บุญบั้งไฟตะไลล้าน (บ้านกุดหว้า) Part III (วันจุด)

ต่อจาก Part II นะครับ http://ppantip.com/topic/33519152

บุ ญ บั้ ง ไ ฟ ต ะ ไ ล ล้ า น ต ำ บ ล กุ ด ห ว้ า

บุญบั้งไฟตะไลล้าน ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนกุดหว้า ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาผู้ไทยสืบทอดต่อให้ลูกหลาน แต่เดิมบุญบั้งไฟของตำบลก็จัดงานโดยจุดบั้งไฟหางเหมือนเช่นในพื้นที่อื่น ต่อมานายพิศดา จำพล (ปัจจุบันอายุ 68 ปี) ช่างทำบั้งไฟในหมู่บ้าน ได้คิดค้นวิธีทำบั้งไฟเพื่อให้แตกต่างจากพื้นที่อื่นจนกลายเป็นการทำบั้งไฟ ตะไลแสน และได้มีการจุดบั้งไฟตะไลบั้งแรกในงานบุญบั้งไฟปี 2521 และตำบลกุดหว้าก็ได้สืบสานเปลี่ยนเป็นการจัดงานบุญบั้งไฟตะไหลล้านเป็นต้นมา

เทศบาลตำบลกุดหว้าเริ่มมีการประชาสัมพันธ์งานบุญบั้งไฟตะไลอย่างกว้างขวาง เมื่อประมาณ 4-5 ปี ที่ผ่านมา และมีรายการเข้าไปถ่ายทำสารคดี เช่น รายการวันหยุดสุดขีด ของช่อง 7 ได้เข้าไปถ่ายทำในปี 2550 บุญบั้งไฟของที่นี่จะจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี เดิมนั้นจัดเป็นงานบั้งไฟตะไลแสน และเริ่มเป็นงานบุญบั้งไฟตะไลล้านในปี 2549 ในงานมีการจัดประกวดขบวนแห่งบั้งไฟตะไล แข่งขันจุดบั้งไฟตะไล การจุดบั้งไฟตะไลล้านบูชาแถน ซึ่งเป็นการสืบสานงานวัฒนธรรมผู้ไทย เสริมสร้างความสมานสามัคคี ความเข้มแข็งของชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ หากไม่ต้องการความสะดวกสบายมากนัก บุญบั้งไฟของที่นี่เป็นทางเลือกของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ต้องการดูประเพณีบุญบั้งไฟในแบบฉบับชาวบ้าน ที่อาจจะแตกต่างจากประเพณีของชาวเมือง และสามารถเลือกซื้อสินค้า OTOP คุณภาพ และพักแบบสบาย ๆ กับโฮมเสตย์ผู้ไทย ในหมู่บ้านใกล้เคียงได้อีกด้วย
http://www.baanmaha.com/community/thread32643.html


บ่ายโมงตรงได้เวลาออกไปดูบั้งไฟ วันนี้เป็นวันจุด ต้องออกไปแต่เนิ่นๆ เดี่ยวจะหาที่จอดรถไม่ได้ เพราะวันนี้ผู้คนจะต้องมากันมากมายหลายพันหมื่น ซึ่งต้องมากกว่าเมื่อวานเป็นสองสามเท่า

กิจกรรมในวันนี้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเช้า แต่ผมเลือกไปช่วงบ่าย เพราะช่วงบ่ายนี้จะมีการจุดบั้งไฟตะไลล้าน

บั้งไฟของบ้านกุดหว้าจะไม่เหมือนกับบั้งไฟที่ยโสธรที่จะเป็นลักษณะท่อตรง หรือที่เรียกกว่าบั้งไฟหาง แต่ที่บ้านกุดหว้าจะเป็นลักษณะโค้งเหมือนล้อเกวียน เรียกกว่าบั้งไฟตะไล จะมีทั้งบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน และบั้งไฟล้าน ซึ่งส่วนมากที่แข่งขันกันจะเป็นบั้งไฟแสน

ช่างทำตะไลของแต่ละหมู่บ้านส่วนมากจะเป็นวัยรุ่น จะมีช่างที่อาวุโสประจำอยู่แค่หนึ่งหรือสองคน ที่นี่ค่ายบั้งไฟจะเรียกการว่าซุ้ม (หรือทีมงาน) เพื่อนที่พาเข้าไปชมเล่าว่าคนที่นี่จะเรียนรู้การทำและรู้จักบั้งไฟกันมาตั้งแต่เด็กๆ วิชาหรือตำราการทำจะไม่มีเป็นเล่มๆ ให้ศึกษา ต้องศึกษาเอาจากช่างรุ่นพี่ หรือลักจำกันเอง วีธีการทำ ขั้นตอนการทำจะไม่มีเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร จะอยู่ในหัวของแต่ละคน ต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้

มาถึงบ้านกุดหว้าหลังจากจอดรถได้แล้ว ที่บ้านเพื่อนเปี๊ยก (เจ้าของพื้นที่) จากนี้จะขอเรียกบั้งไฟตะไล แค่พอสั้นๆ ว่าตะไลแทน และเพื่อนที่พาเข้าชมจะขอเรียกว่าเพื่อนเปี๊ยกนะครับ เพื่อความเข้าใจได้ง่ายๆ)

แวะทักทายและทำความคุ้นเคย สักครู่เพื่อนเปี๊ยกก็พาผมและญาติๆ ไปหามุมนั่งชมตะไล เพื่อนเปี๊ยกไม่อยากให้ผมและญาติเข้าไปใกล้จนเกินไป เนื่องจากจำนวนผู้ที่มาชมค่อนข้างมากและเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงให้นั่งอยู่บริเวณโคกคันนา (ซึ่งเป็นมุมที่เปิด มองออกไปจะเห็นตะไลขึ้นได้ง่าย)

หลังจากหาที่นั่งให้ญาติๆ แล้ว เพื่อนเปี๊ยกก็พาผมเข้าไปบริเวณงาน (เพราะเพื่อนอีกคนบอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่าผมอยากถ่ายภาพ)
เพื่อนเปี๊ยกก็จัดให้ พาผมเดินลัดทุ่งนาไปยังบริเวณงาน เมื่อมาถึงก็ต้องตกใจ เพราะไม่คิดว่าจะมีผู้คนมากมายถึงเพียงนี้ เท่าๆ ที่กวาดสายตามองได้ก็หลักหลายๆ พัน หรืออาจถึงเรือนหมื่น

ก็ด้วยความสงสัย ไม่เห็นเพื่อนเปี๊ยกทำบั้งไฟตะไลเหมือนคนอื่นเขา ก็ถามไปว่าทำไมไม่ได้ตะไลกับเขา?  เพื่อนเปี๊ยกตอบมาว่าจับสลากไม่ได้..... และพูดต่อ การจะส่งทีมเข้าร่วมงานนี้ ไมได้ส่งกันได้ง่ายๆ ใช่ว่าทีมงานนี้ ค่ายนี้ ซุ้มนี้อยากจะส่งก็ส่งได้ การเข้าร่วมงานต้องไปจับสลาก ใครจับสลากได้ก็ได้เข้าร่วม ส่วนใครที่จับไม่ได้ก็ต้องรอเอาปีหน้า เพื่อนเปี๊ยกยังเล่าให้ฟังอีก ส่วนมากเวลาจับสลาก แต่ละคนก็อยากจะจับได้รอบบ่าย (ในกรณีแข่ง) เนื่องจากกระแสลมในตอนเช้าและตอนบ่ายจะต่างกัน มันมีผลกับการขึ้นและลงของตะไล (ลมเช้าจะแรงกว่าลมบ่าย) มันทำให้บั้งไฟขึ้นไปได้ในแนวตรงได้ไม่มากส่วนลมบนช่วงบ่ายค่อนข้างนิ่ง จะทำให้ตะไลขึ้นไปได้สูงกว่าลมในตอนเช้า)

บรรยากาศวันจุด บริเวณทุ่งนา ผู้ชมเตรียมพร้อมทั้งเสื่อทั้งร่มเก็บภาพมุมนี้สักสองภาพ เพื่อนเปี๊ยกก็พาผมเข้าไปดูบริเวณเต้นท์ที่แต่ละทีมกำลังตั้งหน้าตั้งตาเตรียมตะไลสำหรับรอบบ่ายนี้ แต่ละทีมมีอย่างน้อยสองชุด และทันที่ที่เพื่อนๆ ของเพื่อนเปี๊ยกเห็นหน้าก็เข้าทักทายกันก่อน แต่ละคนเต็มไปด้วยโคลนทั่วทั้งตัวเพื่อนๆ มาทักทายอย่างเป็นกันเอง ดูแล้วก็เฮฮาดี จับเพื่อนเปี๋ยกนอนลงกับพื้นแล้วเอาโคลนมาพอกตามตัว โคลนตรงนี้ไม่มีก็เอาน้ำในขวดมาเทลงที่พื้นให้พอแฉะแล้วก็เอามือควักขึ้นมาละเลงไปทั่วตัว ก็เป็นมิตรภาพที่ดีไปอีกแบบของเพื่อนๆ ทั้งเพื่อนรุ่นพี่และเพื่อนรุ่นน้อง


ทักทายกันพอสมควรเพื่อนเปี๊ยกก็พาผมไปดูการเตรียมตะไลสำหรับจุดในคิวถัดไป






ระหว่างยืนดูทีมงานนี้เตรียมตะไลเพื่อนำออกไปจุด ก็ได้ยินเสียงตะไลถูกจุดขึ้นไปแล้ว หันไปเก็บภาพมุมไกลๆ ไว้สักหน่อย


มันออกจะไกลไปสักนิดครับสำหรับจุดนี้ แต่ก็ได้เห็นภาพแบบมุมกว้างๆ และเป็นจังหวะที่ตะไลนี้ขึ้น เป็นตะไลที่ 8 รออีกหนึ่งตะไลที่จะถูกจุดขึ้น ก็จะถึงตะไลถัดไป (จะเป็นตะไลล้านที่รอชม)

เพื่อนเปี๊ยกเหมือนรู้ว่าผมอยากได้ภาพสวยๆ ระยะใกล้ๆ ก็จัดให้ พาเดินเข้าไปยังบริเวณที่จุดตะไล ซึ่งปกติจะไม่อนุญาตให้คนที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปใกล้ ผู้ชมทั่วไปจะอยู่ได้ไม่เกินแนวธงสีแดงที่ทางเทศบาลได้ปักไว้ เพื่อความปลอดภัย

บริเวณนี้จะถูกกันเอาไว้สำหรับผู้ที่มีหน้าที่จุดและทีมงานที่ยกตะไลเข้ามาเท่านั้น และโชคดีของผมที่สามารถเข้ามาได้และมาทันจังหวะที่รถหกล้อกำลังยกตะไลล้านลงจากรถพอดี เมื่อเข้าไปใกล้ๆ จึงทำให้รู้ว่าตะไลนี้มันใหญ่มากๆ และคงจะหนักมากๆ ด้วยเช่นกัน





เพื่อนเปี๊ยกบอกว่าจุดนี้ไว้สำหรับจุดตะไลล้าน เพราะมีขนาดใหญ่ที่สุดและหนักที่สุด ฐานรองเลยต้องใหญ่และมั่นคงมากกว่าพวกตะไลหมื่นและตะไลแสนที่จะใช้แค่เสาเล็กๆ ในการรองรับ เก็บภาพได้สักพักเพื่อนเปี๊ยกก็บอกว่าให้รีบออกมาจากบริเวณนี้ ให้ออกมาอยู่บริเวณคันดิน (ที่ทำเป็นคันดินสูงประมาณสองเมตรเป็นแนวเหมือนเขื่อน)

ทีมงานเตรียมจุดกำลังวิทยุบอกไปยังโฆษก เจ้าหน้าที่สัญญาณธงยกธงเขียวเพื่อบอกว่าพร้อมสำหรับการจุดแล้ว สำหรับผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ทยอย
ออกจากพื้นที่ เหลือไว้เฉพาะผู้ที่มีหน้าที่จุดไฟเท่านั้น เพื่อนเปี๊ยกบอกจริงๆ ใช้แค่สองคนก็จุดได้แต่สองคนที่จุดต้องแม่น เพราะคนนึงจะถือไม้จุดสองอัน ต้องจุดให้พร้อมๆ กันด้วย

แต่เท่าที่เห็นตอนนี้ใช้สี่คนจุด คาดว่าจุดคนละตำแหน่งทั้งสี่ตำแหน่งซึ่งการจุดก็จะไม่ได้จุดไปที่ชนวน ตะไลนี้ไม่มีชนวน การจุดนี้ต้องจุดไปที่ผ้าที่ผูกเป็นท้องช้างโยงเข้าไว้ด้วยกัน คนจุดต้องมีสมาธิ และต้องแม่น ต้องให้พร้อมๆ กัน

มันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นอีกเช่นกันครับ ไม่เคยเห็นของจริง ไม่คิดว่าจะได้เข้ามาสัมผัสถึงสถานที่จริงแบบนี้ มันเป็นอะไรที่สุดจะบรรยายเลยครับ
ตอนนี้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องทะยอยออกมาเกือบหมด เหลืออยู่ไม่กี่คน คาดว่าทีมงานคงจะจุดในไม่กี่วินาทีข้างหน้านี้




จุดแล้วหันหลังวิ่งกันอย่างไม่คิดชีวิต ไม่กี่วินาทีต่อจากนั้น เสียงคำรามของตะไลล้านก็แผดก้องดังไปทั่วท้องทุ่ง เสียงดังกึกก้อง มันรู้สึกได้ว่าตะไลล้านนี้มีน้ำหนักเพียงใด มันหมุนอยู่สัก 3 – 4 วินาทีก็ทะยานพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ราวปานขีปนาวุธที่ถูกปล่อยออกจากปากฐานยิงที่กลางทะเลทราย
เสียงที่มันคำรามนั้นยังคงก้องอยู่ถึงทุกวันนี้ ประหนึ่งว่ากำลังนั่งดูรถแข่งฟอร์มูล่าวันที่สนามแข่ง เวลาที่ขับผ่านมาพร้อมกันสักสิบยี่สิบคัน เสียงมันดังจวนทำให้แก้วหูแตกระเบิด หัวใจมันจะล้นทะลักออกมาจากอก เสียให้ได้อย่างไงอย่างนั้น เสียงมันดังมากๆๆๆๆๆๆ ครับ

และในวินาทีนั้น ตะไลล้านก็หมุนเป็นเกลียวทะยานขึ้นจากพื้นดินสู่ท้องฟ้า




เป็นภาพที่ประทับใจยิ่งนัก เพราะความตกใจก็เกือบลืมกดชัตเตอร์เก็บภาพไว้ อยู่ใกล้ขนาดนี้ต้องเลือกเอาว่าอยากได้ภาพแบบไหน หากอยากได้ภาพที่เห็นรายละเอียดชัดๆ ก็ต้องเลือกใช้เลนส์ระยะไกล (เทเล) หากต้องการเก็บภาพมุมกว้างก็ต้องเลือกเลนส์มุมกว้าง (เลนส์คิต)


เพียงแค่ไม่กี่อัดใจตะไลล้านก็ทะยานขึ้นไปสูงสุดก่อนจะระเบิดแตกออกมา  แต่ก่อนที่จะหมุนขึ้นไปสุดนั้น ตอนทะยานขึ้นรับรู้ได้ถึงแรงขับเคลื่อนที่มากมายมหาศาล ตัวตะไลล้านค่อยๆ หมุนทะยานขึ้นอย่างช้าๆ เพียงอึดใจเดียวก็เหมือนเปลี่ยนจากเกียร์หนึ่งเป็นเกียร์หกทะยานขึ้นจนเสียดฟ้า สิ่งที่ตามมาคือเสียงเงียบของผู้ชมที่ไม่มีอาการใดๆ และเมื่อตะไลล้านขึ้นไปจนสุด จะเฮอีกครั้งก็ตรงที่ได้เห็นร่มหล่นออกมา ซึ่งช่วงเวลานี้แต่ละคนก็พากันลุ้นอย่างใจจดใจจ่อว่าร่มจะกางหรือไม่กาง



และสิ่งที่ทุกคนรอคอย พร้อมเสียงเฮที่ดังกึกก้องโดยพร้อมเพียง เป็นภาพที่ร่มได้กางออกพร้อมตัวตะไลล้านที่ค่อยๆ หล่นร่อนลงมาอย่างช้าๆ
ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่มีการใช้ร่ม เมื่อตะไลแตกออกก็จะค่อยๆ ทิ้งตัวเองลงมา หากเราจับจ้องอยู่ที่ตัวตะไลตลอดเวลาก็สามารถเห็นได้ว่าขณะนี้ตะไลอยู่ตรงไหน บริเวณไหน หากเราละสายตาไปเพียงชัวครู่เมื่อหันกลับไปมองอีกครั้งก็อาจจะไม่เห็นแล้วว่าตะไลอยู่ตรงไหน และถ้าซ้ำร้ายหากตะไลตกลงมาใกล้บริเวณที่ผู้ชมเฝ้าดูอยู่ก็อาจเกินอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สนุกกันต่อที่ Part IV นะครับ http://ppantip.com/topic/33523856อมยิ้ม01
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่