ทำไมเราต้องสอนว่าคนไทย มาจากเทือกเขาอัลไตด้วยครับ?

ทำไมเราต้องสอนว่าคนไทย มาจากเทือกเขาอัลไตด้วยครับ?

เท่าที่ศึกษาดูมีนักวิชาการแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันในเรื่องต้นกำเนิดชาติพันธ์ของคนไทย
เรารับรู้ว่าเรามาจากเทือเขาอัลไตจากการเรียนการสอนในตำรามาตั้งแต่เด็ก ๆ

แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งได้เสนอทฤษฎีที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยกลุ่มคนที่ก่อนจะเรียกตัวเองว่าคนไทยแล้ว แท้จริง
คือกลุ่มชนพื้นเมืองบริเวณที่ราบลุ่ม "สุวรรณภูมิ" ที่เป็นศูนย์กลางของการค้า มาตั้งแต่โบราณ และได้มีชนเผ่าต่าง ๆ  มาผสมผสาน
ได้แก่ ลาว เขมร มอญ ลั๊วะ และอื่น ๆ อีกมากมาย ก่อนที่จะสถาปนารัฐปกครองตนเอง และเปลี่ยนเมือง เปลี่ยนชื่อจนมาเป็น ประเทศไทยทุกวันนี้
ซึ่งมีหลักฐานทั้ง ภาษา วัฒนธรรม วัตถุโบราณมากมายตามยุคสมัยต่าง ๆ รวมทั้งบันทึกโบราณจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ในขณะที่นักวิชาการกลุ่มแรก ก็ยืนยันหัวชนฝาว่า คนไทย ต้องมาจากเทือกเขาอัลไต โดยที่ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดี แม้แต่อย่างเดียว


ทำไมเราไม่สอนลูกหลานเราในสิ่งที่ถูกต้องครับ?
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 6
คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ประวัติศาสตร์ ′ปลอม′ ที่ไม่ยอมจากไป
คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2557



คนไทย มาจากไหน? คำถามที่หลายคนสงสัย และหนึ่งในคำตอบแบบพ้นสมัย ก็คือ คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต แนวคิดที่คนในวงวิชาการส่ายหน้าแล้วบอกว่า ไม่มีใครเชื่ออย่างนั้นอีกแล้ว เพราะถูกยกเลิกจากแบบเรียนของเด็กไทยมานานเหลือเกิน


เทือกเขาอัลไต อยู่ในเอเชียกลาง บริเวณพรมแดนร่วมของประเทศรัสเซีย, จีน, มองโกเลีย, และคาซัคสถาน ห่างไกลจากดินแดนไทยปัจจุบันมาก


อัลไต (Altay) หมายถึง เทือกเขาแห่งทองคำ มาจากรากศัพท์ Al (ทองคำ) และ tau (ภูเขา) ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำว่า ไต หรือ ไท ซึ่งเป็นชื่อชนชาติแต่อย่างใด ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้นิยมปีนเขา ภาพนี้คือเขาเบลูชา (Belucha) ส่วนหนึ่งของเทือกเขาอัลไต

แต่เมื่อเฟสบุ๊กแฟนเพจชื่อ ′เมด อิน อุษาคเนย์′ หยิบยกประเด็นนี้มาบอกเล่าโดยเป็นหนึ่งในหัวข้อ ′ประวัติศาสตร์ปลอม ที่คนไทย (เคย) ยอมรับ′ กลับมีผู้กดถูกใจ และแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นหลากหลาย

กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้รู้ว่าแนวคิด ′คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต′ ยังอยู่ในความรับรู้ของคนจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ

ประวัติศาสตร์ปลอมที่คนไทย (เคย) ยอมรับ

ข้อความที่ถูกโพสต์ลงเฟสบุ๊ก เมด อิน อุษาคเนย์ เมื่อช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 6 กันยายน 2557 ราว 17.00 น. มีผู้อ่าน (หรือได้เห็นผ่านตา) ถึง 48,800 คน ในเวลาเพียง 2 วัน เนื้อหามีดังนี้

"รู้น่า! ว่าแนวคิดเรื่องคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนั้นเก่ากึ๊ก และยอมรับกันแล้วว่ามันไม่จริ๊ง ไม่จริง แต่นี่คือหนึ่งในประวัติศาสตร์ปลอมสุดคลาสสิคที่ต้องหยิบยกมาเม้าท์กัน ว่าในอดีตนั้นเราเคยเชื่อเรื่องนี้ถึงขนาดมีบรรจุในแบบเรียนมานานนับปี ว่าคนไทยในสยามประเทศเรานี้หอบลูกจูงหลานมาจากเทือกเขาที่ชื่อว่าอัลไต ซึ่งก็นับว่าฟังเข้าที เพราะมันออกเสียง ไทๆ ไตๆ อิไต อิไต อะไรนี่ ดูเข้าเค้า

กระทั่งมีคนขี้สงสัยตั้งคำถามว่า ไอ้เขาอิไต เอ้ย! อัลไตที่ว่านี้มันอยู่ไหนกันหว่า? พอสืบค้นไปมา ปรากฏว่าอยู่แถบเอเชียกลางนู่นแน่ะ แบบว่าเป็นช่วงพรมแดนร่วมของประเทศรัสเซีย จีน มองโกเลีย และคาซัคสถาน ที่ฮากว่านั้นคือ เคยมีคนพยายามเดินทางไปโดยสอบถามทางการรัสเซีย คำตอบที่ได้ชวนหงายเงิบ เพราะนอกจากที่นั่น จะไม่มีคนไท/ไตอาศัยอยู่แล้ว จากสภาพแวดล้อมทั้งปวงก็ไม่น่าจะเคยมีมนุษยชาติคนใดตั้งถิ่นฐานมาก่อน เพราะเป็นภูเขาน้ำแข็งอุณหภูมิติดลบยิ่งกว่าอยู่ในตู้แช่ปลา ซึ่งทางการรัสเซียเขาใช้เป็นสถานที่ติดตั้งสัญญาณเรดาร์อะไรสักอย่าง

ว่าแต่ว่า---แนวคิดเรื่องคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต มาจากไหน?

อะแฮ่ม‚ขอบอกว่าเรื่องนี้เขามีที่มาที่ไป นั่นก็คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ท่านแต่งหนังสือชื่อ ′หลักไทย′ เล่าเรื่องนี้เป็นคุ้งเป็นแคว แต่ๆๆๆ แต่ก็โทษท่านไม่ได้ เพราะท่านแต่งเข้าประกวดในงานๆ หนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นตำรับตำราประวัติศาสตร์แต่อย่างใด เนื้อหาในหนังสือระบุประมาณว่า

"เดิมชนชาติไทยเคยอาศัยอยู่แถบเทือกเขาอัลไตเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว ต่อมา ได้อพยพลงมายังแม่น้ำหวงเหอ เรียกว่า อาณาจักรไทยมุง หรืออาณาจักรไทยเมือง และได้อพยพลงมาอีกจนถึงลุ่มแม่น้ำแยงซี แต่ต่อมาได้เสียเมืองให้กับจีน จึงต้องอพยพลงมาทางใต้ต่อไป"

ทั้งนี้ เหตุที่ท่านเลือกเทือกเขาอัลไตในนิยาย เอ้ย! หนังสือของท่านก็เพราะชื่อมันไตๆ ไทๆ นั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้โต้แย้งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เจตนาปลอมของท่านขุน ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน อาทิ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ที่แสดงความเห็นว่า ระยะทางจากเทือกเขาอัลไตถึงประเทศไทยอยู่ห่างกันมาก จึงไม่น่ารอด ชีวิตจากการเดินทางผ่านทะเลทรายโกบีได้---พูดง่ายๆ คือ จะพากันตายก่อนมาถึงแดนสยามนะจ๊ะ

สรุปว่า หลังจากบรรจุในแบบเรียนอยู่เนิ่นนาน ปัจจุบันได้ยกเลิกแนวคิดนี้ไปแล้ว แต่ยังมีผู้นำแนวคิดที่ว่านี้มาใช้เป็นคำสแลงเสียดเย้ยกลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ทำนองว่า "พวกนี้มาจากเทือกเขาอัลไต!!!"

คำสารภาพของขุนวิจิตรมาตรา

คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต เริ่มจากหนังสือหลักไทยของขุนวิจิตรามาตราได้รับพระราชทานรางวัลและประกาศนียบัตรวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ. 2471

จนกระทั่งมีการบรรจุเนื้อหาเรื่องคนไทยมาจากภูเขาอัลไตลงในแบบเรียน ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยเรื่อยมา เพราะไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือ

สุดท้าย แบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการตามหลักสูตรใน พ.ศ. 2521 ได้ระบุให้ยกเลิกแนวคิดนี้จากแบบเรียนเรื่องคนไทยอพยพจากเทือกเขาอัลไต

ราว 2 ปีต่อมา นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2523 ตีพิมพ์ถ้อยคำของ ขุนวิจิตรฯ ถึงประเด็นอันน่าเคลือบแคลงนี้ ซึ่งท่านอ้างว่าไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่ได้มาจากหมอวิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ ผู้เขียน The Thai Race-The Elder Brother of Chinese

"ผมเขียนตามของหมอดอดด์ เขาว่างั้นนะ ไม่ใช่ผมมาเม้คขึ้นเองเมื่อไหร่ ผมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ผมไม่รู้หรอก ว่าจริงหรือไม่จริง" ขุนวิจิตรฯ ในวัย 83 ปี กล่าวกับคณะทำงานนิตยสารศิลปวัฒนธรรมซึ่งเดินทางไปพบที่บ้านบนถนนวิภาวดีรังสิต---และนั่นคือเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่