[CR] รีวิว >>> โหมโรง เดอะมิวสิคัล : เป็นเสียงจากที่ใด หรือจากข้างใน...ช่างไพเราะเกินจะเอ่ย

กระทู้รีวิว
โหมโรงเดอะมิวสิคัล
เป็นเสียงจากที่ใด  หรือจากข้างใน...ช่างไพเราะเกินจะเอ่ย
-----
-----
    เกือบหนึ่งสัปดาห์แล้ว ถ้านับจากวันที่เรามีโอกาสได้ไปชมละครเวที “โหมโรง เดอะมิวสิคัล” จนถึงตอนนี้ เพิ่งมีโอกาสได้เขียนรีวิว มากกว่าการแอบอู้อ่านสอบไฟนอลมาเขียนรีวิว คือเราอยากบันทึกความทรงจำดีๆ ที่ได้จากการชมละครเวทีเรื่องนี้
-----
    โหมโรง  เดอะมิวสิคัล  เป็นละครเวทีที่เราดูแล้วรู้สึกอิ่มเอมหัวใจ คือมันได้ทุกอารมณ์  ทุกอรรถรส ทั้งโรแมนติก ตลก ซาบซึ้ง น้ำตาคลอ ตื่นเต้น ลุ้นระทึก รวมๆ กันแล้วมันคือความประทับใจ คะแนนเต็ม 10 ก็ให้ 10 เป็น 3 ชั่วโมงครึ่งที่มีความสุขมาก เป็นการดูละครเวทีที่ “ดีต่อใจ” เราไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสละครเวทีบรอดเวย์ หรือของต่างประเทศ แต่มากกว่าเยาวชน มากกว่าคนไทยทุกคน เราอยากให้ชาวต่างชาติได้มาสัมผัสละครเวทีดีๆ ฝีมือคนไทยอย่างเรื่องนี้เหลือเกิน
-----
    บทละครเวที “โหมโรง เดอะมิวสิคัล” ดัดแปลงจากบทภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” ในปี 2547 เราเคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก คือเด็กมากจนปะติดปะต่อเนื้อเรื่องไม่ได้เลย ภาพจำของเราในภาพยนตร์เรื่องนี้มีแค่ โอ อนุชิต เป็นพระเอก อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ เป็นทหาร มีการเล่นระนาด ...จำได้แค่นี้จริง ๆ ซึ่งพอเราตัดสินใจจะไปชมละครเวที คิดวันนี้ก็ซื้อบัตรรอบพรุ่งนี้เลย ไปแบบโล่งๆ เข้าไปทำความรู้จักกับเรื่องราว กับตัวละครที่หน้างานเลยละกัน
-----
    เป็น 3 ชั่วโมงครึ่ง ที่มีความสุข เรายิ้ม เราหัวเราะ เราลุ้นระทึก แต่ที่สุดของโหมโรง เดอะมิวสิคัล คือละครเวทีเรื่องนี้ทำเราน้ำตาคลอถึง 6 ครั้ง !
-----
    เรื่องราวของ “โหมโรง เดอะมิวสิคัล” ได้แรงบันดาลใจจากชีวประวัติของ หลวงประดิษฐไพเราะ หรือท่านครูศร ศิลปะบรรเลง ปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อวงการดนตรีไทย ชีวิตของศร ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่ม จนถึงวัยชรา เพื่อความฝันของเขา เขาต้องต่อสู้ ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคมากมายในทุกช่วงชีวิต การเล่าเรื่อง ตัดฉากสลับระหว่างช่วงวัยหนุ่มกับวัยชรา ยิ่งทำให้เรื่องสนุกและน่าติดตามมากขึ้น
-----
    องก์ 1 รุ่มรวยด้วยความสุข มีแต่รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ อิ่มเอมในความงาม ความไพเราะของดนตรีไทย
    องก์ 2 คือการขมวดปมด้วยแรงกดดัน ลุ้นไปกับนายศร เสียน้ำตาให้กับท่านครูและอีกหลายชีวิต ก่อนจะจบอย่างจับใจ
-----
    ตลอดชีวิตของท่านครู หรือนายศร เขาล้วนต้องต้องสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่เขาปรารถนา
-----
    “เด็กชายศร”  ต้องต่อสู้กับความรักของพ่อ...ความฝันที่จะเล่นดนตรีไทยต้องยุติลง เพียงเพราะความตายของพี่ชายอันเกิดจากชัยชนะในการประชันระนาด แต่นั่นใช่ความผิดของดนตรีไทยหรือ? เมื่อพ่อตัดสินใจเช่นนั้น เด็กน้อยก็ไม่มีทางเลือก น้องที่เล่นเป็นศรคือร้องเพลงเพราะมาก แสดงดีมากเช่นกัน ความรู้สึกของคนที่ถูกห้ามทำในสิ่งที่รัก ซีนพ่อพาศรไปไหว้ครูนี่คือดีมาก แค่ซีนแรกๆ พระเอกยังไม่ทันโต เราก็น้ำตาคลอแล้ว... ถึงแม้พาร์ตวัยเด็กจะใช้เวลาไม่นาน แต่ก็อัดแน่นด้วยความประทับใจ
-----
    “นายศร” การต่อสู้กับหัวใจตัวเอง... ละครเวทีเรื่องนี้ทำให้เราอยากให้ประเทศไทยมีการแจกรางวัลให้กับวงการละครเวทีบ้างเหลือเกิน ซึ่งถ้ามี ในปี 2561 นี้ ผู้ที่คู่ควรกับรางวัลนักแสดงนำชายคงเป็นใครไม่ได้นอกจาก อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ หน้าตาดี ร้องเพลงเพราะ การแสดงเป็นเลิศ ฝีไม้ลายมือการเล่นระนาดถึงขั้นประชันกับรุ่นครูแล้วชนะ คุณสมบัติเหล่านี้ยากที่จะอยู่ในตัวคนคนเดียว แต่พี่อาร์มทำได้!
-----
-----
    ศรในวัยหนุ่ม เขาอยู่ในยุครุ่งเรืองของดนตรีไทย  เขาคือระนาดเอกแห่งอัมพวา ความภาคภูมิใจในความสามารถของตนเอง บางครั้งก็มากเกินไปจนกลายเป็นความผยอง จนกระทั่งเขาได้พบ ได้ยินเสียงของระนาดที่เหนือกว่าเขา เข้มแข็งและดุดันกว่าเขา จนยากที่จะเอาชนะ นั่นกลายเป็นความกลัว เสียงนั้นยังคอยหลอนให้ชายหนุ่มอย่างศรหวาดผวา และไม่กล้าเล่นระนาดอีก...แท้จริงแล้ว นี่ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างเขากับขุนอินเลย แต่นี่คือการต่อสู้ของศรกับใจของเขา...
-----
    พาร์ตวัยหนุ่มของศร ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือบทของ  “ทิว”  เพื่อนสนิทของศร  ที่ตัวติดกันตลอด  ทิวจัดได้ว่าเป็นตัวสร้างสีสันของเรื่อง  ด้วยคาแรคเตอร์ที่จัดจ้าน  เล่นใหญ่ไฟกะพริบ  แต่การแสดงของ  นาย-มงคล  กลับเรียกรอยยิ้มให้กับผู้ชมและไม่ทำให้ตัวละครตัวนี้น่ารำคาญเลย
-----
-----
    หลายตัวละครในพาร์ตวัยหนุ่ม  ทำให้เราสัมผัสและเข้าใจคำว่า  “น้อยแต่มาก”  ด้วยไทม์ไลน์ของเรื่องที่ยาวนาน  ทำให้บางตัวละครปรากฏตัวออกมาน้อย  แต่กลับสร้างความประทับใจให้คนดู...ยากที่จะลืมได้  ครูรัก-ศรัทธา  มาในบทของ  “ครูเทียน”  ผู้สอนศรเล่นดนตรีในวัง  ออกมาน้อยแต่มาเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม
-----
    “ขุนอิน” ระนาดเอกแห่งสยามประเทศ รับบทโดย ครูเบิ่ง-ทวีศักดิ์  เป็นขุนอินที่บรรเลงระนาดแล้วให้ความรู้สึกไพเราะ เข้มแข็ง ดุดัน ไปถึงขั้นน่ากลัว! คือเป็นลีลาระนาดที่คนธรรมดาอย่างเราฟังแล้วยังหวั่นเกรง นับประสาอะไรกับพ่อศร
-----
    ไฮไลต์ของพาร์ตวัยหนุ่มคือการประชันระนาด ตั้งแต่หลับตาตีระนาด ประชันต่างเมืองสองรุมหนึ่ง มาจนถึงการประชันกับขุนอิน เล่นกันสดๆ ไม่มีลิปซิงก์ ท้าทายผู้ชม  ให้เห็นกันไปเลยว่าดนตรีไทยไม่ได้น่าเบื่อ เป็นการประชันระนาดที่น่าตื่นเต้น ลุ้นระทึกในทุกท่วงที ทุกลีลาที่บรรเลง
-----
-----
    แม้กระทั่งนางเอกของเรื่อง  ก็จัดอยู่ในกลุ่มน้อยแต่มาก  “แม่โชติ”  คู่ชีวิตของนายศร  รับบทโดย  แนน-สาธิดา  ผู้หญิงคนนี้สะกดผู้ชมอยู่ตั้งแต่พยางค์แรกที่เธอเอื้อนเอ่ย พยางค์แรกที่เธอเปล่งเสียงออกมา  “เจ้าดอกลั่นทมสีขาวสะอาด งามสวยราวกับวาด ไม่อาจหักใจไม่มอง”  คือฟังแล้วรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังลอย รู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในวิมานสักแห่ง ที่ที่มีแต่เสียงขันขานจากนางฟ้า เชื่อเราเถอะ แค่มาฟังแม่โชติร้องเพลง...คืนนั้นคุณก็ฝันดีไปทั้งคืนแล้ว! เพลงดอกลั่นทม การขับร้องคู่ระหว่างนายศรกับแม่โชติ เป็นอะไรที่โรแมนติกพาฝันมาก งดงามด้วยความรัก งามด้วยความเป็นไทย ทำให้ผู้ชมเขินตามได้โดยที่พระนางไม่ได้ถูกเนื้อต้องตัวกันและกันเลย
-----
    “เสียงไกลไกล เสียงนั้นเสียงหนึ่งที่นำฉันมา ราวจะกระซิบว่า ให้ฉันก้าวเดินไปตามหัวใจ”
    แม่โชติคือผู้หญิงที่มีค่าควรแก่การเป็น  “คู่ชีวิต”  ของผู้ชาย  โดยเฉพาะผู้ชายที่ดี ผู้ชายที่เปี่ยมด้วยความสามารถอย่างศร ทว่าก็เป็นความสามารถที่มาพร้อมแรงกดดัน แรงกดดันที่เขาสร้างขึ้นมาเอง และแม่โชตินี่ละคือ  “กำลังใจ”  ที่ดีที่สุด  แม่โชติคือผู้ที่ทำให้ศรเห็นคุณค่าใน “เสียง” ของตัวเอง  เห็นความงดงาม  เห็นพลังของเสียงที่เกิดจากหัวใจของเขา ผู้ชายคนหนึ่งมีความสามารถอันเป็นเลิศ ผู้หญิงคนนี้พรั่งพร้อมด้วยกำลังใจ เราหลงเสน่ห์ในความรักของหนุ่มสาวคู่นี้...
-----
    “เสียง” ที่ดังจากใจของศรนี่ละ คือพลังที่ขับเคลื่อนตัวเขาให้มุ่งไปข้างหน้า คือพลังที่สรรค์สร้างสิ่งที่ดีงาม กลั่นกรองออกมาเป็นเสียงที่ไพเราะจับใจผู้ฟัง และเสียงนี้นี่ละ ที่ทำให้นายศรเอาชนะใจตัวเองได้...
-----
(มีต่อ)
ชื่อสินค้า:   โหมโรง เดอะมิวสิคัล2561 “โลกอาจสลาย แต่เสียงนั้นจะไม่มีวันหายไป”
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่