[บทวิจารณ์] โหมโรง เดอะ มิวสิคัล ... รุ่นเก่า ประชัน รุ่นใหม่ ... หากไร้ราก ก็ไร้แผ่นดิน

ผมเขียนบทความลงไว้ที่ http://www.genczone.com
แต่มีคนแนะนำให้ลองมาลง pantip ครับ
ไม่ค่อยได้เล่นที่นี่เท่าไหร่ อ่านจากที่แบ่งปันตามสื่อสังคมออนไลน์มากกว่า
ขอลองมาลงดูครับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

เขียนโดย ธรากร (นามปากกาของผมเอง)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ วงการละครเวทีบ้านเรากลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังมีโรงละครชั้นนำเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในอีกครึ่งปีนับจากนี้ มีละครเวทีจ่อคิวรอเปิดทำการแสดงกันอีกหลายต่อหลายเรื่อง

แต่สำหรับเรื่องที่กำลังจัดแสดงอยู่และเป็นที่จับตามอง เห็นจะไม่พ้น โหมโรง เดอะ มิวสิคัล ละครเวทีเบิกฤกษ์เบิกโรงของ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศวร ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 7 ของห้างสรรพสินค้าสยามวัน



โหมโรง เคยสร้างเป็นภาพยนตร์ไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2547 เขียนบทและกำกับการแสดงโดย อิทธิสุนทร ชัยวิลักษณ์ โดยอ้างอิงเรื่องราวจากชีวิตจริงของ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครูเพลงผู้พลิกโฉมหน้าวงการดนตรีไทย ซึ่งต่อมาถูกนำมาสร้างอีกครั้งในรูปแบบละครโทรทัศน์ เมื่อ พ.ศ. 2555 ทางไทย พีบีเอส และล่าสุด พ.ศ. 2558 บทโทรทัศน์เรื่องเดียวกันนี้ ถูกหยิบนำมาถ่ายทอดในรูปแบบละครเวที ซึ่งนับได้ว่า เป็นการสร้างใหม่ในรูปแบบที่ 'ท้าทาย' เป็นอย่างมาก





หลายท่านที่เคยดูโหมโรงฉบับภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์มาก่อน คงเข้าใจดีว่าละครเวทีเรื่องนี้ 'ท้าทาย' อย่างไร เพราะจุดเด่นของโหมโรงนั้น อยู่ที่ 'ระนาด' และฉากที่โดดเด่นของเรื่องคือ 'การประชันระนาดระหว่าง ศร กับ ขุนอิน' ซึ่งการนำมาสร้างละครเวทีนั้น หมายความว่า การเล่นและการประชันระนาด จะต้องปรากฏในรูปแบบของดนตรีสด

---------------------------------------------------------------------------------------------------

เนื้อเรื่อง

---------------------------------------------------------------------------------------------------

ก่อนไปชมละครเวทีเรื่องนี้ ผมแอบคาดหวังว่าเนื้อเรื่องจะเป็นการตีความใหม่จากบทภาพยนตร์เรื่องโหมโรง แต่ปรากฏว่า บทละครเวทีแทบจะยกบทภาพยนตร์มาทั้งหมด มีตัดทอน เพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากมองในอีกแง่หนึ่ง อาจเป็นเพราะบทภาพยนตร์เรื่องนี้มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำมาตีความใหม่อีก



เนื้อเรื่องของ โหมโรง เล่าเรื่องราวชีวิตของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ผ่านช่วงชีวิตสองวัยสลับกัน คือ ศร นักระนาดหนุ่มแห่งอัมพวาในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้มีฝีมือระนาดเป็นที่เลื่องลือ เขามั่นใจในฝีมือตัวเอง จนกระทั่งได้พบกับขุนอิน นักระนาดชั้นครูในยุคนั้น ขุนอินทำให้เขาสูญเสียความมั่นใจ และวันหนึ่งโชคชะตาก็นำพาให้เขาต้องมาประชันระนาดกับชายผู้นี้ กับอีกช่วงชีวิตหนึ่ง คือ ศร เมื่อเป็น ท่านครู ในสมัยรัชกาลที่ 8 ที่กำลังโดนนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมของท่านผู้นำในสมัยนั้น หรือที่เรียกกันว่า มาลานำไทย มีการออกกฎควบคุมดนตรีไทยและการละเล่นต่าง ๆ เพราะมองว่าเป็นสิ่งโบราณ คร่ำครึ ที่จะทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสืบสานศิลปะดนตรีไทย รวมทั้งชีวิตนักดนตรีในยุคนั้นเป็นอย่างมาก

ผมมองว่าที่ผู้เขียนจงใจเล่าเรื่องสองช่วงเวลาสลับกัน เพราะมี 'สาร' บางอย่างซึ่งต้องการนำเสนอ ...

ช่วงเวลาหนึ่ง ศรในวัยหนุ่ม เป็นตัวแทนของ 'คนรุ่นใหม่' ที่ต้องการพิสูจน์ฝีมือเพื่อให้ชนะ ขุนอิน ซึ่งเป็นตัวแทนของ 'คนรุ่นเก่า' ที่อยู่มาก่อน ฝีมือการตีระนาดในแบบฉบับของศร ถือเป็นการตีในรูปแบบใหม่ที่ฉีกขนบไปจากรุ่นขุนอิน ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ฝีมือให้เป็นที่ยอมรับจากคนรุ่นเก่า

สลับมาที่อีกช่วงเวลาหนึ่ง ศรในฐานะ 'ท่านครู' กลายเป็นตัวแทนของ 'คนรุ่นเก่า' ในยุคมาลานำไทย เครื่องดนตรีไทย วิธีการตีระนาดที่เคยเป็นของใหม่ กลายเป็นของโบราณ ทำให้ประเทศชาติไม่เจริญเท่าอารยประเทศตามความคิดของท่านผู้นำ ซึ่งมี พันโทวีระ เป็นตัวแทนของ 'คนรุ่นใหม่' ในยุคดังกล่าว

แต่สิ่งที่ต่างกันในความเป็น 'คนรุ่นใหม่' ของทั้งสองยุค คือ คนรุ่นใหม่อย่างศรในวัยหนุ่ม เอาชนะใจคนรุ่นเก่าด้วยฝีมือ ด้วยความแม่นยำในศาสตร์และศิลป์ รู้จัก 'ราก' อย่างลึกซึ้ง และหาทางที่จะนำเสนอในรูปแบบใหม่ ๆ ของตัวเอง ต่างจากคนรุ่นใหม่ในยุคมาลานำไทย ที่ละทิ้งรากเหง้าของตัวเองไปจนหมดสิ้น และหันไปนิยมอย่างตะวันตก เพราะเชื่อว่ามีอารยะ ตรงกับหัวใจของเนื้อเรื่องที่ใช้เป็นวรรคทองของละครเวที 'ไร้ราก ไร้แผ่นดิน'

---------------------------------------------------------------------------------------------------

นักแสดงและบทบาทการแสดง

---------------------------------------------------------------------------------------------------

การจะหานักแสดงผู้มีรับบท ศร ที่ต้องมีความสามารถทั้งด้านบุคลิกภาพภายนอก ด้านการร้อง การแสดง และด้านดนตรีไทย นับว่า 'หาได้ยาก' แต่สุดท้าย ทุกอย่างมาลงตัวที่นักร้องสายเลือดใหม่ซึ่งมีความสามารถรอบด้านจนเป็นที่น่าจับตามอง รวมทั้งนักแสดงท่านอื่น ๆ ซึ่งบอกได้เลยว่า การคัดเลือกนักแสดงสำหรับละครเวทีเรื่องนี้ ถือเป็น 'การคัดเลือกที่ลงตัว'





นักแสดง ถือเป็นหัวใจสำคัญของละครเวที เพราะเป็นกลุ่มคนที่จะขับเคลื่อนเรื่องราวของละครให้ดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับ โหมโรง เดอะ มิวสิคัล ผู้ที่รับบท ศร จำเป็นต้องมีความสามารถรอบด้าน อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งทั้งหมดมาลงตัวที่ กรกันต์ สุทธิโกเศศ (อาร์ม KPN) นักร้องดาวรุ่ง ผู้เคยผ่านการแสดงละครเวทีมาแล้ว ใน เลือดขัตติยา เดอะ มิวสิคัล ของเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ และมีชื่อเสียงมาจากรายการ พยากรณ์อากาศ เดอะ มิวสิคัล ทางช่อง 1 เวิร์คพอยต์



ทราบมาว่า ละครเวทีเรื่องนี้ เกือบไม่ได้ดำเนินต่อเพราะหานักแสดงคนที่เหมาะสมกับบทนี้ไม่ได้ จนกระทั่งอาร์มเข้ามาทดสองบทและได้รับคัดเลือก อาร์มใช้ความพยายามฝึกซ้อมการตีระนาดนานถึง 8 เดือนก่อนจะเริ่มแสดงจริง และนั่นส่งผลให้ภาพรวมของอาร์มออกมาครบเครื่อง เสียงร้องโดดเด่น การแสดงที่เอาอยู่ นำพาให้คนดูติดตามตัวละคร 'ศร' ไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ รวมทั้งฝีมือการตีระนาดที่ทำเอาคนดูตกตะลึง เนื่องจากมีความไพเราะ , เพราะ , พริ้ง และพริ้วไหว ไม่แพ้ฝีมือของศรในฉบับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เลย

สิ่งที่ทำให้รู้สึกพิเศษกว่า คือ ศรในฉบับก่อน ๆ ผู้ชมดูฝีมือระนาดผ่านการบันทึกตัดต่อ โดยนักแสดงเล่นไว้แต่ให้นักระนาดมืออาชีพมาเล่นซ้อนเพื่อบันทึกเสียงทับลงไป แต่ในฉบับละครเวที ทั้งหมดเป็นฝีมือของอาร์มจริง ๆ ต้องขอชื่นชมศักยภาพและความทุ่มเทที่อาร์มมีต่อการแสดงเรื่องนี้

รวมทั้งต้องขอชม รฐนันท์ จิระกาญจนากิจ ผู้รับบท ศร ตอนเด็ก ที่ดูมีแววโดดเด่นซึ่งส่งบทมาสู่ ศร ตอนโตได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าน้องคนนี้มีโอกาสจะเป็นดาวรุ่งดวงใหม่แห่งละครเวทีแน่นอน



อีกตัวละครสำคัญที่อดชื่นชมไม่ได้ คือ ท่านครู รับบทโดย สุประวัติ ปัทมสูต (พ่ออี๊ด) ซึ่งก็คือ ศร ในช่วงที่ขึ้นเป็นมือระนาดชั้นครูแล้ว ถือได้ว่าตัวละคร ท่านครู แบกบทนำของเรื่องไว้อีกครึ่งเรื่อง เนื่องจากเรื่องนี้เป็นการเล่าช่วงชีวิตของศรในวัยที่ยังเป็นหนุ่มใหม่ไฟแรง สลับกับช่วงที่กลายเป็นบุคคลที่ใคร ๆ ต่างเคารพนับถือ ซึ่งพ่ออี๊ดเองก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักแสดงชั้นครู และพ่ออี๊ดก็ถ่ายทอดตัวละครตัวนี้ออกมาได้ 'เฉียบคม' ในทุกฉากที่ปรากฏกาย ทุกจังหวะการพูดการแสดงของพ่ออี๊ดมีพลังและส่งพลังทั้งหมดมาถึงใจคนดูได้ ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษคือช่วงท้ายเรื่อง ที่พ่ออี๊ดยังคงแสดง กระทั่งไฟของโรงละครมืดลงจนสนิท เป็นการสื่อสารว่า ท่านครู ยังคงเล่นดนตรีต่อไป แม้ทุกอย่างจะจบสิ้นลง

ตัวละครที่มารับบทอันสุดท้าทายอีกคน คือ ทวีศักดิ์ อัครวงศ์ ผู้รับบท ขุนอิน เขาเป็นนักระนาดมืออาชีพในสังกัดของกรมศิลปากร ผู้เป็นนักแสดงแทนในการบันทึกเสียงการตีระนาดของศรในฉบับภาพยนตร์ และเคยรับบทขุนอิน รวมทั้งเป็นนักแสดงแทนในการบันทึกเสียงการตีระนาดของศรและขุนอินในฉบับละครอีกด้วย ซึ่งฝีมือการตีของทวีศักดิ์สะกดคนดูได้อยู่ในทุกครั้งที่ปรากฏกาย และยิ่งยอดเยี่ยมมากในฉากประชันระนาด ซึ่งจำเป็นต้องการแสดงให้เห็นว่า ขุนอินเล่นแพ้ทางต่อเด็กใหม่ไฟแรงอย่างศรในวัยหนุ่ม นับว่าเป็นฉากที่ยากมาก

ตัวละครสำคัญที่คอยเสริมเส้นรักให้ผู้ชมรู้สึกอบอุ่นหัวใจ คือ แม่โชติ หญิงผู้เป็นคู่ชีวิตของ ศร ในวัยสาวรับบทโดย สาธิดา พรหมพิริยะ ฉากเก็บดอกลั่นทมมีพลังเสียงใสกังวานดุจดั่งแก้ว จับใจคนดูได้มากทีเดียว ส่วนแม่โชติในวัยผู้ใหญ่ รับบทโดย ดวงใจ หทัยกาญจน์ (แม่อี๊ด) นักแสดงชั้นครูอีกท่าน ความอ่อนโยน นุ่มนวล และความอบอุ่นของแม่อี๊ด ส่งเสริมให้ตัวละครท่านครู และส่งพลังมาให้คนดูสัมผัสได้ นับเป็นอีกตัวละครที่เสริมให้ละครเวทีเรื่องนี้นุ่มนวล อ่อนโยน ไม่แข็งจนเกินไป



ตัวละครหลักอีกสองตัวที่มีผลต่อเรื่องในยุคของท่านครู คือ พันโทวีระ ซึ่งรับบทโดย อนุสรณ์ มณีเทศ (โย่ง อาร์มแชร์) นายทหารผู้เป็นตัวแทนของท่านผู้นำในการเข้ามาปฏิวัติวัฒนธรรมไทย ซึ่งมองว่าดนตรีไทยเป็นเรื่องโบราณ ล้าสมัย เขาต้องปะทะกับ เทิด ที่รับบทโดย อรรณพ ทองบริสุทธิ์ (ปอ AF7) ลูกของ ทิว เพื่อนสนิทท่านครู เทิดเป็นคนรุ่นใหม่แต่รักและหวงแหนดนตรีไทยเป็นอย่างมาก

ด้วยบุคลิกอันสง่า และน้ำเสียงอันทรงพลังของโย่ง อาร์มแชร์ ทำให้ทุกครั้งที่พันโทวีระปรากฏตัวดูน่าเกรงขาม มีบารมี สมกับเป็นตัวแทนของท่านผู้นำ ส่วนปอ มีความทะเล้น อยากรู้อยากเห็น ใจร้อนตามวัย ถือว่าแสดงออกมาได้เหมาะกับบทบาทอย่างไม่ขาดไม่เกิน



ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ เห็นจะเป็นกลุ่มตัวละคร 'สายฮา' ที่ผลัดกันมาสร้างสีสันให้แก่เรื่อง ตั้งแต่ ทิว ซึ่งในวัยเด็กรับบทโดย เด็กชายชยณัฐ แจ่มใส และวัยหนุ่มโดย มงคล สะอาดบุญญพัฒน์ (นาย เดอะ คอมเมเดี้ยน) เป็นตัวละครที่เรียกเสียงหัวเราะให้คนดูเป็นอย่างมาก เป็นเพื่อนผู้เป็นลูกไล่ของศร ที่ดูไม่ค่อยเอาอ่าว แต่กลับเป็นคนทำให้ศรฉุกคิดในเรื่องของ 'ทางใครก็ทางมัน' ได้ , เปี๊ยก รับบทโดย วีรพล จันทร์ตรง (เอ๋ สมาร์ท) อีกตัวละครสำคัญที่มีการเปิดตัวอย่างสนุกสนานในช่วงแรก แต่ได้รับผลกระทบจากสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางนโยบายการเมือง จนต้องเผชิญกับจุดจบอันน่าเศร้า เป็นตัวละครที่เผชิญกับภาวะอารมณ์ที่ต่างกันสุดขั้ว แต่ถ่ายทอดออกมาได้ดี  และสุดท้าย ครูเทียน ซึ่งรับบทโดย ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ (ครูรัก) แม้จะปรากฏตัวออกมาค่อนข้างน้อย (อยากเห็นครูรักแสดงมากกว่านี้) แต่สร้างสีสันให้กับเนื้อเรื่องเป็นอย่างมาก เป็นตัวละครที่มาเสริมความคิดให้ศร กล้าที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งในตอนที่คิดจะจีบแม่โชติ และตอนที่จะต้องเตรียมตัวประชันระนาดกับขุนอิน

(ยังมีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่