เล่าเรื่องขอคืนภาษีกรณีการขายอสังหาริมทรัพย์แบบมุ่งค้ากำไร

เราเชื่อว่าหลายคนเคยงง  กรณีของเรา เดือนเมษายน 2557 เราขายบ้านหลังที่สองตรงประเวศที่เราซื้อไว้ให้น้องๆ อยู่  ในทะเบียนบ้านมีชื่อน้องสาวเราเป็นเจ้าบ้าน  ส่วนตัวเรายังคงอยู่ในทะเบียนบ้านเดิมที่พระโขนง  พอลองอ่านหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรเรื่องการยกเว้นนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ประจำปี ปรากฏว่า ไม่เข้าเงื่อนไข เพราะเป็นการขายก่อนครบ 5 ปีโดยมีชื่อผู้ซื้ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่ถึง 1 ปี (กรณีของเราคือไม่มีเลย) ซึ่งเรียกว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์แบบมุ่งค้ากำไร ทำให้ต้องนำเงินได้จากการขายบ้านหลังนี้มารวมคำนวณภาษีประจำปีใน ภงด. 90

ปัญหาคือ ถ้านำเงินได้ส่วนนี้มารวมเป็นรายได้ แน่นอนว่าฐานรายได้สูง ทำให้เสียภาษีเงินได้สูงขึ้นไปอีก  เราต้องค้นเพิ่มว่าจะคำนวณกำไรจากการขายบ้านกรณีไม่เข้าเงื่อนไขด้านบนยังไง  ลองค้นพันทิปแล้ว ส่วนใหญ่บอกว่า ไม่ต้องนำมารวมใน ภงด. ปลายปี  แต่เราสะดุดความเห็นของสมาชิกท่านนึงที่ตอบสั้นๆ ว่า ถ้าเป็นการขายแบบมุ่งค้า ต้องนำมารวมคำนวณ (ขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ ที่ทำให้เราฉุกคิด) เราก็เลยค้นเพิ่ม ก็เจอว่ามีคนเคยไม่นำมารวมยื่น ภงด. ปลายปี และโดนสรรพากรปรับหลักหมื่นมาแล้ว  

เราไม่อยากโดนปรับ ตั้งใจยื่นแบบให้ครบถ้วนถูกต้องทีเดียว  ก็ต้องค้นข้อมูลต่อ  ปรากฏว่าค้นเจอ สรรพากรสาส์น เรื่อง ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายการขายอสังหาริมทรัพย์แบบมุ่งค้ากำไร  (http://www.sanpakornsarn.com/page_article_detail.php?aID=196) ซึ่งเนื้อหาระบุว่า “กรณีที่เป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ผู้มีเงินได้จะถูกบังคับว่าจะต้องนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์นั้นไปรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีเสมอ โดยจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป” และย่อหน้าสุดท้ายระบุว่า “ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการค้าอสังหา-ริมทรัพย์ในรูปของบุคคลธรรมดาจะได้รับคืนภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายเสมอในกรณีที่มีต้นทุนการซื้ออสังหาริมทรัพย์มาในราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน ซึ่งผู้มีเงินได้นั้น มีสิทธิร้องขอคืนเงินภาษีส่วนที่ถูกหักเกินไปนั้นได้แต่ต้องยื่นคำร้อง ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีที่ถูกหักภาษีเกินไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร”

เท่านั้นไม่พอ อ่านไปอ่านมา ก็ได้ข้อมูลเพิ่มว่า กลางปีต้องยื่น ภงด. 94 ด้วย เพราะมีรายได้จากมาตรา 40 วงเล็บอื่น ทีแรกว่าจะไม่ยื่น แต่โทรถาม call center บอกว่า ถ้าไม่ยื่นโดนปรับ 200 บาท อ่ะ ยื่นก็ยื่น รายได้ส่วนการขายอสังหาริมทรัพย์แบบมุ่งค้าเป็นรายได้มาตรา 40(8) แต่รายได้ที่เราใส่ในแบบคือ 0 เพราะเป็นการขายขาดทุนเนื่องจากต้นทุนการซื้อบ้านประเวศนั้นสูงกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน  ตัวเลขตรงนี้ปรากฏชัดเจนอยู่แล้วในใบเสร็จรับเงินของสำนักงานที่ดิน คือ ปี 2554 ราคาที่ซื้อมาคือ 2 ล้านตามที่ปรากฏในสัญญาซื้อขายกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แต่ราคาประเมินของกรมที่ดิน ณ วันที่ขายในปี 2557 อยู่ที่ 1.6 ล้าน  ตอนเราไปยื่น ภงด. 94 จนท. วิชาการสรรพากรสาขา ถามเราว่า “ขายบ้านยังไง ถึงขาดทุน” เราก็อธิบายหลักเกณฑ์การคำนวณให้ฟัง  จนท. เลยเปิดฐานข้อมูลดู ก็บอกว่า “น่าจะใช่” (ขอบอกเลยว่า เรื่องนี้ จนท. สรรพากรสาขาหลายแห่งจะไม่รู้)

พอตอนเรายื่น ภงด. 90 ของปีนี้ เรื่องมันยุ่งกว่าเดิม ตรงที่เอาบ้านประเวศมารวมคำนวณภาษีปลายปีแล้ว เราก็นึกได้ว่า ที่ผ่านมาไม่เคยนำดอกเบี้ยเงินกู้จากบ้านหลังนี้มาหักลดหย่อนเลย  ว่าแล้วก็เปิดดูหลักเกณฑ์สรรพากรอีก  ก็ปรากฏว่า นำดอกเบี้ยเงินกู้มาหักลดได้ทุกหลังที่ซื้อ ไม่ใช่เฉพาะบ้านหลังแรก  อ้าว เราเข้าใจผิดมาตลอดเลยเหรอเนี่ย  

งั้นต้องใช้สิทธิ์ให้ครบ ยื่นขอภาษีคืนย้อนหลังอีก 2 ปี คือ ของปี 2556 และปี 2555 พร้อมยื่นขอภาษีคืนของปี 2557 ด้วยทีเดียวเมื่อวันที่ 12 มกราคม 58  (คิดในใจ งานนี้สรรพากรตรวจยาว ครึ่งปีจะเสร็จมั้ยนิ)

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เราโทรถามสรรพากรพื้นที่ (บางนา) ได้รับแจ้งว่าลองดูข้อมูลในระบบแล้ว แบบฟอร์มยังไม่โชว์ เพราะเรายื่นแบบกระดาษ  ฟอร์มต้องส่งไปสแกนที่สรรพากรภาค (ถนนเพชรบุรี) พอเข้าระบบแล้ว สรรพากรพื้นที่ถึงจะตรวจแบบ  ที่เราไม่ยื่นออนไลน์เพราะเอกสารแนบของเรามีเป็นร้อยหน้า  เห็นบางคนบอกว่าแนบเอกสารออนไลน์ไป ไม่เข้าระบบก็มี

กลางเดือนกุมภาพันธ์ อีก 2 วันเราจะไปต่างประเทศและอยู่ต่างประเทศนาน เราตัดสินใจแวะเข้าไปสรรพากรพื้นที่ อยากรู้ จนท.ท่านไหน ดูเคสของเรา  แล้วเราเอาเอกสารไปให้เพิ่มด้วย  จนท. หยิบชุดเอกสารขอคืนภาษีที่เรายื่น เห็นมีใบปะหน้าหัวกระดาษกรมสรรพากร มีตาราง 3 ช่อง ทำสรุปว่า ปี 2555 ปี 2556 ปี 2557 หักอะไรบ้าง เอกสารทั้งปึกหนาเท่าสมุดหน้าเหลือง  จนท. บอกว่า เอกสารเยอะ ตรวจนานนะ เราบอกว่า ไม่เป็นไร ถ้าต้องนานก็นาน เอาให้ถูกต้องทีเดียว  เอกสารที่เห็นเยอะๆ นี่มีแต่ 50 ทวิ เพราะทำงานบริการเป็นชิ้นๆ

สองสัปดาห์ผ่านไป จนท. สรรพากรพื้นที่ โทรมา (เราอยู่ต่างประเทศ) สอบถามว่า ทำไมเราเอาสามีหักลดหย่อน  เราจำไม่ได้ว่ากรอกหักลดหย่อนไปเท่าไหร่ คุ้นๆ ว่าไม่ได้หักส่วนของสามีนะ แต่กรอกหน้าแบบว่า มีสามีเป็นชาวต่างชาติ ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย  จนท. บอกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องกรอกว่า โสด  เราก็แย้งว่า ถ้ากรอกว่าโสด มันจะกลายเป็นให้ข้อมูลเท็จมั้ย  เลยตอบไปตามจริงว่าสมรสแต่อยู่คนละประเทศ  ถ้าคำนวณผิด จนท. ใช้ดุลยพินิจแก้ไขยอดภาษีที่ขอคืนได้เลย เราไม่มีปัญหา

ผ่านไปอีกสามสัปดาห์ ก็มีเช็คคืนภาษีทยอยส่งไปที่บ้าน มาทีละปี ได้เกือบครบ โดนหักจากยอดที่ขอคืนเล็กน้อยเพราะเราคำนวณผิดเอง  ปี 2557 ทั้งปีเรามีหักค่าใช้จ่ายเยอะ (ซื้อ LTF 100,000 บาท ประกันชีวิต 90,xxx บาท) เลยทำให้ภาษีเงินได้ทั้งปี อยู่ที่ 11,xxx บาท แต่เราโดนหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 18,xxx บาท เท่ากับเราต้องได้คืน 7,xxx บาท  และต้องได้คืนภาษีเงินได้ที่หักไว้ตอนที่ขายบ้านประเวศอีก 22,xxx บาท  เบ็ดเสร็จของปี 2557 เราได้ภาษีคืน 28,xxx บาท  แสดงว่าหลักเกณฑ์ที่เราค้นเจอนั้นถูกต้องแล้ว  (ระหว่างรอเช็ค เราคิดหลายตลบเลยว่าจะโดนปรับมั้ย เผื่อมันมีประกาศกรมสรรพากรตัวอื่นที่เราไม่รู้และกำหนดหลักเกณฑ์ไว้คนละอย่าง)

********
อันนี้เล่าเพิ่ม กรณีขอคืนภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่มุ่งค้า  เดือนกรกฎาคม 2557 เราซื้อบ้านที่ซอยปุณณวิถี เพื่อเตรียมย้ายบ้าน  พอปลายเดือนมกราคม 2558 เราขายบ้านพระโขนง (หลังที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน) แล้ว ผู้ซื้อบอกเราว่า กรณีของเราน่าจะขอคืนภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายที่กรมที่ดินได้  เราเลยไปค้นเพิ่ม  ก็เจอ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125)  เรื่อง ขอคืนภาษีขายอสังหาริมทรัพย์  ของเรานับระยะเวลาซื้อบ้านใหม่และขายบ้านเก่าแล้ว ยังอยู่ในระยะเวลา 1 ปี  เลยทำเรื่องขอคืนภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายและอากรแสตมป์  สิ่งที่ต้องนำไปยื่นพร้อม ค.10 ที่สรรพากรพื้นที่ (ไม่ใช่สรรพากรสาขานะ) คือ ใบเสร็จรับเงินกรมที่ดินทั้งตอนที่ขายหลังเก่าและตอนที่ซื้อหลังใหม่ จุดประสงค์คือ จนท. ต้องการดูราคาประเมินของทั้งสองขา   กรณีของเรา จนท. ตรวจสอบ ผ่านไป 1 เดือน เงินคืนภาษีส่วนนี้เพิ่งอนุมัติ ไปรับเงินได้ที่สรรพากรสาขา

********
ขั้นตอนทั้งหมดนี้ จนท. สรรพากรพื้นที่บางนา บริการดีใช้ได้เลยนะ  ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้คำตอบ อธิบายขั้นตอนดี  ตอนโทรศัพท์ไปถามส่วนงานคืนภาษีสรรพากรพื้นที่บางนาครั้งแรก เรายังถามชื่อเลยว่า คุณ จนท. ชื่ออะไร บริการดีจัง ให้คำแนะนำดีมาก  ที่เราเจอ 3 คน ให้ความช่วยเหลือดีหมดทุกคน

คนที่อยากใช้สิทธิ์ขอคืนภาษี ถ้ากรณีที่คิดว่าซับซ้อน ขอให้หาข้อมูลเยอะๆ อ่านประกาศกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้อง นึกซะว่าเงินทองหายาก ถ้าเสียภาษีเกิน เราต้องได้คืน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่