อภิธรรมปิฎก ; ลังกาวงศ์บอกว่าเป็นพุทธภาษิต แต่เถรวาทบอกว่าเป็นเถรภาษิต

ช่วงหลายเดือนมานี้ ผมอ่านหนังสือค่อนข้างเยอะนะครับ ขออนุญาตโอ้อวดสักนิดนะครับท่าน อย่างพุทธธรรมของหลวงปู่ ผมก็อ่านเกือบจบแล้ว เหลือแค่ดัชนีค้นคำเท่านั้นน่ะครับ (เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องขอขอบคุณท่านคันโตนา นะครับ ที่เมตตาแนะนำให้ผมอ่านหนังสือของหลวงปู่เล่มนี้ เรียกว่าท่านเป็นผู้ชักนำเข้าสู่วงการน่ะครับ ขออนุโมทนาครับท่าน) และเพราะอ่านพุทธธรรมนี่แหละ ผมก็เลยมีโอกาสได้เริ่มต้นอ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถาไปด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเริ่มต้นอ่านจากหน้าแรกไปเรื่อยๆนะครับ ใช้วิธีค่อยๆเลือกอ่านเลือกค้นจากเรื่องที่สนใจก่อน เพราะได้ประสบการณ์จากการอ่านพุทธธรรมมาแล้ว ปรากฏว่า สนุกมากครับท่าน ไม่ง่วง ไม่ซึม ไม่หลับ ตาสว่างตลอด บางครั้งถึงกับหลับตาไม่ลง หากว่ายังมีเรื่องที่ยังอ่านค้างอยู่ ต้องลุกขึ้นมาเปิดไฟ อ่านให้จบก่อน ถึงจะสงบตาสงบใจลงได้น่ะครับ หนังสืออีกประเภทหนึ่งที่มักหามาอ่านเพิ่มเติมบ่อยๆ ก็คือ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาครับท่าน ซึ่งผมเห็นว่า หนังสือแบบนี้ จะช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราได้มาก เพราะผู้เขียนจะเป็นนักวิชาการ ผู้รู้จริง ในส่วนที่เกี่ยวหลักฐานอ้างอิงที่นอกเหนือไปจากการอ้างพระคัมภีร์ทางศาสนาแต่เพียงอย่างเดียวน่ะครับ

เรื่องที่จะนำเสนอในคราวนี้ เกี่ยวกับ พระอภิธรรมปิฎกครับท่าน เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากพอสมควรว่าเป็นพระพุทธดำรัส หรือว่าเป็นเพียงแค่สาวกภาษิต ก็ขออนุญาตกล่าวสรุปๆ จากตำราที่อ่านมานะครับท่าน

1 ในช่วงพุทธศตวรรษที่หนึ่ง พระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น สองนิกาย คือ เถรวาท กับ มหาสังฆิกวาท โดยมหาสังฆิกวาท ได้แยกออกไปอีกห้านิกาย คือ โคกุลิกวาท เอกัพโยหาริกวาท เจติยวาท พหุสสุติกวาท และ ปัญญัตติกวาท

2 ในช่วงพุทธศตวรรษที่สองถึงสาม เถรวาท ได้แยกออกไปอีกสิบเอ็ดนิกาย คือ มหิสาสกวาท วัชชีปุตตกวาท สัพพัตถิกวาท ธรรมคุตตวาท กัสสปิกวาท สังกันติกวาท สุตตวาท ธัมมุตตริกวาท ภัทรยานิกวาท ฉันนาคาริกวาท และ สมิติวาท

3 ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในบรรดานิกายต่างๆทั้งหมด สิบแปดนิกายในช่วง สามศตวรรษแรกนั้น ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงพระอภิธรรมปิฎกเอาไว้ด้วยดังนี้ว่า

3.1 นิกาย วิภัชชวาท เช่น เถรวาท(เดิม) สังกันติกวาท  นิกายสุตตวาท มหิสาสกวาท ธรรมคุตตวาท วัชชิปุตตกวาท ฯลฯ ระบุว่า อภิธรรมปิฎก เป็นเถรภาษิตของท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหากัจจานะ หลักฐานก็คือ คัมภีร์สารีปุตตาภิธรรม ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาจีน นักวิชาการระบุว่า มีลักษณะอย่างเดียวกันกับ คัมภีร์วิภังคปกรณ์

3.2 มีบางนิกายในสมัยนั้นที่เชื่อว่า พระอภิธรรมเป็นพุทธพจน์ คือ นิกาย โคกุลิกวาท ซึ่งอยู่ในกลุ่มของมหาสังฆิกวาท ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แนวคิดเช่นนี้ เริ่มแพร่ออกไปในช่วงศตวรรษที่สาม ก่อนการสังคายนา โดยนิกายสัพพัตถิกวาท และ วัชชีปุตตกวาท บางส่วนได้รับคติอันนี้เข้ามา จนทำให้เกิดการแตกแยกนิกายย่อยขึ้นมาอีก จากพวกเดิมที่เห็นว่า อภิธรรมปิฎกเป็นเถรภาษิต เช่น สัพพัตถิกวาท แยกออกเป็นสองนิกายคือ สังกันติกวาท ที่เชื่อว่า อภิธรรมเป็นพุทธพจน์ กับ สุตตวาที ที่เห็นว่าเป็นเถรภาษิต เหตุการณ์เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่สามถึงสี่ เป็นต้น

4 ข้อมูลในส่วนนี้ ชี้ให้เห็นว่า แต่เดิม นิกายเถรวาททั้งหมด ระบุว่า อภิธรรมเป็นเถรภาษิตของท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหากัจจานะ นักวิชาการทางศาสนา เช่น ท่าน เสถียร โพธินันทะ(ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา) เห็นว่าเป็นอาจริยภาษิตขยายความพระพุทธพจน์ ที่เริ่มมีอยู่บ้างแล้วบางส่วนในสมัยพุทธกาล  และได้ถูกถ่ายทอดสืบกันมาจนถึงยุคแตกนิกาย แต่ละนิกายก็ได้พยายามอรรถาธิบายขยายความแต่งเติมเสริมส่งให้เข้ากันได้กับหลักธรรมของนิกายตน

จะมีก็แต่ ฝ่ายมหาสังฆิกวาท คือ โคกุลิกวาท ในช่วงศตวรรษที่สองเท่านั้น ที่เชื่อว่าเป็นพุทธพจน์ โดยความแตกแยกในฝ่ายเถรวาท มีมากขึ้น หลังจากที่นิกายย่อยบางส่วนเริ่มนำคติความเชื่อว่า อภิธรรมเป็นพุทธพจน์เข้ามาเผยแพร่ในนิกายตน เช่น ในนิกายสัพพัตถิกวาท เป็นต้น

5 เมื่อทราบข้อมูลมาถึงตรงนี้ ผมก็เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า เหตุใด คัมภีร์กถาวัตถุ ของท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสะ ที่แต่งขึ้นเมื่อสังคายนาครั้งที่สาม จึงถูกบรรจุไว้ในพระอภิธรรมปิฎก ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ พระเถระทั้งหลาย ท่านเห็นว่า อภิธรรมปิฎกเป็นเถรภาษิตมาตั้งแต่แรกไงครับ คือฝ่ายเถรวาท นับตั้งแต่ปฐมสังคายนา ท่านเห็นว่า พระอภิธรรมเป็นเถรภาษิต จนถึงสังคายนาครั้งที่สาม ท่านก็ยังเห็นอย่างนั้นอยู่ จึงไม่แปลก ที่ท่านจะนำ กถาวัตถุ ซึ่งเป็นเถรภาษิตเหมือนๆกัน มารวมไว้ในปิฎกนี้

ตรงนี้ แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาในลังกา ได้รับอิทธิพลแนวคิดที่ว่า อภิธรรมปิฎกเป็นพุทธพจน์มานานพอสมควรแล้ว โดยจะได้รับมาจาก โคกุลิกวาท โดยตรง หรือ ผ่านมาทาง สัพพัตถิกวาท(สังกันติกวาท) หรือทางอื่นๆ ผมก็ไม่อาจทราบได้ ครับท่าน แต่ทราบแน่ๆว่า ในสมัยอรรถกถา คือราวศตวรรษที่สิบ ท่านพระพุทธโฆสาจารย์ ได้พยายามอธิบายว่า อภิธรรมปิฎก เจ็ดคัมภีร์ เป็นพุทธพจน์ พระพุทธเจ้าตรัสกับเทวดาที่ดาวดึงส์ แม้ว่าจะมีเถระบางส่วนแย้งว่า กถาวัตถุ เป็นเถรภาษิตก็ตาม แต่กลับไม่เป็นผล

คือท่านพระพุทธโฆษาจารย์ อธิบายว่า พระพุทธเจ้าตรัสมาติกา(หัวข้อ)เอาไว้ก่อนแล้ว ท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสะ เพียงแค่นำมาอธิบายขยายความเท่านั้น ซึ่งผมเห็นว่า ตรรกะเหตุผลของท่านอ่อนมาก เพราะถ้าอ้างเหตุผลอย่างนี้ ตำราอรรถกถาของท่าน ก็ต้องนับว่าเป็นพุทธพจน์ไปด้วยน่ะสิครับ และในความเป็นจริงก็คือ มาติกา ที่ท่านอ้างถึงนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสไว้เฉพาะเจาะจงอะไรกับท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสะ(ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วครับ) แต่เป็นการอ้างถึงพุทธพจน์จากพระสูตรเท่านั้นเอง

6 เพราะหลายๆท่านไม่ได้ศึกษาประวัติสาสตร์พระพุทธศาสนามาดีพอ เมื่อท่านยกหลักฐานเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จดาวดึงส์ตรัสอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ ขึ้นอ้างเป็นหลักฐาน จึงยิ่งสร้างความน่ากังขามากขึ้น เนื่องจาก

6.1 กถาวัตถุ เป็นเถรภาษิต เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่สาม แล้วพระพุทธเจ้าจะนำเถรภาษิตนี้ ไปตรัสที่ดาวดึงส์ ได้อย่างไร ?
6.2 หลักฐานที่อ้างถึงนี้ เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าองค์อื่น ที่ปรินิพพานไปก่อนหน้านี้นานแล้ว จึงยิ่งเป็นปัญหาหนักขึ้นไปอีกว่า แล้วพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จะนำเถรภาษิตของท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสะ ไปตรัสที่ดาวดึงส์ ได้อย่างไร ?

ซึ่งประเด็นขัดแย้งนี้ ก็ยิ่งกลายเป็นหลักฐานชี้ชัดว่า ข้อความจาก โกนาคมพุทธวงศ์ เป็นของแปลกปลอมที่ถูกสอดแทรกเข้ามาในพระไตรปิฎก ในการสังคายนาครั้งใดครั้งหนึ่งในสมัยหลัง เพื่อสนับสนุนความเชื่อว่าอภิธรรมปิฎกเป็นพุทธพจน์ ซึ่งเถรวาทในการสังคายนาสามครั้งแรกในอินเดีย ไม่มีความเชื่อแบบนี้เลย ครับท่าน

7 หลวงปู่ปยุตโต บอกไว้ในหนังสือพระพุทธศาสนาในอาเซียว่าลังกาเริ่มนิยมศึกษาพระอภิธรรมในช่วงพุทธศตวรรษที่สิบสองนี่เอง ซึ่งเมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับอรรถกถา ก็สอดคล้องกันดีว่า ความเชื่อว่า พระอภิธรรมปิฎกเป็นพุทธพจน์ น่าจะก่อตัวขึ้นในลังกา ก่อนพุทธศตวรรษที่สิบ ก่อนหน้าที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์จะมาจดพระคัมภีร์ในลังกานานพอสมควรแล้วน่ะครับ

เล่าจบแล้วครับท่าน จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ใช่ปัญหาครับ ผมแค่นำเรื่องที่อ่าน มาเล่าให้ฟังเท่านั้น แต่ถ้าถามผม ผมไม่เชื่อเรื่อง พระพุทธเจ้าโกนาคมเสด็จดาวดึงส์ ตรัสอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ อยู่แล้วครับ เพราะมันไม่สมเหตุสมผลอะไรเลย ประเด็นนี้ ผมขออนุญาตใช้สติปัญญา มากกว่าจะใช้แค่ความเชื่อ นะครับท่าน

ส่วนท่านที่เชื่อว่า พระอภิธรรมปิฎกเป็นพุทธพจน์ ก็ไม่เป็นไรครับท่าน ท่านสามารถเชื่อของท่านได้ต่อไปครับ หรือท่านอยากจะโต้แย้งก็ได้ แต่ขอว่า อย่ามาด่าว่า ใส่ร้ายใส่ความ หรือ ไล่ให้ออกไปจากพระพุทธศาสนาอะไรทำนองนั้น นะครับ อันนี้ขอร้องให้งดเว้น นะครับท่าน ถ้าจะแย้ง ก็ขอให้พูดจากันดีๆ ด้วยเหตุผลหลักฐานนะครับ ยกหลักฐานทางวิชาการมาแย้งครับ หรือจะแย้งด้วยเหตุผล ที่ไม่ใช่การพรรณนาความเชื่อ ความรู้สึก ผมก็ยังโอเคอยู่ นะครับท่าน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่