กะเทย: ภาษา อำนาจ และ ชนชั้น

กะเทยขอฝากอีกหนึ่งบทความค่ะ และจะเขียนบทความลงเรื่อยๆนะคะ  

รัก
กะเท้ยกะเทย

-------------------
“กูเกลียดกะเทยเกลียดตุ๊ดยิ้ม ยิ้ม พวกวิปริต พ่อก็ด่า พ่อเกลียดมาก แล้วพ่อก็เล่าให้แม่เลี้ยงฟังตอนนั้นนั่งกินข้าวด้วยกัน แล้วพ่อก็บอกว่า กูตอนเป็นหนุ่มๆ ยิ้มมีกะเทยมาแซวกูขายก๋วยเตี๋ยว แล้วก็พยายามมาแซว กูเตะยิ้มคว่ำ แล้วก็เยี่ยวใส่หม้อก๋วยเตี๋ยว พ่อบอกกูนี่เกลียดตุ๊ด ไอ้ ยิ้ม พวกนี้เกิดมายิ้มเสียชาติเกิด…พ่อก็เลยหันมาบอกถ้าเป็นกะเทยนะ กูจะเอามีดปาดคอให้ตาย ยิ้มอย่าเกิดมาเป็นลูกกู”

เรื่องจริงจากบทสนทนาที่ฉันกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งไดัแบ่งปันประสบการณ์การเป็นกะเทยในวัยเด็กของเราทั้งคู่ เพื่อนคนนี้ของฉันยังคงจำคำพูดของพ่อเธอได้ดีเวลาคิดถึงพ่อที่จากไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน ฉันคิดว่ากะเทยหลายคนคงมีประสบการณ์ในการแสวงหาตัวตนที่ไม่ต่างกันมากนัก หลายคนมองว่าคำว่า“กะเทย” เป็นคำที่มีความหมายในเชิงล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือดูถูก เพราะคนรอบข้างของพวกเธอใช้คำนี้เรียกพวกเธอ ทั้งที่พวกเธอยินยอม หรือยอมจำนน โดยสิ่งที่คนอื่นหยิบยื่นให้พวกเธอ คือการตีตรา และลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกะเทยคนหนึ่ง คิดในทางกลับกัน เราคงไม่เรียกมนุษย์ผู้ชายคนหนึ่งว่า “ผู้ชาย” นอกจากจะเรียกชื่อของเขาคนนั้น และตระหนักว่าเขาคือคนคนหนึ่งที่แตกต่างจากคนอื่นๆ และเขาคนนั้นมีตัวตน ความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณที่แตกต่างจากคนอื่นเช่นกัน ประสบการณ์ของกะเทยหลายคนจึงแตกต่างจากประสบการณ์ของคนที่เรียกตัวเองว่าผู้ชายหรือผู้หญิงโดยกำเนิด

ประวัติศาสตร์สอนให้เราเข้าใจปัจจุบันเมื่อคำว่า “กะเทย” ถูกใช้เรียกคนกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะและวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากเพศกำเนิดของตนเราจึงต้องทำความเข้าใจว่า คำว่า “กะเทย” ได้ถูกให้ความหมายอย่างไรผ่านยุคสมัยและบริบททางสังคมวัฒนธรรมในช่วงที่ต่างกัน จากการศึกษาของเทอดศักดิ์ ร่มจำปา (2548) พบว่า ในทางประวัติศาสตร์ คำว่า “กะเทย”หมายถึงเพศที่สามทุกรูปแบบ คือ ตั้งแต่ชายรักชายที่ไม่มีความแตกต่างจากชายอื่นหรือหลายคนเรียกกลุ่มคนเหล่านั้นว่า “เกย์” ในภาษาปัจจุบัน และกะเทยยังรวมถึงหญิงรักหญิงที่ดูไม่ต่างจากหญิงอื่นๆหรือภาษาสมัยนี้คือ “เลสเบี้ยน” ในคริสต์ศตวรรษ1960 พบว่ากะเทยมีความหมายที่แคบลงในยุคถัดมาโดยนำข้อแตกต่างทางด้านสรีระ การแต่งกายข้ามเพศ และเพศวิถีในการจำแนก ทำให้หลายคนหลงลืมไปว่า สมัยหนึ่งผู้หญิงที่แต่งกายเป็นผู้ชายก็เคยถูกเรียกว่ากะเทยเช่นกัน กระทั่งในคริสต์ศตวรรษ 1970 กะเทยหมายถึงคนที่เกิดมาเป็นผู้ชายแต่เปลี่ยนบทบาทวิถีการดำเนินชีวิตเป็นเพศหญิง รวมถึงการปรับเปลี่ยนสรีระร่างกายด้วย

นอกจากนี้เทอดศักดิ์ยังพบอีกว่าพนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ได้กล่าวว่าคนไทอะหม ก็มีคำว่า “เทย” ใช้ในความหมายเดียวกับกะเทย ในภาษาเขมรก็มีคำว่า “เขทิย” อ่านว่า กะเตย มีความหมายเช่นเดียวกัน อาจจะเป็นไปได้ว่า กะเทย เทยและเขทิยเป็นคำที่ใช้เรียกลักษณะของสิ่งไม่กำหนดเพศ หรือมีลักษณะกลางๆไม่เป็นเพศใดหรือเพศหนึ่ง อย่างไรก็แล้วแต่คำว่า “กะเทย”ในพนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มีความหมายว่า คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิงหรือคนที่มีจิตใจและกิริยาอาการตรงข้ามกับเพศของตน เราจะเห็นว่าคำว่า “กะเทย” ถูกตีความและให้ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป

เนื่องจากฉันไม่ได้ตั้งใจจะทำให้บทความนี้เป็นบทความทางประวัติศาสตร์แต่อย่างได แต่บางครั้งประวัติศาสตร์ทำให้ทราบถึงที่มาที่ไปของความเป็นไปในสังคมในปัจจุบัน ฉันเชื่อว่าปัจจัยทางวัฒนธรรมทำให้ความหมายของกะเทยที่เคยถูกใช้เปลี่ยนแปลงไป คำว่า “กะเทย” ถูกใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มคนทั่วไป เพื่อใช้เรียกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง และหลายครั้งคำเรียกเหล่านี้ให้ความรู้สึกเชิงลบ ตลกขบขัน และลดคุณค่าของคนคนหนึ่ง ที่มีลักษณะ และวิถีปฏิบัติทางเพศที่แตกต่างจากบรรทัดฐานทางสังคม ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้กะเทยคนหนึ่งพยายามขัดขืนกับตัวตนที่คนอื่นมอบให้โดยที่พวกเธอไม่ได้ยินยอม ฉันจึงไม่แปลกใจที่หลายครั้งกะเทยคนหนึ่งจะมีความรู้สึกในเชิงลบเมื่อได้ยินคนอื่นเรียกพวกเธอว่า“กะเทย” แม้ว่าพวกเธอเองในบางครั้งจะเรียกแทนตัวเอง และกลุ่มเพื่อนของพวกเธอว่า “กะเทย” เป็นสรรพนามที่หนึ่ง สอง และสาม

เมื่อคำว่า “กะเทย” ถูกให้ความหมายในเชิงลบ และถูกหยิบใช้โดยคนอื่นๆที่ไม่ได้นิยามตัวเองว่า “กะเทย” เราจึงเห็นการต่อสู้ทางการเมืองเรื่องตัวตนทางเพศจากการหยิบใช้ภาษาเพื่อทำให้เสียงของเจ้าของตัวตนนั้นๆได้ยินในสังคมที่พร้อมจะทำให้กลุ่มคนกลุ่มเล็กๆเงียบ คำใหม่ๆถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อมาใช้เรียกแทนคำว่า “กะเทย”ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “สาวประเภทสองผู้หญิงประเภทสอง ผู้หญิงไม่แท้ คนข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ ฯลฯ” คำที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นั้นถูกให้ความหมายผ่านเจ้าของตัวตน คนรอบข้าง สังคมและสื่อมวลชนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เมื่อเปรียบเทียบกับคำว่า “กะเทย" พบว่า มีการใช้คำเหล่านั้นเพื่อเรียกกลุ่มคนที่มีวิถีเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิดของตนถูกใช้อย่างแพร่หลาย เมื่อฉันมองดูปรากฏการณ์นี้ด้วยที่ฉันเป็นกะเทยคนหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางกระแสของการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ทางสังคมที่เป็นพื้นที่ของผู้ชายเสียส่วนใหญ่ ฉันจึงเกิดความรู้สึกกังวลว่า การสร้างคำใหม่ขึ้นมานั้นไม่สามารถช่วยลบความคิดในเชิงลบของคนอื่นๆที่มีต่อกะเทยได้  

เมื่อสังคมเมืองเติบโต อัตลักษณ์ของสมาชิกในสังคมก็มีความหลากหลายมากขึ้นประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่อยู่ในระดับชนชั้นทางสังคมที่แตกต่าง และกลุ่มคนแต่ละกลุ่มก็มีการใช้ภาษาที่ต่างกัน พบว่า คำว่า “กะเทย” ยังคงถูกใช้ทั่วไปทั้งจากคนที่เป็นกะเทยและคนอื่นๆ โดยเฉพาะสังคมชนบท ซึ่งคำว่า “กะเทย” ยังหมายรวมถึงกลุ่มชายรักชาย ที่มีบทบาท และการแสดงออกทางเพศแบบผู้หญิง ทั้งนี้อารมณ์ความรู้สึกที่แฝงไปกับการใช้คำว่า “กะเทย”ในสังคมชนบท ไม่จำเป็นต้องให้ความรู้สึกในเชิงลบเสมอไป แม้ว่าจะมีการใช้คำว่า “กะเทย” ในเชิงล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งอยู่บ้าง เมื่อเปรียบเทียบสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยคนชนชั้นกลางจำนวนมาก กะเทยกลับไม่พอใจหรือรู้สึกว่าคำว่า “กะเทย” มีความหมายในเชิงลบ กะเทยชนชั้นกลางจำนวนมากยินดีที่จะใช้คำอื่นๆ เช่น สาวประเภทสอง หรือผู้หญิงข้ามเพศ เพื่อเรียกแทนตัวเอง แม้ว่าพวกเธอจำนวนหนึ่งยังคงใช้คำว่า “กะเทย” ในกลุ่มเพื่อนกะเทยด้วยกัน ปรากฏการณ์นี้มีความเชื่อมโยงกับการเมืองเรื่องตัวตนทางเพศเพื่อช่วงชิงพื้นที่ของผู้หญิงที่แสนจะเบียดขับในสังคมไทยแบบชายเป็นใหญ่ กะเทยพร้อมจะประกาศตัวเสมอว่า ฉันคือผู้หญิงที่เป็นรองจากผู้หญิงโดยกำเนิด เพราะฉันเป็นสาว “ประเภทสอง”และฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง จากการเปลี่ยนแปลงสรีระร่างกาย หรือการ “ข้ามเพศ” ที่จำเป็นต้องมีทุนทางสังคมอยู่ไม่น้อยจึงจะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในการปรับเปลี่ยนร่างกายตามระบอบสังคมทุนนิยม  

ฉันเป็นคนหนึ่งที่เติบโตในสังคมชนชั้นกลาง สำหรับฉัน เมื่อย้อนกลับไปหลายปีก่อนตอนที่ฉันยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นเพศอะไร รู้เพียงแค่ว่าเรามีอวัยวะเพศชาย คนอื่นเรียกเราเป็นเด็กชาย เราก็เป็นเด็กชายหากแต่ความเป็นจริงนั้นฉันรู้สึกแตกต่างจากเด็กชายคนอื่นๆ คำว่า “กะเทย” สำหรับฉันเป็นคำที่ทำร้ายจิตใจ และสร้างความรู้สึกอึดอัด แม้ว่าสุดท้ายฉันจะเรียนรู้ตัวตนทางเพศจากสิ่งที่คนอื่นพยายามหยิบยื่นให้ ฉันจึงเป็นคนหนึ่งที่เลือกที่จะไม่ใช้คำว่า “กะเทย” แทนตัวเอง หรือเรียกคนอื่นๆ เพราะเห็นว่าคำว่า “กะเทย”เป็นคำที่หยาบคาย และแฝงไปด้วยประสบการณ์เจ็บปวด เมื่อเป็นเช่นนี้ฉันจึงเลือกที่จะเรียกตนเองว่า “สาวประเภทสอง” และใช้คำเรียกดังกล่าวมานานหลายปี จนกระทั่งฉันมีอายุมากขึ้น ฉันรู้สึกอึดอัดน้อยลงกับตัวตนทางเพศของตัวเอง คำว่า “กะเทย”ไม่ได้ทำร้ายฉันอีกต่อไป

ฉันเข้าใจถ้ากะเทยคนอื่นๆจะไม่ชอบถูกเรียกว่า“กะเทย” เพราะชุดประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่ต่างกันของพวกเรา กะเทยหลายคนเลี่ยงความรู้สึกอึดอัดด้วยการใช้คำอื่นๆในการเรียกแทนตนเอง และสะดวกใจที่จะได้ยินคนรอบข้างเรียกตนเองด้วยคำที่ตัวเองได้เลือก แม้ว่าความหมายความรู้สึกที่ผูกติดกับคำนั้นยังแฝงไปด้วยอคติ สำหรับฉันฉันได้เลือกแล้วที่จะใช้คำว่า “กะเทย” เพื่อเรียกแทนตัวเองด้วยหวังว่าการหยิบใช้คำว่า “กะเทย” ของฉัน จะสามารถรื้อถอนความหมายในเชิงลบที่ผูกติดกับคำว่า“กะเทย” เพราะแทนที่จะให้คนอื่นเป็นคนกำหนดความหมาย และหยิบยื่นประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการโดนกลั่นแกล้งด้วยคำว่า “กะเทย” ฉันกลับหยิบใช้คำภาษาไทยสองพยางค์คำนี้ด้วยความรู้สึกในเชิงบวกและภาคภูมิใจ พร้อมกับสื่อสารไปให้กับคนอื่นๆ โดยมีนัยยะของการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ทางสังคมของเพศที่สาม ที่เราต้องมีพื้นที่ของเราเอง แทนที่จะแฝงรวมไปกับเพศชายหรือเพศหญิงในสังคมที่มักจะทำให้กลุ่มคนเล็กๆกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่โดนลิดรอนสิทธิฯอยู่บ่อยครั้ง  

เมื่อ “อัตลักษณ์” เป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินชีวิตในสังคม สิ่งสำคัญคือ การเคารพในตัวตนที่คนคนหนึ่งได้เลือก และปฏิบัติต่อพวกเขาตามวิถีชีวิตที่เขาเลือก สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตคือ การเป็นเจ้าของภาษา พูดภาษาของเราเอง สร้างความสบายใจมากกว่าการหยิบยืมภาษาของคนอื่นมาใช้… ฉันจึงรักการเป็น “กะเทย” ของฉันโดยที่ใครก็มาเอาความรู้สึกภาคภูมิใจนี้ไปจากฉันไม่ได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่