๙ แล้ว ๖ ๖ แล้ว ๙ หลังไมค์ข้อความนี้ ตอบค่อนข้างยากเพราะว่า.....

คุณ chacham หลังไมค์ถามมาหลายวันแล้ว




ที่ตอบค่อนข้างยาก  
ก็เพราะผมมีความเชื่อว่า

ในระยะยาวๆนับสิบปี
นักลงทุนแต่ละคน  
จะขาดทุนหรือได้กำไร  
ก็ขึ้นอยู่การพัฒนาความรู้ ความสามารถตามปัจจัยพื้นฐานสะสมของแต่ละคน  
ว่าทำได้ดีขึ้น หรือทำได้แย่ลง

ทำได้ดีขึ้น จากตอนที่พอร์ตแย่ที่สุด  พอร์ตก็จะโต
ทำได้แย่ลง  จากตอนที่พอร์ตดีที่สุด  พอร์ตก็จะไม่โตหรือกลับไปขาดทุน
ทำได้ดีขึ้น  ตอนที่ตลาดหุ้นไม่เป็นใจ  พอร์ตก็จะโตได้มากๆ
ทำได้แย่ลง  จากตอนที่ตลาดหุ้นเป็นใจ  พอร์ตก็อาจขาดทุนหนัก อาจจะถึงขั้นหมดตัว

ผมมีความเชื่อว่า  
มันจะมีจุดๆหนึ่ง ในชีวิตการลงทุนของเรา    
ที่เราจะได้กำไรมากๆ  และขาดทุนมากๆ
ถ้าเราได้กำไรมามากๆแล้ว  และพยายามใช้ความรู้ ความสามารถที่มีมากขึ้ัน
ทำให้ไม่ขาดทุนมากๆอีก   ยังไงก็อยู่ในตลาดหุ้นไปตลอดชีวิต



คุณ chacham  ถามในแง่การขาดทุนมากๆ
ก็ขอตอบไปตามนี้ครับ

๑  ตั้งแต่ลงทุนมา  ถือว่าตัวเองขาดทุนหนักสุดๆ กี่ครั้ง


คำตอบ    ตั้งแต่ลงทุนมา  ผมถือว่าตัวเองขาดทุนหนักสุดๆ  ๒ ครั้ง

ครั้งที่หนึ่ง  เกิดในช่วงเริ่มเดินทางแสวงหาเงินในตลาดหุ้น   ตอนนั้นถึงขึ้นหมดตัว
ได้เล่ารายละเอียดไว้พอสมควร ในคลิ๊บนี้  ใครไม่เคยฟัง ลองฟังดู

https://www.youtube.com/watch?v=8E_5lGQgc0A

ครั้งที่สอง  เกิดในข่วงฟองสบู่แตก  ขาดทุนเป็นจำนวนเงินมากกว่าครั้งแรก แต่ไม่ถึงขั้นหมดตัว

๒   และแต่ละครั้งที่ขาดทุนหนักๆ  มีสาเหตุเหมือนกันหรือไม่ ?



คำตอบ  แต่ละครั้งที่ขาดทุนหนักๆ  มีสาเหตุไม่เหมือนกัน

ครั้งแรก ขาดทุนหนัก   สาเหตุมาจากโลภ เกินความรู้ ความสามารถของตัวเองล้วนๆ
อยากรวยเร็วๆ  ก็เลยซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้น  ซึ่งตอนนั้น โบรกเกอร์ปล่อยให้ในอัตราสูงลิบ  
คือซื้อหุ้นหนึ่งร้อยบาท จะเป็นเงินลูกค้า ๓๐ บาท  เงินกู้  ๗๐ บาท

พอหุ้นในพอร์ต  ขาดทุนเกิน สามสิบเปอร์เซนต์  ก็เท่ากับหมดตัวพอดี  

แถมถ้ามูลค่าพอร์ตลดลงมากๆ  ภาระหนี้จะซ้ำเติมพอร์ตให้กลายเป็นคนล้มละลายได้
(มีเพื่อนในชีวิตจริงบางท่าน  ถึงขึ้นกลายเป็นบุคคลล้มละลายจากการใช้มาร์จิ้นซื้อหุ้น ในช่วงก่อนฟองสบู่แตก)

ขาดทุนครั้งนั้น  ทำให้ผมไม่เคยมีความคิดจะใช้เงินกู้ซื้อหุ้นอีกเลย
แม้แต่ตอนซับไพร์ม  ซึ่งแต้มต่อของยีลด์ปันผลจากหุ้นสูงมากๆ
สูงขนาด  เอายีลด์ปันผล  มาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ได้อย่างสบายๆ ก็ไม่กล้าใช้มาร์จิ้น

ซึ่งในตอนซับไพร์ม  เซียนวีไอระดับแถวหน้าหลายท่าน  
ที่กล้าใช้มาร์จิ้นไปตามความรู้ ความสามารถที่ตัวเองมีอยู่
พอร์ตเลยก้าวกระโดด ครั้งใหญ่อีกครั้ง
ส่วนผม  ไม่กล้าและไม่เคยคิดจะใช้เงินกู้  
แม้ว่าเหตุผลในการกู้เงินมาซื้อหุ้นจะดีเพียงไรก็ตาม
เรียกว่า  เราไม่ยอมทำอะไร  เกินกว่าที่เรารู้ และเชื่อว่าตัวเองจะทำได้ (โดยไม่เครียดเพราะเคยมีบทเรียนมาแล้ว)

ครั้งที่สอง  ขาดทุนเป็นจำนวนเงินและจำนวนเปอร์เซนต์ของพอร์ต  หนักกว่าครั้งแรกมาก
คือขาดทุนประมาณ ๖๕ %  แต่ครั้งนี้ไม่หมดตัว

เพราะว่า

มันเป็นการขาดทุนจากเงินของตัวเองล้วนๆ  


เรียกว่าผมรอดหายนะหมดตัว จากช่วงฟองสบู่แตกได้
ก็เพราะใช้เงินตัวเองซึ้อหุ้นที่มีหนี้สินต่อทุนต่ำๆ
ทำให้ขาดทุนค่อนข้างน้อย ไปกับบริษัทที่วัดค่าดีอี ไม่ได้อย่างธนาคาร ไฟแนนซ์
และบริษัทที่มีค่าดีอี สูงลิบลิ่วอย่างอสังหาริมทรัพย์  
พอร์ตโดยรวมเลยขาดทุนไปแค่  หกสิบห้าเปอร์เซนต์ของมูลค่าพอร์ต


สาเหตุที่ขาดทุนหนักในครั้งที่สอง   จึงไม่ใช่เรื่องของมาร์จิ้น
แต่เป็นเรื่องของ "ไม่ขาย ไม่ขาดทุน"  
ซึ่งจริงๆแล้ว  เราจะไม่ขาย ไม่ขาดทุนก็ได้
แต่เราต้องมีตัวชี้วัดให้ได้ว่า  ระดับไหนจึงจะไม่ขาย ไม่ขาดทุนได้
ช่วงฟองสบู่แตก  ต่อให้หุ้นปัจจัยพื้นฐานดีแค่ไหนก็ลง
มันถูกเทขาย  เพราะผลประกอบการทรุดฮวบ และบางส่วนถูกเทขายเพื่อเอาเงินไปโปะหุ้นที่ขาดทุนหนักกว่า

คงสรุปได้ว่า  ขาดทุนหนักในครั้งที่สอง  เพราะ ไม่ขาย ไม่ขาดทุน
โดยไม่มีตัวชี้วัด   นึกแค่ต้นทุนหุ้นในพอร์ตของเราสูง กฺ็เลยไม่กล้าขาย
แต่ก็มีบางคนอีกเช่นกัน  ที่ยอมขายขาดทุน  โดยเอาแค่ราคาหุ้นเป็นตัวชี้วัด
ซึ่งผลลัพธ์กลับใกล้เคียงกับ  ไม่ขาย ไม่ขาดทุน
เคยเห็นในห้องสินธรหลายครั้ง  ที่เพื่อนสมาชิกเอาพอร์ตยอมขายตัดขาดทุนมาแสดง
ซึ่งพอร์ตขาดทุนหนักมาก จากการขายตัดขาดทุน

ผมว่า ไม่ขาย ไม่ขาดทุน  กับยอมขายตัดขาดทุน
จะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน   กับคนที่ใช้เครื่องมือหมายเลข  ๗ เป็นหลัก


อมยิ้ม06อมยิ้ม06อมยิ้ม06อมยิ้ม06

+

๓  ตลาดหุ้นช่วงไหน  ที่มีความกดดันต่อสภาพจิตใจมากที่สุด ?
และมีผลอย่างสำคัญต่อพอร์ตโดยรวมในเวลาต่อมา  


คำตอบ    คงไม่เหมือนที่หลายท่านคิดไว้ในใจ  

ตอนที่ผมเครียดมากที่สุด  กลับไม่ใช่ตอนที่ขาดทุนหนักจากสองครั้งที่บอกไว้
ที่ไม่ค่อยเครียดหนัก ก็เพราะดันเชื่อว่า  
ตัวเองมีต้นทุนทางสังคมดี   มีคนคอยช่วยเหลือแบกรับความเสียหายให้ได้

แต่ที่เครียดหนัก  กลับเป็นปีที่ผมต้องทนนั่งดูคนอื่นๆ  กำไรทุกนาที ทุกชั่วโมง ทุกวัน  ทุกสัปดาห์  ทุกเดือน
ในช่วงครึ่งปีหลังของ  พ.ศ. ๒๕๓๖  ที่หุ้นไม่ว่าดีหรือเน่า
ขอให้มีสภาพคล่องในการซื้อขาย
พากันไต่ระดับไปทำออลไทม์ในเดือนมกราคม  ๒๕๓๗

คือเราหาเหตุผลให้ต้วเองไม่ได้ว่า  ทำไมหุ้นมันขึ้นบ้าบอคอแตกแบบนั้น
โดยมีพวกกูรู้ท้ังหลาย  พากันเชียร์ว่าหุ้นจะไปต่อ
นักลงทุนไทยรายย่อยเกือบทั้งตลาด  กลายเป็นเหยื่อของกองทุนอีแร้งฝรั่งตาน้ำข้าว

การระงับความโลภของตัวเองไว้ได้  ในช่วงที่ใครๆได้กำไรกันอย่างไร้เหตุผล
เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก  

แต่การผ่านเหตุการณ์ในปีนั้นมาได้
ทำให้ผมสามารถนั่งดูราคาหุ้นได้ โดยไม่เครียดมากเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว

ตอนหุ้นขึ้นแบบ ผมหาเหตุผลให้ไม่ได้ ในปี ๒๕๔๕
ก็สามารถทนดูหุ้นบางตัวขึ้นยี่สิบเท่า  ไปจนถึง สามร้อยกว่าเท่าได้อย่างสงบ
(วอร์แรนท์ของสยามพาณิชย์ลีลซิ่ง ซึ่งออกจากตลาดหุ้นไปแล้ว ขึ้นจาก สิบสตางค์ ไปสูงสุดที่สามสิบห้าบาท)

และล่าสุด  ก็ปลายปีที่แล้ว  ที่หุ้นต้มตุ๋นในตลาด mai  พาเหรดกันทำราคาหุ้นแบบไม่ต้องดูเหตุผลอะไรทั้งสิ้น
แค่เจ้ามือใส่เงินเข้าไปทำราคาหุ้น  และทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมวงเชื่อว่า

ตัวเองจะเป็นคนกำไร  ส่วนคนที่จะขาดทุน  คือใครก็ได้ ที่ไม่ใช่ตัวเอง



ราคามันขึ้นแบบไร้เหตุผล จนถึงขั้นเริ่มมีกระทู้เยาะเย้ย คนที่ถือหุ้นตามปัจจัยพื้นฐานออกมาถี่ๆ
ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ได้    
แต่ผมรับได้สบายมากๆ ทั้งราคาหุ้นและกระทู้เยาะเย้ย  
เพราะไม่มีอะไรกดดันสภาพจิตใจ  ได้เท่ากับปี ๒๕๓๖ อีกแล้ว

ผมท่องไว้ในใจดังๆ และจะทำตามโดยเคร่งครัดคือ

อะไรที่ผมเชื่อว่า  มันเกินความรู้ ความสามารถของตัวเอง
ต่อให้โลภกับราคาหุ้นมากแค่ไหน  ก็จะไม่เข้าไปยุ่งกับมัน



คนในตลาดหุ้น ที่หาหลักการอะไรดีๆ ให้ตัวเองไม่ได้
ในที่สุดจิตวิทยามวลชนแบบรวมหมู่
จะทำหน้าที่พาพอร์ตของเราไปเอง  

เวลาได้กำไร  ก็ได้กำไรพร้อมๆกัน
เวลาขาดทุน ก็ขาดทุนพร้อมๆกัน
ถึงขั้นที่เขาเปรียบเปรยกันว่า

"ตอนได้ พากันได้ ตอนตาย ตายยก LINE"



อมยิ้ม06อมยิ้ม06อมยิ้ม06อมยิ้ม06อมยิ้ม06อมยิ้ม06





แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่