จับตา ! ภูเขาไฟเกาะบาร์เรน ปะทุ ห่างจาก ระนอง 700 กม.

นักวิชาการเตือนอย่าตื่นตระหนก โลกโซเชียลโพสต์ “ภูเขาไฟเกาะบาร์เรน” ปะทุ ห่างจ.ระนองแค่ 700 กม. เผยไทยเสี่ยงเจอสึนามิ แนะหน่วยงานวางแผนรับมือ หวั่นเป็นวัวหายล้อมคอก
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงกรณีการโพสต์ข้อความในโลกสังคมออนไลน์ ระบุว่าภูเขาไฟบนเกาะบาร์เรน ในมหาสมุทรอินเดีย เยื้องๆ กับ จ.ระนอง ของประเทศไทย มีควัน (ขี้เถ้า) พุ่งขึ้นมาสูง 3 กิโลเมตร ในช่วงระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน ปรากฏการณ์นี้เป็นปฏิกิริยาเปลือกโลกใกล้ประเทศไทย หากเกิดการระเบิดรุนแรงในอนาคต สึนามิย่อมมากระทบชายฝั่งไทยทางตะวันตกและพม่าแน่นอน
เรื่องนี้ รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐานผืนแผ่นดินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการติดตามภูเขาไฟบนเกาะบาร์เรน พบว่ามีการปะทุจริง แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะรุนแรงหรือไม่ สมาคมธรณีวิทยาในประเทศอังกฤษประกาศว่าไม่น่าจะเกิดสึนามิ เนื่องจากปัจจัยการเกิดจะต้องมีการปะทุของภูเขาไฟรุนแรง การเขย่ารุนแรง การระเบิดไม่ได้การันตีว่าจะระเบิดขนาดใหญ่หรือจะเกิดสึนามิเสมอไป จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตูม แต่ขอให้เตรียมตัว ดูแลเครื่องมือวัดกระแสน้ำให้ทำงานได้ปกติ
“ไม่อยากคิดว่าจะเกิดสึนามิ แต่ไม่อยากให้เป็นวัวหายล้อมคอก จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนเตรียมความพร้อม ระแวดระวัง เพราะตามปกติหากเกิดภูเขาไฟระเบิดหรือแผ่นดินไหวในบริเวณหมู่เกาะอันดามันหรือนิโคบาร์ อันเนื่องมาจากการยุบตัวของแผ่นเปลือกโลก ประเทศไทยมีเวลาเพียง 45 นาที ในการไหวตัวหรืออพยพคนไปอยู่ในที่ปลอดภัย หากเกิดสึนามิจริง แนวโน้มการปะทะจะเข้ามาในแนวพื้นที่เดิมเมื่อ 10 ปีก่อน หรือปี 2547 อาทิ จ.ภูเก็ต, จ.พังงา, จ.กระบี่, จ.ตรัง ฯลฯ แต่จะมากจะน้อยต่างกันเท่านั้น” รศ.ดร.ปัญญากล่าว และว่า ไม่ได้บอกว่าจะเกิดสึนามิ แต่เชื่อว่ามีแนวโน้ม ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายเตรียมตัว ทั้งป้ายบอกทาง ที่หลบภัย รวมไปถึงอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำทะเลให้ทำงานเป็นปกติ และต้องบอกประชาชนให้เข้าใจว่าไทยมีเครื่องมือแจ้งหากเกิดเหตุขึ้นมาจริงๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตื่นตกใจ

รศ.ดร.ปัญญากล่าวอีกว่า หากถามว่าเป็นผลพวงมาจากการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลหรือไม่นั้น ตอบได้ว่าทั้งสองพื้นที่อยู่ในแผ่นเปลือกโลกเดียวกัน ดังนั้นมีโอกาสได้ทั้งนั้น
รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า เกาะบาร์เรนอยู่ในหมู่เกาะอันดามัน ห่างจากประเทศไทยประมาณ 700-800 กิโลเมตร ไม่ทราบข้อมูล แต่คิดว่าไม่เกี่ยวข้องกัน
รศ.ดร. เป็นหนึ่ง กล่าวว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 มีนักวิชาการจำนวนมากให้ข้อมูลและเกิดการถกเถียงกันในเรื่องของเหล่งกำเนิดสึนามิในครั้งต่อไป มีผลสรุปที่คล้ายกันคือ การเกิดสึนามิทางฝั่งทะเลอันดามันจะเกิดในลักษณะเดิม คือการที่แนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกเลื่อน โดยกลไกมีการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) ที่มุดใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย (Eurasian Plate) แบบเดียวกับเมื่อครั้งที่แล้ว ทั้งนี้รอยต่อของเปลือกโลก 2 แผ่นนี้ยาว ความเสี่ยงจะเกิดสึนามิ คือการเกิดการไถลตัวของแผ่นเปลือกโลกบริเวณหมู่เกาะอันดามันจนถึงบริเวณฝั่งตะวันตกของพม่า
“เท่าที่ทราบไม่มีการพูดถึงภูเขาไฟระเบิด เนื่องจากไม่ใช่แหล่งกำเนิดหรือมีกลไก ทำให้เกิดสึนามิได้ยาก เพราะต้องเกิดการระเบิดรุนแรงมาก ในอดีตเคยมีกรณีภูเขาไฟกรากะตัวในอินโดนีเซียระเบิดรุนแรงมากจนเกิดสึนามิ” รศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก www.volcanodiscovery.com ระบุว่า เกาะบาร์เรนเป็นภูเขาไฟที่เกิดการปะทุครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2005-2006 และเกิดการปะทุครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 และเป็นภูเขาไฟที่สามารถระเบิดได้

ที่มา :  truelife

ผมเน้นข้อความที่จะสื่อไว้แล้วนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่