เกมชีวิตที่แสนปวดร้าวของ John Nash!!!

เกมชีวิตที่แสนปวดร้าวของ John Nash!!!

2 มิถุนายน 2558 - โดย ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย



ผมสนใจและเขียนบทความเกี่ยวกับหนังหลายๆเรื่อง ทั้งหนังที่สะท้อนการเมือง
หนังบางเรื่องก็สะท้อนประวัติศาสตร์ สังคม หนังที่ผมเคยพูดถึงบ่อยๆก็น่าจะเป็นหนังชีวประวัติบุคคลที่น่าสนใจและมีชื่อเสียง
       
       ข่าวการเสียชีวิตของจอห์น แนช พร้อมภรรยา ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา
เป็นข่าวที่ผมต้องแสดงความเสียใจเมื่อโลกสูญเสียมนุษย์อัจฉริยะคนหนึ่งไป
       
       วันนี้ ผมอยากพูดถึงชายคนนี้ ชีวประวัติของเขาเคยถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม
และได้ 4 รางวัลออสการ์มาแล้ว ที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นหนังเก่าพอสมควร
เป็นหนังที่อยู่ในความทรงจำใครหลายๆคน ผมจำได้ว่าดูหนังเรื่องนี้หลายปีแล้วตั้งแต่ยังเรียนอยู่ แถมดูซะหลายรอบ
       
       ผมกำลังพูดถึงชายชื่อจอห์น แนช หรือชื่อเต็มว่า จอห์น ฟอส์บ แนช จูเนียร์ ผู้คิดค้นทฤษฏีเกม
ที่ภายหลังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมาก เป็นนักคณิตศาสตร์ โดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคนไม่ชอบเรื่องตัวเลข
ไม่สนใจนักคณิตศาสตร์เอาเสียเลย แต่สำหรับคนนี้พิเศษ แตกต่างจากนักคณิตศาสตร์คนอื่นๆ
       
       ชีวประวัติของเขาถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือเมื่อปี 1998 ในชื่อเรื่อง A Beautiful Mind
เขียนโดย ซิวเวีย นาสซา หนังสือเล่มนี้ชนะรางวัล The National Book Critics Circle Award
และยังเข้าชิงรางวัล Pulitzer Prize ในปีเดียวกันในสาขาชีวประวัติ ก่อนจะถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ต่อมา ในปี 2001
       
       มารู้จักชายคนนี้แบบเบื้องต้นกันก่อนก็แล้วกันนะครับ จอห์น แนช เกิดเมื่อ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1928
ตอนอายุ 12 เขาเริ่มทำการทดลองวิทยาศาสตร์ในห้องนอนของตังเอง เขาเชื่อว่าการเล่นกีฬา และเต้นรำทำให้เขาไม่มีสมาธิ
       
       หนังสือเรื่อง Men of Mathematics แต่งโดย E.T. Bell เป็นหนังสือที่ทำให้เขาหันมาสนใจด้านคณิตศาสตร์
แนชเข้าเรียนที่วิทยาลัยบลูฟิลด์ตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนไฮสกูลอยู่เลย
เขาได้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่สถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน)
ในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย โดยได้รับทุนการศึกษาเวสติงเฮาส์ ช่วงแรกแนชสนใจศึกษาวิชาวิศวกรรมเคมี
ต่อมาก็มาศึกษาด้านเคมี ก่อนจะหันมาเปลี่ยนเป็นคณิตศาสตร์
เขาสำเร็จการศึกษาได้รับทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทในปีค.ศ. 1948 ที่สถาบันคาร์เนกีนั่นเอง
       
       ในปี 1948 ช่วงที่แนชกำลังสมัครงานที่ภาควิชาคณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปรินซ์ตันอยู่นั้น
ศาสตราจารย์อาร์ เจ ดัฟฟิน อาจารย์ที่ปรึกษาของแนชและอดีตศาสตราจารย์แห่งสถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกี
ได้เขียนจดหมายแนะนำตัวให้กับแนชโดยมีใจความสั้นๆคือ "เด็กหนุ่มคนนี้เป็นอัจฉริยะ"
       
       ชีวิตของแนช ดูๆไปก็อาจจะเหมือนเด็กเรียนหรือเด็กเนิร์ดทั่วไป ที่วันๆเอาแต่อยู่กับตำรา และตัวเลข
แต่ชีวิตของเขากลับไม่ได้มีแค่นั้นนะสิครับ ชายคนนี้ป่วยด้วยการเห็นภาพหลอนตลอดเวลา
ในทางจิตเวช อาการของจอห์น แนช เป็นอาการ Schizophrenia เห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น
คนที่ป่วยแบบนี้อาจจะคิดว่ามีคนมาหลงรัก หรือมาทำร้าย อาจจะมีอาการได้ยินเสียงใครมาพูดหรือบอกอะไรที่ข้างหู
       
       วิธีการรักษาถ้าดูจากในหนัง จะมีการฉีดยาและช็อตไฟฟ้า
เดี๋ยวนี้จะไม่ต้องช็อตไฟฟ้าแล้วละครับทานยาและฉีดยาพอ
แต่ว่าคนป่วยด้วยอาการนี้จะไม่มีทางหายขาด หยุดทานยาไม่ได้
ส่วนมากจะแยกโลกความจริงกับจินตนาการที่ตัวเองสร้างไว้ไม่ได้
       
       จะเห็นได้ว่าจอห์น แนชต้องเจออะไรเยอะมากๆกว่าได้โนเบล
จนบางครั้งความอัจฉริยะกับความบ้ามันห่างกันเพียงนิดเดียว
       
       กลับมาที่ผลงานของชายคนนี้กันบ้างดีกว่าถ้าเป็นในภาพยนตร์ทฤษฎีเกมคือสิ่งที่จอห์น แนช
คิดออกจากการที่นั่งอยู่กับเพื่อนแล้วมีสาวสวยนางนึงเดินเข้ามาในผับพร้อมเพื่อนหน้าตาธรรมดาสองคน
แนชบอกว่าทุกคนจะเข้าไปรุมจีบสาวสาวก็อาจจะทำให้เราแห้วกันหมด
แต่ถ้าเราแบ่งกันไป บางคนอาจจะจีบคนหน้าตาธรรมดาๆ ซึ่งก็ทำให้มีโอกาสที่สาวสวยอาจจะว่างอาจจะถูกเมิน
แต่ก็ทำให้พวกเราไม่ต้องมาแย่งกัน
       
       ส่วนในทางคณิตศาสตร์ ทฤษฎีเกม ( game theory) เป็นการจำลองสถานการณ์ทางกลยุทธ์ หรือเกมคณิตศาสตร์
ความสำเร็จในการตัดสินใจของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับทางเลือกของบุคคลอื่น
แต่ละฝ่ายต่างก็พยายามแสวงหาผลตอบแทนให้ได้มากที่สุด ทฤษฎีเกมมีการใช้ในทางสังคมศาสตร์ ที่โดดเด่น
เช่น เศรษฐศาสตร์ การจัดการ การวิจัยปฏิบัติการ รัฐศาสตร์และจิตวิทยาสังคม
เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์รูปนัยอื่น ๆ อย่างตรรกะ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ สถิติ และชีววิทยา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีววิทยาวิวัฒนาการและนิเวศวิทยา
       
       แม้ว่าเดิมทฤษฎีเกมจะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อวิเคราะห์การแข่งขัน บุคคลหนึ่งได้มากกว่าที่อีกฝ่ายหนึ่งเสีย
แต่ก็ได้มีการขยายเพื่อให้ครอบคลุมถึงปฏิสัมพันธ์หลายรูปแบบ ซึ่งถูกจัดแบ่งประเภทตามเกณฑ์หลายแบบ
การประยุกต์ใช้ทฤษฎีเกมแต่เดิมนั้นจะจำกัดความและศึกษาถึงสมดุลในเกมเหล่านี้
ในสภาพสมดุลทางเศรษฐศาสตร์ ผู้เล่นเกมแต่ละคนจะปรับใช้กลยุทธ์ที่ไม่สามารถเพิ่มผลตอบแทนของผู้เล่นนั้นได้
โดยให้กลยุทธ์ของผู้เล่นอื่นด้วย
       
       แนวคิดสมดุลจำนวนมากถูกพัฒนาขึ้น (ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ จุดสมดุลของแนช)
เพื่ออธิบายถึงลักษณะของสมดุลทางกลยุทธ์ แนวคิดสมดุลเหล่านี้มีแรงผลักดันแตกต่างกัน
ขึ้นอยู่กับสาขาที่นำไปประยุกต์ ถึงแม้จะพบว่ามีความสอดคล้องกันบ่อยครั้งก็ตาม
วิธีปฏิบัตินี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ และได้มีการโต้แย้งดำเนินต่อไปถึงความเหมาะสมของแนวคิดสมดุลหนึ่งๆ
ความเหมาะสมของสมดุลทั้งหมดร่วมกัน และประโยชน์ของแบบจำลองคณิตศาสตร์ในทางสังคมศาสตร์

       โลกสูญเสียนักคิด นักทฤษฎีที่นำมาพัฒนา ประยุกต์ใช้กับศาสตร์หลายสาขา
เขาประสพความสำเร็จในการศึกษาค้นคว้าหลักการที่ซับซ้อนและมีคุณูปการต่อโลก
แต่ชีวิตเขาต้องต่อสู้ทุกข์ทรมานอยู่กับอาการโรคจิตหลอน จอห์น แนช เสียชีวิตพร้อมภรรยา
หากลองคิดดูว่าถ้าไม่มีภรรยาอยู่เคียงข้าง เขาจะใช้ชีวิตได้อย่างไร
เขาจะแยกความจริงกับจินตนาการได้อย่างไร สุนทรพจน์ของเขาตอนได้รับรางวัลโนเบล
แสดงให้เห็นว่าภรรยาของเขาคือคนสำคัญที่ทำให้เขามีวันนี้
A Beautiful Mind คือชื่อหนังสือที่บอกถึงความรักที่สวยงามของเขาและภรรยา
       
       วันนี้ ขอไว้อาลัย แด่ชายผู้เปลี่ยนโลกทั้งใบด้วยตัวเลขของเขา…จอห์น แนช

http://manager.co.th/Columnist/ViewNews.aspx?NewsID=9580000062536
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่