ไม่น่าเชื่อ กะเพรามีสารตกค้างมากกว่ากะหล่ำปลีเสียอีก

กระทู้สนทนา
ถ้าให้ทายว่าผักใดมีสารตกค้างมากที่สุด คิดว่าหลายคนคงคิดว่ากะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว หรือคะน้า
แต่ผลการสุ่มตรวจกลับออกมาว่ากะเพรามีสารตกค้างมากกว่า 60% ในขณะที่กะหล่ำปลีไม่พบสารตกค้าง


ข้อมูลจากมติชน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1427360975

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้จัดประชุมวิชาการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประจำปี 2558

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ได้เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผัก ว่า ได้เก็บตัวอย่างผักผลไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคมากที่สุด 10 ชนิดประกอบไปด้วยคะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ พริกแดง กะเพรา กวางตุ้ง และผักบุ้งจีน โดยเก็บตัวอย่างผักจากโมเดิร์นเทรด ซึ่งประกอบไปด้วยห้างเทสโก บิ๊กซี แมคโคร และผักที่มีตราเครื่องหมาย Q รับรอง และจากตลาดสดจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ตลาดไท ปากคลองตลาด สี่มุมเมือง และตลาดบางใหญ่ ปรากฏว่าพบโดยภาพรวมมีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน (ค่าเอ็มอาร์แอล) ของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 25%


น.ส.ปรกชล กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ผักที่พบการปนเปื้อนมากที่สุดคือกะเพรา พบว่าสารพิษเกินมาตรฐานถึง 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้าพบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวา และพริกแดงพบค่อนข้างน้อยคือ 12.5% ส่วนผักกาดขาวปลี และกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้างเลย

ทั้งนี้ แม้จะพบการปนเปื้อนในระดับสูง แต่ผลการตรวจในปีนี้ ถือว่าน้อยกว่าในปี 2557 ที่ผ่านมา โดยในปีที่ผ่านมา มีการตรวจพบการปนเปื้อนในผักเกินมาตรฐาน ในห้างโมเดิร์นเทรดและผักที่ได้ตรามาตรฐาน Q สูงถึง 53.33% โดยในปีนี้พบการตกค้างเกินมาตรฐานเพียง 20% ในขณะที่ตลาดสดกลับพบว่า มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเฉลี่ย 30%โดยตลาดบางใหญ่พบตัวอย่างผักที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 40% ในขณะที่ผักที่ปากคลองตลาดมีสารตกค้างเฉลี่ย 20% เท่าๆกับโมเดิร์นเทรด

“การที่ภาคสังคมได้รวมตัวกันเฝ้าระวังสารพิษตกค้าง ในผักและผลไม้โดยได้เผยแพร่ผลการตรวจ และได้รับความร่วมมือจากสมาคมค้าปลีก และสมาคมตลาดสดไทย ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมวิชาการเกษตร โดยได้ประชุมกันหลายครั้งในปีที่ผ่านมา ทำให้มีการแก้ปัญหานี้ในระดับหนึ่ง แต่ในฐานะผู้บริโภคเราคิดว่าตัวเลขการตกค้างของสารพิษในระดับ 25% ยังเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป”น.ส.ปรกชล กล่าว

ด้าน นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นพันธมิตรในการดำเนินการเฝ้าระวังได้ เปิดเผยการดำเนินการต่อไปว่า เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะนัดหมายผู้ประกอบการทั้งสมาคมค้าปลีกไทย สมาคมตลาดสดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิด เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อหารือการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยครั้งนี้จะมีการหยิบยกมาตรการทางกฎหมายมาดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้กระทำความผิดซ้ำซาก เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคน ได้มีโอกาสบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย ไม่ตายผ่อนส่งเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่