☆ บาลีวันละคำ ... ศักดิ์สิทธิ์ : คำบาลีสันสกฤตที่โอนสัญชาติเป็นไทยอย่างสนิท ☆

กระทู้สนทนา
ศักดิ์สิทธิ์
คำบาลีสันสกฤตที่โอนสัญชาติเป็นไทยอย่างสนิท

“ศักดิ์” บาลีเป็น “สตฺติ” (สัด-ติ) สันสกฤตเป็น “ศกฺติ” แปลว่า
(1) ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ
(2) หอก, ฉมวก, ลูกศร
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤต ในที่นี้ใช้ตามความหมายแรก

“สิทฺธิ” (สิด-ทิ) บาลี-สันสกฤต รูปเหมือนกัน
แปลว่า การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง

“ศักดิ์” คำเดียว พจน.42 ให้ความหมายว่า อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ
“สิทธิ์” คำเดียว พจน.42 ให้ความหมายว่า อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้; อํานาจที่จะกระทําการใด ๆ ได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย (right)

ศักดิ์ + สิทธิ์ = ศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายว่า บุคคลหรือสิ่งที่เชื่อถือกันว่ามีอำนาจอาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์, ขลัง, เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์



สตฺติ (ศักดิ์) มีใช้ในบาลี สิทฺธิ (สิทธิ์) ก็มีใช้ในบาลี
แต่ สตฺติ + สิทฺธิ = สตฺติสิทฺธิ =ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใช้ในบาลี
“ศักดิ์สิทธิ์” จึงเป็นคำที่คนไทยคิดใช้ขึ้นเอง และให้ความหมายตามค่านิยมแบบไทยๆ

ศักดิ์ = ความสามารถ
สิทธิ = ความสำเร็จ

ศักดิ์สิทธิ์ : สำเร็จได้ด้วยความสามารถของตนเอง
ศักดิ์สิทธิ์กว่าสำเร็จได้ด้วยอำนาจบันดาลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์






ที่มา
https://www.facebook.com/tsangsinchai
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่