คิดอย่างยิ่งลักษณ์ : เกริ่นนำ

ตอนแรกผมกะว่า จะสรุปเนื้อหาทั้งเล่มทีเดียว แล้วก็วิจารณ์ไปเลยในกระทู้เดียว แต่เนื่องจากเวลาอ่านรอบแรกเหมือนจะมีเนื้อหาไม่มาก แต่พอต้องลงรายละเอียด เพื่อทำการวิเคราะห์ เพื่อวิจารณ์นั้น มันมีองค์ประกอบเรื่องราว ที่ต้องนำมาเทียบเคียงระหว่างในหนังสือ กับสถานการณ์จริงบางอย่าง เพื่อให้แม่นยำมากขึ้น

ดังนั้น เลยคิดว่า ถ้าไม่เริ่มต้นบางส่วนก่อน ก็อาจจะไม่ได้เขียนกระทู้สักที คนที่ผมรับปากไว้ว่าจะแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน อาจจะเลิกรอไป

ดังนั้น วันนี้ก็เลยถือโอกาส เริ่มต้นในกระทู้แรกก่อน และจะทยอยเขียนกระทู้ต่อ ๆ ไป ตามมาให้เร็วที่สุด (แต่ยังไม่กำหนดเวลา)

ก่อนเริ่มต้นการคุยในเนื้อหาหนังสือ ของเริ่มต้นด้วยรายละเอียดหนังสือ กับคำนำของหนังสือมาให้อ่านก่อน
_______________________

คิดอย่างยิ่งลักษณ์
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2558 จำนวน 5,000 เล่ม ราคา 170 บาท
จัดพิมพ์โดย : คติพร ดลกิจ
เรียบเรียงโดย : บุญฤทธิ์ จตุวไลพร
แบ่งเป็น 28 บท 247 หน้า

________________________

คำนำ

คำนำ
    ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองเมื่อปี 2554 ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมปีเดียวกันไม่นาน และใช้เวลา 49 วัน ก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทยได้

    ไม่ธรรมดา

    ยิ่งลักษณ์คนเดียวกัน ไม่เพียงแต่เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย แต่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ต้องเผชิญกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อบรรเทาความสูญเสีย แล้วยังเป็นผู้ผลักดันการฟื้นฟูประเทศ พร้อมทั้งวางระบบป้องกันภัยใหม่ทั้งหมด

    นี่ก็ไม่ธรรมดา

    ยิ่งลักษณ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่อดทนต่อคำโจมตีทางการเมือง อดทนต่อเสียงหยาบคายที่เปล่งออกมารอบด้าน แต่ยังมุ่งมั่นทำประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน จนถึงวาระสิ้นสุดของรัฐบาล

    นอกจากจะไม่ธรรมดาแล้ว ยังน่าสนใจว่าเพราะเหตุใดเธอถึงทำได้

    และด้วยเหตุที่ยิ่งลักษณ์เข้าสู่สนามการเมืองท่ามกลางความขัดแย้ง จึงทำให้กระแสการเมืองกลบสาระที่ยิ่งลักษณ์ทำในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

    การเมืองบดบังความสามารถทางการบริหารของเธอ

    หนังสือเล่มนี้จึงถือโอกาสพูดคุยกับยิ่งลักษณ์ เปิดโอกาสให้เธอบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มฝึกงานบริษัทในเครือชินวัตร เรื่อยไปจนเติบโตทางสายบริหาร และได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของเอไอเอส

    ย่อมไม่ธรรมดาอีกเช่นกัน

    และหากได้ติดตามเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้อย่างจดจ่อ จะแลเห็นเส้นทางการเติบโตของยิ่งลักษณ์ที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

    สมเหตุสมผลต่อการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในเครือชินคอร์ป


    สมเหตุสมผลที่ยิ่งลักษณ์ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

    หนังสือเล่มนี้ได้บรรจุแนวคิดและวิธีบริหาร ตลอดจนผลงานของยิ่งลักษณ์ ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2554-2556 เอาไว้ให้ยล

    หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่รู้จักชื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทุกคน

    ไม่ว่าจะชอบ หรือไม่ชอบก็ตาม


    บุญฤทธิ์  จตุวไลพร

_________________________________

เรื่องแรกที่อยากจะยกมาคุยก่อน คือประเด็นผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ เป็นใครมาจากไหน เพราะตามความเข้าใจ หนังสือระดับนี้ น่าจะใช้คนเขียนที่พอมีชื่อเสียงบ้าง อย่างน้อยน่าจะเคยผ่านงานเขียน หนังสือประเภทอัตชีวประวัติมาบ้าง อะไรเป็นเหตุผลของการที่คุณยิ่งลักษณ์เลือกคุณบุญฤทธิ์ มาเป็นคนเรียบเรียง

เพราะเมื่อลองค้นหาดูในกูเกิ้ล กลับไม่พบชื่อนี้ ปรากฎคู่กับเอกสารอื่น นอกจากมาคู่กับหนังสือ "คิดอย่างยิ่งลักษณ์" เท่านั้น แต่ก็ไม่อยากตีความว่า เป็นคนไม่มีผลงานมาก่อน ทั้งนี้เพราะ จากการใช้คำในคำนำ น่าจะเป็นคนที่มีอาวุโสสูงพอสมควร เพราะใช้คำว่า "ยิ่งลักษณ์" แทนชื่อคุณยิ่งลักษณ์ทุกคำ แทนที่จะมีคำนำหน้านามบาง เช่น "คุณ" "นางสาว" "ฯพณฯ" หรือคำอื่นที่ให้เกียรติ คนที่พูดถึงบ้างในคำนำ

จริง ๆ แล้ว ตอนแรกก่อนซื้อมาอ่าน ผมยังคาดหวังว่า ในหนังสือ จะมีประวัติคนเรียบเรียงให้คนอ่านได้ทำความรู้จักบ้าง แต่เมื่อซื้อมาแล้วเปิดอ่าน ก็หาไม่เจออีกเช่นกัน

เช่นเดียวกับคำนิยม ที่น่าแปลกที่หนังสือเล่มนี้ ไม่มีการขอให้ใครช่วยเขียนคำนิยม เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือเล่มนี้ แต่กลับเลือกที่มีเพียงคำนำของผู้เรียบเรียงเพียงอย่างเดียว

เลยทำให้ชวนคิดว่า ตกลงหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่เกิดจากความตั้งใจจะทำของคุณยิ่งลักษณ์เอง หรือมีคนอยากทำ แล้วก็ไปขออนุญาตคุณยิ่งลักษณ์มาทำ โดยที่คุณยิ่งลักษณ์แค่เล่าเรื่องให้ฟัง แล้วคนเรียบเรียง ก็เอาไปแต่งเป็นหนังสือ แล้วก็พิมพ์ขายไปเอง

ถ้าทำแบบนี้จริง ก็ต้องตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า แล้วเนื้อหาเมื่อแต่งเสร็จแล้ว คุณยิ่งลักษณ์ได้มีการตรวจสอบเนื้อหาก่อนจัดพิมพ์หรือไม่ เพราะเท่าที่อ่านไป ผมคิดว่า เนื้อหาในหนังสือมีหลายส่วน ที่มีความคลาดเคลื่อน ไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียด ซึ่งคนเขียนที่ดี น่าจะมีการตรวจสอบ เพื่อแก้ไขก่อนตีพิมพ์ ทั้งนี้เพราะ เมื่อเป็นการเล่าเรื่อง แล้วมาเรียบเรียงเขียนหนังสือ บางครั้ง เล่าจากความจำ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนเรื่องวันที่ เวลา สถานที่ ซึ่งเมื่อบางครั้ง การเล่าเรื่องผิดพลาดบ้าง คนเขียนก็ควรจะตรวจสอบแล้วแก้ให้ถูกต้องเรียบร้อยก่อน หรือบางส่วน ที่เป็นการอธิบายแนวคิด ก็น่าที่จะไปคุยกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อขยายความเข้าใจในแนวคิด หรือบางครั้ง อาจจะหาตัวเลขประกอบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผลสำเร็จที่ได้รับนั้นเป็นอย่างไรกันแน่

ไม่ใช่ว่า เล่ามาอย่างไร ก็เขียนไปแบบนั้น คือเขียนตรงจากที่ฟังมา แต่อาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือคนอ่านอ่านแล้ว นึกภาพตามไม่ออก แล้วจะได้ประโยชน์อย่างที่คำนำบอกไว้ได้อย่างไร อันนี้ก็จะทำให้คนอ่านไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างที่หนังสือหวังไว้ได้

ถ้าหากคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ตรวจสอบเมื่อแต่งเสร็จ ก็อาจจะต้องบอกว่า เป็นความผิดพลาดของคุณยิ่งลักษณ์ ที่ไว้ใจคนเรียบเรียงมากเกินไป ทั้งนี้เพราะบางเรื่อง สื่อสารออกมาผิดพลาด ถ้าอ่านผ่าน ๆ อาจมองไม่เห็น แต่ถ้าอ่านแบบจับประเด็น เพื่อวิจารณ์ (แบบที่ผมจะทำนั้น) แล้วพบข้อผิดพลาด (ไม่ใช่แค่พิมพ์ผิด) มันก็จะเป็นผลกระทบต่อภาพรวมของหนังสือได้

กระทู้แรก ก็ขอเอาแค่นี้ก่อนแล้วกัน ถือว่าอุ่นเครื่องก่อน ไว้กระทู้ต่อ ๆ ไป ค่อยมาดูว่า การคิดอย่างยิ่งลักษณ์เป็นอย่างไร


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่