แฉ เครื่องดักฟังโทรศัพท์ เชิญชวนขายกันโจ่งครึ่มในโลกอินเตอร์เน็ต

กระทู้คำถาม
เครื่องดักฟังขายว่อนเน็ต 'ทบ.'หวั่นนำไปใช้ผิดทาง
http://www.dailynews.co.th/politics/319948

ทบ.แฉเครื่องดักฟังโทรศัพท์ เชิญชวนขายกันโจ่งครึ่มในโลกอินเตอร์เน็ต เวลานี้มีหลายหน่วยงานครอบครองแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแจ้ง หวั่น "ผู้ไม่หวังดี" นำไปใช้ในทางการเมือง ทำให้สุจริตชนเสียหาย

วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม 2558 เวลา 7:37 น.

กรณีทหารบุกจับ 9 ชาวอิสราเอลที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ขณะกำลังทำการสาธิตเครื่องค้นหาสัญญาณโทรศัพท์ ติดตั้งระบบตรวจจับสัญญาณและประมวลผล เพื่อช่วยให้หน่วยงานสืบสวนสอบสวน และหน่วยงานการข่าวดำเนินอย่างลับๆ ในการบรรลุภารกิจตามวัตถุประสงค์ โดยสามารถตรวจจับสัญญาณ ค้นหา ดักรับ ควบคุม และชี้เป้าหมาย บนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจีเอสเอ็ม 3G และ 4G มาสาธิตการใช้งาน โดยติดตั้งในรถปฏิบัติการ โดยควบคุมตัวไปสอบสวนที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) เนื่องจากการนำเข้าเครื่องทดสอบดังกล่าว ไม่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็น ยุทธภัณฑ์ทางการทหาร ต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมศุลกากร เสียก่อน

แหล่งข่าวจากกองทัพบก (ทบ.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ของพล.ม.2 รอ. ได้รายงานผลการเชิญตัวเจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชนอิสราเอล ซึ่งเสนอขายเครื่องดักฟังรับสัญญาณโทรศัพท์ที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ให้หน่วยเหนือได้รับทราบแล้ว และได้ปล่อยชาวอิสราเอล 9 คนที่เชิญตัวมาขอข้อมูลกลับไปแล้ว จากการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถานฑูตประเทศอิสราเอลประจำประเทศไทย โดยทั้งหมดได้เดินทางออกจากประเทศไทย พร้อมเครื่องมือที่ได้นำมาสาธิตให้ดู สำหรับเครื่องมือดังกล่าวถูกเสนอขายให้กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 เครื่อง เครื่องละ 58 ล้านบาท มีบริษัทนายหน้าค้าอาวุธของไทยที่รับซ่อมรถถังเป็นตัวแทน

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า สำหรับเครื่องดักรับสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการดักฟังโทรศัพท์ได้ดีกว่าเครื่องแจมเมอร์ ซึ่งการทำงานของเครื่องดังกล่าวใช้เปิดสัญญาณโทรศัพท์เป้าหมายได้ โดยการใช้สัญญาณแทรกเข้าไปที่เครื่อง มีการพัฒนาในการดักรับได้ในระบบสัญญาณโทรศัพท์ 4G สำหรับหน่วยงานที่มีการจัดหาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ได้ซื้อมาใช้งานในภารกิจด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2 เครื่อง โดยการจัดหาดังกล่าวต้องมีการอนุมัติจากรมว.กลาโหม ตาม พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ แต่ในปัจจุบันเครื่องประเภทนี้มีการขายกันอย่างกว้างขวาง หลายหน่วยงานได้มีการจัดหา โดยขออนุญาตผ่านคณะกรรมการ กสทช.

"ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่มีการควบคุม มีการขายเครื่องดังกล่าวให้หลายหน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และอีกหลายหน่วย แต่แจ้งจดทะเบียนเป็นเครื่องมือสื่อสารธรรมดา โดยขออนุญาตไปที่ กสทช. ซึ่งเป็นการอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย และแจ้งเป็นเท็จให้ กสทช. เข้าใจว่าเป็นอุปกรณ์การสื่อสารปกติ ตอนนี้ไม่รู้ว่าในประเทศมีเครื่องมือดังกล่าวอยู่กี่เครื่อง ตรวจสอบไม่ได้ อีกทั้งอิสราเอลทั้ง 9 คนก็ไม่ยอมให้ข้อมูล รู้เพียงว่านอกจากบริษัทอิสราเอลแล้ว ยังมีบริษัทฝรั่งเศสที่ขายให้ไทยด้วย"แหล่งข่าวรายเดิม กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาระบบการตรวจสอบการซื้อขายเครื่องประเภทนี้หละหลวมมาก ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้มีการเชิญชวนกันทางสื่อออนไลน์ อินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊กกันอย่างแพร่หลาย ถ้าเราไม่ดำเนินการก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการจะตรวจสอบว่ามีใครครอบครองบ้าง คงเป็นเรื่องยาก บริษัทที่ขายก็คงไม่บอก ยกเว้น คสช. ออกคำสั่งในการให้หน่วยงานแจ้งการครอบครอบ และขึ้นทะเบียนยุทธภัณฑ์ให้ถูกต้อง โดยรมว.กลาโหมจะเป็นผู้อนุมัติในการครอบครองตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานความมั่นคงกังวลว่า หากเครื่องมือดังกล่าวตกไปอยู่ในมือผู้ที่ไม่ประสงค์ดี หรือมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสุจริตชน

สำหรับเครื่องส่งสัญญาณดังกล่าวมีฟังก์ชันใช้งานหลักและออปชั่นเสริม ประกอบด้วย 1.ค้นหาตำแหน่งของสัญญาณเครื่องโทรศัพท์เป้าหมาย 2.ล็อกช่องสัญญาณสื่อสารเพื่อชี้เป้าหมาย 3.รบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4.ระบบสื่อสารจำลองในพื้นที่ 5.ฟังและบันทึกการสนทนาสดทางโทรศัพท์ของเป้าหมาย 6.แก้ไข ดักรับ เปลี่ยนแปลง ปลอมแปลงข้อความสั้น 7.ปลอมแปลงเป็นผู้ใช้สายต้นทางและปลายทาง 8.ดักรับการใช้งานอินเตอร์เน็ต 9.บังคับเครื่องเป้าหมายแสดงผลตำแหน่ง GPS และ 10.บังคับเปิดไมโครโฟนเครื่องเป้าหมายให้ค้างเพื่อฟังเสียงแวดล้อม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่