"คู่หมาย-มีเอาไว้บนหิ้ง ส่วนนางบำเรอ-มีเอาไว้ในห้อง"...เขียนบทได้แบบว่า "ถึงใจ-ถึงอารมณ์"

ดู ไม่สิ้นไร้ไฟสวาท มาได้ 3 ตอนแล้ว...เข้าใจแล้วว่าทำไมช่อง 7 และดาราวีดีโอ จึงมอบหมายให้เจ้าของบทประพันธ์อย่าง คุณนันทนา วีระชน ลงมือเขียนบทละครโทรทัศน์เองกับมือ เพราะการตีโจทย์ของตัวละคร การวางมิติและปมต่างๆของตัวละคร รวมถึงภาษาและบทสนทนาต่างๆนั้นย่อมจะมาจากจินตนาการของเจ้าของบทประพันธ์ มันจึงจะตรงกับคอนเซป..."ถึงใจ ถึงอารมณ์"

ตัวอย่างคำว่า "คู่หมาย" ที่ผู้ประพันธ์และผู้เขียนบทละคร ต้องการจะสื่อนั้น มันมีความหมายและมิติที่แตกต่างจากคำว่า "คู่หมั้น" คือได้ยินตอนแรกๆก็เอะใจว่า ทำไมเขาจึงเรียกใช้คำนี้ พอได้ดูจากบริบทของเรื่องมันทำให้เข้าใจเจตจำนงของคุณนันทนา วีระชน เลยว่า "คู่หมาย" ดูจะมีความหมายที่ไม่ฝังลึก ผูกมัดแนบแน่นเท่าคู่หมั้น เพียงแต่หมายกันด้วยสัจจะวาจาและใจ หาใช่หมั้นกันไว้ด้วยทรัพย์สินศฤงคาร...ถือว่าเป็นคำที่ฟังดูแปลกแต่ระรื่นหูดี มันเหมาะกับคนในยุคสมัยปัจจุบันนี้ ที่ดูจะไม่ค่อยชอบการผูกมัดกันด้วยสัญญาใดๆ เพียงแต่ผูกพันกันด้วยสัจจวาจาเท่านั้นก็เป้นพอ

"คู่หมาย-มีเอาไว้บนหิ้ง  ส่วนนางบำเรอ-มีเอาไว้ในห้อง" คือเป็นการเปรียบเปรยทางภาษาที่เห็นจินตภาพชัดเจนมาก คือเข้าใจว่าโดยเนื้อหาของบทประพันธ์เรื่องนี้ค่อนข้าง Dark ดิบ เถื่อน และเต็มไปด้วยคาวราคะ...แต่พอการนำเสนอเป็นละครโทรทัศน์ที่ต้องปรับโทนให้ดู soft ลงตามเรท "ท" (หมวดรายการโทรทัศน์ที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย) ดังนั้นการแสดงของ ชิดชบา-ปฐวี-โฉมสุภางค์ จะถูกลดความรุนแรงและภาพร้ายๆแรงๆลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ให้หลุดกรอบคอนเซปของละคร คุณนันทนา วีระชน จึงเน้นให้ฉากต่างๆมาเป็นการโต้ตอบกันทางภาษา/วาจา ที่เชือดเฉือนแบบเจ็บๆคันๆตามอารมณ์กวีของคุณนันทนาเอง ถือว่าการโต้ตอบความรุนแรงด้วยภาษาที่สวยงาม มันทำให้ละครดูมีศิลปะมีมิติในการนำเสนอที่แปลกใหม่ขึ้น...คือเข้าใจว่ากรอบละครของช่อง 7 ไม่สามารถนำเสนอไปในทางตรงแบบเถื่อน ดิบ ร้ายๆแรงๆได้ แต่เขาก็ปรับเปลี่ยนให้ไปในทางอ้อมได้ โดยมีเป้าหมาย คือ ความสนุกของตัวละครและ ถึงใจ-ถึงอารมณ์ ของคนดู...งานนี้ต้องขอชื่นชมคุณนันทนา วีระชน เป็นพิเศษที่สามารถสร้างจินตภาพออกมาได้กลมกล่อม ลงตัว สนุก เชืดเฉือน ผ่านอักษรที่จินตนาการของท่าน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่