั้นตามมาหลังจากการทำงาน

จะลองเอามาแจงรายละเอียดใหม่ในกรณีที่เราอยากจะมีระบบน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร อุปโภค บริโภคเองดูนะ ในกรณีของนิด ถ้าใช้สำหรับนา 20 ไร่ หรือใช้ในครัวเรือนคิดว่าเพียงพอแน่นอนสำหรับ 1 บ่อนะ ลองคิดแบบคร่าวๆกันดูนะ น่าจะพอใกล้เคียงกับกระทู้ที่ลงมาแล้ว

จากประสบการณ์จริงที่เคยไปเดินระบบน้ำทั้งระบบไว้ เจาะบาดาลลึก 40 เมตร (อย่างกรณีของนิดก็เพิ่มเข้าไปอีกไม่มากก็น่าจะเจอตาน้ำ) จนผ่านชั้นหินที่ไปสู่ชั้นที่มีน้ำบาดาล  คนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมารับงานนอกในวันหยุดเจาะให้เอง ค่าเจาะ 17,000 บาท ราคานี้ใช้ท่อ PVC 5" ขนาดความหนาเบอร์ 8.5  (ส่วนใหญ่ผู้รับงานจะใช้ท่อ 4") ซึ่งความลึกขนาดนี้จะเป็นความลึกโดยประมาณเฉลี่ยต่อในหลายๆพื้นที่ บางที่อาจจะต้องเจาะลึกกว่านั้นขึ้นไป แต่บางพื้นที่แค่ไม่เกิน 10 เมตรเราก็จะเจอตาน้ำแล้วแต่ของนิดนี่ไม่น่าจะต่ำกว่า 40 เมตรแน่นอน ให้ราคาปัดไว้เผื่อที่ 25,000 บาท แต่จริงๆแล้วไม่น่าจะถึง แค่หมื่นกว่าบาทตามข้างต้นนี่แหละก็น่าจะพอ  (เผื่อไว้ในกรณีที่บริเวณที่จะเจาะไม่มีน้ำที่จะไปหล่อเย็นหัวเจาะเพราะจะทำให้เจาะยากและหัวเจาะไหม้หรือแตกหักได้ จึงจำเป็นต้องเผื่อค่าเช่ารถน้ำที่เขาเอามาหล่อเย็นหัวเจาะ หรือถ้าเรามีน้ำพอที่จะเปิดเลี้ยงหัวเจาะไว้ ค่าใช้จ่ายตรงนี้จะถูกลงไปอีก)

นี่คือภาพตัวอย่างรถที่เจาะนะ จะติดตั้งเครื่องเจาะไว้ที่กะบะหลัง เป็นแท่นเครื่องเจาะขนาดใหญ่


นี่คือหลังจากเจาะเสร็จแล้ว ตามภาพกำลังไล่ลมไล่ฝุ่นออกจากบ่ออยู่ บ่อนี้ลึก 40 เมตร


ใช้ Submersible Pump (ปั๊มแช่สำหรับน้ำบาดาล) อย่างดีของ Franklin ปั๊มบาดาล 1 แรงม้า 7 ใบพัด Schaefer TRI-SEAL ขนาดท่อออกได้ทั่ง 1 1/2" และ 1 1/4" ตัวละ 14,000 บาท จุ่มลงไปในก้นบ่อที่เจาะ ดูดไปเรื่อยๆจนกว่าน้ำมันจะใสหรือหายขุ่นบางที่วันเดียวก็ใสแล้ว บางที่ก็นานกว่านั้น  เหตุผลที่ใช้ปั๊มแค่ 1 แรงม้าก็คือ หากเราใช้ปั๊มที่แรงกว่านั้น น้ำจากตาน้ำบ่อบาดาลจะไหลกลับเข้ามาป้อนเข้าปี๊มไม่ทันตามอัตราการไหลของน้ำของปั๊ม ไม่ใช่ว่าอยากจะดูดขึ้นมาแรงเท่าไหร่ก็ได้  ไม่งั้นจะได้น้ำบ้างอากาศบ้าง และอาจจะทำให้ปั๊มพังได้ในกรณีที่น้ำมาไม่ทันขาดช่วงนานๆ

ในภาพชุดปั๊มน้ำบาดาลแบบแช่ ที่จำเป็นต้องใช้แบบนี้เพราะตาน้ำมันอยู่ลึก หากเพียงแค่ 10-20 เมตร เราใช้แค่ปั๊มหอยโข่งธรรมดาเอาก็ได้ ถูกกว่ากัน 2-3 เท่าตัว




ภาพนี้หลังจากเราหย่อนปั๊มลงไปในบ่อแล้วปั๊มน้ำมันทิ้งไว้ซัก 1 วัน 1 คืน น้ำมันก็จะใสแบบนี้ (บางที่อาจจะใช้เวลานานกว่านั้นแล้วแต่คุณภาพน้ำของแต่ละที่



ให้สูบเก็บใส่แท๊งค์ไว้ที่ติดตั้งไว้ข้างบ่อบาดาล (ติดตั้งสวิทช์ลูกลอยอัตโนมัติไว้ให้ปั๊มมันติดเมื่อน้ำลดถึงระดับที่ตั้งไว้ และหยุดเมื่อน้ำเพิ่มถึงระดับที่ต้องการ) จะซื้อเป็นแท๊งค์เก็บหรือบ่อพักก็แล้วแต่ขนาด หากเอาแค่ 10,000 ลิตร ก็ไม่เกิน 2-3 หมื่นบาท หรือหากจะก่อเป็นบ่อปูน+กันซึม เอาแบบเป็นแสนลิตรก็ประมาณ 5 หมื่นบาท(ก่ออิฐบล็อคและก็ฉาบปูนผสมน้ำยากันซึม ห้ามใช้อิฐมวลเบาเด็ดขาด) น้ำจากบ่อบาดาลจะเติมลงบ่อพักนี้เรื่อยๆจนกว่าจะถึงระดับที่เราตั้งสวิทช์ลูกลอยไว้ปั๊มมันจะตัด
ภาพตัวอย่าสวิทช์ลูกลอย ตัวนี้ราคา 4 ร้อยกว่าบาทถ้าจำไม่ผิดนะ แต่ของอิตาลี่สีดำล้วนตัวละ 6 ร้อยกว่าบาทหาภาพไม่เจอ


ค่าเดินท่อรวมอุปกรณ์ ไม่เกิน 500 บาท / 12 เมตร (คิดคล่าวๆโดยเฉลี่ยจากการใช้ทั้งท่อ PE ท่อ PVC  อย่างใดอย่างหนึ่ง) หากต้องการเดินท่อในตำแหน่งที่ห่างจากบ่อไป 100 เมตร จะต้องใช้ เงินตรงนี้ประมาณ 500*100/12 = 4,167 บาท เคสนี้คิดไว้แบบเดินท่อรวมไป 500 เมตรก็ประมาณ 20,000 บาทก็แล้วกันอาแบบต้นไม้ได้น้ำทั่วถึงไปเลย แต่ถ้าใช้เป็นสายยางเกษตร ราคาจะถูกลงกว่านี้มาก

ต้นกำลังส่งน้ำออกจากบ่อพักน้ำไปยังพื้นที่เป้าหมายเอาเป็นปั๊มหอยโข่งขนาด 3 " ก็แล้วกัน (แล้วค่อยแยกไลน์ลดขนาดท่อลงไปตามความเหมาะสม) ราคาไม่เกิน 15,000 บาท (หากให้มันเปิดปิดตามเวลาที่ต้องการก็ติดตั้ง Timer เอา ตีราคาให้ไม่เกิน 1,000 บาท)  ในกรณีที่ส่งน้ำไปไกลหรือขึ้นที่สูงเราจำเป็นที่จะต้องติดตั้งหม้อลม (air chamber หรือชาวบ้านบางคนเรียกแอร์แวะ) ในแนวตั้งตรงตำแหน่งหลังปั๊ม เพราะลมหรืออากาศที่มากับน้ำจะลอยขึ้นไปสู่ส่วนบนเจ้าหม้อลมอันนี้แล้วมันก็จะไปต่อไม่ได้ก็จะผลักเอาน้ำให้มีแรงดันพุ่งออกไปให้ไกลขึ้นหลายเท่าตัวของประสิทธิภาพปั๊ม ให้ค่างบทำหม้อลม + เช็ควาล์วกันลมย้อนกลับกระแทกปั๊มไว้ที่ 1,000 บาท
การทำงานคล่าวๆของหม้อลม หรือแอร์แว หรือ Air Chamber


รวมๆแล้วทั้งระบบ เจาะบ่อบาดาล+ปั๊มบาดาล+บ่อพักน้ำ+ปั๊มส่งน้ำจากบ่อพักไปยังต้นไม้+เดินท่อหรือสายยางก็ประมาณ 1 แสน หรือน้อยกว่านั้น

และในกรณีที่เราต้องการน้ำตรงนี้มาใช้อุปโภคบริโภค หากคุณภาพน้ำมันดีอยู่แล้วก็นำมาใช้ได้เลย เพราะน้ำบาดาลเป็นน้ำใต้ชั้นหินที่สะอาดอยู่แล้ว และหากน้ำมันเหลือง เราก็อาจจะซื้อถังพลาสติกมาทำเป็นบ่อปรับสภาพน้ำหรือบ่อกรองน้ำคือเติมผงแมงกานีสเข้าไป (สั่งซื้อตามเน็ตได้)  หากน้ำมีรสเค็มหรือเปรี้ยว เราก็เติมเรซิ่นกรองน้ำลงไปในบ่อกรอง และเติมผงคาร์บอนลงไปเพื่อไม่ให้น้ำมีกลิ่นเป็นต้น  ลองไปประยุกต์ใช้ดูนะ

คิดว่าบ่อเดียวมันเพียงพอสำหรับนา 20 ไร่ หรือถ้าจะเอาแบบประหยัดสุดๆจริงๆก็แค่เจาะบ่อหมื่นกว่าบาท แล้วต่อสายยางลงไปที่ๆนาเราต่อได้เลย ก็สามารถทำได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราต้องอยู่กับมันตลอด คอยเปิดปิดปั๊มเอง และคอยลากสายยางไปตามจุดต่างๆเองเท่านั้น

...............................................................................................................................................


ขออนุญาตเพิ่มเติมเนื้อหากระทู้เล็กน้อยครับ อันนี้จะเพิ่มในส่วนที่รัฐบาลจะใช้วิธีเจาะบาดาลเพื่อแก้ภัยแล้ง ผมขออนุญาตนำคำตอบที่เพื่อนสมาชิกได้ถามเอาไว้ และผมตอบในเม้นต์ย่อยมาเพิ่มเติมตรงหัวกระทู้ครับ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะรู้ไว้

- ในการเจาะบ่อบาดาลเพื่อแก้ภัยแล้งของรัฐบาลในครั้งนี้ คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ แต่เห็นด้วยในการที่จะทำเพราะใช้งบประมาณที่ไม่มากเลยเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ บางโครงการเสียเงินไปเป็นจำนวนมากโดยที่ประชาชนไม่ได้อะไรกลับมาเลยเสียด้วยซ้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาลเพียงแค่เสริมเข้าไปไม่ให้พื้นที่เกษตรแห้งสนิทในยามที่แหล่งน้ำตามธรรมชาติขาดแคลนเท่านั้น  ผมยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพเช่นไฟฟ้าที่เราใช้อยุ่ทุกวันนี้มาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ (CNG) และถ่านหินเป็นหลัก แต่เรามีโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อเดินเครื่องจ่ายโหลดเสริมในช่วง Peak load (ช่วงหัวค่ำของทุกๆวันและในช่วงหน้าร้อน) บ่อบาดาลนี้ก็เช่นเดียวกันกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำครับ แต่หากเรานำมาใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค เฉยๆ 1 บ่อ/50-100 ครัวเรือนนี้ก็ได้อยู่ครับผม ทำบ่อพักน้ำให้ดีๆปั๊มน้ำมันจะเติมน้ำเข้าบ่อตลอดครับ

- เรื่องบริหารจัดการน้ำที่ดีคือการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดที่สุด ซึ่งประเทศเรานั้นเดิมทีมีต้นทุนทางทรัพยากรน้ำสูงกว่าหลายๆประเทศ หากเรามีการบริหารจัดการน้ำที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ปัญหาภัยแล้งก็จะไม่เกิด ประชาชนโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมก็จะไม่เดือดร้อน

- นี่คือภาพแสดงดัชนีความมั่นคงด้านน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่จริงแล้วประเทศเรานับว่าโชคดีที่มีน้ำจืดอุปโภคบริโภคมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่พอดูดัชนีแล้วจะเห็นว่า ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์รวมถึงสิงคโปร์ ทั้งๆ ที่ประเทศเขาขาดแคลนน้ำจืด แต่ทำไมดัชนีความมั่นคงน้ำถึงสูง นั่นก็เพราะเขามีการจัดการที่ดี ในขณะที่เราเองกลับอยู่เกาะกลุ่มกับอินเดีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ ซึ่งรู้กันอยู่ว่าประเทศเหล่านี้มีปัญหาขาดแคลนน้ำมากกว่าเรา (บังคลาเทศอาจมีน้ำท่วมบ่อยๆ แต่ไม่ได้หมายถึงมีน้ำใช้เพียงพอในการอุปโภคบริโภค)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่