แฉ 7 ปมล่มสลาย แปลง "การบินไทย" กลายเป็น "เป็ดง่อย"

ที่มา:  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1422886185








ไม่น่าเชื่อว่า โลกและการแข่งขันยุคใหม่ได้เปลี่ยน การบินไทย ให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจแย่ๆ ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ในกลุ่มเดียวกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย

วันนี้ การบินไทย กลายเป็น 1 ใน 5 ของรัฐวิสาหกิจที่เข้าขั้นโคม่า ต้องเดินเข้าสู่แผนการฟื้นฟูกิจการ อีกขั้นเดียวก็ล้มละลาย เพราะขาดทุนหนักเกือบทุกปี ปีละ 8,000-10,000 ล้านบาท ราคาหุ้น THAI ต่ำเตี้ย เพียง 15-16 บาท

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา เรื่องที่มีการถกกันมากที่สุด คือ แผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานซูเปอร์บอร์ด กล่าวภายหลังประชุมว่า ในการฟื้นฟูบริษัทการบินไทยต้องลดค่าใช้จ่ายลงแล้วเพิ่มรายได้ ลดเส้นทางการบินบางเส้นทางที่ไม่คุ้มค่า รวมทั้งปรับสินทรัพย์บางอย่าง รวมทั้งจำหน่ายเครื่องบินออกไปให้สามารถมีรายได้เข้ามา เพราะวันนี้ต้องแข่งขันมาก

ซูเปอร์บอร์ดได้เคาะแผนฟื้นฟูการบินไทย 5 ประเด็นหลัก เพื่อหยุดเลือดการบินไทย คือ

1.การปรับเส้นทางบิน

2.การปรับแผนการตลาด

3.การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน

4.การปรับโครงสร้างอัตรากำลังลดจาก 2.5 หมื่นคน ให้เหลือ 2 หมื่นคน

5.การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย เช่น กิจการโรงแรม และกิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น



จากนั้น ในวันเดียวกัน นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย เปิดแถลงข่าวด่วนกรณีแผนฟื้นฟูการบินไทยว่า แผนฟื้นฟูของการบินไทยเป็นแผนระยะ 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยในปี 2558 จะหยุดขาดทุนแน่นอน จากนั้นในปี 2560 จะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน

สำหรับเรื่องการปรับลดพนักงานจำนวน 5,000 คน จะให้ความสำคัญเป็นลำดับรองลงไป โดยจะให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการบริหารงานค่าใช้จ่ายด้านอื่นก่อน หากมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอจึงจะพิจารณาปรับลดพนักงาน

เอาเข้าจริง แผนการฟื้นฟูการบินไทย มีการพูดกันมานาน พูดกันมาเยอะ แต่แทบไม่ค่อยมีคนรู้จริง และหลายคนก็พูดโดยมีสาระซ่อนเร้น และผลประโยชน์ทับซ้อน

แต่ กูรูใหญ่ ที่รู้ลึกปัญหาการบินไทยคนหนึ่งคือ นายบรรยง พงษ์พานิช หรือ เดอะเตา ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงินขนาดใหญ่ อดีตกรรมการบอร์ด บมจ.การบินไทย 1 ใน "ซูเปอร์บอร์ด" ครั้งหนึ่ง เดอะเตา เคยให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวออนไลน์ THAIPUBLICA โดยชำแหละปัจจัยลบที่ถ่วงให้การบินไทยกลายเป็น เป็ดง่อย ไว้ 7 ประการ

ดังนี้

ประการที่ 1 ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่ปราบเซียน แม้แต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีโลก ยังเรียกว่าเป็น "กับดักแห่งความตาย" (Death Trap for Investors) สำหรับนักลงทุน เพราะบริหารยาก การแข่งขันสูง กำไรต่ำ

การบริหารสายการบินสมัยใหม่เป็นเทคนิคชั้นสูง ต้องมีพลวัต ปรับตัวได้เร็ว อาศัยกลยุทธ์และเครื่องมือในการบริหารสมัยใหม่ มีเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสารพร้อมตอบสนองความต้องการและการแข่งขันได้ทันเวลา ซึ่งการบินไทย "ไม่พร้อม" สักอย่าง

ประการที่ 2 การบินไทยสูญเสียความได้เปรียบที่เคยมีในอดีต ทั้งความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เพราะเป็นจุดพักของเส้นทางบินจากตะวันตกไปตะวันออก ซึ่งข้อได้เปรียบนี้หายไป เนื่องจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เครื่องบินบินได้ไกลขึ้นโดยไม่ต้องจอดแวะ

นอกจากนั้น สิทธิการบินในน่านฟ้าไทย ที่เคยเป็นสิทธิผูกขาดของการบินไทย ก็ถูกลิดรอนจากการเปิดเสรีน่านฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ซิดนีย์ ที่แต่เดิมมีแค่การบินไทยแข่งกับแควนตัส แต่ในปัจจุบันเราสามารถเลือกบินกับเอมิเรตส์ ได้ในราคาที่ถูกกว่า เก้าอี้สบายกว่า

ประการที่ 3 ปัญหาจากความเป็น "รัฐวิสาหกิจ" ที่ทำให้ไม่คล่องตัว ติดกฎระเบียบมากมายและเป็นจุดตายในการแข่งขัน เพราะแม้แปรสภาพเป็นบริษัทจดทะเบียน แต่การบินไทยยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มขั้น ต้องปฏิบัติตามกฎการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการแข่งขัน

เรียกได้ว่าไม่มีอิสระทางนโยบาย ไม่คล่องตัว อืดอาด ถูกแทรกแซงได้ทุกเรื่อง ทุกขั้นตอน ในอดีตเคยมีแม้แต่ขอซื้อเครื่องบินไปรุ่นหนึ่ง ตอนจบกลายเป็นคนละรุ่นคนละยี่ห้อเลยก็มี

ประการที่ 4 โครงสร้างและการแต่งตั้ง "คณะกรรมการ" องค์คณะที่สำคัญที่สุดขององค์กร เพราะบอร์ดรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นวาระที่สำคัญยิ่งทางการเมือง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ต้องมีการเปลี่ยนตัวบอร์ด โครงสร้างแบบนี้เป็นอุปสรรคยิ่งต่อการบริหารกิจการสายการบินระดับเวิลด์คลาส

ประการที่5ผู้บริหาร "ส่วนใหญ่" ขาดคุณภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความทุ่มเท และมีไม่น้อยที่ไม่ซื่อสัตย์ ความจริงที่พบคือ พวกที่ "คุณภาพไม่ถึง ความทุ่มเทไม่เห็น ความโปร่งใสน่าเคลือบแคลง" มีมากกว่าผู้บริหารที่ดีมีความซื่อสัตย์หลายเท่าตัวนัก

ตัวอย่างใน ปี 2552 พบว่า มีผู้บริหารระดับ Vice President กว่า 50 คน "ถูกแขวน" คือ ไม่มีงานให้ทำ ถูกย้ายออกจากหน้าที่เดิม แต่บุคคลเหล่านี้ยังมีตำแหน่ง มีรถประจำ มีเลขาฯ หน้าห้อง มีเงินเดือนเต็ม สวัสดิการครบ ไม่มีอยู่อย่างเดียวคือ ไม่มีงานให้ทำ แต่เขาไม่เลิกจ้าง ไม่ไล่ออก เพราะไม่มีความผิด แต่แขวนไว้เฉยๆ

ประการที่ 6 การขาดเครื่องมือ ข้อมูล และความสามารถในการกำหนดยุทธศาสาตร์ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ค่อนข้างแน่ว่าการบินไทยตัดสินใจผิดหลายครั้ง ในการลงทุนเรื่องเครื่องบิน อย่าง Airbus A340-500 จำนวน 4 ลำ ที่ซื้อมาลำละ 600 ล้านเหรียญดอลลาร์ เพื่อบินตรงนิวยอร์กกับลอสแองเจลิสก็นับได้ว่าสูญเปล่า ขาดทุนทุกเที่ยวจนต้องหยุด จอดไว้เฉยๆ ขายก็ไม่มีใครซื้อ เคยมีคนวิจารณ์ว่าการตัดสินใจซื้อเครื่องบินของการบินไทย อยู่ที่ว่าเอเย่นต์อยากขายรุ่นไหน มากกว่าควรซื้ออะไร

ประการที่ 7 ต้นทุนที่สูงเสียดฟ้า ในทุกตลาดที่ลงแข่งขัน ตัวเลขที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันของสายการบินคือ Cost of ASK (Avialable Seat Kilometer) หรือต้นทุนต่อ 1 เก้าอี้ ต่อ 1 กิโลเมตร สำหรับการบินไทย รวมกันเป็นเงินเกือบ 200,000 ล้านบาทต่อปี

นี่คือ สาเหตุที่คนชอบด่าว่าการบินไทยขายตั๋วแพงกว่าคู่แข่งทุกเส้นทาง ก็เป็นเพราะต้นทุนมันสูงกว่าคู่แข่งขันนั่นเอง



"ต้นทุนทางการบินของการบินไทยเท่าที่ผมทราบน่าจะสูงกว่าคู่แข่งในทุกๆ เส้นทาง (ยกเว้นสายการบินยุโรปบางสายเท่านั้น) การบินไทยเลยมีสภาพเหมือนเป็ดง่อย จะแข่งขันสนามไหนก็แพ้ทั้งนั้น จะไปบินแข่งกับนกอย่างพวกสายการบินพรีเมี่ยมก็สู้ไม่ได้ จะมุดไปว่ายน้ำแข่งกับปลาแบบโลว์คอสต์ยิ่งแพ้หลุดลุ่ย แทบไม่เหลือสนามให้แข่ง" เดอะเตา กล่าว

ถ้านับจากนี้ไป หากการบินไทยยังแก้ไขปัจจัยลบ 7 ประการ ไม่ได้

อาจต้องพับแผนฟื้นฟู แล้วเข้าสู่กระบวนการล้มละลายแทน!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่