ฟื้นฝอยหาตะเข็บ!

กระทู้ข่าว
ทำเอามึนไปหลายตลบกับเรื่องที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) มีคำสั่งที่ 16/2558 ให้ข้าราชการ ผู้บริหารหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นกว่า 50 ราย หยุดปฏิบัติหน้าที่และให้หน่วยงานต้นสังกัดโยกย้ายพ้นจากตำแหน่งระหว่างถูกตรวจสอบ

แม้จะเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ส่งสัญญาณไปถึงข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐว่ารัฐบาล คสช.ชุดนี้เอาจริงกับการปราบปรามการทุจริต แต่ก็เหมือนดาบ 2 คมที่อาจทำให้รัฐบาลงานเข้าหนักเข้าไปอีก เพราะลำพังแค่มาตรการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างที่วางไว้ละเอียดยิบ ก็ทำเอาบรรดาโครงการรัฐค้างเติ่งแทบไม่ขยับเขยื้อนอยู่แล้ว เมื่อรัฐงัดมาตรการเชือดไก่ให้ลิงดูขึ้นมาใช้อีก จะควานหามือดีที่ไหนเข้ามารับหน้าเสื่อลุยกำถั่วเบิกจ่ายงบประมาณหรือลุยโครงการต่างๆ ของรัฐได้ เพราะถูกร้องแรกแหกกระเชอขึ้นมาแม้น้อยนิดก็มีหวังได้งานเข้า

แต่ที่มึนหนักเข้าไปอีกเพราะ 1 ในเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ มีนายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช.หรือ ซูเปอร์บอร์ด กสทช.รวมอยู่ด้วย เล่นเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคมถึงกับ “อึ้งกิมกี่” เพราะทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ กสทช.อยู่ดีๆ กลับมาถูกตรวจสอบเสียเอง เล่นเอาเจ้าตัวนั่งไม่ติดต้องวิ่งโร่ขอความเป็นธรรมกับประธาน กสทช.ยกใหญ่ก็ไม่รู้ว่าการร้องขอความเป็นธรรมกับประธาน กสทช.ที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรกับคำสั่ง คสช.ข้างต้นนั้นจะถูกครรลองหรือช่องทางหรือไม่

กับเรื่องที่จั่วหัวไว้ก็เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ลุกขึ้นมาแจ้งข้อกล่าวหาอดีต รมว.ไอซีที นายจุติ ไกรฤกษ์ ต่อกรณีการอนุมัติให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยกเอาคลื่นความถี่ไปประเคนให้บริษัทเอกชน คือ ทรูมูฟเพื่อให้บริการมือถือระบบ 3 จีบนเครือข่ายเดิม

ที่ทำเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคมอึ้งกิมกี่เพราะก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการทำสัญญาทำการตลาดเพื่อให้บริการ 3จี บนเครือข่ายเดิมด้วยเทคโนโลยี HSPA ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีนายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช.ในเวลานั้นเป็นประธานไต่สวน

ก่อนที่อนุกรรมการชุดดังกล่าวจะสรุปผลไต่สวนเมื่อ 8 พฤษภาคม 55 หรือเมื่อ 3 ปีก่อนว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการ กระทำที่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบหลายประเด็นทั้ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 และระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่รัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ว่าด้วยการละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งยังได้ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐทั้งบอร์ดและฝ่ายบริหาร กสท.ในขณะนั้นกราวรูด ก่อนจะส่งผลไต่สวนดังกล่าวขึ้นไปยัง ป.ป.ช.ชุดใหญ่แล้ว “หายเข้ากลีบเมฆ” ไปจนวันนี้

แต่ไหงวันนี้หวยล็อคกลับมาลงเอยเอาที่อดีต รมว.ไอซีทีเอาได้!

ยิ่งได้ฟัง นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษก ป.ป.ช.ที่ออกมาระบุว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พบว่านายจุติเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ไอซีที ได้ดำเนินการสัญญาร่วมธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น และสัญญาระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้าเอสแอล คอนซอเตียมนั้น มีมูลความผิดเนื่องจากพบว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์เร่งรีบนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบในฐานะที่มีหน้าที่กำกับดูแล

รวมทั้งยังมีการเร่งรัดเพื่อให้มีการลงนามสัญญาการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี ระหว่างบริษัททีโอทีกับกลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้าเอสแอล คอนซอเตียม ทั้งที่กลุ่มร่วมค้าฯมีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดขอบเขตของงาน จึงมีมูลเพียงพอหรือส่อว่าจะกระทำการทุจริต ส่อว่าประพฤติผิดต่อหน้าที่

อย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้น ในเมื่อ ป.ป.ช.ปัดฝุ่นหยิบยกเอาผลไต่สวนกรณีสัญญาทำการตลาด 3จี บนเครือข่ายเดิมของ “กสท-ทรูมูฟ” ขึ้นมาโม่แป้งแถลงเอาผิดอดีต รมต.ไอซีทีที่แทบจะเกี่ยวข้องกับโครงการนี้แค่เศษกระพี้ได้ซะขนาดนี้

ก็แล้วเหตุใดแฟ้มสรุปผลไต่สวนสัญญาทำการตลาด 3จี “กสท.-ทรูมูฟ” ที่อนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องไปตั้งแต่ปีมะโว้ จนป่านนี้จึงยังหายเข้ากลีบเมฆ ยังเดินทางไปไม่ถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่

หรือว่ามี “มือที่มองไม่เห็น Invisible Hand” ดอดฉกแฟ้มที่ว่านี้ออกไปจากองค์กร ป.ป.ช.ได้ ท่านประธาน ป.ป.ช.ที่เคารพ!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่