มนุษย์เรืองแสงได้จริง แต่ทำไมเรามองไม่เห็น ?



นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นใช้กล้องไวแสงติดตามร่างกายมนุษย์ พบว่าผิวหนังมนุษย์สามารถเรืองแสงได้ โดยจะเรืองแสงสูงสุดในช่วงบ่ายแก่ ๆ และเรืองแสงน้อยสุดในช่วงดึก

สิ่งมีชีวิตบนโลกหลายชนิดสามารถเรืองแสงได้ เช่น แมงกะพรุน แบคทีเรีย หรือปลาน้ำลึกบางชนิด แต่รู้หรือไม่ว่าผิวหนังของมนุษย์เราก็สามารถเรืองแสงได้เช่นเดียวกัน

การค้นพบนี้เกิดขึ้นในปี 2009 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีโทโฮกุ ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้กล้องที่มีความไวต่อแสงสูง ถ่ายภาพร่างกายส่วนบนของอาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 5 คน ทุก ๆ 3 ชั่วโมง ครั้งละ 20 นาที เป็นเวลา 3 วัน รวมถึงขณะที่กำลังนอนหลับด้วย 

ผลลัพธ์พบว่า ร่างกายของมนุษย์จะสามารถเรืองแสงออกมาได้ตลอดทั้งวัน โดยจะเรืองแสงสูงสุดในช่วงบ่ายแก่ ๆ คือประมาณ 16.00 น. และเรืองแสงน้อยสุดในช่วงดึก ในขณะที่แสงที่สว่างที่สุดจะเปล่งออกมาบริเวณ แก้ม หน้าผาก และลำคอ ทั้งนี้บริเวณที่เรืองแสงสว่างที่สุด ไม่ตรงกับบริเวณที่ร่างกายปล่อยความร้อนออกมามากที่สุด
อมยิ้ม31
มนุษย์เรืองแสงได้อย่างไร ?

การเรืองแสงเป็นผลข้างเคียงจากปฏิกิริยาเมตาบอลิซึม หรือกระบวนการเผาผลาญอาหารในสิ่งมีชีวิต คือในระหว่างกระบวนการเมตาบอลิซึม จะก่อให้เกิดผลพลอยได้คือ อนุมูลอิสระที่มีปฏิกิริยาสูง ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ไม่เสถียร 

ดังนั้นเพื่อทำให้ตัวเองเสถียร อนุมูลอิสระจึงไปทำปฏิกิริยากับโมเลกุลอื่น เช่น ไขมัน และโปรตีนที่มีอยู่ในเซลล์ ระหว่างนี้จะเกิดการถ่ายโอนพลังงานและผลักให้โมเลกุลเข้าสู่สถานะกระตุ้น (Excited State) 

โมเลกุลที่ถูกกระตุ้นจะต้องปล่อยพลังงานออกมาเพื่อให้ตัวเองกลับสู่สถานะเสถียร โดยจะไปทำปฏิกิริยากับสารเคมีที่เรียกว่า ฟลูออโรโฟร์ (Fluorophores) ที่สามารถปล่อยโฟตอน (อนุภาคแสง) ออกมาได้ การปล่อยโฟตอนนี้เองที่ทำให้เกิดการเรืองแสงออกมา 

ทั้งนี้เหตุผลที่บริเวณส่วนศีรษะเรืองแสงมากกว่า นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเนื่องจากส่วนศีรษะสัมผัสกับแสงแดดมากที่สุด จึงส่งผลต่อเมลานินภายในผิวหนังและกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการเรืองแสงได้ดีกว่าบริเวณอื่น ๆ ส่วนเหตุผลที่ช่วงบ่ายร่างกายเรืองแสงมากที่สุด นักวิจัยก็ตั้งสมมุติฐานว่า การเรืองแสงอาจเชื่อมโยงกับนาฬิกาชีวภาพของร่างกายมนุษย์ ดังนั้น ในช่วงบ่ายแก่ ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่เราเผาผลาญพลังงานมากที่สุด จึงเรืองแสงได้สว่างที่สุด

อมยิ้ม31
คำถามต่อมาคือแล้วทำไมเราจึงไม่เคยมองเห็นมนุษย์เรืองแสง ?

นั่นเป็นเพราะแสงที่เรืองออกมาจากร่างกายมนุษย์นี้มีระดับอ่อนกว่าที่ตาของมนุษย์เราจะมองเห็นถึง 1,000 เท่า ในระดับต่ำเช่นนี้ แสงดังกล่าวไม่น่าจะมีประโยชน์ต่อวิวัฒนาการของมนุษย์แต่อย่างใด แตกต่างจากสัตว์บางชนิด เช่น หิ่งห้อย หนอนเรืองแสง หรือปลาน้ำลึกบางชนิด ที่สามารถใช้การเปล่งแสงเพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามได้

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2009 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่นี่ https://www.tnnthailand.com/news/tech/183239/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่