MADE IN CHINA!!! ทหารอังกฤษรอดชีวิตจาก อีโบล่า!!! ด้วยยาตัวใหม่ ที่ผู้ผลิตคิดค้นคือ จีน!!!

ทหารอังกฤษรอดชีวิตจาก อีโบล่า!!! ด้วยยาตัวใหม่ ที่ผู้ผลิตคิดค้นคือ จีน!!!

3 เมษายน 2558 - โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    



สิบโทแอนนา ครอส ทหารอังกฤษผู้ได้รับการรักษาด้วยยามิล-77 ที่ผลิตในประเทศจีนจนหายขาดจากเชื้อไวรัสอีโบล่า ในงานแถลงข่าวหลังได้รับอนุญาตออกจากโรงพยาบาล (ภาพ เอเอฟพี)

        ซินหวา - ทหารหญิงเมืองผู้ดีรอดชีวิตจากไวรัสมรณะ ‘อีโบล่า’ (Ebola) ด้วยยาตัวใหม่ที่ผลิตบนแดนมังกรเป็นคนแรกของโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญติงสรุปไม่ได้ว่ายามีประสิทธิภาพดีเลิศ ย้ำต้องดูกันอีกยาว
       
       คณะแพทย์ของโรงพยาบาลรอยัล ฟรี ในกรุงลอนดอน ได้ใช้ยา “มิล-77” (MIL-77) ในการรักษาสิบโทแอนนา ครอส ทหารกองหนุนประจำหน่วยแพทย์กองทัพอังกฤษ ที่ติดเชื้อไวรัสระหว่างปฏิบัติภารกิจอยู่ในประเทศเซียร์ราลีโอนทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา
       
       ครอส วัย 25 ปี ได้รับการดูแลอยู่ในหน่วยกักกันพิเศษเอชแอลไอยู (HLIU) ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. จนกระทั่งหายดีและได้รับอนุญาตออกจากโรงพยาบาลในวันศุกร์ที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา
       
       ดร.ไมค์ เจคอบส์ ที่ปรึกษาด้านโรคติดต่อเรื้อรังซึ่งเป็นผู้ดูแลการรักษากล่าวในงานแถลงข่าวว่า “ครอสปลอดจากเชื้อไวรัสอีโบล่าอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยเธอเป็นผู้ป่วยรายแรกของโลกที่ได้รับการรักษาด้วยตัวยามิล-77 ซึ่งดำเนินไปด้วยดี และเท่าที่เราตรวจสอบอย่างละเอียดก็ไม่พบผลกระทบข้างเคียงอื่นใด”
       
       “กรณีของครอสคงไม่ได้บอกว่ายามิล-77 นั้นดีเลิศ เพราะจำนวนคนไข้เพียงหนึ่งเดียวมิอาจสรุปความทั้งหมดได้”
       
       ด้านศาสตราจารย์โจนาธาน บอล ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมในอังกฤษ กล่าวกับสำนักข่าวซินหวาของจีนเมื่อวันอังคาร (31 มี.ค.) ว่า ยามิล-77 มีลักษณะคล้ายคลึงกับยาซีแมพพ์ (Zmapp) ที่ใช้รักษาผู้ป่วยหลายรายก่อนหน้านี้
       
       ขณะเดียวกันข้อเท็จจริงที่ว่ายามิล-77 ถูกผลิตในประเทศจีน ได้สะท้อนความสามารถของธุรกิจไบโอของจีน ซึ่งมีการขยับขยายตัวมากขึ้น และมีอัตราค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับที่อื่น โดยบอลเสริมว่าการผลิตยามิล-77 นั้นซับซ้อนมาก
       
       “การสร้างแอนติบอดีขึ้นมานั้นยากยิ่ง คุณต้องปลูกและเลี้ยงเซลล์ พอพวกมันเริ่มผลิตแอนติบอดีให้ คุณก็ต้องเก็บเกี่ยวมาทำให้บริสุทธิ์ ก่อนบรรจุขวดเพื่อนำไปใช้งาน … มันไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการผลิตยาปฏิชีวนะทั่วไป”
       
       อย่างไรก็ดีศาสตราจารย์บอลก็เน้นย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าตัวยามิล-77 ประสบความสำเร็จแล้ว
       
       “เราไม่รู้ว่ามันใช้ได้ดีจริงไหม จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการวิจัยทดลองทางคลินิก แม้ปัจจุบันการแพร่ระบาดถูกจำกัดควบคุมไว้แล้วแต่เราก็ยังไม่พร้อมใช้วัคซีนเหล่านี้ โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความพยายามนำเสนอตัวยารักษากันอย่างจริงจังเช่นนี้”

http://manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9580000038823
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่