คุมค่ายาโรงพยาบาลเอกชล

http://www.thairath.co.th/content/500191

โรงพยาบาลเอกชน (ครับ) ไม่ใช่เอกชล  (แก้หัวข้อไม่ได้)

ช่วงนี้ มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนและแพทย์ชนบท ให้ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ แพทยสภา ออกมาตรการควบคุม ค่ายา ค่ารักษาผู้ป่วย ของ โรงพยาบาลเอกชน ที่คิดแพงเกินไป

จนเข้าข่าย ค้ากำไรเกินควร ผมก็เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที เพราะค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนทุกวันนี้ ถือว่าโหดมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

ความจริง โรงพยาบาลเอกชน ถือเป็น ทางเลือกของชนชั้นกลาง และยังช่วย ลดภาระโรงพยาบาลของรัฐ อีกด้วย

ใครที่ใช้บริการ โรงพยาบาลเอกชน จะเจอเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะไปพบหมอหรือแค่ติดตามผล จะถูกจับวัดไข้วัดความดัน เพื่อคิดค่าเครื่องมือแพทย์คนละ 100–200 บาท เหมือนเป็นค่าเหยียบโรงพยาบาล ความจริงค่าหมอก็ไม่ได้แพงอะไร 500–800 บาท

แต่ที่ แพงเว่อร์ ก็คือ ค่ายา และ ค่าเครื่องมือแพทย์ ที่ชาร์จกันสุดโต่ง

โดยเฉพาะ ราคายาจะแพงกว่าร้านขายยาข้างนอก 2–3 เท่า ยาส่วนใหญ่ที่หมอสั่งจ่ายให้ จะไม่สามารถซื้อเองในร้านขายยาทั่วไป

ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น และแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนก็จะสั่งยาในโรงพยาบาลให้ ไม่ค่อยยอมเขียนใบสั่งยาเพื่อให้คนไข้ไปซื้อยาจากร้านขายยาข้างนอก

ในต่างประเทศ เวลาผู้ป่วยไปหาหมอ หมอจะเขียนใบสั่งยาให้คนไข้ไปซื้อยาเอง ไม่บังคับซื้อจากโรงพยาบาล หากเป็นการผ่าตัด ไม่ว่าผ่าตัดเล็ก หรือผ่าตัดใหญ่ เท่าที่ผมทราบจากเพื่อนฝูงที่ไปผ่าตัดในต่างประเทศมาแล้ว ทางโรงพยาบาลจะประเมินค่าผ่าตัดและรักษาให้เสร็จสรรพล่วงหน้า ตั้งแต่ค่าหมอ ค่าพยาบาล ค่ายา ค่าผ่าตัด

รวมทั้งหมดเป็นเงินเท่าไร จ่ายทีเดียวจบ

ไม่มีการแบ่งเป็นรายการยิบย่อยเป็น ค่ายา ค่าหมอผ่าตัด ค่าเครื่องมือผ่าตัด ค่าห้องผ่าตัด ค่าพยาบาล ค่าเครื่องใช้จุกจิกเต็มไปหมด โดยเฉพาะ ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าห้องผ่าตัด โรงพยาบาลเอกชนไทยคิดแพงมาก ค่าเครื่องมือแพทย์ที่คิดกับคนไข้ ผ่าตัดแค่ไม่กี่สิบคนก็คุ้มทุนแล้ว ที่เหลือเป็นกำไรล้วนๆ แม้แต่ค่ายาที่ต้องนำกลับไปรับประทานที่บ้านหลังผ่าตัด โรงพยาบาลเอกชนในไทยก็คิดอีกต่างหาก ทั้งที่ควรรวมอยู่ในแพ็กเกจเดียวกัน

เพื่อนฝูงที่เคยผ่าตัดหัวเข่าในโรงพยาบาลเอกชนไทย กับที่ไปผ่าตัดหัวเข่าในโรงพยาบาลเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เอาราคาทั้งหมดมาเทียบกันพบว่า การผ่าตัดหัวเข่าที่โรงพยาบาลเมืองมิวนิก ถูกกว่าผ่าที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯนับแสนบาท ทั้งที่ทุกคนคิดว่าน่าจะแพงกว่ามาก อะเมซซิ่งไทยแลนด์ เหลือเชื่อจริงๆ

ที่เจ็บปวดกว่านั้น โรงพยาบาลเอกชนไทย ยังบังคับให้เจ้าของคนไข้ ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนลงมือผ่าตัดอีกด้วย ทั้งๆที่คนไข้ก็นอนอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ได้หนีไปไหน แต่ก็ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเหมือนผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไปหาหมอ แม้อาการปางตายก็ถูกเรียกเก็บเงินล่วงหน้า

เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรจะได้รับรู้เอาไว้บ้าง ระดับท่านคงไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าควรจะต้อง “ปฏิรูป” เช่นเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรมในสังคม และเพื่อให้ โรงพยาบาลเอกชน ได้เป็น “ทางเลือก” ของ ประชาชนชั้นกลาง จะได้ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลรัฐ ไม่ให้ประชาชนชั้นกลางถูกขูดรีดมากเกินไป เช่น ค่ายาที่แพงกว่าตลาด 2–3 เท่า ควรจะให้แพทย์ ถามความสมัครใจของคนไข้ จะใช้ยาของโรงพยาบาล หรือรับใบสั่งยาไปซื้อเองในราคาถูกกว่า

ประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นด้วยกับ คุณบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ก็คือ ให้ยาเป็นสินค้าควบคุมไม่ให้ขายแพงเกินไป และต้องให้ประชาชนมีทางเลือก จะซื้อยาจากโรงพยาบาล หรือให้ใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาทั่วไป

ที่ผ่านมา สังคมไทย ปล่อยละเลยมานาน ใครใคร่โกงโกง ใครใคร่ผูกขาดก็ผูกขาด ใครใคร่ค้ากำไรเกินควรรัฐก็ไม่ว่าอะไร แต่วันนี้ผมคิดว่า ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปเสียที สังคมไทยต้องอยู่กันด้วย “หลักยุติธรรม” มากกว่า มือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เอาเปรียบกันเป็นทอดๆ สร้างความเหลื่อมล้ำไม่รู้จักจบสิ้น.

“ลม เปลี่ยนทิศ”
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่