คำแนะนำในการเลือกซื้อจักรยานวินเทจเบื้องต้น

กระทู้สนทนา
เห็นกรุ๊ปนี้ไม่ค่อยพูดถึงจักรยานวินเทจเท่าที่ควร ผมเลยขอแนะนำตามความรู้ของตัวเองคร่าวๆนะครับ
(ขอเชิญคุณ สนนท. มาช่วยเสริมด้วยนะครับ)

ขอเกริ่นก่อนนะครับ

เมื่อเราจะเลือปจักรยานวินเทจ แน่นอนมันมีหลายยี่ห้อและหลายรุ่นเต็มไปหมด มีทั้งเฟรมอลู คาร์บอน โครโมลี่ เยอะแยะเต็มไปหมด ซึ่งแต่ละเจ้าจะทำโดยวิธีการซื้อท่อจากบริษัทผลิตท่อ (columbus,reynold เป็นต้น) มาประกอบเข้าด้วยลัก หรือการเชื่อม ซึ่งท่อแต่ละรุ่นก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันไปทำให้เกิดเป็นคาแรคเตอร์ของแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น นั่นเอง
ดูความแตกต่างของท่อ columbus ได้ที่
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic.php?f=60&t=1027770

เลือกประเทศ
จักรยานสมัยก่อน แน่นอนมันเริ่มที่ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี่ ญี่ปุ่น โดยแบรนด์แรกๆของโลกที่ผลิตจักรยาน เช่น เปอร์โยต์ gazelle ต่างเริ่มทำจักรยานเชิงแข่งขันมากขึ้น ย้อนไป 101 ปีที่แล้วกับการแข่งขัน Tour de france จักรยานสมัยนั้น นักปั่นคือชาวเหมืองที่ว่างจากการทำงานมาปั่นจักรยานแข่งขัน เพิ่มพลังการแข่งด้วยไวน์และบุหรี่ โดยนักปั่นคนแรกๆที่ชนะการแข่งขันต่างใช้จักรยานแบรนด์ เปอร์โยต์

แต่ละประเทศ แต่ละแบรนด์ ก็มีข้อดีแตกต่างกันไป Colnago คือเจ้าการผลิตจักรยานในยุคเรเนอซองจักรยานก็ว่าได้ ทำให้เกิดช่างฝีมือดีหลายๆคนออกไปตั้งแบรนด์ใหม่เป็นของตัวเอง ทั้ง Bottechia (Pinarello ก็เป็นช่างจากแบรนด์นี้) , Ciooc , Rossin ล้วนแต่เป็นช่างที่เคยผลิตให้ Colnago ทั้งนั้น
ฝั่งญี่ปุ่นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เริ่มผลิตจักยานเชิงแข่งขันมากขึ้นทั้ง Bridgestone , Panasonic , zunmow , toei และแบรนด์อภิมหาอมตะนิรันด์กาลอย่าง Cherubim
ด้านอิตาลี่ จะออกแบบเฟรมได้ค่อนข้างว้าวเมื่อเห็น ทั้งสี หรือการขึ้นท่อแบบแปลกๆ เช่น Colnago ท่อมะเฟือง , Rossin Prestige ท่อ 6 เหลี่ยม , Alan ท่อวงรี ช่างแต่ละแบรนด์ต่างออกแบบเฟรมแตกต่างกัน ส่วนฝั่งญี่ปุ่น จะไม่ค่อยมีการออกแบบที่ว้าวเท่าไหร่ในความรู้สึกผม แต่จะมีเสน่ห์มากๆเรื่องการเชื่อม ความประณีตขึ่นท่อ หรือลักต่างๆที่สวยงามครับ

ด้านจักรยานลู่ ญี่ปุ่นทำจักรยานลู่ได้ดีไม่แพ้กับฝั่งอิตาลี่และจักรยานลู่ถ้าเทียบราคากับจักรยานถนน จักรยานลู่แพงกว่ามาก ยิ่งสมัยก่อนเรื่อง aerodynamic เริ่มบูมเมื่อปี 80 แบรนด์อันโด่งดังในยุคนั้นที่ผลิตจักรยานลู่แบบ Persuit (ล้อหลังใหญ่ ล้อหน้าเล็ก ท่อนอนของเฟรมเอียงลาดมาด้านหน้า ต้นแบบของจักรยาน Time Trial) คือ Cineli รุ่น Lacer ที่ว่ากันว่ายุคนี้มีเงินก็ซื้อกันไม่ได้

การเลือกซื้อจักรยานวินเทจซักคัน บางคนอาจจะเลือกประวัติผู้ผลิต เลือกว่าเฟรมนี้ใครเคยใช้ เฟรมนี้เคยได้โพเดี้ยมที่ไหนมาบ้าง หรือแค่ชอบทรง ชอบสี หรือแค่ถูกใจ

มาถึงคำแนะนำการเลือกซื้อจักรยานวินเทจซักคัน
ผมแนะนำ
เรื่องสภาพก่อน สภาพดีนั้นหมายถึง สีเดิม ไม่เคยทำสีใหม่ สติ๊กเกอร์เดิม ลักเดิมไม่ได้เชื่อมใหม่
(หรือถ้าทำสีใหม่ก็ไม่ผิดนะครับ บางเฟรมทำสีใหม่แต่ติดสติ๊กเกอร์เดิมก็มี) ไม่มีรอยแตก หัก(ส่วนรอยแบบหินดีดถือว่ารับได้นะครับ) แต่ไม่ควรเยินมาก ส่วนการดูเฟรมว่าจริงหรือไม่จริง
เฟรมจะปั้มตรายี่ห้อตัวเองไว้หลักๆ 3 จุดครับ
1.ตรงตะเกียบหลัง ด้านที่ติดท่อนั่ง
2.หัวตะเกียบหน้า ติดท่อคอ
3.ใต้กระโหลก
อีกอย่างคือลัก หรือจุดเชื่อมของท่อ แต่ละยี่ห้อทำไม่เหมือนกันครับ หรือเทียบจากcatalog มีให้ดูในเน็ตเยอะแยะครับ

มาเรื่องต่อมาคือ วัสดุที่ใช้ทำเฟรม อย่าง alan อาจจะเด่นการใช้ท่อ alu ขึ้นรูปเชื่อมด้วยลัก ส่วน Colnago ก็มักจะใช้ท่อจาก Columbus , Panasonic ก็เป็นท่อจาก Tange วัสดุของเฟรมจะเป็นตัวบ่งบอกคาแรคเตอร์เฟรม น้ำหนัก(ท่อ columbus บางรุ่นสามารถตีให้เรียบเพื่อลดน้ำหนักได้)

ชุด Cockpit
ทั้งหมดจะทำด้วยเหล็กโครโมเป็นส่วนมาก อลูก็มี ผมแนะนำให้ดูสภาพเป็นหลักครับ และเลือกให้ถูกไซส์ที่ต้องการ สภาพควรจะไม่เป็นรอยแตก ไม่หักครับ ส่วนมากจะมีรอยตรงจุดรัดอยู่แล้วครับ ทั้งสเตม หลักอาน แฮนด์ และข้อสำคัญคือการเลือกให้ขนาดของท่อ ตรงกับเฟรมด้วยนะครับ สเตมยุคนั้นมักใช้สเตมจุ่มขนาด 1'' แต่บางเจ้าก็อาจจะทำกว้างกว่าจนต้องใส่ขนาดใหญ่ขึ้น

ชุดเกียร์
ถ้าจะเล่นเกียร์วินเทจ ฝั่ง Campag นี่เยอะแยะเต็มไปหมดครับ ฝั่งญี่ปุ่นก็มี Shimano รุ่นนิยมเล่นกันก็ 2300,105 , 600 , dura-ace ครับ ส่วน suntour ตัว top ก็ super b pro ครับ ส่วนการเลือกซื้อก็เหมือนเดิมครับ ดูสภาพเป็นหลัก ไม่มีรอยร้าว รอยแตก หรือรอยเชื่อม
ล้อก็เช่นกันครับ ไม่คดไม่ดุ้ง ดูไม่มีรอยแตก รอยเชื่อมใหม่ ส่วนถ้าจะเล่น neo vintage ใส่ชุดเกียร์สมัยใหม่ 9-10 spd ต้องดูหางหลังของเฟรมว่าขนาดเท่าไหร่ โดยส่วนมากเฟรมปีแปดกลางๆลงไปจะเป็นขนาด 126 แทบจะทั้งหมดเลยครับ ถ้าจะใส่ 10 spd ต้องง้างหางหลังครับ แต่ปีเก้าศูนย์นี่ก็มี 130 แล้ว สามารถใส่ได้เลย

กระโหลก
มีทั้งเกลียวอังกฤษ เกลียวอิตาลี่ ขาจานแต่ละรุ่นก็เกลียวคนละแบบกัน แต่ปัญหานี้แทบจะไม่มีนะครับ เพราะว่าตอนนี้ก็มี adapter แทบจะทุกขนาดแล้ว สามารถซื้อมาแปลงได้สบายๆ

โดยหลักๆรถวินเทจถ้าซื้อมาประกอบเอง ต้องดูขนาดของ คอ ว่าใช้สเตมขนาดเท่าไหร่ และขนาดความกว้างท่อแฮนด์ ขนาดตรงกับตัวยึดของสเตมหรือเปล่า ขนาดท่อนั่ง ขนาดหางหลัง และขนาดกระโหลก เกลียวต่างๆ ควรจะซื้อมาให้ตรงไซส์ครับ ไม่งั้นหาของอันใหม่กันวุ่นแน่ cockpit วินเทจ ทำหลายขนาด หลายไซส์มากๆต้องเลือกให้ตรงตามขนาดด้วยนะครับ

โดยหลักๆมีสิ่งที่แนะนำประมาณนี้ครับ
เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจจักรยานวินเทจมากขึ้นครับ
ขอบคุณครับผม
มีอะไรแย้ง เสริม เติมแต่งก็โพสต์กันได้เลยนะครับ ขออภัยถ้าบางข้อมูลผิดพลาดครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่