แบกเป้จากศูนย์สู่”หลังคาโลก” (4)

นั่งรถไฟไป "หลังคาโลก" ทิเบต

เราตื่นเช้าอีกครั้ง สำหรับการใช้เวลาในเมืองซิหนิงเพราะในช่วงเย็นเราจะต้องเดินทางไกลด้วยรถไฟเพื่อไปเมืองลาซา ทิเบต

เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาทีจากโรงแรมออกมายังนอกเขตเมือง โดยห่างจากตัวเมืองออกมาประมาณ 26 กิโลเมตร เพื่อมาวัดกัมบัม KumBum หรืออีกชื่อ Ta’er Monastery หนึ่งในวัดสำคัญของศาสนาพุทธนิกายวชิรยานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานสถูปลามะสำคัญๆหลายองค์

ด้านหนัาของวัดเราจะพบเห็นภาพชาวพุทธที่มีศรัทธาแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาที่มากราบไหว้ในท่าอัษฎางคประดิษฐ์จำนวนไม่น้อย


บริเวณด้านหน้าวัดกัมบัม


บัตรเข้าชมภายในวัดกัมบัม

นอกจากนี้บริเวณลานกว้างหลังจากเดินขึ้นบันไดมาจะพบสถูป 8 สถูปสีขาวตั้งเด่นสง่าด้านหนัา โดยแต่ละสถูปด้านในก็จะเก็บรูปพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตย์ และส่วนหนึ่งจะถูกเก็บศพของลามะชั้นสูงเพื่อเป็นการสักการะ ซึ่งโดยทั่วไปศพของลามะหลังจากเสียชีวิตชาวทิเบตจะนำไปทำพิธีห่มฟ้า หรือการแยกร่างให้นกกิน

ด้านในของวัดแห่งนี้ จะเป็นลักษณะคล้ายตึกหลายๆตึกขนาดไม่ใหญ่นัก ซึ่งแต่ละตึกจะมีเรื่องราวและการประดิษฐานของพระพุทธที่แตกต่างกันออกไป โดยด้านในจะมีทั้งรูปและองค์จำลองของพระพุทธเจ้าทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงพระโพธิสัตย์องค์ต่างๆ มากมาย

การเลือกใช้สีในการตกแต่งในเชิงสถาปัตยกรรมของชาวทิเบตก็จะสื่อความหมายที่ได้อย่างลึกซึ้ง เช่น สีขาว หมายถึง ความกรุณา, สีเหลือง หมายถึง ความอ่อนโยน, สีแดง หมายถึง ปัญญา, สีน้ำเงิน หมายถึง จิตวิญญาณ , สีดำ หมายถึง  อำนาจ


สถูปใหญ่ 8 สถูปบริเวณลานด้านหน้า


บริเวณโดยรอบ


บันไดก่อนทางขึ้นด้านบนของวัดกัมบัม


ภายนอกอาคารหลังต่างๆ

นอกจากนี้ที่เราจะเห็นได้อย่างมากมายในวัดทิเบต ก็คือกงล้อมนต์ตรา เป็นเครื่องช่วยในการสวดมนต์ โดยจะมีทั้งแบบถือที่ผู้คนจำนวนมากจะใช้ถือและหมุนตลอดเวลาในการสวดมนต์ รวมถึงที่วัดและสถานที่ทางศาสนาจะได้เห็นอย่างมากมาย

ภายด้านในอาคารทุกหลังจะไม่สามารถถ่ายรูปได้ ซึ่งโดยรอบด้านนอกจะมีการติดตั้งกงล้อมนต์ตราไว้ให้ประชาชนที่เดินทางมาได้หมุนเกือบตลอดเส้นทาง


ชาวทิเบตบางรายกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์หน้าประตูอาคารวัด


กงล้อมนต์ตราเห็นได้ทั่วบริเวณ


หลังจากเดินชมด้านในวัดเสร็จ ด้านหลังของวัดจะมีพื้นที่คล้ายตลาดเล็กๆ มีสินค้ามากมายให้เลือกหาได้ตามใจครับ แต่ที่เหมือนจะเยอะหน่อยน่าจะเป็นร้านถ่ายรูปที่จะมีชุดนายแบบ นางแบบพื้นเมืองของจีนมาบริการนักท่องเที่ยว

โดยตอนแรกเราเข้าใจกันว่าชุดนั้นเป็นพื้นเมืองของชาวทิเบต ก่อนจะมาได้รับคำยืนยันจากไกด์ชาวทิเบตของเราว่าไม่ใช่อย่างที่เราคิด เพราะนี้เป็นชุดพื้นเมืองของชาวจีนในบริเวณนั้น


นอกเหนือจากชุด ยังมีม้าเตรียมไว้ถ่ายรูปถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว

มีการจัดเตรียมชุด สี เครื่องประดับแบบง่ายๆให้บริการกับนักท่องเที่ยว และจะมีช่างภาพหรือเปล่าถึงตอนนี้ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจมาคอยจัดท่าทางของนางแบบ นายแบบในหลายแอ็กชั่น

หลังจากถ่ายรูปเสร็จ ราคาที่เราตกลงกันก่อนจะเช่าชุดดูเหมือนจะมีปัญหาเมื่อราคากลับสูงขึ้นกว่าที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้า จากชุดละ 10 หยวน ในท้ายที่สุดเราต้องจ่ายไป 60 หยวนกับการเช่า 2 ชุดพร้อมภาพถ่าย 1 รูป


ไกด์ชาวทิเบตของคณะเราที่ดูแลผมในที่อยู่ในซิหนิง

หลังกินอาหารกลางวันเรียบร้อย เรามีอีก 1 โปรแกรมก่อนจะเดินทางไปยังสถานีรถไฟในช่วงตอนเย็น คือ การไปดูมัสยิดของชาวจีนที่นับถึอศาสนามุสลิม ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวในเมืองซิหนิงแห่งนี้

มัสยิดขนาดใหญ่กลางเมือง (Donngguan Mosque) ที่ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน ยังสะท้อนได้ถึงอารยธรรมจีนที่ถูกนำเข้าไปผสมในทุกๆสัดส่วนได้อย่างลงตัว ตึกในรูปทรงที่ประยุกษ์ทำให้ 2 วัฒนธรรมดูลงตัวได้ไปอีกแบบครับ


มัสยิดหลังใหญ่กลางเมืองซิหนิง

ภาพที่เราเห็นชาวจีนที่นับถือศาสนามุสลิมจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่เข้ามาประกอบพิธีต่างๆ ทั้งการสวดมนต์ และการละหมาด ทั้งด้านในและด้านนอกมัสยิดแห่งนี้


นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเข้ามาเยี่ยมชมในทุกวัน


หลังใช้เวลาไม่นานนักจากมัสยิดกลางใจเมืองเราออกเดินทางไปยังสถานีรถไฟซิหนิง ที่จะนำเราไปยังดินแดนหลังจากโลก โดยจากเมืองซิหนิงไปถึงเมืองลาซา ระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร จะใช้เวลาเดินทางบนรถไฟประมาณ 22 ชั่วโมง

ซึ่งจริงๆแล้วเราสามารถเดินทางจากซีอานไปยังเมืองลาซาได้เช่นเดียวกัน แต่จะต้องใช้เวลาเดินทางรวม 3 วัน 2 คืนเต็มๆ หรือประมาณ 50 ชั่วโมงตลอดการเดินทาง

ด้านหนัาของสถานีรถไฟจะมีจุดตรวจสัมภาระของเราอีกครั้ง มีทหารจีนยืนถือปืนเป็นระยะ ถือว่าค่อนข้างเข้มงวดทีเดียวสำหรับการเดินทางในครั้งนี้

อาคารขนาดใหญ่ ห้องโถงด้านล่างเป็นที่นั่งพักรอของผู้ที่จะเดินทางไปกับขบวนรถไฟสายต่างๆ  โดยขบวนของเราจะออกจากสถานีเวลา 17:01 และใช้เวลาโดยประมาณ 22-26 ชั่วโมงต่างไปตามสภาพอากาศในช่วงต่างๆของปี

ภายในสถานีด้านล่างเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ด้านบนชั้น 2 ของทั้ง 2 ข้างจะมีร้านอาหารเล็กๆ ร้านขายของเรียงรายอยู่หลายร้าน


ประตูทางเข้าที่มีการตรวจสัมภาระอย่างเข้มงวด


บรรยากาศภายในอาคาร


บรรยากาศภายในอาคาร


ประตูเปิดก่อนที่ขบวนรถไฟจะมาถึงเพื่อให้ผู้โดยสารได้เตรียมตัวขึ้นขบวนได้อย่างครบถ้วน โดยตั๋วจะมีทั้งแบบนอน ซึ่งมี 2 แบบ แบบเตียงนุ่ม และเตียงแข็ง นอกจากนั้นยังมีตั๋วแบบนั่งให้เลือกอีกทางหนึ่ง

เราเลือกเดินทางแบบ Soft Sleeper หรือ ตั๋วแบบเตียงนอนนุ่ม ซึ่งในแต่ละห้องจะมี 4 เตียง ข้างละ 2 ชั้น มีโต๊ะกลางเล็กๆเพื่อวางของ


รถไฟที่เราจะใช้เดินทางไปยังทิเบต


เมื่อทุกอย่างพร้อมเราก็พร้อมออกเดินทาง


หลังจากทุกคนขึ้นรถไฟครบถ้วน 17:01 ประตูรถไฟปิดลง การเดินทางโดยรถไฟของพวกผมเพื่อไปยังดินแดนหลังคาโลกจึงเริ่มต้นขึ้น

อย่างที่ทราบๆกันครับ ทิเบต เป็นดินแดนที่อยู่บนที่สูงโดยเฉลี่ยประมาณ​ 4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยจุดหมายแรกที่เราจะเดินทางไป คือ เมืองลาซา เมืองหลวงของทิเบตจะอยู่บนความสูงประมาณ 3,600 เมตร ระหว่างทางเกือบ 2,000 กิโลเมตรเราจะผ่านจุดสูงสุดของเส้นทางที่ถูกถึงเกือบ 5,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล

รถไฟสายนี้ได้ถูกขนานนามว่าเป็นเส้นทางรถไฟที่สูงที่สุดในโลก

ก่อนออกเดินทางพวกเราไม่ลืมที่จะกินยาไดอาม็อกซ์ Diamox ยาซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องการขนาดออกซิเจน เนื่องจากในพื้นที่สูง ออกซิเจนในอากาศจะเบาบางกว่าปกติ โดยผมไ้ด้รับข้อมูลมาว่าในทิเบตออกซิเจนจะอยู่ที่ประมาณ​ 70% ของอากาศปกติที่เราหายใจกันโดยทั่วไป


ภายในห้องโดยสารแบบนอนที่เราจะค้างคืน


ห้องขนาดกระทัดรัดสำหรับ 4 คน

รถไฟเริ่มเคลื่อนตัวออกจากสถานีซิหนิง ไกด์ท้องถิ่นที่เดินทางมาส่งให้ข้อมูลกับผมว่าช่วงประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งหลังจากออกเดินทาง 2 ข้างทางจะเป็นทะเลสาบขนาดกลางสวยงามมาก


บรรยากาศระหว่างทางสู่หลังคาโลก


ยังคงเห็นหิมะบางส่วนที่ยังไม่ละลายตลอดเส้นทาง

เราจัดแจงเก็บสัมภาระของเราในห้องที่จองไว้ล่วงหน้า ห้องนอนขนาดไม่ใหญ่นัก เป็นแบบเตียง  2 ชั้น ชั้นล่างจะราคาแพงกว่าชั้นบนเล็กน้อย โดยเตียงล่างราคา 808 หยวน ขณะที่เตียงบนจะราคา 781 หยวน หลังจากจัดสัมภาระทุกอย่างเข้าที่ผมจึงเริ่มทำการสำรวจบนพาหนะที่จะนำเราไปยังดินแดนหลังคาโลก


สุดปลายสายตาภูเขาที่ยังปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลน

ภายในตู้รถไฟแบบที่นอนที่คณะผมจองไว้ จะถูกแบ่งออกเป็น 8 ห้อง โดยในแต่ละขบวนจะมีห้องน้ำ ที่ล้างหน้า ตู้ทำน้ำร้อน และเก้าอี้นั่งระหว่างทาง ถือว่าสะดวกสบายแบบในมาตรฐานจีนครับ

ไม่ไกลกันนักจะเป็นตู้อาหาร ซึ่งจะขายอาหารตามช่วงเวลามื้ออาหาร 3 ช่วง เช้า กลางวัน และเย็น มีที่นั่งกินอาหารในตู้พอสมควร แต่อาจจะมีปัญหาบ้างก็คือในบริเวณดังกล่าวสามารถสูบบุหรี่ได้ อาจจะมีปัญหาบ้างสำหรับคนที่แพ้บุหรี่


บรรยากาศและวิวในห้องอาหารบนรถไฟ

เกือบ 2 ชั่วโมงหลังออกจากสถานีซิหนิง บรรยากาศ 2 ข้างทางเริ่มเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เทือกเขาหินสูงไร้ต้นไม้ มองเห็นได้ตลอดเส้นทาง ภูเขาบางลูกด้านบนยอดถูกปกคลุมด้วยหิมะสีขาวโพลน และเป็นไปตามที่ไกด์บอกผมก่อนออกเดินทางครับ เส้นทางในบริเวณนั้นมีทะเลสาบขนาดไม่ใหญ่อยู่ไม่ห่างจากตัวรถไฟมากนัก

ภาพตัดกันของสีภูเขาหิน สีน้ำตาลเข้มและอ่อนสลับกัน โดยด้านบนยังถูกปกคลุมด้วยหิมะที่สีขาว ตัดกับพื้นน้ำสีเขียวใส ซึ่งสะท้อนกับเมฆบนฟ้าที่ต้องเรียกว่าฟ้าแบบฟ้าจริงๆ กลายเป็นภาพที่เหมือนการต้อนรับคณะเราได้อย่างประทับใจ


บรรยากาศตลอดเส้นทาง


เรายังดื่มด่ำกับภาพบรรยากาศ 2 ข้างทางอยู่ระยะใหญ่ เพราะแม้ว่าเวลาในตอนนั้นจะเกือบ 2 ทุ่มแล้วก็ตามแต่ฟ้ายังคงสว่างเหมือนช่วงเย็นเท่านั้นเอง ในช่วงเวลาที่ผมเดินทางไปในครั้งนี้ฟ้าจะเริ่มมืดในเวลาประมาณ 3 ทุ่มและจะสว่างในเวลาประมาณตี 5 เท่านั้นเอง

ก่อนนอนข้ามคืนบนรถไฟสายที่สูงที่สุดในโลก เราปิดท้ายค่ำคืนนั้นด้วยมาม่าตามแบบไทยๆ เสบียงที่เรานำไปด้วย และด้วยการต้องตื่นเช้า นั่งรถไปนอกเมือง ก่อนจะกลับมาขึ้นรถไฟเที่ยวนี้ช่วงเย็นทำให้ทุกคนเพลีย ไม่ถึงเที่ยงคืนคณะเราส่วนใหญ่จึงหลับพักผ่อน


โปรดติดตามตอนต่อไป
ตอนที่ 1 http://ppantip.com/topic/33775320   เปิดเส้นทางใหม่ที่คนไทยน้อยคนนักเคยไปถึง “พระราชวังโปตาลา-วัดโจคัง-ทะเลสาบลาว็อก-ธารน้ำแข็งมิดุย”......
ตอนที่ 2 http://ppantip.com/topic/33779378   เริ่มเดินทางจากกรุงเทพฯสู่หลังคาโลก
ตอนที่ 3 http://ppantip.com/topic/33782794   ตะลุยสุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้
ตอนที่ 5 http://ppantip.com/topic/33788603   ขอต้อนรับสู่ดินแดน ”หลังคาโลก”
ตอนที่ 6 http://ppantip.com/topic/33799398   พระราชวังโปตาลา  - วัดโจคัง ศูนย์รวมใจของชาวทิเบต
ตอนที่ 7 http://ppantip.com/topic/33805284   จากลาซา สู่หนิงซิ  ด้านหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย
ตอนที่ 8 http://ppantip.com/topic/33812287   จากหนิงซิ (บายี) - สู่เมืองโพมิ เส้นทางเส้นทรหด
ตอนที่ 9 http://ppantip.com/topic/33825898   ทิเบตพลาดไม่ได้ "ทะเลสาบลาว็อก-ธารน้ำแข็งมิดุย"
ตอนที่ 10 http://ppantip.com/topic/33834611 ผมเรียกที่นี่ว่า “ซัมบาลา”
ตอนที่ 11 http://ppantip.com/topic/33851383 “ฉงชิ่ง” วัฒนธรรมร่วมสมัยของจีนยุคใหม่
ตอนที่ 12 http://ppantip.com/topic/33864605 บทสรุปการเดินทาง จีน - ทิเบต บนเส้นทางของผม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่