AIIB เมื่อพี่ใหญ่จีนจะมาอุ้มน้อง

วันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า "จีน" มีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นทุกทีในเวทีโลก ตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิงประกาศเปิดประเทศเมื่อ ปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) จีนก็เร่งพัฒนาประเทศในทุกด้านอย่างจริงจัง ทำให้วันนี้จีนจากประเทศที่มีแต่ความยากจน กลายเป็นประเทศที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง เห็นได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) ของจีนที่มีมากที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าถึง  3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขประมาณการ ณ ธันวาคม 2557) มากกว่าสหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบันที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในลำดับที่  19 ด้วยมูลค่าเพียง  1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ  (ตัวเลขประมาณการ ณ ธันวาคม 2556)



ด้วยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีจำนวนมหาศาล ทำให้จีนแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเข้ามามีบทบาทในระบบการเงินของโลก

วันนี้เงินหยวนของจีนกำลังเข้ามาเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักของโลก ซึ่งสหรัฐฯ เองก็รู้ดีว่า เงินหยวนคือ
คู่แข่งที่น่ากลัวที่จะมาท้าทายเงินสกุลดอลลาร์ของตนที่ครองบัลลังค์เงินสกุลหลักของโลกมายาวนานตั้งแต่การเกิดขึ้นของระบบแบรตตันวูตส์ (Bretton Woods System) ในปี พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944)

นอกจากเงินหยวนแล้ว จีนก็ยังได้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศแห่งใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ธนาคารเอไอไอบี (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB)

การเกิดขึ้นของ AIIB นี้ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญต่างวิเคราะห์กันว่า นี่คือ อีกหนึ่งความพยายามของจีนที่จะเข้ามามีบทบาทแข่งขันกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศในปัจจุบัน อย่างธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งเป็นผลผลิตจากระบบแบรตตันวูตส์เช่นกัน

ถ้ามองในแง่การเมืองระหว่างประเทศก็น่าจะใช่ แต่นอกจากการเมืองแล้วยังมีเหตุผลอื่นอีกหรือไม่?

เรื่องนี้เจ้าสัวธนินท์เคยให้มุมมองเอาไว้ มุมมองที่ว่านั้นไม่ใช่เรื่องการเมืองระหว่างประเทศแต่เป็นเรื่องการพัฒนา

“จีนคิดรอบคอบเบ็ดเสร็จ รู้ว่า ประเทศเล็กส่วนใหญ่ไม่มีเงิน ประเทศใหญ่ต้องอุ้มประเทศเล็ก จีนเลยสร้างธนาคารปล่อยกู้ให้ประเทศเล็กไปทำโครงสร้างพื้นฐาน นี่แหละพี่ใหญ่แล้ว”

ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียกำลังต้องการเงินทุนจำนวนมหาศาลสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่แหล่งเงินทุนที่มีอยู่ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) กลับไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ

จีนเห็นความต้องการดังกล่าวจึงจัดตั้งธนาคาร AIIB นี้ขึ้นมาเป็นแหล่งเงินทุนโครงสร้างพื้นฐานแหล่งใหม่

เจ้าสัวธนินท์วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของจีนด้วยภูมิปัญญาแบบชาวตะวันออกไว้ว่า

“พี่ใหญ่ต้องมาอุ้มน้อง ทำให้รวยทั้งหมด คุณก็ยิ่งรวย คุณไม่เลี้ยงไก่เอาไข่ คุณมัวแต่ไปเชือดไก่เอาไข่ มันก็หมด”

อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ จีนเคยผ่านจุดที่ไม่มีเงินมาก่อน เขาจึงเข้าใจประเทศกำลังพัฒนาดีว่า ต้องการอะไร จึงสร้างธนาคารนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเงินในการพัฒนาประเทศ หลักการคือ ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาร่ำรวยขึ้น เมื่อประเทศต่างๆ รวยขึ้นก็มีเงินมาค้าขายกับจีน พากันร่ำรวยขึ้นไปอีก

หลักการที่ว่านี้มีส่วนคล้ายกับแนวคิด “สองสูง” ของเจ้าสัวที่มุ่งเน้นเพิ่มรายได้ให้คนจนร่ำรวยขึ้นก่อน โดยมองว่า เมื่อคนจนรวยขึ้นก็จะมีการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ธุรกิจและประเทศก็จะได้รับผลดีตามมา

"พี่ช่วยน้อง" เป็นวิถีชาวตะวันออกที่ฝรั่งยากที่จะเข้าใจ

เอาใจช่วยพี่ใหญ่จีนให้ทำสำเร็จกันดีไหม ...

ปล. เนื้อหาในบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และแนวคิดของเจ้าสัวให้กับนักธุรกิจ  SMEs และผู้ที่สนใจ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน ดังนั้น ผู้เขียนของดพูดถึงประเด็นขัดแย้งทางสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าสัว และ CP ในกระทู้นี้ค่ะ ^^

The Side Story
FB: https://www.facebook.com/Dhaninsidestory
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่