ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เถ้าแก่ชายแดน รวมถึงนายจ้างแรงงานต่างด้าวทั้งภาคการค้า อุตสาหกรรม และการเกษตร ผนึกกำลังครั้งใหญ่ร้องแม่ทัพภาคที่ 3 ไล่ “ผู้ว่าฯ เมืองตาก” พ้นพื้นที่ อ้างถูกรีดจนซีด “ขมขื่น” กันทั่วหน้า ตั้งแต่งบปรับปรุงพื้นที่ริมปิงหน้าจวน งบหนุนทีมฟุตบอล “ตากเอฟซี” ยันงบสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนฯ
รายงานข่าวจากจังหวัดตากแจ้งว่า ในการรวมตัวของผู้ประกอบการค้า เถ้าแก่โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้ประกอบการภาคการเกษตรในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก รวมกว่า 500 คน นำโดยหอการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เพื่อเข้าร้องเรียนต่อ ฉก.ร.4 อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ตัวแทนผู้ประกอบการได้ยื่นหนังสือเลขที่ พิเศษ 006/2558 เรื่องขอผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก เพื่อรอบังคับใช้พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 14 ผ่านไปยังแม่ทัพภาคที่ 3 ด้วย
โดยระบุว่า ตามที่ประเทศไทยถูกจับตามองจากต่างประเทศในประเด็นเรื่องแรงงานเด็ก แรงงานบังคับจากรายงานบัญชีรายชื่อสินค้าที่ผลิตจากแรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบุสินค้าไทย มีเหตุผลเชื่อว่าได้ผลิตจากแรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับจำนวน 5 รายการ คือ กุ้ง, เสื้อผ้า (เครื่องนุ่งห่ม), อ้อย, ปลา และสื่อลามก
และได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จัดให้ประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับ 3 กลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นกรณีพิเศษ (Tire 3 Watch List) ด้วยเหตุผลที่รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่
กรณีดังกล่าวนั้น ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และความร่วมมือด้านแรงงานสัมพันธ์ โดยใช้หลักสุจริตใจผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนทุกภาคส่วน เช่น ภาคเกษตรกรรม, ภาคการค้า-การบริการ, ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พยายามกวดขันการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับอย่างจริงจัง
ในความเป็นจริงยังไม่เคยมีการตรวจพบ “แรงงานบังคับ” ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก และสถานประกอบการทุกแห่งพร้อมให้ภาครัฐเข้าตรวจสอบใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับอย่างละเอียด ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดได้เข้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากโดยเฉพาะ อ.แม่สอด มีสถานประกอบการต่างๆ จำนวนมาก ทั้งภาคการค้า-การผลิต, การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งใช้แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมากกว่า 300 แห่ง เป็นวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสองฝั่งที่ไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์การค้ามนุษย์ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก โดยเฉพาะใน อ.แม่สอด ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทางของขบวนการค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าวดังกล่าวมีผลประโยชน์ตอบแทนจำนวนมาก และไม่สามารถปราบปรามได้หมด นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการชักชวนแรงงานต่างด้าวจากแม่สอดเข้าไปทำงานในพื้นที่ชั้นใน เกิดผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการ ทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผู้ประกอบการนำไปจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) ตามประกาศ คสช. เคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ชั้นในจำนวนมาก จนเกิดการขาดแคลน ทำให้ต้องรับแรงงานใหม่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเข้ามาทำงานไปพลางก่อน
ทั้งนี้ เพื่อทดแทนแรงงานที่ได้หลบหนีจากนายจ้างไปจากการชักชวนของขบวนการค้ามนุษย์ที่ใช้ช่องว่างของกฎหมายหรือประกาศกระทรวงมหาดไทยในการนำแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าพื้นที่ชั้นในของประเทศได้อย่างเสรีและอย่างเปิดเผย สถานประกอบการบางแห่งแรงงานต่างด้าวที่ทำบัตรและขอใบอนุญาตทำงานแล้วหลบหนีนายจ้างไปแล้วเกินกว่าครึ่ง นายจ้างบางรายเหลือแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แค่ 3- 4 คนเท่านั้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากขอความอนุเคราะห์พิจารณาผ่อนผันให้สถานประกอบการในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก โดยเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ใช้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้จดทะเบียน และทำงานอยู่แล้วในสถานประกอบการ ณ ขณะนี้ไปก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนการขาดแคลนแรงงาน เพราะหากไม่มีแรงงานผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตสินค้าส่งลูกค้าได้ทันตามคำสั่งซื้อที่รับไว้ล่วงหน้า และหากผลิตส่งลูกค้าไม่ทันตามกำหนดจะถูกปรับคิดเป็นเงินหลายเท่า
เพื่อรอการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 14 ซึ่งจะนำมาใช้สำหรับการบริหารจัดการแรงงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นแรงงานที่สามารถใช้ได้ตลอดเวลาในลักษณะไป-กลับ, เป็นช่วงระยะเวลา และตามฤดูกาล ซึ่งกระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการโดยเร่งด่วนอยู่ในขณะนี้
พร้อมกันนั้น กลุ่มผู้ประกอบการ-นายจ้างในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากยังได้ระบุถึงปัญหาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะเรื่อง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตาก” ที่ต้องดำเนินการแก้ไขโดยด่วนอีกว่า กำลังประสบปัญหาหลายๆ ด้านจากผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ทำงานในลักษณะสร้างภาพผักชีโรยหน้า สร้างความเดือดร้อนแก่พ่อค้าภาคเอกชนในพื้นที่อย่างยิ่ง
หนังสือร้องเรียนจากผู้ประกอบการ-นายจ้างชายแดนจังหวัดตากระบุด้วยว่า งานที่เกิดขึ้น และสามารถขับเคลื่อนระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณที่เรี่ยไรมาจากภาคเอกชนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตากขอสนับสนุนเชิงบังคับข่มขู่ สร้างความขมขื่นให้ภาคเอกชน ประชาชนอย่างมาก และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างเช่น กรณีเรี่ยไรเงินสร้างปรับปรุงบริเวณริมแม่น้ำปิงบริเวณหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้งบประมาณที่เรี่ยไรเชิงบังคับให้ภาคเอกชนสนับสนุน รายใดไม่สนับสนุนก็เกิดปัญหาไม่สนองนโยบาย, กรณีการจัดซื้อหรือจัดตั้งทีมฟุตบอลตากเอฟซี งบประมาณที่ซื้อทีมฟุตบอลมาดำเนินการ โดยเรี่ยไรและบังคับให้ภาคเอกชน พ่อค้า นักธุรกิจ สนับสนุนรายละ 500,000 บาท, 200,000 บาท, 100,000 บาท หรือ 50,000 บาท เป็นต้น
ในหนังสือดังกล่าวยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า
1. ในการขอเงินภาคเอกชนจำนวนหลายล้านบาทเพื่อทำทีมฟุตบอลตากเอฟซี เงินจำนวนนี้ไม่ทราบอยู่ในประเป๋าใคร
2. การจัดตั้งสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ อ.แม่สอด ซึ่งมีการจ้างกองเลขานุการผู้หญิงจำนวน 4-5 คน เอางบประมาณจากไหนมาจ้าง
3. การประชุมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพิเศษมีประชุมทุกวันอังคาร และวันพุธ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมให้ภาคเอกชนจ่ายค่าอาหารกลางวันเป็นประจำ
4. การจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการเกือบทุกกิจกรรมภาคเอกชนเป็นผู้จัดหางบประมาณทั้งสิ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ-นายจ้างแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนตากได้เรียกร้องให้แม่ทัพภาคที่ 3 ผ่อนผันการจับกุมแรงงานต่างด้าวในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก (ไปพลางก่อน) เพื่อรอการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทำงานของแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 14 ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงในการบริหารแก้ไขปัญหาแรงงานในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก และย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดตากออกนอกพื้นที่จังหวัดตาก เนื่องจากมีพฤติกรรมสร้างความเดือดร้อนให้แก่พ่อค้า ประชาชน และสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของนักปกครองระดับสูง
✿ อึ้ง! เถ้าแก่ชายแดนตากร้องแม่ทัพภาค 3 ไล่ผู้ว่าฯ อ้างถูกรีดจนซีด ขมขื่นทั่วหน้า ✿
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เถ้าแก่ชายแดน รวมถึงนายจ้างแรงงานต่างด้าวทั้งภาคการค้า อุตสาหกรรม และการเกษตร ผนึกกำลังครั้งใหญ่ร้องแม่ทัพภาคที่ 3 ไล่ “ผู้ว่าฯ เมืองตาก” พ้นพื้นที่ อ้างถูกรีดจนซีด “ขมขื่น” กันทั่วหน้า ตั้งแต่งบปรับปรุงพื้นที่ริมปิงหน้าจวน งบหนุนทีมฟุตบอล “ตากเอฟซี” ยันงบสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนฯ
รายงานข่าวจากจังหวัดตากแจ้งว่า ในการรวมตัวของผู้ประกอบการค้า เถ้าแก่โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้ประกอบการภาคการเกษตรในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก รวมกว่า 500 คน นำโดยหอการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เพื่อเข้าร้องเรียนต่อ ฉก.ร.4 อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ตัวแทนผู้ประกอบการได้ยื่นหนังสือเลขที่ พิเศษ 006/2558 เรื่องขอผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก เพื่อรอบังคับใช้พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 14 ผ่านไปยังแม่ทัพภาคที่ 3 ด้วย
โดยระบุว่า ตามที่ประเทศไทยถูกจับตามองจากต่างประเทศในประเด็นเรื่องแรงงานเด็ก แรงงานบังคับจากรายงานบัญชีรายชื่อสินค้าที่ผลิตจากแรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบุสินค้าไทย มีเหตุผลเชื่อว่าได้ผลิตจากแรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับจำนวน 5 รายการ คือ กุ้ง, เสื้อผ้า (เครื่องนุ่งห่ม), อ้อย, ปลา และสื่อลามก
และได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จัดให้ประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับ 3 กลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นกรณีพิเศษ (Tire 3 Watch List) ด้วยเหตุผลที่รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่
กรณีดังกล่าวนั้น ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และความร่วมมือด้านแรงงานสัมพันธ์ โดยใช้หลักสุจริตใจผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนทุกภาคส่วน เช่น ภาคเกษตรกรรม, ภาคการค้า-การบริการ, ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พยายามกวดขันการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับอย่างจริงจัง
ในความเป็นจริงยังไม่เคยมีการตรวจพบ “แรงงานบังคับ” ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก และสถานประกอบการทุกแห่งพร้อมให้ภาครัฐเข้าตรวจสอบใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานบังคับอย่างละเอียด ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดได้เข้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากโดยเฉพาะ อ.แม่สอด มีสถานประกอบการต่างๆ จำนวนมาก ทั้งภาคการค้า-การผลิต, การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งใช้แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมากกว่า 300 แห่ง เป็นวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสองฝั่งที่ไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์การค้ามนุษย์ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก โดยเฉพาะใน อ.แม่สอด ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทางของขบวนการค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าวดังกล่าวมีผลประโยชน์ตอบแทนจำนวนมาก และไม่สามารถปราบปรามได้หมด นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการชักชวนแรงงานต่างด้าวจากแม่สอดเข้าไปทำงานในพื้นที่ชั้นใน เกิดผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการ ทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผู้ประกอบการนำไปจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) ตามประกาศ คสช. เคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่ชั้นในจำนวนมาก จนเกิดการขาดแคลน ทำให้ต้องรับแรงงานใหม่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเข้ามาทำงานไปพลางก่อน
ทั้งนี้ เพื่อทดแทนแรงงานที่ได้หลบหนีจากนายจ้างไปจากการชักชวนของขบวนการค้ามนุษย์ที่ใช้ช่องว่างของกฎหมายหรือประกาศกระทรวงมหาดไทยในการนำแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าพื้นที่ชั้นในของประเทศได้อย่างเสรีและอย่างเปิดเผย สถานประกอบการบางแห่งแรงงานต่างด้าวที่ทำบัตรและขอใบอนุญาตทำงานแล้วหลบหนีนายจ้างไปแล้วเกินกว่าครึ่ง นายจ้างบางรายเหลือแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แค่ 3- 4 คนเท่านั้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากขอความอนุเคราะห์พิจารณาผ่อนผันให้สถานประกอบการในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก โดยเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ใช้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้จดทะเบียน และทำงานอยู่แล้วในสถานประกอบการ ณ ขณะนี้ไปก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนการขาดแคลนแรงงาน เพราะหากไม่มีแรงงานผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตสินค้าส่งลูกค้าได้ทันตามคำสั่งซื้อที่รับไว้ล่วงหน้า และหากผลิตส่งลูกค้าไม่ทันตามกำหนดจะถูกปรับคิดเป็นเงินหลายเท่า
เพื่อรอการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 14 ซึ่งจะนำมาใช้สำหรับการบริหารจัดการแรงงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นแรงงานที่สามารถใช้ได้ตลอดเวลาในลักษณะไป-กลับ, เป็นช่วงระยะเวลา และตามฤดูกาล ซึ่งกระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการโดยเร่งด่วนอยู่ในขณะนี้
พร้อมกันนั้น กลุ่มผู้ประกอบการ-นายจ้างในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากยังได้ระบุถึงปัญหาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะเรื่อง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตาก” ที่ต้องดำเนินการแก้ไขโดยด่วนอีกว่า กำลังประสบปัญหาหลายๆ ด้านจากผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ทำงานในลักษณะสร้างภาพผักชีโรยหน้า สร้างความเดือดร้อนแก่พ่อค้าภาคเอกชนในพื้นที่อย่างยิ่ง
หนังสือร้องเรียนจากผู้ประกอบการ-นายจ้างชายแดนจังหวัดตากระบุด้วยว่า งานที่เกิดขึ้น และสามารถขับเคลื่อนระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณที่เรี่ยไรมาจากภาคเอกชนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตากขอสนับสนุนเชิงบังคับข่มขู่ สร้างความขมขื่นให้ภาคเอกชน ประชาชนอย่างมาก และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างเช่น กรณีเรี่ยไรเงินสร้างปรับปรุงบริเวณริมแม่น้ำปิงบริเวณหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้งบประมาณที่เรี่ยไรเชิงบังคับให้ภาคเอกชนสนับสนุน รายใดไม่สนับสนุนก็เกิดปัญหาไม่สนองนโยบาย, กรณีการจัดซื้อหรือจัดตั้งทีมฟุตบอลตากเอฟซี งบประมาณที่ซื้อทีมฟุตบอลมาดำเนินการ โดยเรี่ยไรและบังคับให้ภาคเอกชน พ่อค้า นักธุรกิจ สนับสนุนรายละ 500,000 บาท, 200,000 บาท, 100,000 บาท หรือ 50,000 บาท เป็นต้น
ในหนังสือดังกล่าวยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า
1. ในการขอเงินภาคเอกชนจำนวนหลายล้านบาทเพื่อทำทีมฟุตบอลตากเอฟซี เงินจำนวนนี้ไม่ทราบอยู่ในประเป๋าใคร
2. การจัดตั้งสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ อ.แม่สอด ซึ่งมีการจ้างกองเลขานุการผู้หญิงจำนวน 4-5 คน เอางบประมาณจากไหนมาจ้าง
3. การประชุมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพิเศษมีประชุมทุกวันอังคาร และวันพุธ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมให้ภาคเอกชนจ่ายค่าอาหารกลางวันเป็นประจำ
4. การจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการเกือบทุกกิจกรรมภาคเอกชนเป็นผู้จัดหางบประมาณทั้งสิ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ-นายจ้างแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนตากได้เรียกร้องให้แม่ทัพภาคที่ 3 ผ่อนผันการจับกุมแรงงานต่างด้าวในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก (ไปพลางก่อน) เพื่อรอการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทำงานของแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 14 ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงในการบริหารแก้ไขปัญหาแรงงานในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก และย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดตากออกนอกพื้นที่จังหวัดตาก เนื่องจากมีพฤติกรรมสร้างความเดือดร้อนให้แก่พ่อค้า ประชาชน และสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของนักปกครองระดับสูง