ความหมายของ "รดน้ำดำหัว"

คำอธิบายความหมายของ "รดน้ำดำหัว" ของ ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำมาจากหน้าเพจเฟซบุ๊กของอาจารย์ครับ....มี ๒ ข้อความ น่าสนใจมากตรงที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในสื่อเริ่มเข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนและอธิบายผิดๆ อาจารย์ธเนศจึงได้อธิบายความหมายที่ถูกต้อง  ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์จึงขออนุญาตอาจารย์ธเนศนำมาเผยแพร่ต่อในห้องสมุด มีข้อความดังนี้

"ผู้ประกาศ จส. 100 บอกว่า 
'ขอแก้ภาษาหน่อยนะคะ ถ้าเราไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ให้ใช้ว่า ไปรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ รดน้ำดำหัว ใช้สำหรับเราเล่นน้ำกันเอง คิดดูนะคะ ไปดำหัวผู้ใหญ่ ฟังแล้วขัดๆ นะคะ'

ผู้ประกาศออกเสียงเน้นคำว่า 'ดำ' เพื่อให้รู้สึกว่าการดำหัวผู้ใหญ่เป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ 

นางเข้าใจคำ 'ดำหัว' ว่าอย่างไร

'ดำ' ในที่นี้ น่าจะเป็นคำยืมเขมร แปลว่า กด เช่น ดำนา ดำหัว ก็น่าจะแปลว่าก้มหัวให้รดน้ำหรือสระผม (อันนี้อย่าเพิ่งอ้างอิง จำได้เลาๆ ว่าเคยอ่านเจอที่ไหนสักแห่ง)
หนังสือที่ให้ความรู้เรื่องประเพณีทั่วๆไป ให้ความหมายคำ 'ดำหัว' ว่า 'การสระผม' คือชำระสิ่งสกปรกออกจากศีรษะ 

ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นการชำระสิ่งอัปมงคลได้ด้วย การดำหัวโดยทั่วไปแต่โบราณมักใช้น้ำผสมน้ำจากผลมะกรูดและเมือกจากใบหมี่ แต่การดำหัวเพื่อชำระสิ่งอัปมงคลจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อย

การดำหัว เป็นประเพณีทางภาคเหนือซึ่งกระทําในวันปีใหม่เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือและรักใคร่ วิธีดําหัว คือเอาสิ่งของและนํ้าที่ใส่เครื่องหอมเช่นนํ้าอบไทยไปให้แก่ผู้ที่เคารพ และขอให้ท่านรดนํ้าใส่หัวของตนเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข

ดังนั้น รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ใช้ถูกต้องแล้ว

ไม่มีใครแบ่งระดับว่า ถ้ารดน้ำผู้ใหญ่ เรียก รดน้ำขอพร
ถ้ารดน้ำกันเอง เรียก รดน้ำดำหัว

'รดน้ำกันเอง' ของคนสมัยนี้ เขาเรียกว่า สาดน้ำ มากกว่า

วิธีคิดเกี่ยวกับภาษาแบบนี้เป็นจริตของคนเมืองที่ 'ไม่รู้ภาษา' !!!

(หมายเหตุ
กรณีนี้ ผู้ประกาศ จส.100 คนนี้ไม่ได้ใช้ภาษาผิด แต่แสดงความเห็นเกี่ยวกับภาษาด้วยความรู้สึกของตนโดยไม่รู้รากของภาษา ที่สำคัญ 'สื่อ' ทำตัวเป็นผู้บอกภาษาด้วย ข้อหลังนี้น่าเป็นห่วง) "

(มีต่ออีกข้อความหนึ่งครับ ขอต่อข้างล่าง)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่