วสท.วิเคราะห์ความเสียหายแผ่นดินไหวในเนปาล

กระทู้ข่าว
เนปาลวิปโยคจากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวถล่มกรุงกาฏมาณฑุและเมืองใกล้เคียง ได้สร้างความตระหนกและสะพรึงกลัวต่อความเสียหายรุนแรงในชีวิต โบราณสถานและที่อยู่อาศัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ด้วยการสนับสนุนจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และการบินไทย ในชื่อโครงการ Thailand Hugs for Nepal ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมลงพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวเนปาล เผยความเสียหายแผ่นดินไหวเนปาล มูลค่าความเสียหายสูงถึง 20% ของจีดีพีเนปาล ผลกระทบในวงกว้าง วสท.พร้อมร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพในเนปาล สมาคมเทคโนโลยีแผ่นดินไหวแห่งชาติ (NSET) และสถาบันการศึกษาชั้นนำของเนปาลมุ่งกู้ภัยและบรรเทาความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
    ศ.ดร.สุชัชวีร์   สุวรรณสวัสดิ์  (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “โครงการ Thailand Hugs for Nepal ระหว่างวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.), สจล.และการบินไทย ขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญและทีมงานนักศึกษาที่เดินทางลงสำรวจพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการวิศวกรรมที่นครกาฏมาณฑุ เมื่อวันที่ 29 เมษายนถึง 1 พฤษภาคม 2558 เป็นความเอื้ออาทรระหว่างประชาชนชาวไทยและชาวเนปาล ซึ่งเป็นมิตรประเทศและเป็นแดนกำเนิดของพระพุทธเจ้า ทีมงานชุดแรกนี้ประกอบด้วย ศ.กิตติคุณ ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ อุปนายก วสท., รศ.ดร.คมสัน มาลีสี, ผศ.ดร.สุพจน์ ศรีนิล, ผศ.ดร.นันทวัฒน์ จรัสโรจน์ธนเดช, นายภาณุมาศ ไทรงาม นักศึกษาป.โท และ นายอัมฤต ชริทธา นักศึกษาป.โท ชาวเนปาล ได้เป็นตัวแทนประชาชนคนไทยที่ได้แสดงความห่วงใยและความเอื้ออาทรของเราที่มีต่อชาวเนปาล ซึ่งเป็นมิตรประเทศและเป็นแดนกำเนิดขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพุทธศาสนาที่ดำรงมากว่า 2,600 ปี ทีมผู้เชี่ยวชาญได้ประสานงานกับสถานฑูตไทยในเนปาล กระทรวงการต่างประเทศ, สมาคมเทคโนโลยีแผ่นดินไหวแห่งชาติ หรือ National Society for Earthquake Technology (NSET) และชุมชนในเนปาล ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวในเนปาลที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 เม.ย.2558  ขนาดรุนแรง 7.9 แมกนิจูด ยอดผู้เสียชีวิตในเนปาลอย่างเป็นทางการ กว่า 7,500 คน บาดเจ็บ 14,398 คน จำนวนบ้านเรือนพังทลาย 160,786 หลัง จำนวนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายอีก 143,673 หลัง นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค คาดความเสียหาย 5,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของจีดีพีเนปาล ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเนปาลกว่า 8 ล้านราย หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ การกู้ภัยในพื้นที่ห่างไกลเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและความต้องการในอนาคตอันใกล้เป็นขั้นตอนการตรวจสอบอาคาร ประเมินผล เยียวยาและฟื้นฟูต่อไป
           แม้จะมีการวิจัยหลายทศวรรษแต่เราไม่อาจคาดเดาแผ่นดินไหวได้ ในด้านเทคโนโลยีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวซึ่งมีราคาสูงมากมีใช้ในชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ญี่ปุ่นและเม็กซิโก ประกอบด้วยสถานีวัดความสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวซึ่งสามารถจับคลื่นพี ที่เดินทางผ่านเปลือกโลกได้เร็วกว่าคลื่นเอส อันเป็นคลื่นที่ทำให้แผ่นดินเกิดการสั่นไหว สามารถเตือนภัยได้ไม่กี่นาทีก่อนเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะมีเวลาเพียง 15-20 วินาที ในการหาที่หลบหรือวิ่งออกจากอาคาร  ส่วนระบบเตือนภัยในญี่ปุ่นนับแต่ปี 2550 จะเชื่อมโยงเป็นคำเตือนไปยังคอมพิวเตอร์ หน่วยงานท้องถิ่นและอื่นๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รวมถึงโรงงานต่างๆจะปิดทำการอัตโนมัติ
          ดังนั้นการเตรียมความพร้อมและเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับคนไทยและเนปาล พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนและเอเซีย ทั้งด้านวิศวกรรม ข้อมูล นวัตกรรม การกู้ภัยแผ่นดินไหว จำเป็นต้องดำเนินการอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างระบบการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่