รูปสถานที่(ท่องเที่ยว)ของเราที่อยู่ใน shutterstock(เราไม่ได้ถ่ายเอง) มีคนนำไปใช้สามารถฟ้องร้องได้ไหมค่ะ?

ขอสอบถามหน่อยค่ะ มีคนนำภาพรูปสถานที่ท่องเที่ยวเอกชน(สถานที่ของเรา) มาทำ bannerงานของเขา

ซึ่งรูปนั้นทางสถานที่ท่องเที่ยวเอกชน ไม่ได้ถ่ายภาพเอง(สอบถามไปยังผู้ที่ทำ Bannerงาน แจ้งว่าเขาซื้อมาจากshutterstock )

โดยปกติถ้าคนจะถ่ายภาพในสถานที่ของเราเพื่อการค้าจะต้องแจ้งเราก่อนและมีค่าใช้จ่ายในการนำรูปนั้นไปใช้

ดังนั้นอยากทราบว่า

1.ถ้ามีคนถ่ายภาพสถานที่ของเราแล้วนำไปขายใน shutterstock เราสามารถฟ้องร้องได้ไหมค่ะ ? ถ้าได้ควรเริ่มต้นยังไง

2. เราสามารถฟ้องคนที่นำรูปมาทำ Banner(ซึ่งเขาซื้อภาพมาจาก shutterstock อีกที) หรือ จะดำเนินการกับคนที่นำรูปมาขายค่ะ ?


ขอบคุณค่ะ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 16
พยายามจะตอบให้ทั้งแง่ของคนที่ถูกละเมิดและในมุมของช่างภาพนะครับ


จริงๆแล้วถ้าคุณจะไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ คุณมีสิทธิ์ที่จะแจ้งไปยัง Shutterstock ครับ
ว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสภานที่เฉพาะซึ่งคุณไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงการค้า
รวมไปถึงถ้าไม่ต้องการให้เอาไปใช้ในรูปแบบ Editorial คุณก็แจ้งได้ครับ
  --> ข้อนี้คนขายกรุณาทำความเข้าใจใหม่นะครับ สถานที่บางที่ห้ามแม้แต่เอาไปใช้ในงาาน Editorial
อย่างใน iStockphoto จะไม่รับภาพหอไอเฟลช่วงกลางคืนหากหอไอเฟลเป็น main subject แม้จะส่งแบบ Editorial ก็ตาม

ดังนั้นคุณเจ้าของคุณจะต้องคิดว่าถ้าจะไม่ให้เค้าใช้ภาพสถานที่คุณ จะห้ามแบบไหนแบบการค้าอย่างเดียว หรือแบบ Editorial ด้วย
ซึ่งถ้าคุณห้ามแบบ Editorial เอาจริงๆก็เหมือนกับการห้ามพวกนักข่าว blogger เข้าไปรีวิวด้วยเช่นกัน เพราะงานที่พวกนี้ทำคืองานประเภท  Editorial


แต่ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ผมมองว่าถึงแจ้งไป เค้าก็จะเอารูปที่คุณเจอออก
แต่ถ้ามีคนถ่ายรูปใหม่ๆ ส่งเข้าไปอีก เค้าก็คงจะรับเข้าไปอีก
เพราะสถานที่คุณ เป็นสถานที่ทั่วไป (เดาเอา) --> ถ้าไม่ลำบากผมอยากเห็นภาพต้นตอครับจะได้วิเคราะห์ให้ถูกครับ

ซึ่งสถานที่ของคุณไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปเหมือน หอไอเฟล เป็นต้น
คนตรวจเค้าไม่รู้จักสถานที่คุณ เขาจะมองว่ามันเป็นสถานที่ทั่วไป ที่สามารถถ่ายได้
ดีไม่ดีเค้ามองเป็นสถานที่สาธารณะด้วยซ้ำ
  ---> นั่นแปลว่ารับรองได้เลยคุณจะต้องแจ้งไปเรื่อยๆไม่รู้จบครับ

เพราะมันอาจจะมีรูปใหม่ๆเข้าไปใหม่เรื่อยๆ


ซึ่งกรณีนี้ในแง่คนขายภาพ ณ ตอนนี้ผมว่าเค้าก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรนะ
เพราะเค้าก็ไม่รู้หรอกว่าคุณห้ามหรือไม่ห้าม เมื่อมีการห้ามหรือร้องเรียนเข้ามา
ทางเว็บก็แค่ลบภาพนั้นๆออกเท่านั้น หรือปรับภาพนั้นเป็น Editorial (ภาพของผมบางภาพก็เป็นเช่นนั้น เช่นภาพพระราชวังแวร์ซายน์ เป็นต้นครับ)

ยกเว้นว่าคุณมีการติดป้ายห้ามอย่างชัดเจน โดยให้มีหลักฐานว่าตั้งแต่วันใดที่ห้าม
ซึ่งถ้าคุณห้ามแล้ว ยังมีคนที่ไปถ่ายหลังจากนั้นส่งเข้าไปนั่นแหละ คนที่ขายภาพจะผิดละ


อ้ออีกเรื่องที่เห็นคนเขียนๆกัน ภาพถ่ายสถานที่ถึงถ่ายจากที่สาธารณะ
แต่ถ้าเมนหลักของภาพเป็นสถานที่นั้นที่เดียว (เจาะจง) ถือว่าผิดและต้องการ Propert Release เช่นกันนะครับ
แต่ถ้าภาพที่ถ่ายออกมานั้นมีรวมๆกันหลายๆสถานที่เช่นถ่ายภาพเมืองที่มีตึกซัก 3-4 ตึกขึ้นไปแบบนั้นถือว่าไม่ได้เจาะจงว่าถ่ายสถานที่ใด
แบบนี้ถึงจะไม่ผิดครับ

แต่ประเด็นคือคนรับภาพเข้าไปเค้าก็ไม่รู้หรอกว่าคนถ่ายถ่ายมาจากไหนเค้าก็อยากขายของ
เค้าก็รับๆเข้าไป.. พอมีคนมาแจ้งร้องเรียนก็ค่อยถอดออกประมาณนั้นครับ
ความคิดเห็นที่ 38
ในฐานะคนขายภาพออนไลน์คนหนึ่ง ผมขอตอบโดยยังไม่อ่านความเห็นของท่านอื่นๆ นะครับ ตอบก่อนเท่าที่ตัวเองรู้และเข้าใจนะครับ  แล้วค่อยอ่านคำตอบอื่นครับ

เจ้าของกระทู้ถามว่า  

ดังนั้นอยากทราบว่า
1.ถ้ามีคนถ่ายภาพสถานที่ของเราแล้วนำไปขายใน shutterstock เราสามารถฟ้องร้องได้ไหมค่ะ ? ถ้าได้ควรเริ่มต้นยังไง
2. เราสามารถฟ้องคนที่นำรูปมาทำ Banner(ซึ่งเขาซื้อภาพมาจาก shutterstock อีกที) หรือ จะดำเนินการกับคนที่นำรูปมาขายค่ะ ?

ตอบข้อ 2 ก่อนข้อ 1 นะครับ จะได้ตัดออกไปประเด็นหนึ่งก่อน ลูกค้าที่ซื้อภาพถูกต้อง มาใช้งานแบบถูกต้อง ผมมั่นใจว่า ฟ้องเขาไม่ได้ครับ ถึงฟ้องได้ก็ได้แค่ฟ้องครับ เขาไม่ผิดแน่นอน ถ้าหากว่า เขาไม่เอาภาพ Editorial มาใช้งานเชิงพาณิชย์ครับ เพราะเขาใช้ภาพตามสิทธิ์ เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่มาของภาพ เขาซื้อสิทธิ์และใช้โดยสุจริต ทีนี้ต้องไล่กลับไปที่เว็บขายภาพเองที่ขายภาพนั้นมาให้ใช้ เว็บขายภาพก็มีแนวโน้มที่จะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก เพราะว่า ในเงื่อนไขสัญญาตอนที่คนขายภาพสมัคร มันก็มีจะเงื่อนไขครอบคลุมอยู่แล้วว่า ช่างภาพจะต้องส่งแต่ภาพที่ไม่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธ์เท่านั้นเข้าไป เว็บขายภาพก็ช่วยคัดกรองได้บางอย่าง บางอย่างก็ไม่ได้ เช่น ผมยกตัวอย่างนะครับ สมมติเป็นภาพตลาดน้ำสักแห่งก็แล้วกัน เนื่องจากเจ้าของกระทู้ว่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเอกชน ผมคิดว่าไม่กี่แห่งที่เข้าประเด็นของกระทู้นี้ จึงขอสมมติตัวอย่างขึ้นมาเป็นตลาดน้ำ  คนตรวจภาพของไมโครสต็อก เขาไม่มีสิทธิ์รู้หรอกว่า ตลาดน้ำของจริงที่อยุธยาหรือดำเนินสะดวก กับตลาดน้ำจำลองที่เมืองโบราณนั้น มันแตกต่างกันอย่างไร คนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมเขาไม่รู้หรอกครับ ถ้าช่างภาพไปถ่ายภาพตลาดน้ำจำลองที่เมืองโบราณมา แล้วส่งไปเว็บขายภาพ บรรยายภาพแบบกว้างๆ ว่า "ตลาดน้ำในเมืองไทย" เขาก็เชื่อว่ามันเป็นตลาดน้ำในเมืองไทย ถ้าคุณภาพเข้าเกณฑ์ ก็รับภาพนั้นไป เพราะในสายตาคนต่างวัฒนธรรม ตลาดน้ำที่ไหนๆ มันก็คล้ายกันหมด ยกเว้นช่างภาพบรรยายภาพไปว่า "ตลาดน้ำจำลอง ถ่ายจากสถานที่ท่องเที่ยวเอกชนชื่อ เมืองโบราณ" อันนี้ส่วนใหญ่เขาก็ขอ Property Release เพราะคำบรรยายมันบอกชัดเจนว่า ตลาดน้ำจำลอง แปลว่ามีคนทำขึ้นมา ต้องแนบใบอนุญาตมาด้วย แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครออกให้ ช่างภาพเลยต้องเลี่ยงบาลีไปเป็นการนำภาพตลาดน้ำจำลอง ส่งไป และเขียนให้เข้าใจว่า มันเป็นตลาดน้ำทั่วไปตามวัฒนธรรมไทย ซึ่งจริงๆ มันคือคนละเรื่องเดียวกัน ประมาณนี้ครับ  

ทีนี้ก็ไล่มาถึงช่างภาพครับ ช่างภาพนี่แหละถ้าโดนฟ้อง จะรับเต็มๆ ที่สุด เพราะรู้ดีที่สุดว่า ภาพที่ตัวเองถ่ายนั้น ถ่ายมาจากไหน ที่สาธารณะหรือที่เอกชน ตัวเองเจตนาอย่างไรในการเขียนบรรยายภาพ เจตนาจะให้เขาเข้าใจผิดหรือไม่ว่าเป็นตลาดน้ำสาธารณะทั่วไป ผมบอกแล้วว่าช่างภาพมีหลายประเภท บางคนไม่รู้ ไม่ทันได้อ่านป้ายห้าม ก็ถ่ายส่งไป บกพร่องโดยสุจริต บางคนก็รู้แต่ยังฝืนทำเพราะคิดว่าคงไม่มีอะไร สถานที่ท่องเที่ยวเอกชนที่มีการห้ามชัดๆ เข้มๆ อย่างเมืองโบราณ หรือ ปราสาทสัจธรรม ผมเองก็ไปมาแล้วทั้งสองแห่ง ถ่ายภาพมา แต่ไม่เคยส่งขายสักภาพ เพราะอ่านชัดว่าเขาห้ามถ่ายไปขาย ห้ามถ่ายไปใช้เชิงพาณิชย์ ผมเห็นคนอื่นส่งไปเยอะแยะ แต่ก็ไม่เคยคิดเอาภาพตัวเองมาแต่งส่ง เพราะเห็นแล้วว่าเขาห้าม ถึงแม้ผมจะบอกว่า ช่างภาพบางคนไม่รู้ บกพร่องโดยสุจริต แต่อย่าหลงประเด็นนะครับ บกพร่องโดยสุจริต ไม่ใช่ไม่ผิด ช่างภาพจะถ่ายภาพขาย แล้วจะอ้างว่า ไม่ทราบกติกา บางทีศาลก็ไม่ยอมรับฟังครับ เพราะเขาถือว่า คุณจะทำงานอะไรทำอาชีพอะไร คุณก็ต้องเรียนรู้หลักการ หรือจรรยาบรรณของงานนั้นในระดับหนึ่งก่อน จะอ้าง "ผมไม่รู้" อย่างเดียว บางทีก็ฟังขึ้น บางทีก็ฟังไม่ขึ้นครับ ถ้าศาลท่านว่าฟังไม่ขึ้น ก็ต้องยอมรับไป ซึ่งเรื่องนี้ ผมจะพูดถึงในย่อหน้าต่อๆ ไป

ข้อ 1. ตอบกว้างๆ ก่อน ตอบแบบกลางๆ นะครับ ว่าผิดไม่ผิด ฟ้องได้ไม่ได้ แต่จะไม่เอาความรู้สึกแบบว่า "ถ้าสถานที่ของผม ผมยอมนะ ชอบด้วย เพราะได้โปรโมทสถานที่" อะไรทำนองนั้น อันนั้นไม่ใช่หลักการ ไม่ใช่กฎหมาย เป็นความเห็นส่วนบุคคล คนหนึ่งยอม อีกคนอาจจะไม่ยอมก็ได้ คนที่ไม่ยอม ก็ไม่ผิดอะไร เป็นสิทธิ์ของเขา

ถ้าตอบในทำนองว่า สถานที่หรือวัตถุสิ่งของที่เป็นของส่วนตัว ของเอกชน เป็นทรัพย์สินทางปัญญา แล้วใครจะไปถ่ายมาขายตามใจชอบได้โดยไม่ผิด หรือว่าผิดแต่ไม่ควรเอาเรื่อง เพราะเป็นการช่วยโปรโมท อย่างนี้ผมรับรองว่าเละครับ คนถ่ายภาพที่ดีๆ ก็มีเยอะ ที่นิสัยแย่ๆ ก็มีแยะ รับรองเละสถานเดียวทุกที่ครับ ดังนั้น อย่าไปว่าเจ้าของกระทู้ และอย่าไปเอาความคิดประเภทที่เขาชอบพูดกันในเน็ตเวลาละเมิดลิขสิทธิ์ภาพของใครว่า "ผมเอาภาพคุณไปใช้ เป็นการช่วยโปรโมทให้คุณนะ" มาพูดในเรื่องนี้ บางคนฟังแล้วเท่ดี เออดี มีคนชอบงานเรา บางคนก็ไม่ยอม ซึ่งผมเอง อยู่ฝั่งคนไม่ยอมครับ เรื่องแบบนี้ ไว้เจอกับตัวเอง เจอกับงานดีๆ หรืองานที่ตัวเองตั้งใจทำมากๆ ไม่ใช่ทำเล่นๆ แล้วจะรู้สึก ผิดก็ว่าไปตามผิดครับ

ผมว่า ถ้าเป็นสถานที่เอกชน เก็บเงินเข้าชม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีการประกาศห้ามไว้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยแล้วล่ะก็ ในทางทฤษฎี ก็ฟ้องได้ครับ เพราะเป็นการถ่ายและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต

แต่...การฟ้องนั้น ไม่ใช่ว่า ใครละเมิดอะไรใคร แล้วใครคิดจะฟ้องเอาเท่าไหร่ก็ได้นั้น ไม่ใช่นะครับ ผู้ฟ้องจะฟ้องยังไงเท่าไหร่ก็ว่าไป แต่ศาลจะพิจารณาเองว่า ผู้ละเมิด ได้ละเมิดในลักษณะทำความเสียหายมากน้อยแค่ไหนให้กับผู้ถูกละเมิด กรณีถ่ายภาพสถานที่ท่องเที่ยวเอกชนไปขาย ศาลก็คงต้องพิจารณาว่า ขายภาพนั้นไปแล้ว ทำให้เจ้าของสถานที่เสียหายอย่างไร มากน้อยแค่ไหน โดยตรงหรือโดยอ้อม บางทีฟ้องไปมากมาย แต่สุดท้ายศาลเห็นว่า ผิดจริง แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายมากมาย ก็อาจจะได้ค่าเสียหายนิดเดียว ไม่คุ้มค่าเสียเวลาด้วยซ้ำ

สมมติว่าเป็นภาพตลาดน้ำอีกทีแล้วกัน สมมติว่าคุณจำลองตลาดน้ำมาจากที่ไหนสักแห่ง เหมือนหรือคล้ายๆ กับตลาดน้ำต้นแบบ คุณอาจจะฟ้องไม่ชนะก็เป็นได้ครับ แต่ถ้าการวางรูปแบบตลาดน้ำนั้น คุณวางผังขึ้นมาใหม่ทั้งหมด มั่นใจว่าไม่เหมือนที่ไหน โอกาสชนะก็มีมากขึ้น อันนี้ก็เป็นตัวแปร

ยังมีประเด็นเรื่อง ถ้าผู้ที่ถ่ายไปขาย มีภาพอยู่จำนวนมากน้อยแค่ไหน บอกถึงความเป็นมืออาชีพหรือสมัครเล่น ถ้าลักษณะท่าทางภาพในพอร์ตบ่งบอกชัดเจนว่า ไม่ใช่พวกมืออาชีพ เป็นพวกมือใหม่หัดขายภาพ มีภาพในพอร์ตอยู่นิดๆ หน่อยๆ ถ้าฟ้องศาลก็อาจจะรับฟังว่า ผู้ถ่ายเป็นผู้อ่อนด้อยประสบการณ์จริงๆ ไม่รู้จริงๆ ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าดูเป็นมืออาชีพ มีประสบการณ์สูง ศาลอาจจะไม่รับฟังประเด็นที่อ้างว่า ไม่รู้ ก็เป็นได้ อะไรทำนองนี้ครับ อันนี้ผมคิดเอาตามที่เคยได้เห็นการตัดสินของศาลมาบ้างครับ ไม่ใช่ยืนยันว่าถูกหรือผิด

ถามว่า ควรเริ่มต้นยังไง อันนี้ ขั้นตอนผมไม่รู้จริงๆ ครับ ควรปรึกษาทนาย เพราะคุณทำธุรกิจ น่าจะมีที่ปรึกษาทางกฎหมายอยู่บ้าง เขาคงให้คำตอบที่ตรงประเด็นได้มากกว่าครับ

จริงๆ แล้ว ถ้าคิดว่าจะไม่ให้ใครถ่ายภาพสถานที่ของคุณแล้วนำไปขาย ก็เอาภาพนั้นมาลงเลยครับ แล้วประกาศให้ชัดเจนว่า ห้ามการถ่ายไปขาย ผมรับรองว่า บรรดาช่างภาพสต็อกคนอื่นๆ ที่ขายภาพสถานที่ของคุณอยู่ จะรีบไปลบภาพที่ขายอยู่จนหมดแน่ครับ ส่วนการฟ้องถ้าจะฟ้องก็ฟ้องไปพร้อมๆ กัน ยังไงความผิดก็สำเร็จแล้ว เอามาเปิดเผยก็ไม่ได้ทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วหายไป แต่จะได้ผลในการช่วยให้ภาพสถานที่ของคุณ ไม่ถูกนำไปขายในสต็อกต่อไป และจะได้เป็นที่ทราบทั่วกัน เผื่อวันหลังมีการละเมิดอีก การฟ้องครั้งต่อไป มีโอกาสจะเอาผิดคนละเมิดได้เต็มๆ

สำหรับผม ที่อยากให้นำมาเปิดเผย คือมันจะได้ตัดปัญหาของทางคุณไปส่วนหนึ่งด้วย เช่นการที่คุณขึ้นป้ายไว้ว่า ห้ามถ่ายเชิงพาณิชย์ แปลว่า คุณก็ต้องการบอกคนไปเที่ยวอยู่แล้วว่า ไม่ให้ถ่ายไปขาย แต่บางคนก็ไม่ได้อ่าน อาจจะไม่ทันสังเกตุ หรือเหตุผลอื่นใด ดังนั้น ก็ขอให้ใช้ช่องทางนี้อีกช่องทางในการประกาศก็แล้วกันครับ เพิ่มช่องทางการรับรู้ สื่อสารถึงสังคมคนขายภาพโดยตรง มันจะลดภาระของคุณในเรื่องนี้ได้มากครับ ส่วนคุณจะเปิดเผยหรือไม่ อันนั้นเป็นสิทธิ์ของคุณเองครับ
ความคิดเห็นที่ 29
ผิดวิสัยครับ หายเงียบไปแบบนี้

น่าสงสัยในเจตนา ว่า จขกท ต้องการอะไร

1. โดนละเมิดจริงๆ และเสียหาย จึงเข้ามาสอบถาม

2. จขกท เป็นเจ้าของสถานที่จริง และเห็นช่องทางต้องการหาเงินจากกรณีนี้

3. จขกท เป็นเจ้าของสถานที่จริง  ไม่กล้าเปิดเผยสถานที่ เพราะเจตนาที่ส่อไม่บริสุทธิ์ใจ จึงกลัวคนแอนตี้ไม่ไปใช้บริการ

4. จขกท เป้นพวก 18 มงกุฎ หรือพวกหากินทางนี้ เข้ามาสอบถาม เพราะเห็นช่องทางการรีดไถเงิน

5. เป้นช่างภาพสต็อก ที่อยากรู้ปัญหา จึงปั้นเรื่อง  แต่งนิยายขึ้นมา เพื่อขอความเห็นคนในนี้


-- อย่างใด อย่างหนึ่ง ---
ความคิดเห็นที่ 23
กรณีนี้

ผมเคยเห็นเคสหนึ่ง  เกิดขึ้นในเมืองไทยนี่เอง
เป็นเรื่องที่ผม มอง และคิดไปอีกมุมหนึ่ง

รู้จักหนังสือ National Geographic กันดีใช่ไหมครับ

ปกเล่มหนึ่งของเขานานมาแล้ว  เป็นรุปหญิงสาวชาวอาฟกานิสถาน
แววตาของเธอ ดูแล้วมีพลังมาก

ปรากฏว่า ภาพนี้ ถุกนำมาเลียนแบบ เป็นภาพ ดรออิ้ง ขายเกลื่อนในเมืองไทย
โดยเฉพาะที่ ไนท์บาร์ซาร์ เชียงใหม่

แน่นอนว่า การเอามาทำซ้ำอย่างนี้ “ผิดชัดเจน“
ทุกครั้งที่ผมไปเห็น  ผมต้องนึกในใจว่า นี่มันผิดลิขสิทธิ์

คราวหนึ่ง อดใจไม่ได้  ถามช่างวาดที่กำลังวาดภาพนี้ ในไนท์บาซาร์ ว่า
คุณไม่รู้หรือว่า มันผิดลิขสิทธิ์ ?
และ เจ้าของภาพเขามาเห็น  คุณไม่กลัวหรือ

ช่างภาพตอบว่า
“ตากล้องคนที่ถ่ายภาพคนนั้น เคยมานั่งข้างๆเขา ขณะที่กำลังวาดภาพ
และชอบใจมาก ที่ภาพของเขาได้รับความนิยม มีคนเอาไปทำต้นแบบ
และ ยิ่งทำให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้น”

^^^^
กรณีอย่างนี้ ก็มี
ความคิดเห็นที่ 40
ช่างภาพจะถ่ายภาพขาย แล้วจะอ้างว่า ไม่ทราบกติกา บางทีศาลก็ไม่ยอมรับฟังครับ เพราะเขาถือว่า คุณจะทำงานอะไรทำอาชีพอะไร คุณก็ต้องเรียนรู้หลักการ หรือจรรยาบรรณของงานนั้นในระดับหนึ่งก่อน จะอ้าง "ผมไม่รู้" อย่างเดียว บางทีก็ฟังขึ้น บางทีก็ฟังไม่ขึ้นครับ

ผมชอบคำประโยคนี้มากๆๆๆๆ
เพราะดูเหมือนว่า "ตากล้องที่ถ่ายรูปเพื่อเงิน" ส่วนใหญ่ จะไม่รู้จักคำว่า หลักการและจรรยาบรรณ
ทำให้เราได้อ่านดราม่ากันบ่อยๆ

จขกท จะเปิดหรือไม่เปิดเผยชื่อสถานที่ของเขา มันเป็นสิทธิส่วนตัวของเขา
พอๆกับพวกเราส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) ที่ไม่เปิดเผยชื่อจริงของเรา ในการตั้งตอบเล่นกระทู้พันทิป

จขกท จะจริง หรือ ไม่จริง ไม่ได้สำคัญกว่า .. ตากล้องที่ขายรูปกินพึงรู้ว่า โลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า property release และ หมายศาล


กล้องในมือ ไม่ใช่เครื่องหมายเอกสิทธิครอบจักรวาล ใช้ทำอะไรได้ทุกอย่าง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่