พระธรรม

กระทู้สนทนา

อริยสัจคือความเป็นจริงอันประเสริฐ  สี่  ประการ  ได้แก่  
ทุกข์  คือความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ  ควรกำหนดรู้
สมุทัย  คือความอยาก  อันเป็นเหตุของทุกข์  ควรละ
นิโรธ  คือความดับทุกข์  ควรทำให้แจ้ง
และ มรรค  คือข้อปฏิบัติที่ทำให้ถึงความดับทุกข์  ควรทำให้เกิดขึ้น

*** อริยสัจ หมายถึง ความจริงอย่างประเสริฐ , ความจริงของพระอริยะ ,
ความจริงที่ทำคนให้เป็นพระอริยะ

*** ประเสริฐ  แปลว่า  วิเศษ, เลิศ, ดีเลิศ, ดีที่สุด, ยอดเยี่ยม, เป็นเยี่ยม

*** ทุกข์  หมายถึง  
1. สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก , สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้น
ด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลาย เนื่องจาก ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเอง
2. สภาพที่ทนได้ยาก , ความรู้สึกไม่สบาย ได้แก่ ทุกขเวทนา , ถ้ามาคู่ กับโทมนัส
(ในเวทนา ๕) ทุกข์ หมายถึงความไม่สบายกายคือทุกข์กาย (โทมนัสคือไม่สบายใจ)
แต่ถ้ามาลำพัง (ใน เวทนา ๓) ทุกข์หมายถึงความไม่สบายกายไม่สบายใจ
คือทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ

*** สมุทัย  แปลว่า  เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา คือความทะยานอยาก
เช่น อยากได้นั่นได้นี่ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ อยากไม่เป็น โน่นเป็นนี่

*** นิโรธ  แปลว่า  ความดับทุกข์  คือดับตัณหาได้สิ้นเชิง , ภาวะปลอดทุกข์เพราะไม่มีทุกข์
ที่จะเกิดขึ้นได้ หมายถึงพระนิพพาน

*** มรรค  แปลว่า  ทาง , หนทาง
1. มรรค ว่าโดยองค์ประกอบ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกเต็มว่า
อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่าทาง มีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ เรียกสามัญว่า
มรรคมีองค์ ๘ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
๓. สัมมา- วาจา เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ

2. มรรคว่าโดยระดับการให้สำเร็จกิจ คือ ทางอันให้ถึงความเป็นอริยบุคคลแต่ละ ขั้น,
ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด เป็นชื่อแห่งโลกุตตรธรรมคู่กับผล มี ๔ ชั้นคือ
โสดาปัตติมรรค ๑ สกทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่