ระดับขั้นตำแหน่งนางในและเชื้อพระวงศ์แบบละเอียดของราชวงศ์โครยอแห่งเกาหลีค่ะ

กระทู้สนทนา
สำหรับซีรีส์พีเรียดย้อนยุคเกาหลีนั้น โดยมากมักจะเป็นเรื่องราวสมัยราชวงศ์โชซอนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องราวยุคสมัยอื่นๆ นั้นมีเป็นประปราย โดยเฉพาะสมัยราชวงศ์โครยอ ที่ในปี 2015 นี้เพิ่งมีเรื่อง Shine or Go Crazy เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น จขกท.เห็นว่าตำแหน่งต่างๆ ในสมัยราชวงศ์นี้น่าสนใจไม่น้อย จึงได้ค้นคว้าหาข้อมูลตำแหน่งนางในและเชื้อพระวงศ์ในสมัยราชวงศ์โครยอแห่งเกาหลี มาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ที่สนใจได้ทราบกันค่ะ

     สมัยราชวงศ์โครยอ 고려(高麗) เป็นยุคที่สามารถรวบรวมแคว้นต่างๆ ในอาณาจักรเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้อีกครั้ง และปกครองบ้านเมืองยาวนานถึง 474 ปี เป็นราชวงศ์แรกที่ยกฐานะประมุขแห่งอาณาจักรจากกษัตริย์ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งเกาหลี มีการขยายดินแดนกว้างไกล บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นยุคที่อำนาจการปกครองมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง จากอำนาจการปกครองโดยจักรพรรดิ ไปสู่การปกครองของเผด็จการทหาร จนกระทั่งเป็นประเทศราชของราชวงศ์หยวน (มองโกล) แห่งจีน

     ด้วยการการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง รวมถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมจีน ทำให้ตำแหน่งต่างๆ ในสมัยราชวงศ์โครยอนี้ไม่ค่อยเป็นระบบนักและยังมีการปรับเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง โดยระดับและตำแหน่งสตรีฝ่ายในสมัยราชวงศ์โครยอนั้น สามารถสรุปและแบ่งได้ตามลำดับดังนี้

จักรพรรดินี พระมเหสี พระชายา และพระสนม

วังแทฮู 왕태후(王太后)
     ตำแหน่งของจักรพรรดินีในจักรพรรดิองค์ก่อนหน้านับขึ้นไป 1-2 ขั้น ซึ่งจะสามารถดำรงตำแหน่งได้ต่อเมื่อมีฐานะเป็นพระมารดาหรือพระอัยยิกาขององค์จักรพรรดิองค์ปัจจุบันเท่านั้น มีเพียงบางรัชสมัยที่พระมารดาหรือพระอัยยิกาขององค์จักรพรรดิซึ่งไม่ได้เป็นจักรพรรดินีสามารถมีตำแหน่งนี้ได้ เช่น จักรพรรดินีฮอนแอ หรือ ชอนชูวังแทฮู ทรงดำรงตำแหน่งนี้ในสมัยจักรพรรดิมกจง (จากเรื่อง Empress Cheonchu)

วังแทบี 왕태비(王太妃)
     ในช่วงกลางราชวงศ์โครยอ ตำแหน่งนี้เคยปรากฏเป็นตำแหน่งที่จักรพรรดิอึยจงมอบให้แก่พระชายาในจักพรรดิองค์ก่อน เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่พระชายาของพระบิดา โดยเป็นตำแหน่งรองลงมาจากวังแทฮู และได้รับการแต่งตั้งเป็นจักรพรรดินีเมื่อสิ้นพระชนม์
     ต่อมาหลังจากเป็นประเทศราชของราชวงศ์หยวนแห่งจีนในช่วงปลายโครยอ ตำแหน่งวังแทฮูก็ถูกลดลงมาเป็นวังแทบีแทน ซึ่งเป็นตำแหน่งของพระมเหสีในพระราชาองค์ก่อนหน้านับขึ้นไป 1-2 ขั้น โดยสามารถดำรงตำแหน่งได้ก็ต่อเมื่อมีฐานะเป็นพระมารดาหรือพระอัยยิกาของพระราชาองค์ปัจจุบันเท่านั้น และจะได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นวังแทฮูเมื่อสวรรคต มีเพียงบางรัชสมัยที่พระมารดาหรือพระอัยยิกาของพระราชาซึ่งไม่ได้เป็นพระมเหสีสามารถมีตำแหน่งนี้ได้ เช่น พระพันปีมยองด็อก ทรงเคยเป็นพระชายาในพระเจ้าชุงซุก ดำรงตำแหน่งวังแทบีในสมัยพระเจ้าชุงฮเยและพระเจ้ากงมิน (จากเรื่อง Jeong Do-jeon)

วังแดบี 왕대비(王大妃)
     ในช่วงปลายราชวงศ์โครยอ เป็นช่วงที่พระราชายังทรงพระเยาว์เมื่อขึ้นครองราชย์ ตำแหน่งวังแทบีก็ถูกเว้นว่างเอาไว้ เนื่องจากในฝ่ายในเหลือเพียงพระชายาและพระสนมของพระราชาองค์ก่อน และพระมารดาของพระราชาก็มีฐานะต่ำต้อยไม่สามารถขึ้นเป็นวังแทบีได้ ทางราชสำนักจึงได้ให้พระชายาผู้มีอาวุโสและมีความเหมาะสมมากที่สุดในพระราชาองค์ก่อน ขึ้นเป็นผู้ดูแลฝ่ายในและสำเร็จราชการแทนยุวราชาโดยมีตำแหน่งเป็นวังแดบีแทน
     ได้แก่ วังแดบี สกุลอัน ทรงเป็นพระชายาในพระเจ้ากงมิน และดำรงตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายใน ณ ขณะนั้นในสมัยพระเจ้าอู พระเจ้าชาง และพระเจ้ากงยาง ซึ่งเป็นสามรัชสมัยสุดท้ายก่อนที่ราชวงศ์โครยอจะล่มสลาย และผลัดเปลี่ยนเป็นราชวงศ์โชซอนในเวลาต่อมา (จากเรื่อง Jeong Do-jeon)

วังฮู 왕후(王后)
     ตำแหน่งจักรพรรดินีองค์ปัจจุบันของจักรพรรดิ ซึ่งมีศักดิ์สูงสุดในการปกครองฝ่ายใน ไม่นับรวมลำดับขั้นกับพระชายาและพระสนมอื่นๆ ในสมัยราชวงศ์โครยอ จักรพรรดิสามารถมีจักรพรรดินีได้พร้อมกันหลายพระองค์ โดยจักรพรรดินีผู้ได้รับการแต่งตั้งก่อนหรือมีพระโอรสพระธิดาจะมีศักดิ์สูงกว่าจักรพรรดินีพระองค์อื่นๆ เช่น ซอนจองวังฮู ในสมัยจักรพรรดิมกจง (จากเรื่อง Empress Cheonchu)

วังบี 왕비(王妃)
     ในช่วงปลายโครยอ หลังจากเป็นประเทศราชของราชวงศ์หยวนแห่งจีน ตำแหน่งวังฮูก็ถูกลดลงมาเป็นวังบีแทน วังบีจึงเป็นตำแหน่งพระมเหสีองค์ปัจจุบันของพระราชา ซึ่งมีศักดิ์สูงสุดในการปกครองฝ่ายใน ไม่นับรวมลำดับขั้นกับพระชายาและพระสนมอื่นๆ พระราชาสามารถมีพระมเหสีได้พร้อมกันหลายพระองค์ โดยที่พระมเหสีเอกซึ่งมีศักดิ์สูงสุดจะต้องเป็นองค์หญิงหรือเชื้อพระวงศ์หญิงจากราชวงศ์หยวนเท่านั้น เรียกว่า จองกุง 정공(正宮) ส่วนพระมเหสีซึ่งเป็นสตรีโครยอจะมีศักดิ์รองลงมา และทั้งหมดจะได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นวังฮูเมื่อสวรรคต เช่น อินด็อกวังบี หรือ องค์หญิงโนกุก ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์หญิงจากราชวงศ์หยวนซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสีในสมัยพระเจ้ากงมิน (จากเรื่อง Shin Don)

     รองจากตำแหน่งวังฮูซึ่งเป็นจักรพรรดินี หรือวังบีซึ่งเป็นพระมเหสี จะเป็นตำแหน่งพระชายาและพระสนมต่างๆ ซึ่งจะขอแบ่งออกเป็น 2 ช่วง และเทียบตามความเข้าใจของผู้เขียนนะคะ ได้แก่

     + ช่วงต้นราชวงศ์โครยอ สามารถแบ่งได้ทั้งหมด 5 ตำแหน่ง คือ

1) แดพูอิน 대부인(大夫人) ตำแหน่งพระสนมเอกในจักรพรรดิ แด 대(大) มีความหมายถึงคำว่า สูงสุด ซึ่งจะได้รับพระราชทานนามประจำตำแหน่งตามลักษณะเด่นของพระสนมแต่ละคน

2) กุงพูอิน 궁부인(宮夫人) ตำแหน่งพระสนมในจักรพรรดิ ซึ่งมักจะเป็นองค์หญิงหรือเชื้อพระวงศ์หญิง โดยเรียกแทนด้วยชื่อวังหรือชื่อตำหนักที่ประทับนำหน้าตำแหน่ง

3) พูอิน 부인(夫人) ตำแหน่งพระสนมในจักรพรรดิ ซึ่งถวายการรับใช้ภายในวังหลวง และได้รับพระราชทานนามประจำตำแหน่งตามลักษณะเด่นของพระสนมแต่ละคน

4) พูพูอิน 부부인(府夫人) ตำแหน่งพระสนมในจักรพรรดิ ซึ่งพำนักและถวายการรับใช้ภายในวังหลวง โดยมีชื่อสถานที่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระสนมแต่ละคนนำหน้าตำแหน่ง

5) วอนพูอิน 원부인(院夫人) ตำแหน่งพระสนมในจักรพรรดิ ซึ่งไม่ได้พำนักอยู่ในวังหลวง คอยถวายการรับใช้หรือได้ถวายการรับใช้จักรพรรดิเมื่อทรงแปรพระราชฐานไปตามพระตำหนักในพื้นที่ต่างๆ โดยมีชื่อสถานที่ซึ่งเป็นบ้านเกิดหรือที่ตั้งพระตำหนักนำหน้าตำแหน่ง

     เช่น คยองฮวากุงพูอิน "พระสนมแห่งวังคยองฮวา" ในสมัยจักรพรรดิควางจง พระธิดาในจักรพรรดิฮเยจงกับอึยฮวาวังฮู, ชองจูนัมวอนพูอิน "พระสนมแห่งชองจูใต้" ในสมัยจักรพรรดิจองจง (จากเรื่อง Dawn of the Empire)


     + ช่วงกลางจนถึงช่วงปลายราชวงศ์โครยอ ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิฮยอนจงเป็นต้นไป ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสตรีฝ่ายในใหม่ ซึ่งตำแหน่งพระชายาและพระสนมต่างๆ สามารถแบ่งได้ตามลำดับดังต่อไปนี้

1) บี 비(妃) ขั้น 1 ชั้นเอก มีทั้งหมด 4 ตำแหน่ง ได้แก่

ควีบี 귀비(貴妃) ตำแหน่งพระชายาลำดับที่ 1 ในจักรพรรดิหรือพระราชา "พระชายาผู้สูงศักดิ์ล้ำค่า"
ซุกบี 숙비(淑妃) ตำแหน่งพระชายาลำดับที่ 2 ในจักรพรรดิหรือพระราชา "พระชายาผู้บริสุทธิ์และดีงาม"
ด็อกบี 덕비(德妃) ตำแหน่งพระชายาลำดับที่ 3 ในจักรพรรดิหรือพระราชา "พระชายาผู้มีศีลธรรมจริยา"
ฮยอนบี 현비(賢妃) ตำแหน่งพระชายาลำดับที่ 4 ในจักรพรรดิหรือพระราชา "พระชายาผู้พร้อมด้วยคุณธรรมปัญญา"

     เช่น คยองมกฮยอนบี พระชายาในสมัยจักรพรรดิวอนจง ภายหลังสิ้นพระชนม์ได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินี เฉลิมพระนามเป็นจองซุนวังฮู หรือคยองซุนวังฮู (จากเรื่อง Mu Sin God of War)

     ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชุงรยอลเป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มตำแหน่งวอนบี 원비(院妃) เข้ามาโดยกำหนดให้มีศักดิ์สูงกว่าพระชายาทั้งสี่ตำแหน่ง และได้เริ่มมีการแต่งตั้งตำแหน่งบี โดยพระราชทานนามประจำตำแหน่งที่สื่อถึงความหมายที่ดีและเป็นมงคลมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ได้รับตำแหน่งเหล่านี้ถือว่ามีศักดิ์รองลงมาจากพระชายาสี่ตำแหน่งข้างต้น

     เช่น อีฮเยบี 혜비(惠妃) "พระชายาผู้เมตตากรุณา" ในสมัยพระเจ้ากงมิน (จากเรื่อง Shin Don), ฮันอิกบี 익비(益妃) "พระชายาผู้นำความดีงาม" ในสมัยพระเจ้ากงมิน, อีกึนบี 근비(謹妃) "พระชายาผู้มีความใส่ใจละเอียดลออ" ในสมัยพระเจ้าอู, อันจองบี 정비(定妃) "พระชายาผู้สงบนิ่งและมั่นคง" ในสมัยพระเจ้ากงมิน (จากเรื่อง Jeong Do-jeon)


2) กุงจู 궁주(宮主)
     ตำแหน่งพระสนมในจักพรรดิหรือพระราชา ไม่มีลำดับขั้น "นายหญิงแห่งวังฝ่ายใน" โดยมีชื่อวังที่พระสนมแต่ละคนพำนักอยู่นำหน้าตำแหน่ง พระสนมที่ได้พำนักในวังที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า ยอน 연(延) ซึ่งแปลว่า ยิ่งยืนยาวนาน เช่น ยอนคยอง ยอนด็อก ยอนบก ยอนซู มักจะมีศักดิ์สูงกว่าพระสนมคนอื่นๆ และถือเป็นพระสนมเอก เช่น ยอนฮึงกุงจู หรือ ฮยอนด็อกกุงจู ในสมัยจักรพรรดิซองจง ภายหลังเสียชีวิตได้รับสถาปนาเป็นมุนฮวาวังฮู (จากเรื่อง Empress Cheonchu)

     พระชายาขั้นบีสามารถเรียกว่า กุงจู ตามชื่อวังที่พำนักอยู่ได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะได้รับชื่อเรียกนี้เมื่อมีตำแหน่งเป็นบีตั้งแต่แรกเข้าวัง หรือเมื่อพระสนมขั้นกุงจูได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นพระชายาขั้นบีในภายหลัง ชื่อเรียกเดิมและความเป็นนายหญิงแห่งวังเดิมจะยังคงอยู่ ซึ่งจะเป็นที่เข้าใจกันเองภายในวังหลวง กุงจูยังใช้เป็นคำเรียกอย่างให้เกียรติสำหรับจักรพรรดินีหรือพระมเหสีในรัชสมัยก่อนๆ ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นวังแทฮูหรือวังแทบี เช่น ฮอนแอวังฮู ทรงเคยได้รับการเรียกว่าซุงด็อกกุงจู เมื่อพระเชษฐาขึ้นเป็นจักรพรรดิซองจงต่อจากพระสวามี ก่อนพระนางจะขึ้นเป็นวังแทฮูเมื่อพระโอรสขึ้นเป็นจักรพรรดิมกจง (จากเรื่อง Empress Cheonchu)

3) วอนจู 원주(院主)
     ตำแหน่งพระสนมในจักพรรดิหรือพระราชา ไม่มีลำดับขั้น "นายหญิงแห่งตำหนักฝ่ายใน" โดยมีชื่อตำหนักที่พระสนมแต่ละคนพำนักอยู่นำหน้าตำแหน่ง คอยถวายการรับใช้หรือเคยได้ถวายการรับใช้นอกวังหลวง เมื่อจักรพรรดิหรือพระราชาเสด็จแปรพระราชฐานตามเขตพื้นที่ต่างๆ เช่น ยอนคยองวอนจู ได้ถวายการรับใช้จักรพรรดิฮยอนจงเมื่อทรงเสด็จไปที่เมืองคงจู 公州(공주) ต่อมามีตำแหน่งเป็นยอนคยองกุงจู และภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นวอนซองวังฮู (จากเรื่อง Empress Cheonchu)

4) แท็กจู 택주(宅主)
     ตำแหน่งสนมระดับล่างในจักพรรดิหรือพระราชา ไม่มีลำดับขั้น "นายหญิงแห่งเรือนฝ่ายใน" โดยมีชื่อเรือนที่พระสนมแต่ละคนพำนักอยู่นำหน้าตำแหน่ง พระสนมที่ได้รับตำแหน่งนี้มีปรากฏค่อนข้างน้อย มักจะแต่งตั้งให้กับสตรีที่เคยเป็นนางกำนัล นางรำ หรือหญิงรับใช้ บางครั้งเป็นนางคณิกาของขุนนางก็มีเช่นกัน เช่น โยซ็อกแท็กจู หรือ โยซ็อกแท็กกุงอิน ซึ่งเคยเป็นนางกำนัลรับใช้ในวังมาก่อน ในสมัยจักรพรรดิมกจง (จากเรื่อง Empress Cheonchu)

     นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ยังมีตำแหน่งพูจู 부주(府主) และ องจู 옹주(翁主) ซึ่งใช้เป็นตำแหน่งพระสนมในพระราชาในช่วงปลายโครยอเพิ่มเข้ามาด้วย โดยตำแหน่งของพูจูนั้น จะอยู่ระหว่างกุงจูกับวอนจู ส่วนองจูมักจะใช้แทนที่ตำแหน่งกุงจูในบางรัชสมัย นอกจากนี้ตำแหน่งองจูและแท็กจูยังมีการใช้สำหรับสตรีในตำแหน่งอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะขออธิบายในภายหลัง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่