แบบแผนของการแสดงพระธรรมเทศนา --- กรณีพระคึกฤทธิ์

กระทู้สนทนา
แสดงพระธรรมเทศนา คือแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า

อย่างไรจึงเรียกว่า “แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า” ไม่ได้เป็น “แสดงธรรมของข้าพเจ้า”


๑ ตั้งนะโมอย่างไร

๒ ยกนิกเขปบทอย่างไร
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

๓ ดำเนินความอย่างไร

๔ อธิบายขยายความตามนิกเขปบทที่ละคำทีละข้อ ทำอย่างไร

๕ ยกหลักธรรมในพระคัมภีร์มารับรอง
... “สมดังพระพุทธวจนประพันธ์ภาษิตที่องค์สมเด็จพระธรรมสามิศสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์.... ว่า...”

วิธีค้นหาที่มาของพระพุทธพจน์ ค้นที่ไหน ค้นอย่างไร

ต้องยกพระพุทธพจน์มารองรับ เพื่อยืนยันว่าที่เทศน์มานั้นไม่ได้ว่าเอาเอง


๖ สรุปความอย่างไร

๗ เทสนาวสาเน หรือจบเทศน์อย่างไร

๘ อนุโมทนา (ยะถา สัพพี) อย่างไร

ขั้นตอนเหล่านี้ รวมไปถึงกิริยามารยาท จะขึ้นธรรมาสน์ จะลงจากธรรมาสน์ มีแบบมีแผนที่บูรพาจารย์ท่านวางไว้
และสั่งสอนฝึกฝนอบรมกันมาแล้วทั้งสิ้น

ซึ่งล้วนแต่มุ่งผลคือนำไปสู่ศรัทธาเลื่อมใสใน “คำสอนของพระพุทธเจ้า

หัวใจของ “พระธรรมเทศนา” จึงอยู่ที่แสดงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างตรงไปตรงมา

ที่สำคัญที่สุด ท่านสอนพระธรรมกถึกไว้ว่า พึงทำตนเป็นดุจ “ราชทูตอ่านสาส์น

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนข้อความในสาส์น

พระธรรมกถึกเหมือนราชทูต

ข้อความในสาส์นว่าอย่างไร ต้องอ่านไปตามนั้น

ไม่ใช่ทำตนเป็น “ทูตแปลงสาส์น



พระธรรมนั้นมีที่มาจากพระไตรปิฎก และมีคำอธิบายที่เรียกว่า อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ไปจนถึงอาจริยมติ รวมเรียกว่า พระคัมภีร์

พระธรรมกถึกจึงต้องเป็นนักศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์

ธรรมเนียมพระเทศน์ต้องถือคัมภีร์ก็มาจากหลักนิยมอุดมคตินี้

คือเป็นการยืนยันกับผู้ฟังว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่กำลังว่าอยู่นี้เอามาจากคัมภีร์

อาตมาไม่ได้ว่าเอาเอง



องค์แห่งพระธรรมกถึกข้อแรกที่ท่านสอนไว้ คือ

“แสดงธรรมไปตามลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ธรรมกถึก


เป็นการยืนยันให้รู้ว่า พระธรรมคำสอนนั้นเป็นสิ่งที่ท่านตรัสไว้เรียบร้อยแล้ว

และท่านก็บอกกันมาว่า พระธรรมที่ตรัสไว้มีมากมายนักหนาถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์

ครอบคลุมทั่วถึงทั้งคดีโลกและคดีธรรม

พระธรรมกถึกเป็นแต่อัญเชิญออกมาแสดงเท่านั้น

ไม่ต้องไปคิดขึ้นใหม่เลย



แต่กระนั้น ท่านก็มิได้ปิดกั้นความคิดความเห็น

ดังที่มีคำว่า “อัตโนมัตยาธิบาย” เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงพระธรรมเทศนา

“อัตโนมัตยาธิบาย” แปลว่า “คำอธิบายตามความเห็นของตน”

พระธรรมกถึกสามารถกระทำได้

แต่ทั้งนี้จะต้อง -

๑ ยกเอาพระพุทธพจน์มาแสดงก่อน

๒ แล้วยกเอาคำอธิบายพระพุทธพจน์นั้นซึ่งมีอยู่ในพระคัมภีร์ต่างๆ ขึ้นมาแสดง

๓ ต่อจากนั้นก็แสวงหาคำอธิบายของอาจารย์ต่างๆ (อาจริยมติ) มาเพิ่มเติมเทียบเคียงให้สิ้นกระแสความที่ท่านเคยอธิบายกันมา

๔ ต่อจากนั้น ถ้ายังไม่จุใจ หรืออยากจะแสดงความเห็นส่วนตัวบ้าง ก็เอามาไว้เป็นส่วนสุดท้าย
และต้องบอกแก่ผู้ฟังให้ชัดเจนว่าเป็น “อัตโนมัตยาธิบาย”



ผู้สดับจะได้แยกแยะได้ถูกว่าส่วนไหนเป็นพระพุทธดำรัสตรัสสอน

ส่วนไหนเป็นคำอธิบายของอรรถกถา ฎีกา ฯลฯ

และส่วนไหนเป็นความเห็นส่วนตัวของพระธรรมกถึก




เหตุที่ต้องมีลำดับเช่นนี้ ก็เพราะพระพุทธศาสนาคือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุธเจ้านั้น มิใช่เพิ่งเกิดมีเมื่อวานนี้

แต่มีมานานนักหนาแล้ว

ผ่านการวิเคราะห์วิจารณ์จากพระสาวกรุ่นแล้วรุ่นเล่า

ผ่านความคิดเห็นของอาจารย์ทั้งหลายมานักต่อนักแล้ว

จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีแง่มุมซอกเหลี่ยมใดๆ ในพระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ที่ยังไม่มีใครเคยคิดเคยเห็นกันมาก่อน

ไม่ว่าจะยกนิกเขปบทหรือหัวข้อธรรมะข้อไหนขึ้นมาเทศน์

ธรรมะข้อนั้นมีผู้อธิบายหรือแสดงความคิดเห็นไว้แล้วทั้งสิ้น

แค่ติดตามศึกษาค้นคว้ารวบรวมส่วนที่ท่านคิดเห็นกันไว้แล้วให้ทั่วถ้วน ก็จะได้ข้อสรุปและความเห็นหลากหลายตรงกับที่เราคิด
หรือที่เราอยากจะแสดงความคิดอย่างแน่แท้

และที่มากมายหลายหลากนั้นแหลมคมกว่าที่เราคิดเสียอีก


ถ้าผู้แสดงพระธรรมยึดถือหลักการดังพรรณนามานี้ คำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะไม่เลอะเลือนเปื้อนปน

ผู้สดับก็จะได้รับ “คำสอนของพระพุทธเจ้า” ที่แท้จริง

ไม่ใช่ได้ไปแต่ “คำสอนของข้าพเจ้า” ดังที่มักจะเป็นอยู่ในทุกวันนี้




ในครั้งพุทธกาล ผู้คนที่ฝักใฝ่ในทางธรรมมักพอใจที่จะแสวงหาคำสอนของเจ้าลัทธิต่างๆ

ชอบใจคำสอนใคร ก็เข้าเป็นสาวกของคนนั้น

พอเจอนักบวชก็จะถามกันว่า ใครเป็นครูของท่าน ท่านชอบใจธรรมะของใคร

ขอให้ทบทวนเรื่องอุปติสสะคือพระสารีบุตรเมื่อพบพระอัสสชิครั้งแรก

ท่านถามว่า

กํสิ  ตฺวํ  อาวุโส  อุทฺทิสฺส  ปพฺพชิโต ท่านบวชมุ่งไปที่ผู้ใด

โก  วา  เต  สตฺถา ใครเป็นครูของท่าน

กสฺส  วา  ตฺวํ  ธมฺมํ  โรเจสิ. ท่านชอบใจธรรมะของใคร


คำว่า “ท่านชอบใจธรรมะของใคร” นี่สำคัญมาก แสดงให้เห็นว่าเจ้าของธรรมะมีหลายคนหลายสำนัก
จะชอบใจธรรมะของใคร ก็เลือกเอา

ตอนนั้นอุปติสสะมีอาจารย์อยู่แล้ว ท่านเป็นศิษย์ของอาจารย์สัญชัยเจ้าสำนักใหญ่ในเมืองราชคฤห์

เรียกว่าท่านชอบใจธรรมะของอาจารย์สัญชัยอยู่แล้ว

แต่พอเรียนจบ ท่านเห็นว่านี่ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ท่านก็เลิกชอบ หันไปแสวงหาธรรมะของอาจารย์อื่นๆ ต่อไปอีก

แปลว่าจะชอบใจหรือไม่ชอบใจธรรมะของใครก็เลือกเอา เลือกได้



พระอัสสชิท่านตอบว่า

เย  ธมฺมา  เหตุปฺปภวา

เตสํ  เหตํ  ตถา  คโต (อาห)

เตสญฺจ  โย  นิโรโธ  จ

เอวํวาที  มหาสมโณ.


(วินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ http://84000.org/tipitaka/read/?4/64-65 )


คาถานี้ผู้รู้ท่านเรียกว่า “หัวใจอริยสัจ

เย  ธมฺมา  เหตุปฺปภวา  ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด นี่คือทุกข์

เตสํ  เหตํ  เหตุแห่งธรรมเหล่านั้น นี่คือสมุทัย

เตสญฺจ  โย  นิโรโธ  จ  บาทนี้แสดงนิโรธและมรรค

บาทสุดท้ายสำคัญมาก เอวํวาที  มหาสมโณ  พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้


โปรดสังเกตว่า พระอัสสชิท่านบอกว่า พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้ คือพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้

ท่านไม่ได้บอกเลยว่า พระอัสสชิสอนอย่างนี้ คือท่านไม่ได้บอกว่านี่เป็นธรรมะของท่าน แต่ท่านยืนยันว่านี่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า

คำว่า เอวํวาที  มหาสมโณ นี่ก็คือการอ้างที่มานั่นเอง



เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ธรรมะคำสอนของพระองค์ดำรงอยู่ในความจำ ความรู้ ความเข้าใจของพระสาวกคือผู้ฟัง

ยังไม่มีตัวคัมภีร์คือพระไตรปิฎก หรือ reference book

ใครอยากฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ต้องเดินทางไปเฝ้าไปฟังด้วยตัวเอง


พระสาวกที่รู้ธรรมเข้าใจธรรมของพระพุทธเจ้า เวลาจะแสดงธรรมก็ต้องอ้างพระพุทธเจ้า คืออ้างว่าตนได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้า

สมมุติว่าอุปติสสะไปถามพระปัญจวัคคีย์อีก ๔ องค์ คือพระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ
ท่านก็จะต้องตอบแบบเดียวกับที่พระอัสสชิตอบ คือ เอวํวาที  มหาสมโณ  พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้

ไม่ใช่-ตัวอาตมาสอนอย่างนี้



ครั้นมาถึงยุคสมัยของพวกเรา ธรรมะของพระพุทธเจ้ารวบรวมไว้ในพระคัมภีร์

เวลาจะเอาธรรมะนั้นมาแสดง ท่านจึงวางหลักไว้ว่าต้องอัญเชิญธรรมะนั้นมาจากคัมภีร์ ยกขึ้นตั้งเป็นหัวข้อ ที่เรียกว่า “นิกเขปบท”
ซึ่งก็แปลตรงตัวว่า “บทที่ยกขึ้น” เป็นการยืนยันต่อผู้ฟังว่า ธรรมะที่จะแสดงต่อไปนั้นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
ไม่ใช่พระธรมกถึกผู้แสดงคิดขึ้นได้เอง



แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็จะต้องมีคำอธิบาย

อาจเป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายไว้เองเมื่อมีผู้ไปทูลถาม หรือเป็นคำอธิบายของพระสาวกรุ่นต่อๆ มา แล้วก็จำกันไว้
และสั่งสอนสืบทอดกันต่อๆ มา อันเป็นที่มาของคัมภีร์ที่เรียกว่า อรรถกถา


เป็นอันว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีทั้งที่เป็นพระพุทธพจน์คือคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก
มีทั้งคำอธิบายคือ อรรถกถา แล้วยังมีคำอธิบายชั้นฎีกา อนุฎีกา
ตลอดจนความเห็นของครูบาอาจารย์ในยุคสมัยต่างๆ อีกมากมาย ที่เรียกว่า อาจริยมติ

เรียกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าทุกหัวข้อมีผู้อธิบายขยายความและขบคิดไว้หมดแล้ว



ท่านจึงวางหลักอีกว่า เมื่อยกนิกเขปบทแล้ว ก็หยิบยกเอาอรรถกถา ฎีกา คือคำอธิบายพระพุทธพจน์นั้นมาแสดงต่อไป

ถ้ายังไม่ชัดเจน ก็ยกเอาความเห็นของบูรพาจารย์ที่ท่านเคยขบคิดธรรมะข้อนั้นๆ มาแล้วเอามาเสริมมาขยายต่อไปได้อีก

ทั้งนี้เพราะพระธรรมกถึกผู้กำลังแสดงธรรมอยู่ในเวลานี้ย่อมมิใช่เป็นบุคคลแรกที่ได้เคยเห็นเคยศึกษาพระธรรมข้อนั้นๆ ของพระพุทธเจ้า

พระธรรมกถึกเพียงแต่ไปศึกษาค้นคว้าสิ่งที่ท่านอธิบายไว้แล้วเอามาแสดง ก็เหลือกินแล้ว

ถ้าแน่ใจว่าตนมีความคิดเห็นที่แหลมคมกว่าที่ครูบาอาจารย์เคยคิดเคยเห็นกันมา หรือเห็นว่าที่ท่านอธิบายกันมานั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ไม่ชอบด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม และยังอยากแสดงความคิดเห็นของตนบ้าง ก็เอามาไว้ท้ายสุด

เป็นการรักษาคำอธิบายของเดิมไว้ให้ท่านอื่นๆ ได้พินิจพิจารณาศึกษาต่อไปด้วย เป็นการเคารพบูรพาจารย์ด้วย


----------------------------
อ่านบทความฉบับเต็มของท่านนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ได้ที่

http://www.oknation.net/blog/konkangwat/2013/06/30/entry-1
http://www.oknation.net/blog/konkangwat/2013/06/30/entry-2
http://www.oknation.net/blog/konkangwat/2013/06/30/entry-3


หมายเหตุ
1 บทความนี้ ท่านอาจารย์ทองย้อยไม่ได้เอ่ยถึงใครเป็นพิเศษ ชื่อกระทู้เป็น จขกท ตั้งเอง

2 บทความนี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่พระคึกฤทธิ์และเหล่าสาวก "สำนัก" ต่างๆ ไม่มากก็น้อย

3 พระคึกฤทธิ์ตีความพระพุทธพจน์ผิดหลายประการ --- เรื่องนี้ชัดเจน (อ้างอิงกระทู้อื่นๆ ได้)
   และพระคึกฤทธิ์เองนั่นแหละ ที่เป็นผู้ทำสิ่งที่ตนประกาศว่านั่นเป็นความผิด นี่ก็เป็นความชอบกลของท่านประการหนึ่ง
   อ่านเพิ่มเติมที่
   http://ppantip.com/profile/605865 --- ท่านยามประจำวัน
   http://ppantip.com/profile/548662 --- ท่าน zen_ar218
   http://ppantip.com/profile/1615406 --- ท่านหงอคง


4 หากสาวกพระคึกฤทธิ์จะอ้างว่า ท่านทำด้วยความปรารถนาดี ก็อย่าลืมว่า "เจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องไม่โง่ด้วย"
  
   มกสชาดก ว่าด้วยมีศัตรูผู้มีปัญญาดีกว่ามีมิตรโง่
   http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=44

  โรหิณีชาดก ว่าด้วยผู้อนุเคราะห์ที่โง่เขลาไม่ดี
  http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=45
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่