เปิดทุก"ด้านมืด" เรื่องลับในญี่ปุ่นที่คุณไม่รู้!-ประชาชาติธุรกิจ

เปิดทุก"ด้านมืด" เรื่องลับในญี่ปุ่นที่คุณไม่รู้!

โดย อุศนา สุวรรณวงค์

หลังกรณี "การเหยียดเชื้อชาติ" เป็นที่ถกเถียงมากในญี่ปุ่น เนื่องจากนางสาวอาเรียนา มิยาโมโตะ สาวลูกครึ่งญี่ปุ่น-แอฟริกันอเมริกัน คว้ามงกุฎนางงาม "มิสยูนิเวิร์สเจแปน" ไปครอง จนเกิดการถกเถียงในสังคมญี่ปุ่นอย่างมากว่าเธอเหมาะสมต่อการเป็นตัวแทนประเทศหรือไม่ เพราะหน้าตาไม่เหมือนคนญี่ปุ่นทั่วไป

คำถามที่ตามมาคือ "ญี่ปุ่น" ประเทศในภาพจำของสังคมไทยว่าเป็นเมืองที่เป็นระเบียบ ผู้คนเข้าถึงพื้นฐานสาธารณูปโภคอย่างเท่าเทียม ทุกคนเคารพสิทธิกันและกัน มีการกดขี่หรือมีประเด็น "การเหยียดเชื้อชาติ" ด้วยหรือ ?

และการเหยียดที่เป็นประเด็นอยู่นั้น เป็นการ "เหยียดลูกครึ่ง" หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า "ฮาฟฝุ" ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติญี่ปุ่นในเลือด เหตุใดสังคมญี่ปุ่นจึงปฏิเสธและเลือกปฏิบัติต่อฮาฟฝุ และที่จริงแล้วสังคมญี่ปุ่นมี "ด้านมืด" หรือ "เรื่องลับๆ" ที่เราไม่รู้อีกหรือไม่

"ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" ไขข้อสงสัยนี้กับ "อรรถ บุนนาค" นักเขียนและกูรูญี่ปุ่น ผู้ที่เป็นทั้ง "ลูกครึ่งญี่ปุ่น" เคยใช้ชีวิตในญี่ปุ่นหลายปี และเชื่ยวชาญด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ไม่เพียงแต่ข้อสงสัยจะถูกทำให้กระจ่าง แต่รับรองว่าเรื่องเล่ามุมมืดของแดนซากุระต่อไปนี้ จะขยายมุมมองของความเป็นญี่ปุ่นที่คนไทยมีภาพจำแบบที่เรียกกันเองว่า "อาโนเนะ" อย่างสิ้นเชิง


มาทำความเข้าใจสังคมญี่ปุ่นให้รอบด้านมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน


"คนนอก" กลุ่มคนที่ญี่ปุ่น "ปฏิเสธ"

อรรถ บุนนาค เริ่มต้นอธิบายถึงสาเหตุที่ญี่ปุ่นมักแบ่งแยก "คนนอก" ของสังคมญี่ปุ่นว่า ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศหมู่เกาะ ซึ่งไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านบริเวณชายแดนเคยชินกับการอยู่กับชาติพันธุ์เดียว ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงมีวัฒนธรรมที่แบ่งแยก "ข้างใน" กับ "ข้างนอก" ซึ่งนำมาใช้ทั้งแบ่งทั้งเรื่องความรู้สึกส่วนตัวในชีวิตประจำวัน โดยคือความรู้สึกภายในเป็นเรื่องที่ต้องเก็บไว้ และการแสดงออกของความรู้สึกเป็นเรื่องภายนอก รวมไปถึงเรื่องการแบ่งด้วยว่า คนญี่ปุ่นเองเป็นคน "ข้างใน" และคนอื่นที่มาจากที่อื่นๆ เป็นคน "ข้างนอก" จึงมีการสร้าง "ความเป็นอื่น" ในสังคมญี่ปุ่นเกิดขึ้น และหากไม่ได้อยู่อาศัยในสังคมนั้นจะมองไม่เห็นเรื่องเหล่านี้

อรรถกล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่า เขาเคยเจอการเหยียดในญี่ปุ่นมาเช่นกัน แม้ว่าหน้าตาและสำเนียงการพูดจะเหมือนญี่ปุ่นมาก แต่เมื่อคนญี่ปุ่นรู้ว่าตนเป็นต่างด้าวก็จะถูกเลือกปฏิบัติ แม้ว่าตนเองเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ไม่ได้อยู่อาศัยในญี่ปุ่นก็รู้สึกได้ ส่วนการให้บริการต่างๆ ในทางธุรกิจ ญี่ปุ่นจะไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งสถานีรถไฟ โรงแรม ภัตตาคาร เพราะถือเป็นมาตรฐานการให้บริการของญี่ปุ่นที่ปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนๆ กัน ฉะนั้น ถ้าแค่ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็จะไม่รู้สึกถึงเรื่องนี้และรู้สึกประทับใจด้วย แต่เมื่อต้องไปอยู่และถูกปฏิบัติแบบเป็นส่วนตัว หรือตามร้านค้าแถวบ้านก็อาจรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ

"อีกประเด็นที่ทำให้คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นไม่ระแคะระคายในประเด็นนี้คือสังคมญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนเรื่องวัฒนธรรมต่างๆที่เป็นสากลนิยมแต่ต้องยอมรับว่าบางเรื่องภายในของคนญี่ปุ่นก็ยังมีเรื่องที่เขายอมรับไม่ได้เพียงแต่เขารู้ว่าต้องแสดงออกอย่างไรไม่ให้ถูกติเตียนในทางสากล แต่เราก็ห้ามไม่ให้คนญี่ปุ่นไม่คิด หรือยอมรับเรื่องเหล่านี้ (การเหยียดลูกครึ่ง) ก็คงไม่ได้"

"เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จึงเกิดขึ้นโดยที่เรามองไม่เห็น มันไม่ออกมาในที่แจ้ง ในที่สาธารณะ มันผ่านการดูหมิ่นดูแคลนจากข้างในของเขา และมีการปฏิบัติต่อเรื่องพวกนี้แบบเนียนๆ  คือเขาก็ให้สิทธิพื้นฐานคนเหล่านี้อย่างเท่าเทียม แต่มีการเลือกปฏิบัติได้น่ากลัวมากๆ"

ถ้าไม่ยอมรับ "ไม่มีวันมีตัวตน" ในญี่ปุ่น

กรณีที่สังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะในโรงเรียนมีการกลั่นแกล้งลูกครึ่ง และไม่ยอมรับพวกเขา จนกระทั่งกลุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่นหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวว่า พวกเขาไม่เคยรู้สึกว่าสังคมญี่ปุ่นนับพวกเขารวมอยู่ในสังคมเลย อรรถ อธิบายว่า การที่ลูกครึ่งในญี่ปุ่นรู้สึกเช่นนั้น เพราะการกลั่นแกล้งลูกครึ่งของญี่ปุ่นไม่ได้หมายความถึงการกระทำทางร่างกาย แต่คือ "การเพิกเฉย" จนทำให้ลูกครึ่งเหล่านั้นแปลกแยก

"ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่น่ากลัวอยู่อย่างหนึ่งคือเขามีวิธีการที่จะเพิกเฉยเรื่องนั้นๆ หรือตัดคนออกจากวงสังคมไปเป็นคนนอกได้ในวิถีชีวิตประจำวันและสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการกลั่นแกล้งคนๆหนึ่งในโรงเรียนที่ทำงาน หรือชุมชน ก็คือการทำให้เขาเหล่านั้นไม่มีตัวตนนั่นเอง ซึ่งก็คือการเพิกเฉย นั่นคือการกลั่นแกล้งอย่างหนึ่งที่คนญี่ปุ่นทำกัน"


สังคมซับซ้อน "ย้อนแย้งสูง"

อรรถ เปิดอีกมุมมองว่า กรณีลูกครึ่งมิสยูนิเวิร์สเจแปน ที่ถูกเลือกปฏิบัตินั้น หากเป็นลูกครึ่งเอเชียที่หน้าตาคล้ายคนญี่ปุ่นหรือเป็นเอเชียที่รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนญี่ปุ่นทั่วๆ ไป ไม่ใช่นางงามลูกครึ่งผิวสี อาจไม่ถูกต่อต้านเท่านี้

อย่างไรก็ตาม ในสังคมญี่ปุ่นมีความย้อนแย้งสูงมากในการยอมรับหรือปฏิเสธลูกครึ่ง

กูรูญี่ปุ่นชี้ให้เห็นประเด็นนี้ได้ชัดเจนขึ้น โดยกล่าวว่า ในวงการดนตรีเพลงอาร์แอนด์บีของญี่ปุ่นกลับยอมรับกลุ่มลูกครึ่งผิวสี เพราะได้รับการตอบรับดีและใช้มาเป็นจุดขาย แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็เคยต้องต่อสู้อย่างมากในสังคมญี่ปุ่นมาก่อน คือเคยถูกกลั่นแกล้งมาเหมือนกัน ยกเว้นแต่ว่าไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติ

"การที่วงการบันเทิงญี่ปุ่นนิยมลูกครึ่ง อาจอธิบายได้ว่า ญี่ปุ่นเขาจะแบ่งว่า เขามีวิถีชีวิตประจำวันปกติ กับชีวิตที่ไม่ใช่วิถีชีวิตประจำวันไม่ปกติ อย่างเรื่องงานเทศกาลต่างๆ หรือในวงการบันเทิง คนญี่ปุ่นก็ชอบทำอะไรบ้าๆ บอๆ ไม่ต้องแคร์อะไร เช่น ใส่เตี่ยวผืนเดียวลงน้ำ เป็นต้น ฉะนั้น เรื่องในวงการบันเทิง คนญี่ปุ่นจะมองว่ามันเป็นชีวิตที่ไม่ใช่วิถีชีวิตประจำวันไม่ปกติ ลูกครึ่งเหล่านั้นก็อาจได้รับการยกเว้นไป แต่ถ้ากลับมาอยู่ในวิถีชีวิตปกติ คนญี่ปุ่นก็จะกลับมาสู่การเป็นอนุรักษ์นิยม และกลับมาเกาะกลุ่มอยู่ในคนพวกเดียวกันเหมือนเดิม หรือต่อต้านคนแตกต่างเช่นเดิม"

"อาจจะค่อนข้างเข้าใจยาก ถ้าใช้มุมมองคนไทยมองความเป็นญี่ปุ่นที่ซับซ้อนตรงนี้ เพราะพื้นฐานสังคมนั้นต่างกัน
ถ้าอ้างอิงจาก หนังสือดอกเบญจมาศกับดาบซามูไร ที่เขียนโดย รูธ เบเนดิกตส์ นักคิดชาวตะวันตกที่เชี่ยวชาญเรื่องญี่ปุ่น เขาเขียนไว้ว่า คนญี่ปุ่นมีความสุดโต่งมาก 2 ทาง ในตัวคนๆ เดียว คือ เป็นคนสุภาพมาก และกักขละมาก หรือเป็นคนสะอาดมากและสกปรกมากในตัวคนๆ เดียว คือซับซ้อนมากๆ"


"คนญี่ปุ่นสมัยใหม่อายุราว 20 กว่าปี ก็ยังมีความคิดเรื่องเหยียดเชื้อชาติฝังอยู่ตลอดเวลา อีกปัจจัยคือ คนญี่ปุ่นมีความคิดว่า ตนเองเหนือคนอื่น จึงภาคภูมิในตนเองสูงมากๆ แต่จริงๆ หลังจากเศรษฐกิจฟองสบู่ ญี่ปุ่นอาจมีความรู้สึกว่าตัวเองเหนือคนอื่นลดน้อยลง"

( มีต่อ )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่